
ข้าวแกงรสเด็ดขวัญใจคนใช้รถไฟสายใต้
เสน่ห์อย่างหนึ่งของรถไฟหวานเย็นบ้านเรา ก็คือสารพัดของอร่อยที่เทียวขึ้นมาขายตลอดการเดินทาง ในอดีตที่รถไฟทำหน้าที่เป็นขนส่งสาธารณะหลัก สถานีรถไฟก็รับบทแหล่งรวมของอร่อยประจำถิ่นไปโดยปริยาย ยิ่งกับสถานีใหญ่หรือสถานีที่เป็นชุมทาง มีทางแยกออกไปยังสายอื่นๆ ก็จะยิ่งมีของอร่อยมากขึ้นไปอีก
ทุกวันนี้ รถไฟอาจไม่ใช่ทางเลือกแรกๆ ในการเดินทางข้ามจังหวัดแล้ว แต่ของอร่อยที่รายรอบสถานีรถไฟก็ยังคงอยู่ อย่างเช่น ข้าวแกงกระทง จากชุมทางหนองปลาดุก จังหวัดราชบุรี ที่ได้ชื่อว่าเป็นของอร่อยมาตั้งแต่ยุคที่รถไฟไทยยังเป็นรถไอน้ำ


สถานีชุมทางหนองปลาดุกเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟสายใต้ มีทางแยกไปสุพรรณบุรี และสถานีน้ำตก กาญจนบุรี จึงถือว่าเป็นเป็นต้นทางของทางรถไฟสายมรณะ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่นำไปสู่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์สงครามอีกมากมาย

ปัจจุบันสถานีชุมทางหนองปลาดุกไม่ได้คึกคักเหมือนในอดีต ไม่ได้มีค่ายแรงงาน ไม่ได้มีคนขวักไขว่ เป็นเพียงสถานีเงียบๆ ที่มีรถไฟหวานเย็นจอดเพียงไม่กี่ขบวน แต่ฉันยังขอยกให้สถานีนี้เป็นอีกหนึ่งสถานีในตำนาน เพราะเป็นต้นทางของข้าวแกงกระทงแสนอร่อยที่ชาวสายใต้รู้จักกันดี
เราเดินทางไปถึงสถานีชุมทางหนองปลาดุกตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าเพราะมีนัดกับ “ร้านข้าวแกงกระทงป้าน้อย” ไว้ที่นี้ อากาศครึ้มฝนทำให้บรรยากาศในสถานีรถไฟดูเงียบสงบกว่าที่คิดไว้ ทว่ายังมีมุมหนึ่งของสถานีที่กำลังเร่งมือกันอุตลุต

“ป้าน้อยเป็นรุ่นที่ 2 แล้วลูก ขายมาตั้งแต่สมัยป้าเป็นสาว ถ้านับตั้งแต่สมัยแม่ป้า ก็น่าจะ 60 ปีขึ้นแล้วลูก เลิกขายไปพักใหญ่เหมือนกันนะลูกนะ จนลูกๆ โตแล้ว แต่งงานบ้างอะไรบ้าง ป้าก็กลับมาขายอีก เฉพาะที่ป้าเริ่มขายใหม่ก็น่าจะเกิน 30 ปีแล้ว” ป้าน้อย – ประทุม แสงพิณทอง เจ้าของร้านข้าวแกงกระทงป้าน้อยในตำนานเล่าที่มาที่ไปของร้านให้ฟังพลางตักอาหารมือเป็นระวิง
“สูตรทั้งหมดก็เป็นสูตรจากแม่ป้าเองลูก เมื่อก่อนแม่ป้าก็ทำข้าวแกง แล้วเราก็ใส่กระทง หาบไปขายที่สถานี ไปขายบนรถไฟ สมัยก่อนทำแค่ 3 เมนู มีพะแนงเนื้อ เขียวหวานไก่ ไข่พะโล้ แล้วช่วงหลังเราก็เพิ่มพะแนงหมูขึ้นมาอีกเพราะคนไม่กินเนื้อก็มี”

ข้าวแกงป้าน้อยมีเพียง 4 เมนูหลัก คือ พะแนงเนื้อ พะแนงหมู แกงเขียวหวานไก่ และไข่พะโล้ และแน่นอนว่าเอกลักษณ์คือการตักใส่กระทงใบตองเล็กๆ วางเรียงบนถาดแล้วหอบขึ้นไปขายระหว่างที่รถไฟวิ่งผ่าน เดิมที่ป้าน้อยขายเพียงกระทงละ 10 บาท ทั้งที่เลือกใช้วัตถุดิบอย่างดี ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์หรือเครื่องแกงกะทิ เมื่อเวลาผ่านไป ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ป้าน้อยก็ยังยืนระยะในราคา 10 บาทไว้ได้นับสิบปี ก่อนจะขอลูกค้าขึ้นราคามาเป็นกระทงละ 15 บาทเมื่อช่วงกลางปี 2568 ที่ผ่านมานี้เอง

ข้าวแกงกระทงป้าน้อยใช่ว่าสวยแต่รูปเท่านั้น แต่รสชาติก็ยังอร่อยเกินคาด พะแนงรสจัด ไม่ติดหวาน หอมกลิ่นพริกแกงและกะทิเคี่ยว ที่สำคัญคือเนื้อไม่เหนียวเลยแม้แต่นิด ส่วนเขียวหวานไก่ก็รสชาติกลมกล่อม และที่ฉันชอบที่สุดเป็นการส่วนตัวก็เห็นจะเป็นพะโล้ที่หอมกลิ่นเครื่องพะโล้ ไม่หวาน แถมยังแอบเผ็ดร้อนด้วยพริกไทยอีกต่างหาก ตัวไข่หนึบเด้งสีเข้มปั๊ดเป็นพะโล้โบราณแบบที่หลายคนคิดถึงอยู่แน่นอน
รสมือของคงเส้นคงวาของป้าน้อยทำให้ข้าวแกงกระทงรถไฟมีลูกค้าประจำไม่น้อย ทั้งลูกค้าประจำที่เป็นผู้ใช้รถไฟ นักท่องเที่ยวที่กลับมากินแล้วกินอีก หรือแม้กระทั่งลูกค้าประจำที่โทรมาสั่งจองข้าวแกงไว้แล้วนั่งรถไฟมารับก็ยังมี
ความไอคอนิกของข้าวแกงป้าน้อยไปไกลถึงขนาดที่ว่า ข้าวแกงป้าน้อยถูกสั่งพิเศษเพื่อเสิร์ฟบนขบวนสุดหรูอย่าง SRT Royal Blossom ป้าน้อยเองก็ต้องเดินสายออกร้านตามงานแฟร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถไฟไทย แถมรูปป้าน้อยตักข้าวแกงก็ยังได้รับเลือกให้เป็นตราประทับรูปแบบใหม่ของสถานีชุมทางหนองปลาดุกไปเรียบร้อย

“เมื่อก่อนแม่ป้าขาย 5 บาท ตอนป้าขาย ก็ขาย 8 บาท แล้วก็มาเป็น 10 บาท แต่ตอนนี้มัน 10 บาทไม่ได้แล้ว หลานเขามาช่วยทำ หลานก็ขอให้ขึ้นราคา เพราะหมู เนื้อ ขึ้นมาจากเดิมกิโลฯ ละเป็น 100 เลยนะ
“งานเราเป็นงานครอบครัว ไม่ได้จ้างเขาเต็มร้อย เป็นลูกๆ หลานๆ มาช่วยกันทั้งนั้น อย่างป้าก็เป็นคนตำพริกแกง หั่นเนื้อ หั่นไก่ ทำกับข้าว แล้วเด็กๆ หลานๆ ก็มาช่วยกันขาย เมื่อก่อนก็ไม่ได้มีชื่อร้านอะไรหรอกลูก แต่พอหลานไปขายบนรถไฟใช่ไหม หลานๆ เขาก็เรียกป้าน้อย ป้าน้อย จนลูกค้าก็เรียกตามว่าเป็นข้าวแกงกระทงป้าน้อย ก็เลยกลายเป็นชื่อร้านไปเลย (หัวเราะ)”

แม่ค้าข้าวแกงกระทง 3 คน 3 รุ่น
สำหรับการค้าขายที่ต้องโดดขึ้นลงรถไฟหลายขบวนเช่นนี้ การเร่งมือเตรียมตัวให้ทันก่อนรถไฟจะมาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เบส – สุมิตรา เกิดจันทร์ทอง หลานสาวที่เข้ามาดูแลร้านช่วยตั้งแต่เรียนจบเมื่อ 2-3 ปีก่อน ก็กำลังง่วนตักแกงลงกระทงอยู่อีกมุมหนึ่ง
“เป็นผู้จัดการร้านป้าน้อยค่ะ” เบสพูดติดตลกในขณะที่มือยังไม่หยุดทำงาน
“เบสช่วยย่ามาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมแล้วค่ะ แต่ว่าตอนมัธยมคือขายแค่ข้างล่างอย่างเดียว แล้วก็ขึ้นไปขายบนรถไฟสักประมาณ ม.4 จนตอนนี้เรียนจบมาแล้ว 2 ปี ก็ขายข้าวแกงอย่างเต็มตัวเลยค่ะ ทั้งหน้าร้านและทั้งบนรถไฟเลย
“คือตอนนี้ร้านเราเริ่มเป็นที่รู้จัก รุ่นย่าเขาก็มีอายุกันหมดแล้ว เบสคิดว่าถ้าไม่มาทำ มันก็จะไม่มีคนที่สืบทอดธุรกิจนี้ เพราะงั้นเราก็กลับมาสานต่อธุรกิจที่เป็นของครอบครัวเราเองดีกว่า บวกกับที่บ้านตอนนี้มีแต่ผู้สูงอายุทั้งนั้นเลย เวลาสั่งออเดอร์ที่เราทำส่งรถไฟอย่างนี้ พวกย่าๆ เขาก็จะทำกันไม่ค่อยได้ด้วย”
เมื่อป้าน้อยให้คนรุ่นใหม่เข้ามาจัดการงานในร้านมากขึ้น ภาระก็เบาลงเหลือแค่การทำกับข้าวให้สุดฝีมือ ส่วนเบสก็เข้ามาขยายขอบเขตธุรกิจไปถึงการรับออเดอร์พิเศษ ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายขึ้น เช่นว่าหากต้องการข้าวแกงป้าน้อยในรูปแบบเบนโตะน่ารักๆ ทุกวันนี้ร้านป้าน้อยก็พร้อมบริการ
“ร้านข้าวแกงที่ใครคิดว่ามันแค่ตักลงกระทงแค่นี้ มันก็เหมือนจะไม่ลำบากเนอะ แต่พอได้มาทำจริงๆ มันเป็นงานที่จุกจิกมากนะคะ ใช้บุคลากรเยอะ แล้วร้านเราต้องแข่งกับเวลาด้วย บางทีเรามีออเดอร์ 700-800 กระทง ถ้าเรามีลูกน้องแค่ 2-3 คนมันไม่ทันอยู่แล้ว แต่เบสมองว่าการขายของมันมีความสุขนะ คือเราได้เจอผู้คนทุกวันเลย บางคนเขาก็กินมาแบบ 10 ปี 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยร้านเป็นเพิงไม้เล็กๆ จนทุกวันนี้ร้านเราย้ายเข้ามาอยู่ในตัวอาคารสถานีเก่าแล้ว เขาก็ยังทานกันอยู่ ลูกค้าที่สั่งขึ้นบนรถไฟที่เบสทำส่งเป็นขบวน Royal Blossom อันนี้ก็เป็นลูกค้าตั้งแต่ 10 ปีที่แล้วนะคะ ก็ยังอุดหนุนกันมาตลอดเลย”

เบสคล่องแคล่วสมกับที่ขายข้าวแกงมาตั้งแต่เด็ก เมื่อตักแกงเตรียมของครบแล้วก็พร้อมเข้าสู่ช่วงขายของประจำวัน เราตัดสินใจขึ้นรถไฟตามเบสไปลองเป็นแม่ค้าข้าวแกงกระทงด้วย 1 สถานี แล้วก็พบว่านี่เป็นอาชีพที่ราวกับใช้ชีวิตอยู่ในหนัง Mission : Impossible ก็ไม่ปาน
เริ่มต้นที่การตักข้าวแกงลงกระทงด้วยความเร็วแบบมืออาชีพ แล้วก็ต้องยกข้าวแกงทั้งถาดด้วยมือข้างเดียว เพราะแขนอีกข้างสะพายกระเป๋าที่ใส่ขนมจีบและสาคูไส้หมูไว้เผื่อเติมลงถาดกลางทาง (ซึ่งแต่ละอย่าง น้ำหนักไม่เบาเลย) เสร็จแล้วก็ต้องขึ้นไปที่ชานชาลาเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนรถไฟจะมา

เมื่อได้ยินเสียงล้อเหล็กมาไกลๆ แม่ค้าข้าวแกงกระทงทุกอัตราก็จะอยู่ในท่าเตรียม และทันทีที่รถไฟจอดสนิทเราก็ต้องจ้ำขึ้นรถไฟให้ทันเวลา (เพราะรถไฟจะจอดอยู่แค่แป๊บเดียวเท่านั้น) ทันทีที่รถไฟออกตัวความโขยกโยกเยกก็มาทดสอบเราอีก ในขณะที่ฉันซึ่งตัวเปล่าไม่มีภาระถือของกำลังพยายามทรงตัวให้อยู่ เบสก็ก้าวเท้าฉับๆ ข้ามไปถึงตู้หน้าพร้อมกับถาดข้าวแกงและของเต็มมือ แน่นอนว่าต้องไม่ลืมส่งเสียงหาลูกค้าที่กำลังรออยู่ด้วย

“ข้าวแกงค่า ข้าวแกงกระทงจ้า ข้าวแกงไหมคะ…”
เบสขายข้าวแกง ทอนเงิน และเดินไปมาจนข้าวกระทงเริ่มพร่อง ฉันซื้อตั๋วไปลงที่สถานีรถไฟคลองบางตาล (เพราะหวังจะไปซื้อไก่ย่าง) นั่นหมายความว่าฉันใช้เวลาอยู่บนรถไฟไปราวๆ 5 นาทีเท่านั้นแต่กลับรู้สึกว่าใช้พลังงานไปกับการทรงตัวและเดินตามแม่ค้าข้าวแกงให้ทันไปมากพอๆ กับการออกกำลังกายสักครึ่งชั่วโมง

เราลงรถไฟที่สถานีบางตาลเรียบร้อย รถไฟค่อยๆ เคลื่อนตัวออกไปอีกครั้ง เบสโบกมือส่งเราหย็อยๆ กลายเป็นภาพที่ชวนให้นึกถึงละครย้อนยุคสักเรื่องที่หนุ่มรถไฟมาตกหลุมรักแม่ค้าตามสถานี
เข้าวันนี้เราก็ตกหลุมเหมือนกัน แต่เป็นการตกหลุมรักข้าวกระทงของป้าน้อยที่ขายอยู่ตั้งไกล เห็นทีจะต้องหาเวลานั่งรถไฟล่องใต้มาซื้อข้าวแกงกระทงในเร็ววันนี้แล้วละค่ะ

อยากกินข้าวแกงป้าน้อย ต้องนั่งรถไฟขบวนไหน?
ข้าวแกงป้าน้อยมีขายบนรถไฟที่จอดสถานีชุมทางหนองปลาดุกในช่วงเช้าถึงบ่ายหลายขบวน เช่น
260 น้ำตก – ธนบุรี
255 ธนบุรี – หลังสวน
257 ธนบุรี – น้ำตก
252 ประจวบคีรีขันธ์ – ธนบุรี
261 กรุงเทพ – หัวหิน
251 ธนบุรี – ประจวบคีรีขันธ์
254 หลังสวน – ธนบุรี
262 หัวหิน – กรุงเทพ (*บางวันเท่านั้น)
259 ธนบุรี – น้ำตก
258 น้ำตก – ธนบุรี

ถ้าใครไม่อยากลุ้น กลัวนั่งรถไฟมาแล้วไม่เจอ ซื้อไม่ทัน ก็สามารถโทรสั่งจองไว้ก่อน โดยแจ้งขบวนและตู้รถไฟที่นั่งมาได้ หรือถ้าจะให้ชัวร์ ก็มาซื้อที่สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีได้เหมือนกันค่ะ (ถ้าอยากกินแกงครบๆ พยายามมาก่อนช่วงเที่ยงนะคะ)

ร้าน ข้าวแกงกระทงป้าน้อย
Facebook : ข้าวแกงกระทงป้าน้อย สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก
พิกัด : สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก
Google Map : https://maps.app.goo.gl/KAFKqERrxpimFPBD6
เวลาเปิด-ปิด : 07:00-14:00 ทุกวัน (หรือแล้วแต่ข้าวแกงจะหมด)
Contributor
Tags:
Recommended Articles