เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

นักคิดนักวิเคราะห์ชวนมอง ‘โลกใบใหม่’ หลังโควิด-19

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

คาดการณ์สภาพโลกหลังโควิค-19 ที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาล้วนพูดตรงกันว่าจะ 'ไม่เหมือนเดิม'

ชีวิตยุคโควิดมาพร้อม new normal หรือ ‘ความปกติใหม่’ ที่แรกๆ หลายคนยังงงๆ ว่ามันคืออะไรกันนะ แต่อยู่กันไปก็เรียนรู้กันไป ปรับตัวกันไปด้วย เพราะต้องยอมรับว่าการมาของโควิด-19 คือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงโลก มันอาจไม่ร้ายแรงเท่าสมัยไดโนเสาร์สูญพันธุ์แล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์ลุกขึ้นมาครองโลก แต่ก็ส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพสังคม เศรษฐกิจ ที่แม้เมื่อโควิดจากเราไป (ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร) โลกใบนี้ก็จะไม่เหมือนเดิมแน่ๆ

 

โลกจะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน อย่างไร มาศึกษาความน่าจะเป็นไปพร้อมๆ กันตั้งแต่วันนี้ จากการคาดการณ์และวิเคราะห์โดยนักคิด นักเขียน นักวิชาการ นักการเงิน นักบริหาร นักการตลาด ทั้งไทยและเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของธุรกิจ พนักงานออฟฟิศ คนขายของทั้งออฟไลน์ออนไลน์ คนทำอาหาร หรืออาชีพอะไร ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะนำไปปรับใช้กับธุรกิจและชีวิตหลังโควิดได้แน่นอน

 

 

ธนา เธียรอัจฉริยะ

 

รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์

 

ต้องศึกษาสิ่งใหม่ตลอด โลกจะเปลี่ยนอย่างไรยังเป็นเรื่องรอง ตัวเราต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อสิ่งที่เปลี่ยนไป

 

สำหรับผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจมีการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน กลยุทธ์ตอนนี้คือวิชาตัวเบากำไรขาดทุนไม่สำคัญเท่ากับการถือเงินสด ต้องรู้จักสร้างบริบทใหม่ เริ่มเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นข้อมูลที่สำคัญขององค์กร ก่อนปรับมาเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับกลยุทธ์ในการขายหรือสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ในอนาคต และต้องสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจน เช่น ถ้าจะเป็นร้านข้าวขาหมูจะต้องทำตัวเองให้มีอัตลักษณ์ไม่เหมือนใครในเขตพื้นที่ของตัวเอง ว่าทำไมเขาต้องมากินข้าวขาหมูของเรา

 

สำหรับมนุษย์เงินเดือน ก็ต้องสร้างแบรนด์ของตัวเอง เริ่มจากการปรับทัศนคติที่เหมาะสม ไม่เกี่ยงงาน ใช้โอกาสที่มีอยู่ทำงานในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ สู้ ขยัน รู้จักความทรหด

 

สำหรับคนทั่วไป ต้องมีวิชาจิ๋วคือทักษะเล็กๆ ทำอะไรเล็กๆ แต่เก่ง เช่น ทำอย่างไรให้ไข่เจียวฟู ผ่าฟืนอย่างไรให้เป๊ะ เพราะบางทีจะนำไปสู่การสร้างอาชีพใหม่ แต่สิ่งสำคัญของวิชาจิ๋วนี้คือการปรับ Mindset ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว เวลานี้ถือเป็นเวลาในการเพิ่มโอกาสและสร้างทักษะใหม่ที่อยากเรียนรู้

 

เราต้องศึกษาสิ่งใหม่ตลอดเพราะมีหลายอย่างที่เราเริ่มไม่รู้ การที่โลกจะเปลี่ยนอย่างไรยังเป็นเรื่องรองมากกว่าตัวเราเอง ว่าอย่างน้อยตัวเราต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อสิ่งที่เปลี่ยนไป

 

ที่มา: ‘คาถาฝ่าวิกฤต ชีวิต-ธุรกิจหลังโควิด-19’ จัดโดยประชาชาติธุรกิจ / ภาพ: prachachart.net

 

 

บิล เกตส์

 

ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์

 

“โลกหลังโควิด19 จะเปลี่ยนไป ใครอยากอยู่รอดต้องปรับตัว”

 

การระบาดของโควิด19 จะบังคับให้คนทำกิจกรรมในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่ากิจกรรมบางอย่างจะกลับมาทำในรูปแบบเดิม โดยเฉพาะการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจแต่คงไม่มากเท่าเดิมอีกแล้ว อย่างการประชุมผู้ถือหุ้นของ Microsoft เองก็ใช้การประชุมออนไลน์ตั้งแต่ก่อนที่โควิดจะระบาดเสียอีก

 

โควิดยังทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและแอปพลิเคชันใหม่ๆ ต่อไปอาจมีการพิจารณาคดี และประชุมสภานิติบัญญัติผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งบางครั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นี้ อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

 

เจ้าของธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อรับกับโลกที่จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อาทิ การปรับตัวของร้านอาหาร ที่บริการเดลิเวอรีจะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางออกเดียวที่ร้านอาหารต้องทำเพื่อความอยู่รอด การตลาดแบบ Content Marketing ก็สำคัญ ร้านอาหารสามารถเปิดเผยสูตรและวิธีการทำอาหารของร้านก็ได้ เพื่อให้คนทำอาหารกินเองที่บ้าน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำอาหารเอง ดังนั้นการเปิดเผยสูตรและวิธีการทำอาหารจะช่วยเพิ่มยอดขายอาหารแบบเดลิเวอรีให้กับร้านได้

 

ที่มา:inc/ ภาพ: time.com

 

 

ภัทรพล ศิลปาจารย์

 

นักลงทุน ที่ปรึกษาด้านการเงิน นักเขียน

 

“โลกจะจำกัดวงแคบลง สังคมเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”

 

-. Deglobalization ลดความโลกาภิวัตน์ผลจากโควิด 19 จะทำให้บริษัทเริ่มคิดแล้วว่าต้องใช้ของในประเทศ พึ่งพาตลาดส่งออกไม่ได้ ก็ต้องหันมาพัฒนาตลาดในประเทศ คนจะกลับมาโฟกัสที่ตลาดในประเทศมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศกันอยู่

 

– สังคมเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้น ทุกวิกฤตจะทิ้งร่องรอยไว้เสมอ อย่างปี 2545 ที่โรคซาร์สระบาดในประเทศจีน ทำให้คนหันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น เกิดเป็น Alibaba.com หรือ JD.com จนเติบโตอย่างมาก เชื่อว่าเรื่องนี้จะเกิดในประเทศไทยเหมือนกัน เพราะคนชินแล้วที่อยู่บ้านแล้วสั่งของออนไลน์ ความเคยชินนี้จะทำให้คนไม่ค่อยออกจากบ้าน คนเดินห้างน้อยลง

 

– คนจะดูแลสุขภาพมากขึ้น ตระหนักและเห็นคุณค่าชีวิตตัวเองมากขึ้น ดูแลสุขภาพไม่ให้ตัวเองเป็นโรคอะไรเลย เพราะเมื่อเกิดโควิด 19 คนที่มีโรคประจำตัวยิ่งเสี่ยง และมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า ความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี

 

– คนจะหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะโควิด 19 ทำให้ประเทศถูกชัตดาวน์ กลายเป็นว่าธรรมชาติทุกอย่างดีขึ้นหมดเลย เช่น ประเทศอินเดีย เป็นครั้งแรกที่มองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ด้วยตาเปล่า เพราะเมื่อก่อนมีแต่ฝุ่นมลพิษบดบัง และที่ธรรมชาติดีขึ้นไม่ใช่เพราะโควิด 19 แต่เป็นเพราะว่าคนเราไม่ไปทำลายมัน

 

– รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป โควิดทำให้หลายบริษัททำงานแบบ Work from Home บางองค์กรอาจยึดแบบนี้ไปเลย จากเดิมเข้าออฟฟิศ 5 วัน อาจให้เข้าแค่ 2 วัน ซึ่งจะส่งผลกระทบวงกว้างมากและหลายด้านมาก เช่น ถ้าต้องเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละครั้ง อาจไม่ต้องซื้อรถยนต์ ซึ่งกระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่ต้องซื้อประกันภัยต่างๆ ก็กระทบไปอีก รวมถึงอาจไม่ต้องหาคอนโดที่อยู่ใกล้ออฟฟิศ ไปอยู่บ้านชานเมืองก็ได้ ซึ่งก็กระทบอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไปอีก เช่นเดียวกับร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ใกล้ที่ทำงานก็จะยอดขายตก

 

ที่มา: รายการ Money Matters / ภาพ: FB paulpattaraponofficial

 

 

ลี เอเดลคอร์ท

 

นักพยากรณ์เทรนด์หนึ่งใน 25 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นโดยนิตยสาร Time

 

“กลับสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณสมบัติเฉพาะตัว เข้าสู่ยุคของมือสมัครเล่น”

 

โควิด19 ทำให้เราเห็นการปิดตัวลงของสังคมทีละประเทศ นับจากนี้เราจะใช้ชีวิตโดยมี news feeds ลดลง ซื้อของใหม่ๆ น้อยลง ได้จดหมายข่าวหรือ pop-ups โฆษณาน้อยลง ดูเหมือนเราจะเข้าสู่การกักกันทางการบริโภค ที่ซึ่งเราจะเรียนรู้วิธีการที่จะมีความสุขกับเสื้อผ้าธรรมดา กลับไปค้นพบเสื้อผ้าเก่าตัวโปรดที่เรามีอยู่ อ่านหนังสือที่เราลืมไปแล้ว และทำสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตมีความสุข ผลกระทบจากไวรัสจะเป็นไปในแง่ของวัฒนธรรม และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโลกใหม่ที่แตกต่าง

 

หากเราฉลาดพอ เราจะเริ่มต้นใหม่พร้อมกับกฎกติกาใหม่ ทำให้ประเทศต่างๆ กลับไปหาภูมิปัญญาและคุณสมบัติเฉพาะของตัวเอง เปิดตัวอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่จะเจริญรุ่งเรือง และก้าวสู่ศตวรรษและศิลปหัตถกรรม ที่แรงงานมือถูกยกย่องเหนือทุกสิ่ง

 

การปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับสตูดิโองานสร้างสรรค์ที่จะผลิตไอเดียให้กับแบรนด์ต่างๆ ทำให้เกิดเศรษฐกิจที่เติบโตพอดีๆ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มากนัก

 

อุตสาหกรรมท้องถิ่นและกิจกรรมต่างๆ จะมีแรงผลักดัน โครงการที่มีประชาชนเป็นพื้นฐานจะเติบโต พร้อมด้วยระบบแลกเปลี่ยนและตลาดเกษตรกร สตรีทอีเวนต์ การประกวดเต้นและร้องเพลง รวมทั้งงาน DIY ต่างๆ การคาดการณ์ของฉันเกี่ยวกับยุคของมือสมัครเล่นน่าจะมาถึงเร็วกว่าที่ฉันคาดคิดไว้

 

ที่มา: sanook.com / ภาพ: EDELKOORT INC

 

 

ลอรี่ การ์เร็ต

 

อดีตนักวิชาการอาวุโสด้านสุขภาพโลก สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์

 

“ห่วงโซ่อุปทานอยู่ใกล้ประเทศต้นกำเนิดมากขึ้น เต็มไปด้วยความซ้ำซ้อนในการปกป้องการ disruption ในอนาคต”

 

โควิด-19 ทำให้เราตระหนักว่าห่วงโซ่อุปทาน(supply chains) ระดับโลกและเครือข่ายการกระจายสินค้าอ่อนแอต่อการ disruption ขนาดไหน ไวรัสโคโรนาไม่เพียงกระทบเศรษฐกิจในระยะยาวเท่านั้น แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานด้วย

 

โลกาภิวัตน์จะเอื้อให้มีการส่งการผลิตสินค้าไปทั่วทั้งโลก และส่งผลิตภัณฑ์ไปขายในตลาดโดยใช้ระบบ just-in-time (ผลิตเมื่อมีความต้องการซื้อ และส่งมอบให้ลูกค้าทันทีหลังผลิตเสร็จ) โดยไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายเรื่องคลังสินค้า ส่วนสินค้าที่ถูกวางอยู่บนชั้นวางของมากกว่า 2-3 วัน ก็จะถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของตลาด

 

เมื่อดูขนาดความเสียหายของตลาดการเงินโลกตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับรูปแบบ just-in-time และการผลิตที่กระจัดกระจายอยู่ในระดับโลก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจเป็นโฉมใหม่ที่น่าทึ่งในระบบทุนนิยมโลก ที่ห่วงโซ่อุปทานอยู่ใกล้กับประเทศต้นกำเนิดมากขึ้น และเต็มไปด้วยความซ้ำซ้อนในการปกป้องการ disruption ในอนาคต ซึ่งอาจทำให้กำไรที่บริษัทจะได้ลดลง แต่จะทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

 

ที่มา:https://www.the101.world/the-world-after-corona-virus / ภาพ: kuow.org

 

 

ศ.(เกียรติคุณ) นพ.ประเวศ วะสี

 

นักวิชาการ นักเขียน ราษฎรอาวุโส

 

มนุษยชาติจะเข้าสู่ยุคใหม่ โลกจะเกิดบูรณภาพและดุลยภาพ ท่ามกลางความหลากหลาย

 

มนุษยชาติจะเกิดจิตสำนึกใหม่ระดับโลกที่ใหญ่พอจนอาจทำให้กระแสโลกเปลี่ยนไปโดยแบ่งเป็น 7 ประการ

 

1.จิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) เป็นจิตสำนึกใหญ่ ที่หลุดออกจากสภาวะเดิมอันเล็กและคับแคบ จากการที่เห็นโลกทั้งโลก ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกระทบกระเทือนจากไวรัสตัวเล็กนิดเดียวเพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงกว้างใหญ่ไพศาล จิตสำนึกใหญ่ทำให้หลุดเป็นอิสระจากการถูกบีบคั้นอยู่ในความคับแคบ ทำให้เห็นความจริง มีความแจ่มแจ้ง มีความสุขมีศักยภาพ หรือเรียกว่ามีชีวิตจิตใจใหม่ ที่ทำให้สิ่งใหม่อื่นๆ เกิดตามมา

 

2.การรับรู้ใหม่ (New Perception) การรับรู้แบบแยกส่วน คิดแบบแยกส่วน ทำแบบแยกส่วน คือต้นเหตุของการเสียสมดุล และความรุนแรงในโลกยุคเก่า การรับรู้ใหม่ตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ว่าสรรพสิ่งอยู่ในความเป็นทั้งหมดเดียวกันจะทำให้ตระหนักรู้ว่ามนุษย์ทั้งผองพี่น้องกันอยู่ในองค์รวมหรือร่างกายเดียวกัน

 

3.วิธีคิดใหม่ (New Thinking) วิธีคิดเก่าคือคิดแบบแยกส่วน วิธีคิดใหม่คือคิดแบบบูรณาการ (Integration) การแยกส่วนทำให้ขาดบูรณาภาพและเสียสมดุล การบูรณาการทำให้เกิดบูรณภาพและดุลยภาพ

 

4.การทำใหม่ (New Action) การทำเก่าคือการทำแบบแยกส่วน การทำใหม่คือการพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated development) ชีวิตคือการเชื่อมโยง การพัฒนาคือการเชื่อมโยง หรือบูรณาการทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน

 

5.ความมุ่งหมายใหม่ (New Purpose) คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุล (Living Together) ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติแวดล้อม ไม่ใช่การแข่งขัน การสร้างความมั่งคั่ง การเอาชนะแบบเก่าๆ ซึ่งนำไปสู่การแตกสลายทางสังคมและการเสียสมดุล

 

6.ระบบการอยู่ร่วมกันใหม่ (New System of Living) จะมีการจัดระบบใหม่ ที่มีชุมชนแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ขนาดต่างๆ ให้เลือก ตั้งแต่ชุมชนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ จนถึงชุมชนโลก โดยแต่ละชุมชนมีความเป็นองค์รวม (Holistic) ของตัวเอง และทั้งหมดสัมพันธ์กันแบบ Chaordic หมายถึงชุมชนองค์รวมขนาดต่างๆ ต่างเป็นอิสระ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือใครเข้ามาสัมพันธ์กันด้วยความสมัครใจโดยการเรียนรู้ร่วมกัน และเกิดประโยชน์ร่วมสัมพันธภาพใหม่นี้เป็นโครงสร้างเชิงธรรม (ชาติ) ที่เคารพความหลากหลาย ทุกชุมชนองค์รวมมีสิทธิ์และศักดิ์ศรีในการอยู่ร่วมกันตามความเชื่อ คุณค่า ลัทธิ อุดมการณ์ของตนจึงปราศจากความขัดแย้งในระบบความเชื่อ คุณค่า ลัทธิ อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง สีผิว ฯลฯ เกิดสันติสมดุลท่ามกลางความหลากหลายสุดประมาณ ความเป็นองค์รวมแต่ละระดับจะมีคุณสมบัติใหม่อันมหัศจรรย์ที่ทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในตัวเอง (Transcendent)

 

7.ยุคใหม่ของมนุษยชาติ (NewEra of Mankind) เริ่มต้นยุคใหม่ที่มนุษย์หันมาใช้ศักยภาพสูงสุดของความเป็นมนุษย์ เกิดจิตสำนึกใหม่ เข้าถึงความจริงตามธรรมชาติ สร้างระบบการอยู่ร่วมกันใหม่ ถือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสมดุลเป็นสิ่งสูงสุด ที่กำหนดระบบเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ให้สนองตอบความมุ่งหมายของสิ่งสูงสุด

 

โลกจะเกิดบูรณภาพและดุลยภาพ ท่ามกลางความหลากหลาย มีปกติสุขและความยั่งยืนเป็นอารยธรรมใหม่ที่จะบังเกิดขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19

 

ที่มา:https://www.naewna.com/likesara/491927 /ภาพ: thairath.co.th

Share this content

Contributor

Tags:

Covid-19

Recommended Articles

Food Storyทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง
ทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง

จะทำข้าวกล่องต้องรู้ เลือกเมนูยังไง ปรุงแบบไหน บริจาคยังไงให้ไม่เหลือทิ้ง

 

Recommended Videos