เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

จบดราม่าราสกูลาระดับชาติสองปีครึ่ง

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

‘เพราะอาหารไม่ใช่เรื่องเล็ก’ จริงๆ แถมบางประเทศยังซีเรียสระดับวาระแห่งชาติ ยกมาเป็นประเด็นถกเถียงอย่างจริงจัง เหมือนเรื่องล่าสุดที่สำนักข่าว BBC รายงานเรื่องการวิวาทของสองรัฐในอินเดีย คือเบงกอลตะวันตกกับโอริสสา ที่มีบุคคลระดับรัฐมนตรีการคลังและหัวหน้าคณะรัฐมนตรีเข้าร่วม ทะเลาะกันอย่างดุเดือดออกสื่อผ่านโซเชียลมีเดียแบบไม่แคร์เวิลด์

และคุณจะต้องอุทานว่า “ห๊ะ! จริงดิ” ถ้ารู้ว่าพวกเขาทะเลาะกันเรื่องการอ้างสิทธิ์เหนือราสกูลา ขนมหวานที่ขึ้นชื่อลือชาจนถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศอินเดีย ต่างฝ่ายต่างเคลมว่ารัฐของตัวเองคือผู้ให้กำเนิดราสกูลา

 

สงครามชิง (สิทธิ์เหนือ) ราสกูลา นี้กินเวลายาวนาน 2 ปีครึ่ง ค้นคว้าลงลึกทางประวัติศาสตร์ มีการยื่นเอกสารเก่าแก่อายุนับร้อยปีประกอบ มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วม เพื่อตัดสินให้ได้ว่ารัฐใดกันแน่ที่จะได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินเกิดของราสกูลา และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ผลการตัดสินก็ระบุให้เบงกอลตะวันตกเป็นผู้ชนะ ได้รับการติดแท็ก GI ซึ่งองค์การการค้าโลกระบุว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง เกิดจากการที่ชุมชนอาศัยลักษณะเฉพาะที่มีในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ อาทิ สภาพดินฟ้าอากาศหรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการผลิตสินค้าท้องถิ่น และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษที่มาจากพื้นที่ดังกล่าว ความสำคัญของ GI คือไม่เพียงมีผลในการคุ้มครองสิทธิ์ ยังครอบคลุมไปถึงสิทธิ์ในการต่อยอดพัฒนาเพื่อการค้าในเวทีโลกอีกด้วย

 

ต้นเหตุของการเรียกร้องสิทธิ์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก.ย. 2015 เมื่อรัฐบาลโอริสสาจัดงานเฉลิมฉลอง Rasagalla Diwas อ้างอิงถึงเทวตำนานในศาสนาฮินดูตอนที่พระแม่ลักษมีได้รับราสกูลาเป็นของขวัญจากพระสวามีหลังทรงทิ้งพระนางไว้องค์เดียว เป็นการประกาศกลายๆ ถึงความเชื่อมโยงกับราสกูลามาแต่ดั้งเดิม นับจากนั้นทั้งสองรัฐก็เปิดฉากแย่งชิงสิทธิ์ความเป็น “ออริจินอล” เหนือราสกูลากันอย่างดุเดือด

 

ปีที่แล้ว ฝั่งโอริสสาถึงกับยื่นเอกสารเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ความยาวกว่าร้อยหน้าประกอบคำร้อง และได้รับการยอมรับจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดีย แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการเป็นผู้ชนะ

 

มามาตา ปัญเนอจี หัวหน้าคณะรัฐมนตรีของเบงกอลตะวันตกทวีตข่าวดีของรัฐในทันที และรัฐมนตรีคลังของโอริสสา ชาซี ปูซาน เปเฮร่า ก็ออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนผ่านการให้สัมภาษณ์ Times (อินเดีย) ว่ายังไงก็ไม่ยอมแพ้ เพราะราสกูลาของเบงกอลตะวันตกนั้นไม่เหมือนราสกูลาของโอริสสาเลยสักนิด ทั้งรสชาติ เนื้อสัมผัส และสี ที่ของโอริสสาเข้มกว่า แล้วยังไม่ “หนึบและเหนียว” เหมือนของเบงกอล ล่าสุดทางโอริสสายังเพิ่งค้นพบหลักฐานอ้างอิงถึงราสกูลาในวรรณกรรมโอริสสาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 และพวกเขาหวังว่าจะหาหลักฐานอื่นเพิ่มเติมเพื่อติดแท็ก GI ให้ราสกูลาของตัวเองให้จงได้

 

ใครที่ยังงงๆ ว่าราสกูลาคืออะไร ราสกูลาเป็นชีสจากนมวัว ผลิตด้วยกรรมวิธีการต้มแยกไขมันแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลม มีรสชาติหวานจัด สามารถกินเปล่าๆ ในน้ำเชื่อมคู่กับชาเข้มๆ หรือนำไปทำเป็นเมนูขนมหวานอื่นๆ ได้ ในเมืองไทยหาราสกูลาได้ทั่วไปตามร้านอาหารอินเดีย เพียงแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เนื่องจากรสชาติที่หวานจัด ซึ่งจากประสบการณ์ตรงไปชิมเองที่ Royal India ร้านอาหารอินเดียเจ้าแรกเจ้าดังในย่านพาหุรัดก็ต้องบอกว่าหวานแสบไส้สมคำร่ำลือ ไม่แปลกใจที่คนไทยส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับขนมราสมาลัยมากกว่า จริงๆ แล้วราสมาลัยก็คือการนำราสกูลามาทำให้หวานน้อยลงด้วยการเสิร์ฟแบบแช่มาในนมสด โรยหน้าด้วยถั่วพิสตาชิโอ ความหวานถูดลดทอนด้วยความมันของนมและความกรุบของถั่ว รสชาติเลยนุ่มนวลแถมหอมกลิ่นนมอวลไปทั้งปาก

 

ใครจะคิดว่าขนมหวานก้อนเล็กๆ กลับมีที่มาที่ไปและความสำคัญใหญ่โตระดับประเทศไปได้ นับจากนี้ จะกินราสกูลาหรือราสมาลัยก็เห็นทีจะมองเจ้าก้อนชีสสีขาวนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว!

Share this content

Contributor

Tags:

วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, อาหารอินเดีย

Recommended Articles

Food Storyแพท พัทริกา นักเขียนและนักเดินทางผู้เชื่อว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด
แพท พัทริกา นักเขียนและนักเดินทางผู้เชื่อว่าอาหารคือประตูสู่อินเดียที่ดีที่สุด

ว่าด้วยอาหารแขกกับสาวไทยหัวใจอินเดียเจ้าของเพจ 'ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก'

 

Recommended Videos