เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘ลิงขี่เสือ’ องค์กรลับของคนชอบอาหารที่อยากเปลี่ยนโลก

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

มากกว่าประสบการณ์ไดนิ่งที่เก๋ไก๋แหวกแนว ปณิธานของลิงขี่เสือคือสร้างคอมมูนิตี้ของคนชอบอาหารที่อยากเปลี่ยนสังคมด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเอง

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีนิทรรศการหนึ่งที่ได้รับความสนใจจนเรียกได้ว่าเป็นกระแสในกลุ่มคนชอบอาหารผสานประสบการณ์การกินและงานศิลปะ ถ้าฟังแล้วงง ไม่ต้องแปลกใจ เพราะเราเองก็งงเหมือนกันว่า ‘The Inconvenience Store : สะดวก จะ ตาย’ ที่มาพร้อมคำขยายความว่านิทรรศการศิลปะดิจิทัลกินได้ มันคืออะไร (ฟะ) จะลองไปสัมผัสด้วยตัวเองก็ไม่ทันซะแล้ว เพราะ ณ ขณะนั้น บัตรได้ขายหมดเกลี้ยง โชคดีที่คุณวรรณแวว บ.ก.บ.ห ของเราซื้อบัตรทัน เลยได้เป็นตัวแทนไปร่วมสัมผัสแบบประสบการณ์ตรง

 

หลังงานผ่านพ้นไป ก็ได้ยินคำร่ำลือว่างานมีความเก๋ไก๋ เป็นการเปิดประสบการณ์ไดนิ่งแบบใหม่ๆ สมกับคอนเส็ปต์งานศิลปะที่จะมาเปิดโลกการกิน-ดื่ม โดยใช้คอนเส็ปต์ร้านสะดวกซื้อมารังสรรค์เมนูและบรรยากาศภายในห้องสีขาวให้ผู้ชม (และรับประทาน) ได้มาลิ้มรสอาหารพร้อมแสงสีจากแมปปิ้ง แน่นอนว่าคุณวรรณของเราก็พูดไปในทางเดียวกัน

 

ฉะนั้น เลยต้องนัดหมายคุยกับเจ้าของโปรเจ็คต์นี้สักหน่อย บ่ายแก่ๆ ของวันสบายๆ เราก็มาพบกับทีม ‘ลิงขี่เสือ’ ที่ประกอบด้วย แหนม–มนัสรวี วงศ์ประดู่ และ แนน–นภัสวรรณ ศิริสุคนธ์ เจ้าของสตูดิโอกราฟิกที่หยิบเอาธีสิสสมัยเรียนที่อเมริกามาปัดฝุ่นใหม่ พร้อมเริ่มต้นเดินตามความตั้งใจอันแน่วแน่ และ ‘The Inconvenience Store : สะดวก จะ ตาย’ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภารกิจใหญ่เพื่อเปลี่ยนตัวเองและเปลี่ยนสังคมของพวกเธอ

 

 

โปรเจ็กต์ ‘ลิงขี่เสือ’ คืออะไร

 

แหนม: ลิงขี่เสือเป็นชื่อธีสิสจบปริญญาโทของแหนมที่อเมริกา ไปเรียนดีไซน์นั่นแหละ แล้วต้องทำธีสิสจบ เราก็… ทำอะไรดี ต้องหาเรื่องที่ทำให้เราสนใจและอยู่กับมันได้ 1 ปี เออ เราชอบอาหารนี่ งานดีไซน์เหมือนไม่เกี่ยวกับอาหารใช่ไหม แต่เรากลับมองว่าอาหารมันสามารถดีไซน์ได้ทั้ง 5 เซนส์เลยนะ มันพิเศษมากๆ ตรงนี้ แล้วเรามีแพสชั่นเกี่ยวกับอะไรที่จะช่วยประเทศ ช่วยทำให้สังคมดีขึ้น ก็เอามาโยงกันว่าอาหารที่เรากินจะช่วยให้ประเทศดีขึ้นได้อย่างไร

 

ตอนแรกตั้งชื่อเจเนอรัลมาก  รู้ท (Roots) งี้ แต่มาคิดว่าเราไม่อยากทำอะไรที่เจเนอรัล แล้วก็อยากโฟกัสความแบรนดี้ในเอเชียหรือในประเทศไทย ที่ดูเป็นทั้งไทยและเอเชียแล้วก็เป็นสัญลักษณ์ได้ เราเลยนึกถึงสัตว์ อย่างตะขาบ 5 ตัว ลิงถือลูกท้อที่เราโตมาด้วย ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร ทำไมเขาเลือกมาเป็นชื่อแบรนด์ แต่มันมีความไทย-จีนผสมกัน ก็เลยเกิดเป็นชื่อนี้  ส่วนเรื่องความหมาย ลิงขี่เสือก็เหมือนคนฉลาดตัวเล็กที่สามารถคอนโทรลบางอย่างที่ใหญ่กว่า เฟียสกว่าได้

 

ชอบเรื่องอาหารตั้งแต่ตอนไหน

 

แหนม: แหนมเป็นเด็กเลือกกินมาก กินยาก ไม่กินเผ็ด ไม่กินผัก ไม่กินโน่นนี่ แต่เราเกิดมาในตระกูลโรงสีข้าว โตมากับอาหารอร่อย โรงสีทำอาหารเลี้ยงคนเยอะ แล้วย่ากับป้าทำอาหารอร่อย อีกอย่างแหนมว่าคนไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาหารต้องดี ต้องอร่อยไว้ก่อน เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ตัวหรอกเพราะชินไง จนไปเรียนที่อเมริกา มันเป็นจุดที่เราเริ่มทำอาหารเองเพราะอยากกินแต่ไม่มีให้กิน ก็เริ่มกินได้เยอะขึ้น กินเผ็ดได้ กินผักได้ กินอะไรได้หลากหลายขึ้น กับเรามองว่าโต๊ะอาหารมันน่าสนใจตรงที่ทุกคนไม่ใช่แค่มากินอาหาร แต่มาเพื่อพบเจอ พูดคุยกัน ยิ่งกับคนไทย การกินอาหารคือมาเพื่อกินและเม้าท์ เลยทำให้เราสนใจอาหารในแง่ที่มันดึงดูดผู้คน กับอีกอย่างคืออาหารไม่ทำให้คนเป็นทุกข์ ใครได้กินอาหารก็มีความสุขกันทั้งนั้น

 

แนน: เราอยากพูดเรื่องสังคม แต่มันจะสปาร์คบทสนทนาตรงไหน คำตอบคือบนโต๊ะอาหาร การกินอาหารทำให้เกิดความเชื่อมโยงและสร้างความคุ้นเคย ทำให้บทสนทนาหนักๆ เกิดขึ้นได้

 

 

 

ธีสิสในวันนั้นกลายมาเป็น ‘The Inconvenience Store: สะดวก จะ ตาย’ ได้ยังไง

 

แหนม: กลับไทยมาก็ทิ้งไปเลย 4-5 ปีแต่แนนคอยพุชเราตลอด เพราะเขาเรียนกับเราที่โน่นด้วย เขาเห็นว่ามันคืออะไร เขาเชื่อในโปรเจ็กต์ว่ามันดี ก็เลยเอามาทำใหม่ ซึ่งคอร์มันเปลี่ยนไปเยอะ…

 

แนน: จริงๆ มันแบบนี้แต่ต้นแหละ แต่ด้วยความเป็นธีสิส มันถูกชิฟไปตามอาจารย์คอมเมนต์ หรือเรื่องธุรกิจ เพราะแหนมเรียนบิสเนส แต่ตอนนี้คือออริจินอลไอเดีย กับเรารู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างที่ที่นี่ไม่ค่อยมี ไอเดียตั้งต้นก็คือดีไซเนอร์ที่ชวนทุกคนมากินข้าวแล้วดิสคัสกันตั้งแต่สังคม อาหาร การเมือง ฟุตบาธไม่เท่ากัน ทำไมเราต้องกินอาหารแบบนี้ เพราะเราทำงานเลิกดึก ไม่มีทางเลือก นอกจากอาหารสะดวกซื้อที่ใส่สาร ซึ่งขยายไปถึงปัญหาเรื่องชนชั้น

 

แหนม: อยากพูดเรื่องที่คนก็บ่นแหละ แต่ก็จบที่ไม่รู้จะทำยังไง ซึ่งจริงๆ เราทำอะไรได้นะ แค่ไม่เคยคุยกันเพราะคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ อย่าทำเลย บ่นแล้วก้มหน้ารับปัญหาแบบเดิมๆ เราอยากจุดตรงนี้ให้มันมีการเปลี่ยนแปลง ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณ AP ด้วยที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำ เพราะได้แต่คิด แต่ไม่มีเงิน พอดีได้ไปพรีเซนต์งานที่ AP โปรเจ็กต์นี้มันอยู่ในพอร์ทของเรา เขาเห็นแล้วสนใจก็เลยให้บัดเจ็ทมาทำจริงๆ จังๆ

 

กระบวนการทำงานเป็นยังไงบ้าง

 

แหนม: เราไม่เคยทำอีเวนต์สเกลนี้เลยนะ ยิ่งได้สปอนเซอร์มามันก็ยิ่งมีความคาดหวังบางอย่าง แต่ก็ต้องทำแล้วละ ตอนแรกกะจะทำ 20 ที่พอ แต่พอมีทุน ต้องใหญ่ละ ต้องมีการออกไปหาคอลแลบอเรเตอร์ แบบไหน ยังไง เราเป็นดีไซเนอร์เนอะก็หนักไอเดียอยู่แล้ว เยอะ (หัวเราะ) เลยไปเรียกเพื่อน  Another Day Another Render (ทีมทำโมชั่นกราฟิก) มา เป็นเพื่อนกัน เรียนมหา’ลัยด้วยกัน อยากทำงานด้วยกันมานานแล้วแต่ไม่มีโอกาส การทำไดนิ่งเอ็กซ์พีเรียนซ์จากมุมมองดีไซเนอร์ที่คนจะเข้าใจง่าย เราคิดถึงการทำแมปปิ้งที่เขาทำได้ แล้วก็ต้องหาเชฟ พาร์ทเนอร์แนะนำเชฟแอ๋ ร้านยุ้งฉาง ก็เป็นรุ่นน้องที่คณะ แล้วธีมร้านสะดวกซื้อแบบไทยมันมีความจีนอยู่ มีซาลาเปา ขนมจีบ แอ๋ก็ดูบุคลิกแหกๆ ที่น่าจะทำอะไรแหวกๆ ให้เราได้ อย่างอื่นก็ไปขุดกันมา ต้องมีอะไรบ้าง ไปเสาะหาเอา ไม่เคยรู้ว่าโปรเจกเตอร์แพงมากกกกก็ได้รู้ โชคดีที่ได้เอปสันมาเป็นสปอนเซอร์ โลเกชั่นก็ไม่รู้อีกว่าถ้าไม่มีครัวจะลำบาก แต่ ATT 19 ที่สนใจเราเขามีครัวพอดี เลยลงตัว เรียกว่าโชคดีมาก

 

 

 

แต่ฟีดแบ็คดีมาก ก็คุ้มกับความเหนื่อย…

 

แหนม:  ระหว่างทำงานมันมีจุดซัฟเฟอร์ เพราะเราไม่เคยทำแต่ต้องทำให้มันเกิด หนักจนแบบ… ไม่เอาแล้ว พอแล้ว แต่พอจบงานแล้วเห็นความคอมพลีทที่มันเป็นไปได้ เห็นทางที่จะเดินต่อไปได้ บวกกับเรามี know how ละ รู้แล้วว่าจะทำงานแบบนี้ต้องมีอะไรบ้าง ทีนี้ก็ไอเดียมา เยอะมาก เพราะจริงๆ นี่แค่คิกสตาร์ตเอง มันยังมีความเป็นไปได้อีกเยอะ ทั้งไดนิ่งเอ็กซ์พีเรียนซ์ที่ไม่เหมือนชาวบ้าน แหนมคิดแบบทำเป็นสเตเดี้ยม ตรงกลางมีแรปเปอร์ กวี เชฟอยู่ด้วยกัน เล่าเรื่องแบบเพลงแร็ปหรือบทกวี เชฟก็ทำอาหารไป แล้วคนอยู่บนสเตเดียมก็เดินลงมาจอยเทเบิ้ลตรงกลาง…

 

มีแพลนต่อไปแล้ว

 

แหนม: มี เยอะแยะเลย เรามองตัวเองเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สร้างประสบการณ์ผ่านอาหาร ให้คนได้อะไรบางอย่างจากการมาจอย จากนั้นก็มองเรื่องคอนเทนต์ที่มันสามารถแตกไปได้หลายแพลทฟอร์ม ไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวกับคนก็ได้ ร้านอาหารที่รับผิดชอบสังคมก็ได้ เราอยากโชว์ว่ากินแบบนี้สามารถเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ได้ เหมือนเอามันมาหาคน ไม่ต้องรอให้คนไปหามัน อาหารดีๆ ไม่ควรเป็นอาหารทางเลือก อยากให้มันเป็นอาหารธรรมดาปกติที่ทุกคนกินได้ เราอาจจะไม่ได้ไปไกลสุดโต่ง วีแกนจ๋า แต่อยากใช้คำว่า better standard มากกว่า คนเราควรกินอาหารสด อาหารที่ทำให้ชีวิตและสุขภาพดี อาหารที่ไม่มีสารเจือปน ปลอดภัย แค่นี้พอ นี่คือสแตนดาร์ดที่ทุกคนควรมี

 

แนน: เคยทำงานให้โอเว่นฟาร์ม แล้วเขาบอกว่าถ้าทำขนมปังแล้วไปขายแมสๆ คงทำไม่ได้ เพราะเขาไม่ใส่สาร ไม่เอื้อให้ทำเยอะ เราได้ยินก็เสียดาย พยายามจะพุชแบรนด์เขา ร้านแบบโอเว่นฟาร์มมันควรอยู่ได้ ต่อยอดได้ ไม่ใช่ต้องจบที่เข้าระบบอุตสาหกรรม ทำไมล่ะ ในเมื่อคนก็กินขนมปังเยอะ มันต้องมีวิธีสิ อาหารแบบโอเว่นฟาร์มหรือลิงขี่เสือมันควรเป็นอาหารที่คนทั้งประเทศได้กิน ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเล็กๆ แนนเชื่อว่ามันมีช่องทาง เราอาจต้องพึ่งนวัตกรรมหรือเทคนิค ซึ่งมนุษย์ฉลาดจะตาย มันต้องมีวิธีสิ

 

 

 

ทำไมถึงคิดว่าเราต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารการกินกันอย่างจริงจังได้แล้ว

 

แหนม: อาหารคือพื้นฐานของชีวิตเลยนะ เมื่อก่อนแหนมก็ไม่คิดหรอก แต่ตอนเด็กมีโมเมนต์เราเก็บไข่ได้สดๆ จากแม่ไก่ที่มันจะไข่ตรงนี้ เราเดินไปเก็บทุกวันเอามาทำอาหาร แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว มันเพราะอะไร ก็เลยเริ่มตระหนักถึงบางอย่างที่เข้ามาแทนที่ ชีวิตเราสบายขึ้น แต่สบายจริงไหม เราแค่สะดวกมากกว่า เพราะเราอยากได้เวลาเพิ่ม เลยเน้นความสะดวก แต่เอาเวลาไปทำอะไร สุดท้ายคือเอาเวลามารักษาตัวเองเหรอ แล้วทำไมไม่ฮีลตัวเองไปทุกวันล่ะ มัน ใกล้ตัวมากๆ อย่างตอนนี้แหนมมีญาติที่ป่วยเป็นโรคไตเพราะไม่คุมอาหาร เราเห็นความแตกต่างของคนที่คุมกับไม่คุม พอป่วยแล้วกระทบอะไรบ้าง อาหารอะไรที่หล่อเลี้ยงให้เขาไม่สามารถหยุดได้ น้ำตาล โซเดียม กินแล้วติด ทั้งที่รู้ว่าไม่ดี แต่หยุดไม่ได้

 

แนน: บ้านแนนกินอาหารเฮลธ์ตี้อยู่แล้ว เมื่อก่อนเราก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่พอโตขึ้น เห็นพ่อแม่ที่มีอายุแล้วแต่ยังสุขภาพดี มีความสุข ก็กลับมามองตัวเอง ถ้าเราอยากทำงาน อยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่สนใจเรื่องอาหารการกิน มันจะไม่ลีดไปสู่ชีวิตยาวๆ ให้เราได้อยู่จนเห็นความสำเร็จหรืออยู่จนแก่ และถ้าแก่จะแก่แบบไหน แบบแฮปปี้หรือต้องไปอยู่โรงพยาบาล อาหารสำคัญมาก พอตระหนักก็เริ่มเปลี่ยนวิธีคิด

 

อยากให้คนที่มาร่วมเดินทางกับลิงขี่เสือได้อะไรกลับไป

 

แหนม: เป้าหมายเบสิกที่อยากให้ได้คือหนึ่ง เอนจอยก่อน เพราะถ้าเอนจอยแล้วเขาจะเปิดรับแมสเสจ สอง ได้ฟังข้อมูลบางอย่างที่อยู่ข้างนอกไม่ได้สัมผัส บางคนไม่รู้ว่าอาหารในร้านสะดวกมีสารเยอะ เราก็แบบ… คุณไม่รู้เหรอ! แต่มันมีคนที่ไม่รู้จริงๆ ซึ่งแค่นี้แหนมพอใจแล้วนะ แต่ถ้าจะถึงขั้นบรรลุโสดาบันคืออยากให้กลับบ้านไปหาเพื่อน หาคอมมูนิตี้คุยว่าอาหารที่เรากินมันไม่เวิร์ก เราเลือกอะไรดีกว่านี้ให้ตัวเราเถอะ หรือเรามาเปลี่ยนแปลงบางอย่างกันเถอะ มีนะคนที่กินแล้วกลับไปเดินซูเปอร์ฯ แล้วเริ่มพลิกฉลากอ่าน มีสารนี้เยอะ ไม่กินแล้ว นี่คือเราซัคเซสแล้ว จากคนที่ไม่เคยสนใจดูฉลาก เขาดูแล้ว เวิร์กแล้วสำหรับครั้งนี้ แต่ต่อไปคืออยากให้สังคมตระหนัก ให้เกิดพื้นที่สนทนาแล้วเกิดปัญญาให้คนเอาไปใช้จริงๆ

 

 

ก็คือเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม แทนที่จะโทษสังคมโทษระบบแล้วทนต่อไป…

 

แหนม: ใช่เลย แหนมเคยมองว่านายทุนเลว ทำไมทำแบบนี้กับเรา เอาอะไรไม่ดีมาให้เรากิน แม้แต่ตอนเตรียมงานนี้ก็ยังมองแบบนั้น เราจัดแบบประท้วงเลยไหม แต่ระหว่างทางที่ทำงานไป เราพบว่าถึงเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ แต่เรามีพาวเวอร์มากนะ คนไทยมี 70 ล้านคน อาจจะมี 10 ล้านที่มีกำลังซื้อ ขอครึ่งเดียว แค่ 5 ล้านคนคิดว่าฉันจะไม่กินอะไรที่มีสารแบบนี้ ใส่สารตัวนี้ เชื่อเถอะว่าคนทำขายเขาก็ต้องปรับ ต้องเปลี่ยนสูตร เราอยากสเปรดความคิดแบบนี้ เอมพาวเวอร์คนให้ลุกมาทำอะไรให้มันเวิร์กกว่าสำหรับชีวิตและสังคมของเรา

 

แหนมอยากให้ลิงขี่เสือเป็นเหมือนสมาคมหรือองค์กรลับของกลุ่มคนชอบอาหารและอยากให้สังคมดีขึ้น โดยไม่ต้องการทำด้วยความรุนแรง ไม่โต้กลับ ไม่ต่อต้าน แต่ทำบางอย่างให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง พยายามทำอะไรด้วยความสนุก มองภาพคนเป็นพันเป็นหมื่นอยู่ในสมาคมนี้ นี่คือไลฟ์สไตล์ของฉัน ฉันเลือกและแนะนำให้คนอื่น เลิกบ่นแล้วมาลงมือทำให้มันดีขึ้นดีกว่า

 

แนน: นี่คือไอเดียตั้งต้นตั้งแต่ตอนเป็นธีสิสเลย มีคนบอกว่ามันเป็นอันเดอร์กราวน์มูฟเมนต์ได้นะ ใช่ เราอยากทำแบบนั้น อยากขับเคลื่อนสังคม มันอาจจะสวนกระแสนายทุนหรือกระแสโลก แต่ถ้ามีคนเชื่อมากพอ จากใต้ดินก็จะขึ้นมาอยู่บนดินได้

 

ติดตามกลุ่มลิงขี่เสือได้ที่ https://www.facebook.com/MonkeyRidingTiger/

 

ขอบคุณสถานที่: ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food, คุยกับผู้ผลิต

Recommended Articles

Food StoryKintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’
Kintaam ร้านไอศกรีมแซนด์วิชที่ทั้งคนทำและคนกินสนุกได้ ‘ตามอัธยาศัย’

สองสาวจากเชียงใหม่กับไอเดียดีๆ ต่อยอดสิ่งที่รักสู่ร้านไอศกรีมแซนด์วิชสุดฮอต