food story
‘ปลาโรนันในกล่องสุ่มทะเล’ ราคาของความตื่นเต้นที่จ่ายด้วยระบบนิเวศ?
Story by ศรีวิการ์ สันติสุข
ปลาใกล้สูญพันธุ์ในกล่องสุ่มอาหารทะเล สู่คำถามว่ามันเป็นเทรนด์ที่วิน-วินจริงหรือ
‘กล่องสุ่มทะเล’ กำลังเป็นเทรนด์ฮิต เพราะไม่เพียงราคาจับต้องได้คือขั้นต่ำเพียง 500 บาท ก็ได้สัตว์ทะเลในปริมาณค่อนข้างมาก อีกทั้งยังตอบสนองฟีลตื่นเต้นในการลุ้นว่าเปิดกล่องมาแล้วจะเจออะไรบ้าง เรียกว่าฝั่งผู้บริโภครู้สึกว่า ‘คุ้ม’ ในขณะที่ฝั่งผู้ขายก็วินเหมือนกัน เพราะสามารถระบายสัตว์ทะเลในสต๊อก ในสถานการณ์ที่ผู้คนยังไม่ออกนอกบ้านไปซื้อหาอาหารอย่างเสรีเหมือนก่อน
ทว่า มันกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อมีข่าวว่ามีคนเปิดกล่องมาแล้วพบปลาโรนัน ที่เป็นสัตว์หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แม้เราอาจพบเจอโรนันได้บ้างในตลาด แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็มักจะมองผ่าน อาจด้วยราคาหรือความไม่คุ้นเคย แต่เมื่อเราสั่งกล่องสุ่มทะเลและเจอปลาโรนัน นั่นแปลว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้ เพราะจ่ายเงินไปแล้ว ได้มาแล้ว คำถามที่ตามมาคือเหมาะสมหรือไม่ที่ผู้ขายจะใส่สัตว์ทะเลใดๆ ลงมาในกล่องสุ่ม โดยไม่คำนึงว่ามันคือสัตว์ที่ไม่ควรนำมากิน (เพราะใกล้สูญพันธุ์) และผู้ซื้อเองก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ ไม่เหมือนการไปเดินซื้อเองที่ตลาดหรือซูเปอร์มาร์เกตที่หากไม่ซื้อ ดีมานด์ก็ลดลง ผู้ขายอาจไม่นำมาขายอีกหรือถ้าขายก็อาจจะลดปริมาณลง
มองกันในแง่นี้ หรือกล่องสุ่มทะเลจะกลายเป็นช่องทางในการสนับสนุนให้มีการจับสัตว์น้ำหายากป้อนเข้าสู่ตลาด เราในฐานะผู้บริโภคจึงไม่ควรสนับสนุน?
เรานำประเด็นชวนสงสัยนี้ไปพูดคุยกับ ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร (Oceans Campaigner) กรีนพีซ ประเทศไทย ถามกันแบบตรงประเด็น กระชับ ฉับไวไปเลยว่าประเด็นนี้มันจริงหรือไม่ คำตอบที่ได้รับจะว่าแปลกใจก็ไม่ใช่ ไม่แปลกใจก็ไม่เชิง เพราะเธอกล่าวว่ากล่องสุ่มทะเลเป็นเพียงช่องทางหนึ่งที่ ‘อาจจะ’ ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล แต่เป็นส่วนน้อยมาก
“สำหรับตัวกล่องสุ่มทะเล เราต้องไม่ลืมว่านอกจากสัตว์ทะเลที่เขาไปจับมาจริงๆ มันก็มีสัตว์จากฟาร์มด้วย อาหารทะเลเดี๋ยวนี้บางทีบอกยากว่ามาจากทะเลจริงๆ หรือจากการเพาะเลี้ยง อย่างกุ้งก็แทบจะมาจากฟาร์มทั้งหมดแล้ว แต่ถ้าเราพูดถึงการจับสัตว์น้ำปริมาณมาก อันนี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน แต่มันไปไกลกว่าแค่เรื่องกล่องสุ่ม เพราะไม่ว่าจะมีกล่องสุ่มหรือไม่ มีโควิดหรือเปล่า มันก็มีการทำประมงอยู่แล้ว”
อุตสาหกรรมประมงส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลมหาศาล เนื่องจากจับกันทีเป็นตัน สัตว์น้ำที่ติดขึ้นมาจึงมีทั้งสัตว์โตเต็มวัยพร้อมเป็นอาหาร สัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงสัตว์น้ำที่ไม่ควรนำมากินเนื่องจากใกล้สูญพันธุ์
“อย่างเรื่องการจับสัตว์วัยอ่อนเป็นอะไรที่ส่งผลต่อระบบนิเวศหนักมาก เพราะเป็นการลดจำนวนสัตว์น้ำ ตัดโอกาสให้ได้โตได้แพร่พันธุ์ไม่พอ สัตว์อื่นที่กินสัตว์นี้เป็นอาหารก็กระทบไปด้วยเพราะมีอาหารน้อยลง อย่างปลากะตักที่เราเอามากินเป็นปลาสายไหม ปลาข้าวสาร มันเป็นอาหารของปลากะพงทะเล พอไม่มีอาหาร สัตว์ก็จะปรับตัว ขนาดเล็กลงเพื่อจะได้กินอาหารน้อยลง เท่ากับเราก็จะได้กินปลาที่ตัวเล็ก เนื้อไม่อร่อยแบบปลาที่โตสมบูรณ์ มันก็กระทบมาถึงเราด้วย”
เหตุที่มีสัตว์วัยอ่อนหรือสัตว์แปลกๆ ติดอวนขึ้นมาก็ต้องย้อนกลับไปที่เรื่องของอุปกรณ์ประมง เพราะตัวกฎหมายเองยังมีความคลุมเครือ ทั้งในเรื่องของขนาดตาอวน การใช้เรือปั่นไฟอย่างการเปิดไฟตกหมึกกลางทะเล เมื่อมีการเปิดไฟล่อ ไม่เพียงหมึก สัตว์ทะเลอื่นๆ ไม่ว่าจะวัยอ่อนหรือโตเต็มวัยก็มาตามไฟและถูกจับขึ้นมาพร้อมกัน
แต่แม้อุตสาหกรรมประมงจะกระทำกันอยู่เป็นเรื่องปกติ เทรนด์การกิน อาทิ การกินปูไข่ ก็ส่งผลเช่นกัน เพราะทำให้ปูตัวเมียที่ไม่เคยอยู่ในสายตามาก่อนเนื่องจากตัวเล็กเนื้อน้อย กลายเป็นปูที่มีมูลค่าเพิ่ม ถูกจับมาขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตามกลไกของดีมานด์และซัพพลาย เทรนด์แบบนี้สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก
เช่นนั้นกล่าวได้ไหมว่าเทรนด์กล่องสุ่มทะเลไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นที่เราต้องลด ละ เลิก?
“เคสที่เจอโรนันในกล่องสุ่มทะเล มันสะท้อนให้เห็นว่าเรามีความรู้น้อยมากถึงที่มาของอาหาร ในแง่ของคนหาอาหารทะเลและคนขาย คุณควรต้องรู้ว่าอะไรกินได้กินไม่ได้ นี่ในกรณีที่ไม่รู้จริงๆ แต่ถ้าอยากนำเสนอประสบการณ์เอ็กโซติกให้ลูกค้าด้วยการให้กินฉลาม นี่เรียกว่าไม่รับผิดขอบ มองแต่ยอดขาย ในขณะที่ฝ่ายคนซื้อเอง เราก็อยากให้ช่วยตรวจสอบย้อนกลับอาหารที่กิน ไม่ใช่แค่อาหารทะเล แต่อาหารทุกประเภท ลองคิดดูว่าผู้บริโภคมีโอกาสน้อยมากที่จะรู้ว่าอาหารที่เราซื้อมาเนี่ยมันมาจากไหน มันอาจจะดูเป็นเรื่องในอุดมคติ แค่หาของกินแค่ทำงานสู้ชีวิตไปวันๆ ก็เหนื่อยมากแล้ว ยังจะให้สืบค้นที่มาของอาหารอีกเหรอ แต่เรามองว่าการที่ผู้บริโภคถามผู้หาอาหารมาขายว่าคุณเอาอะไรมาให้เรากิน มันเอ็มพาวเวอร์นะ เพราะเรามีสิทธิ์จะรู้ว่าสิ่งที่เข้าปากเรา มีผลโดยตรงกับสุขภาพร่างกายเรา มันที่มายังไง มาจากไหน มาด้วยวิธีการแบบใด ถ้าถามกลับได้เรื่อยๆ สร้างคัลเจอร์ขึ้นมา มันจะสร้างคอนซูเมอร์ไรท์ที่ทรงพลัง ที่ตรวจสอบกลับไปได้ว่าผู้ผลิตเอาอะไรมาให้เรากิน และมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวนการ”
กล่องสุ่มทะเลคือเทรนด์ที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานจุดคุ้มทุนของทั้งคนขายและคนซื้อ แต่นอกจากเรื่องราคากับความคุ้ม สิ่งที่ควรทำเพื่อการซื้อ-ขายอาหารทะเลอย่างอนุรักษ์สภาพแวดล้อมก็คือ ‘อะแวร์เนส’ หรือการตระหนักร่วมกัน ผู้ขายต้องมีความรับผิดชอบในสินค้าที่นำมาขายว่าต้องไม่เป็นตัวอ่อน ไม่เป็นสัตว์หายาก ไม่เป็นสัตว์ที่ไม่ควรกิน ผู้ซื้อก็ต้องคิดมากกว่าแค่ได้อาหารทะเลราคาถูก เพราะยิ่งเราซื้ออาหารทะเล (รวมถึงอาหารอื่นๆ) ในราคาถูกเท่าไร นั่นหมายความว่าเรากำลังทำร้ายสิ่งแวดล้อมและระบบมากเท่านั้น
“ขอให้คิดมากกว่าแค่จ่ายถูกๆ ได้ของเยอะๆ เพราะมันมีคอสต์บางอย่างที่มองไม่เห็นด้วยตา เช่น ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม เราจะมองไม่เห็นในช่วงใกล้ๆ แต่มันคือผลกระทบที่เกิดอย่างต่อเนื่องถ้ายังบริโภคแบบเยอะเข้าไว้ มองแค่เรื่องราคา ไม่ได้มองประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มันก็คือต้นทุน อย่างกรณีคนได้ตัวประหลาดมาในกล่อง ก็มีการถามกลับว่ามันคืออะไร จะทำยังไงกับมัน แต่มันมาอยู่ในกล่องแล้ว มันเอากลับไปลงทะเลไม่ได้แล้ว ก็ต้องใช้พลังของผู้บริโภคฟีดแบ็คว่าคุณใส่ตัวนี้มาไม่ได้นะ มันไม่ใช่ของกิน ต้องมีการฟีดแบ็คมากๆ ว่าเกิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง เหมือนเมื่อก่อนที่มีการแบนหูฉลาม แบนปลานกแก้วว่ามันไม่ใช่ของกิน มันมีหน้าที่กับระบบนิเวศ มันไม่ใช่สิ่งที่ฉันจะกิน ฉันไม่กิน”
นอกจากการตั้งคำถามย้อนกลับสู่ผู้ผลิต การยืนยันว่าจะไม่กินสัตว์ที่ไม่ควรกิน การซื้ออาหารจากประมงพื้นบ้านที่ใช้เครื่องมือเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมก็สำคัญเช่นกัน เพราะการสนับสนุนประมงรายย่อยก็เท่ากับได้ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมทางอ้อม ซึ่งแน่นอนว่าอาจต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่าซื้ออาหารทะเลจากระบบอุตสาหกรรม แต่ก็เหมือนที่กล่าวไว้ ในอาหารที่เราซื้อนั้นมีต้นทุนที่มองไม่เห็นรวมอยู่ด้วย หากเรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบและสภาพแวดล้อมทางทะเลและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้นก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น
“วันนี้เมื่อได้กล่องสุ่ม คุณอาจรู้สึกโชคดีว่าคุ้มกับราคาที่จ่าย แต่ลองคิดถึงต้นทุนจริงๆ คิดถึงความสูญเสียที่มองไม่เห็นทางตัวเลข ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมประมงที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ยิ่งคุณกินอาหารทะเลราคาถูกเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมก็ยิ่งพัง แรงงานก็ยิ่งถูกเอาเปรียบ ซึ่งปัจจุบันก็ถูกเอาเปรียบจนแทบจะไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นคนอยู่แล้ว มีเคสที่แรงงานประมงโดนทำร้ายต้องกระโดดน้ำหนี เคสที่เอ็กซ์ตรีมมากๆ คือถูกฆ่าแล้วก็เอาศพแช่รวมอยู่กับปลาที่จับมาขายต่อพวกเรา
“เรื่องพวกนี้มันอาจจะทำให้กินอาหารไม่อร่อยขึ้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้และต้องลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันอาจยังไม่เห็นผลในช่วงเวลาอันใกล้ แต่เราต้องเริ่มเพื่อให้มันเกิดขึ้นในอนาคต ยุคนี้เป็นยุคออนไลน์ ยุคไวรอล ยุคที่ผู้คนสามารถบอกเล่า แสดงจุดยืน รวมตัวกับคนที่คิดเหมือนกันได้ง่ายมากๆ ถ้าเราใช้มูฟเมนต์แบบนี้ในการทำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม มันน่าจะเป็นการเริ่มต้นบทสนทนาเรื่องอาหารในสังคม มากกว่าแค่เปิดกล่องแล้วรีวิว ย้อนถามเรื่องที่มาของอาหาร วิธีการที่ได้มันมา เหมือนที่หลายคนก็สนใจเรื่องราวของอาหารว่าจานนี้มาจากรั้ววังไหน มีความเป็นมายังไง ทุกคนต้องช่วยกันทำให้เรื่องการย้อนกลับหาที่มาของสิ่งที่เรากินเป็นนอร์ม เพื่อที่เราจะกินอาหารได้อย่างยั่งยืน ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายคนด้วยกัน และสุดท้ายก็คือไม่ทำร้ายตัวเราเองด้วย”
บทความเพิ่มเติม
- กินปูไข่ได้มั้ย? คุกคามระบบนิเวศหรือเปล่า?
- หายนะปลาทูไทย?
- หอยแครง ทำไมแพง?
- ‘ยักษ์กะโจน’ ที่ซึ่งผู้คนทำปลาด้วยความรัก
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos