เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

K-Entertainment พลังที่ทำให้ทั้งโลกหลงรักอาหารเกาหลี

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

แรงผลักดันจากรัฐและความพยายามของเอกชนที่ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นป๊อบคัลเจอร์จนถึงปัจจุบัน

맛있어요! (มาชิสซอโย)!” เชื่อว่าเหล่าเเกาหลีลิฟเวอร์จะต้องคุ้นเคยกับคำนี้ ผ่านฉากกินอาหารซู้ดซ้าดในซีรี่ส์และภาพยนตร์หลากหลายเรื่อง ที่มักจะมีฉากตัวละครมากินอาหารคำโต ๆ ชวนน้ำลายไหล เดาได้ไม่ยากว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาหารเกาหลี รวมถึงเครื่องดื่มแห่งชาติอย่างโซจูและมักกอลลีกลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก ก็คือฉากอาหารในซีรีส์เหล่านี้นี่เอง

 

อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมเกาหลีที่ถูกส่งออกมาพร้อมกับหนัง ละคร และเพลงเกาหลีไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นนโยบายอันแยบยลของรัฐบาลเกาหลีที่โอบอุ้มความทะเยอทะยานจากภาคเอกชน ผ่านการวางแผนและค่อยๆ บ่มสร้างมาเนิ่นนานเกือบ 20 ปี จึงทำให้ ‘ความเกาหลี’ สามารถก้าวสู่การเป็น ‘K-Cultrue’ และเฉิดฉายบนเวทีโลกได้อย่างแข็งแรงอย่างเช่นในทุกวันนี้

 

ซึ่งขอบอกเลยว่าผลจากการบ่มสร้างมาทีละน้อยนั้น เมื่อสุกงอมก็ ‘มาชิสซอโย (อร่อย)’ เป็นอย่างยิ่งทีเดียวค่ะ

 

 

จากหมูกระทะถึงหมูย่างเกาหลี

 

แรกเริ่มเดิมที วัฒนธรรมเกาหลีไม่ได้ถูกเรียกว่า K-Culture อย่างทุกวันนี้หรอกนะคะ ผู้อ่านที่พอจะมีอายุอยู่บ้าง (อะแฮ่ม!) คงน่าจะพอนึกออกว่าก่อนซีรีส์เกาหลีจะครองเมืองนั้น เราเคยคลั่งไคล้วัฒนธรรมญี่ปุ่นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพลง หนัง การ์ตูนมังงะ หรือการตูนแอนิเมะ วัฒนธรรมญี่ปุ่นเหล่านั้นงอกงามเติบโตในรสนิยมวัยรุ่นไทยจนลามเลยมาถึงเรื่องแฟชั่น ความงาม และเรื่องอื่นๆ แทบทุกด้าน เราจึงนิยามยุคที่กระแสญี่ปุ่นแสนจะป๊อบปูลาร์นั้นว่าเป็นยุค J-Pop ส่วนเกาหลียังคงเป็นประเทศที่ทั้งโลกคุ้นเคยในนามของดินแดนแห่งอุตสาหกรรมเป็นหลัก

 

‘ความเกาหลี’ ที่คนไทยรู้จักในยุคแรกเริ่มนั้นเบาบางจนถูกมองข้ามเอาได้ง่ายๆ เป็นต้นว่าเมนูหมูกระทะที่แสนคุ้นเคยของเรา กาลครั้งหนึ่งในช่วง 40-50 ปีที่แล้ว มันมีชื่อเรียกว่าหมูย่างเกาหลีมาก่อน แต่วัฒนธรรมเกาหลีในยุคนั้นไม่ใช่วัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมเอาเสียเลย จากชื่อหมู/ เนื้อย่างเกาหลี จึงถูกลดทอนความเป็นต่างชาติต่างเมืองออกจนเหลือเพียงชื่อ ‘หมูกระทะ’เพื่อให้คนไทยเข้าใจอาหารชนิดนี้ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

อันที่จริงตำนานหมูกระทะยังมีอีกเส้นเรื่องหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่ามันเกิดจากการที่ทหารมองโกลประยุกต์ดัดแปลงเอาหมวกเหล็กมาใช้เป็นกระทะย่าง ดังนั้นเตาหมูกระทะจึงมีโดมตรงกลางคล้ายหมวก แต่ตำนานนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานบันทึกไว้ชัดเจน และที่สำคัญไม่น่าจะเป็นเส้นทางกำเนิดของหมูกระทะในไทย

 

สาเหตุที่พอจะทึกทักเอาได้บ้างว่าเนื้อย่างมองโกลไม่น่าจะเป็นบรรพบุรุษของหมูกระทะแบบไทยๆ ก็คือ หนึ่ง ในอดีตเราเคยมีเมนูเนื้อย่างมองโกลอยู่บ้างเหมือนกัน แต่เป็นเมนูที่เรียกว่าเนื้อย่างเจงกิสข่าน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากประเทศญี่ปุ่นอีกที แถมยังเป็นเมนูที่ไม่ได้ราคาถูก เสิร์ฟกันเฉพาะในโรงแรมหรือห้องอาหาร จึงเป็นไปได้ยากที่จะเผยแพร่ไปได้กว้างขวางจนเป็น Pop Culture ของไทยในสมัยหลายสิบปีก่อน

 

เหตุผลที่ฉันเอนเอียงเข้าข้างหมูย่างเกาหลี ว่ามันคงจะเป็นบรรพบุรุษของหมูกระทะ ก็เพราะเคยได้ยินเรื่องร้าน ‘หมื่นทิพย์เนื้อย่างเกาหลี’ แห่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งผู้ใหญ่นักกินชาวอีสานท่านหนึ่งยืนยันกับฉันว่าร้านนี้คือร้านหมูกระทะร้านแรกๆ ในไทยเลยทีเดียว

 

และเมื่อได้มีโอกาสไปนั่งสนทนาร่วมวงกับคุณเอ็ดดี้ โสภณ โฮสต์จากรายการพอดแคสต์ ‘ดูซีรีส์ให้ซีเรียส’ ซึ่งหลายคนยกตำแหน่งคนรักวัฒนธรรมเกาหลีตัวยงให้ คุณเอ็ดดี้ก็มีความเห็นใกล้ๆ กันว่าหมูกระทะน่าจะเป็นอาหารซึ่งพลิกแพลงมาจากหมูย่างแบบเกาหลีเหมือนกัน โดยได้ให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่า หมูย่างเกาหลีในยุคเริ่มต้นคงเป็นผลพวงจากการที่พ่อค้าแม่ค้าเดินทางไปเกาหลีเพื่อเลือกซื้อเสื้อผ้า Fast Fashion มาขายในไทย รวมถึงการเดินทางไปทำงานในประเทศเกาหลี ทำให้เกิดการนำเข้ากระทะย่างแบบหมูกระทะเข้ามาด้วยเป็นผลพลอยได้ เนื่องจากว่าช่วง 30-50 ปีก่อน ประเทศเกาหลีขึ้นชื่อเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างหาตัวจับยาก

 

ดังนั้นฉันจึงถือวิสาสะโมเมไว้ ณ บรรทัดนี้ว่าคนไทยรู้จักมักจี่กับอาหารเกาหลีมาหลายสิบปีแล้ว แต่เรารู้จักมันในนามหมูกระทะ และการที่หมูย่างเกาหลีถูกเปลี่ยนชื่อเป็นหมูกระทะก็คงเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมเกาหลียังไม่ได้รับความนิยมมาก จนไม่สามารถใช้ ‘ความเกาหลี’ มาเป็นจุดขายเรียกลูกค้าได้นั่นเอง

 

 

Food Director และยุคแห่งจอมนางแดจังกึม

 

ต่อจากยุคหมูย่างเกาหลีมาแล้ว นอกจากกระทะย่างหมู วัฒนธรรมอาหารเกาหลีก็ไม่ได้เติบโตในไทยเท่าไรนัก แม้จะมีหนังเกาหลีและนักร้องหนุ่มหล่ออย่าง จองจีฮุน หรือ ‘เรน’ เข้ามาเขย่าหัวใจสาวไทยอยู่บ้าง แต่พี่เรนของเราก็พาเข้ามาได้แค่เพลง ท่าเต้น และแฟชั่นเท่านั้น ไม่ได้มีอิทธิพลเรื่องอาหารการกินแต่อย่างใด ร้านอาหารเกาหลีในไทยสมัยนั้นจึงยังคงเป็นร้านของคนเกาหลี โดยคนเกาหลี เพื่อคนเกาหลี ที่ซ่อนตัวอยู่ตามซอกหลืบต่างๆ เพื่อรองรับคนเกาหลีที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเสียมากกว่าที่จะทำให้คนไทยกิน

 

คลื่นลูกแรกที่นำพาอาหารเกาหลีเข้าประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เห็นจะเป็นซีรีส์เรื่อง ‘แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง’ หรือ Jewel in the Palace ซึ่งออนแอร์ในไทยเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยไทยทีวีสีช่องสามเป็นผู้นำซีรีส์แห่งยุคเรื่องนี้มาประเดิมจอในปี พ.ศ. 2548 แถมยังได้อยู่ในนช่วงไพร์มไทม์อย่างหัวค่ำวันอาทิตย์อีกด้วย

 

สำหรับผู้อ่านที่เกิดไม่ทัน แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง เล่าเรื่องราวของ ซอจังกึม ผู้ซึ่งเติบโตจากการเป็นคนครัว สู่การเป็นแพทย์สตรีคนแรกของวังหลวง ซึ่งเอาเข้าจริงดูคล้ายว่าช่วงหนึ่งเธอจะทำหน้าที่เหมือนนักโภชนาการหรือนักกำหนดอาหารมากกว่า แต่ในท้ายที่สุดแล้วเธอก็ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ ในฐานะของแพทย์ประจำพระองค์ของพระราชา

 

นอกจากการได้ออนแอร์ในเวลามหาชนแล้ว แก่นเรื่องซึ่งเป็นการต่อสู้อดทนของตัวเอกบวกกับเรื่องการเมืองภายในราชสำนัก เมื่อประกอบกับเนื้อเรื่องที่ชวนให้ติดตามเอาใจช่วย และใบหน้าสวยๆ ของ ลียองเอ ผู้รับบทเป็นซอจังกึมแล้ว ก็ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับเรตติ้งพุ่งกระฉูด แถมยังปลุกกระแสเกาหลีขึ้นเป็นครั้งแรก ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้นแต่ยังรวมถึงในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เรื่อยไปจนถึงในซีกโลกตะวันตกอย่างแคนาดาด้วยเช่นกัน

 

แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง หากว่ากันตามซื่อแล้วก็คือละครย้อนยุคแบบจักรๆ วงศ์ๆ นั่นแหละ แต่โปรดักชั่น เนื้อเรื่อง และองค์ประกอบหลายๆ อย่าง ทำให้ถูกปักธงไว้ว่าเป็น K-Drama ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ฉันเองแม้ไม่ใช่แฟนซีรีส์เกาหลียังฮัมเพลง ‘โอนารา’ ซึ่งเป็น Original Soundtrack ของซีรีส์เรื่องนี้ได้จนถึงวันนี้ และเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนที่ได้ร่วมเติบโตในยุคนั้นก็คงจำเพลงนี้ได้เหมือนกัน

 

อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่าการส่งออกวัฒนธรรมอาหารเกาหลีมากับความบันเทิงนั้นเป็นเรื่องจงใจอย่างหนึ่ง แน่นอนว่าซีรีส์แดจังกึมก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้นด้วยเช่นกัน แม้ว่าด้วยตัวมันเอง ซีรีส์เรื่องนี้จะไม่ได้ทำให้อาหารเกาหลีเป็นอาหารยอดนิยมโดยทันที แต่เบื้องหลังของแดจังกึมก็มีแรงสนับสนุนที่ควรนับให้เป็นหมุดหมายสำคัญ

 

แม้จะบอกว่าแดจังกึมเป็นละครย้อนยุคจักรๆ วงศ์ๆ แต่ก็เป็นจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งถูกสร้างด้วยงบกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แถมยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันอาหารชาววังเกาหลี หรือ Institute of Korean Royal Cuisine มาดูแลฉากอาหารทั้งหมด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวเอกของเรื่องอย่างซอจังกึมนั้นวุ่นวายอยู่กับการทำอาหารตลอดทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่ ผู้ชมก็คล้ายถูกกำหนดให้ต้องนั่งดูภาพอาหารเกาหลีไปโดยปริยาย (อ่านเรื่องถอดบทเรียน ‘แดจังกึม’ 15 ปีแห่งซีรีส์ส่งครัวเกาหลีสู่สากล ได้ที่ ถอดบทเรียน ‘แดจังกึม’ 15 ปีแห่งซีรีส์ส่งครัวเกาหลีสู่สากล)

 

ภาพฉากอาหารในเรื่องแดจังกึมนั้นดูดีเกินกว่าที่คนไทยจะคาดหวังจากหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง เพราะโดยปกติแล้วฉากกินอาหารของหนังและละครไทยแทบไม่เคยฉายภาพให้เห็นอาหาร ‘จริงๆ’ เท่าใดนัก แม้ว่าจะมีฉากบนโต๊ะอาหาร ในร้านอาหาร หรือในครัวมากแค่ไหน เราก็จะได้เห็นเพียงใบหน้าหรือท่าทางของนักแสดงเป็นหลัก พอได้เห็นภาพอาหารเต็มๆ ได้เห็นทักษะการใช้มีดและทำครัว เห็นฉากการกินอาหาร สีหน้าพออกพอใจในรสชาติ ฯลฯ จากซีรีส์แดจังกึม มันจึงเป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่ง

 

 

ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องนี้เท่านั้น แต่ซีรีส์เกาหลีเกือบทุกเรื่องมีฉากอาหารที่ยั่วยวนชวนน้ำลายไหลแทบทั้งสิ้น เพราะการผลักดันโดยรัฐบาล ที่ตั้งใจให้ K-Drama เป็นประตูสำหรับส่งออกวัฒนธรรมเกาหลี ทุกฉากทุกตอนของการถ่ายทำจึงต้องจริงจังเรื่องรายละเอียดเป็นอย่างยิ่ง จนสร้างผู้เชี่ยวชาญในสาขาใหม่ขึ้นมากมาย อย่างเช่นอาชีพ Food Director หรือผู้กำกับอาหาร ซึ่งมีหน้าที่กำกับเฉพาะเรื่องอาหารเพียงอย่างเดียว

 

คำว่ากำกับเรื่องอาหาร ไม่ได้หมายถึงการเป็น Food Stylist จัดแจงจานอาหารให้ดูสวยงามน่ากินเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงการดูแลฉากทำอาหาร ความสมจริงของผู้แสดง ทักษะมือไม้ การขยับเขยื้อนต่างๆ ล้วนดูน่าทึ่งและน่าเชื่อ ไปจนถึงขนาดที่ว่าทำหน้าที่กำกับรีแอคชั่นของนักแสดงในฉากกินอาหารโน่นเชียวค่ะ 

 

ความโดดเด่นเรื่องอาหารใน K-Drama ไม่ได้หยุดอยู่แค่แดจังกึมเท่านั้น แต่ต่อเนื่องมาหลายเรื่องถึงปัจจุบัน เช่น Sweet Munchies, Oh My Ghostess, Late Night Restaurant, Feast of the Gods, Let’s Eat, Parasite ฯลฯ มาจนถึง Itaewon Class ซึ่งมีเมนูซุนดูบูจิเกหรือซุปเต้าหู้อ่อนของเถ้าแก่เป็นท่าไม้ตาย ทำเอาโคชูจังกลายเป็นสินค้าขาดตลาดไปพักใหญ่เลยทีเดียว

 

 

K-Pop Era

 

ไม่ใช่แค่หนังหรือละครเกี่ยวกับอาหารเท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหาร แม้กระทั่งกับซีรีส์เรื่องรักกุ๊กกิ๊กทั่วไป ซีรีส์สืบสวน ละครพีเรียด หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม ฉากการกินอาหารเกาหลีก็ไม่ได้มีความสำคัญน้อยลงกว่าซีรีส์อาหารแต่อย่างใด ฉากเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายประเทศมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ กลับเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่เปิดประตูให้เกาหลีได้ส่งออกวัฒนธรรมอย่างมีคุณค่าและมูลค่าไปพร้อมๆ กัน

 

เรื่องที่ส่วนตัวแล้วฉันมองว่าเฉียบแหลมไม่น้อยกว่าการแทรกฉากอาหารลงไปในหนังและละคร ก็คือการส่งผ่านวัฒนธรรมอาหารผ่านศิลปินและไอดอล ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามแต่ ภาพดารา นักร้อง หรือไอดอลที่อ้าปากกินอาหารคำโตอย่างไม่เคอะเขินนั้น เป็นการผลิตซ้ำภาพความน่าอร่อยของอาหารเกาหลีได้เป็นอย่างดี 

 

ความนิยมในตัวหนัง ละคร หรือเพลง วันหนึ่งอาจหล่นหายและถูกลบลืมไปเป็นธรรมดา แต่ความนิยมซึ่งผูกติดอยู่กับตัวบุคคลนั้นเลือนหายได้ช้ากว่า ยากกว่า แถมเมื่อรู้จักและฝากใจเป็น ‘ติ่ง’ คนไหนหรือวงไหนมากเข้า เขาจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร กินอะไร ก็ดูล้วนเป็นรายละเอียดสำคัญไปเสียหมด ยิ่งติ่งนานเท่าไรข้อมูลก็ยิ่งฝังลึกลงเท่านั้น คอนเทนต์ประเภทโปรแกรมลดน้ำหนักแบบไอดอล อาหารโปรดของนักร้อง ฝีมือการทำอาหารของนักแสดงคนนี้คนโน้น ไม่ได้นำภาพอาหารเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำ ‘แบรนดิ้ง’ ของสินค้าเกาหลีติดมาด้วย ดังนั้นเรื่องอาหารทางอ้อมเช่นนี้จึงมีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าฉากอาหารของแดจังกึม

 

การผลักดันให้ K-Entertainment หรือวงการบันเทิงเกาหลีก้าวเข้าสู่ความเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก (Pop Culture) จึงหมายถึงการผลักดันให้อาหารเกาหลีก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญคนหนึ่งในตลาดอาหารทั่วโลกไปโดยอัตโนมัติด้วยประการฉะนี้

 

เมื่อวัฒนธรรมเกาหลีเข้าสู่ยุคแห่งความป๊อบแล้ว อะไรใดๆ ที่เป็นเกาหลีจึงดึงดูดผู้คนเข้าไปได้ไม่ยากเย็น ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าชาวเกาหลีเองก็ไม่ได้หยุดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่เพียงแต่ในแวดวงบันเทิงเท่านั้น แต่ทุกวงการต่างรีบกระโจนเข้าสู่ความป๊อบและเร่งพัฒนาคุณภาพไปด้วยพร้อมๆ กัน ไล่เรียงมาตั้งแต่งานศิลปะ งานออกแบบ แฟชั่น นักวาด ยูทูปเบอร์ ไปจนถึงแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยีที่ยังคงพัฒนาต่อเนื่องมาจากฐานเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้ความนิยมใน K-Culture ยังคงต่อยอดไปได้เรื่อยๆ และปฏิเสธไม่ได้ว่า K-Pop นี้เองเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ประเทศเล็กอย่างเกาหลีขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกทุกปี

 

เรียกว่า K-Pop นั้นเป็นความ ‘ป๊อบ’ ของจริงในทุกมิติ

 

 

K-Food รันวงการ

 

ที่เขียนมาเสียยืดยาวนี้ ขอสารภาพว่าตัวฉันเองไม่ใช่ติ่งเกาหลีหรอกค่ะ

 

ฉันเองไม่คุ้นกับ K-Entertainment เอาเสียเลย เรียกว่านักร้องก็ไม่รู้จัก นักแสดงก็จำไม่ได้ ซีรีส์เรื่องล่าสุดที่ดูจนจบก็อาจจะเป็นแดจังกึมที่เขียนไว้ตั้งแต่ต้น แถมยังจำเนื้อเรื่องได้แบบตกๆ หล่นๆ แต่สาเหตุที่หยุดนึกถึงอาหารในวงการบันเทิงเกาหลีไม่ได้เลย ก็เพราะว่าฉันที่ไม่ใช่ติ่งเกาหลีกลับสามารถเอ็นจอยกับอาหารเกาหลีได้โดยไม่ติดขัด แถมยังมีทีท่าว่าจะตกหลุมรักเอาเสียด้วย จึงต้องมาจับต้นชนปลายว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

คำตอบที่ฉันมีให้ตัวเองในบรรทัดนี้ก็คือ การที่ประเทศเกาหลีส่งออกวัฒนธรรมผ่านความบันเทิงหรือเรื่องเล็กน้อยอย่างนี้ มันมี ‘อำนาจอ่อน’ หรือซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่ค่อยๆ ตะล่อมให้ฉันรู้จักอาหารเกาหลี มีส่วนร่วมกับอาหารเกาหลี ไปจนถึงชอบอาหารเกาหลีโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้สึกโดนบังคับเลยแม้แต่น้อย 

 

คำว่า ‘อำนาจอ่อน’ ในที่นี้หมายถึงอำนาจซึ่งเกิดขึ้นจากสร้างแบรนด์ให้ ‘ความเกาหลี’ ดูมีเสน่ห์ ดูน่าสนใจ และดูเป็นสิ่งดีงามขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้ข้อห้ามข้อกำหนดมาบังคับหรือใช้กำลังมาขู่เข็ญ ข้อดีคือมันเป็นอำนาจซึ่งมีแต่ความยินดีและยอมรับ ซึ่งจะส่งผลไปได้อีกยืนยาว ส่วนข้อเสียก็คือมันช่างสร้างได้ยากเย็นและใช้เวลานานเนิ่น อย่างเช่นที่เกาหลีใช้เวลาเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่ซีรีส์จอมนางแห่งวังหลวง กว่าที่ K-Food จะสามารถรันวงการได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้อง ‘ขายพ่วง’ มากับความบันเทิงอื่นๆ อย่างในอดีตที่ผ่านมา

 

การสร้างให้อาหารเกาหลีดูน่ากินนั้นอาศัยเวลา ต้นทุน และการศึกษาวิจัยของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นภาระอันใหญ่ยิ่ง ใหญ่และยืดเยื้อมากกว่าการพูดออกมาโต้งๆ ว่าอาหารเกาหลีมีดีอย่างไร หรือการพูดว่าเกาหลีจะเติบโตไปเป็นครัวของโลกอย่างไร ซึ่งแม้เป็นหนทางที่ง่ายกว่าแต่กลับส่งผลเบาบางและไม่จีรัง ความเข้าใจในประเด็นนี้เป็นจุดที่ประเทศเกาหลีตีโจทย์ได้แตกตรงจุด น่าเสียดายที่ไม่ใช่รัฐบาลของทุกประเทศจะสามารถทำความเข้าใจได้ในแบบรัฐบาลเกาหลี

 

ซอฟต์พาวเวอร์เป็นอำนาจที่เหมาะกับโลกหลังสงครามเย็น แม้จะจำชื่อนักแสดงเกาหลีไม่ได้สักคน แต่ฉากกินหมูย่างเกาหลีที่ได้เห็นผ่านตาก็ทำให้ฉันควักเงินไปประเคนให้ร้านปิ้งย่างสัญชาติเกาหลีมาแล้วหลายต่อหลายครั้งด้วยความเต็มอกเต็มใจ ผิดกับอีกหลายประเทศที่ยังชินกับการออกคำสั่งและชี้นิ้ว เหมือนว่ายังติดอยู่ในยุคสงครามโลกอย่างไรอย่างนั้น

 

ฉันเองก็อยากเห็น T-Food ออกไปโลดแล่นรันวงการบ้าง แต่จะได้เห็นวันไหนก็ยังนึกไม่ออกเหมือนกัน

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารกับภาพยนตร์, อาหารเกาหลี

Recommended Articles

Food StoryWilly Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต
Willy Wonka กับชีวิตที่หวานปนขมเหมือนรสช็อกโกแลต

ร่วมเดินทางตามหาต้นกำเนิดและเปิดสูตรลับช็อกโกแลตวองก้า

 

Recommended Videos