เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ทำไมต้องมี ‘ภาษีน้ำหวาน’?

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

ภาษีน้ำหวานมีไว้เพื่ออะไร แล้วมีประโยชน์ต่อใครบ้างนะ

เมื่อโลกรู้จักน้ำตาล รสชาติหวานแสนอร่อยที่เป็นหนึ่งในรสชาติถูกใจมหาชนก็กลายเป็นรสที่คนเราเสพติด ซึ่งแน่นอนว่าอะไรที่ too much of something is bad enough น้ำตาลและความหวานอร่อยลิ้นก็จริง ทว่ากินมากก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกาย เริ่มที่โรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกิน อันจะนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงกว่านั้นตามมาเป็นแพกเกจ อาทิ เบาหวาน ความดัน โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเมื่อเป็นแล้วต้องรักษาตลอดชีวิต หลายคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หลายคนเป็นภาระแก่ครอบครัวนับสิบปี ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายที่ตามมาก็มากมายมหาศาล (ในอเมริกาประมาณค่าใช้จ่ายไว้ที่ 190 พันล้านดอลลาร์ต่อปี)

 

 

 

 

วงการสาธารณสุขทั่วโลกจึงต้องดำเนินนโยบายและมาตรการควบคุมโรคอ้วนและภาวะน้ำหนักเกินโดยเร่งด่วน มาตรการสำคัญคือเก็บภาษีสรรพสามิต ‘เครื่องดื่มน้ำหวาน’ เพื่อหวังผลให้ปริมาณการดื่มน้ำหวานลดลงเมื่อราคาสูงขึ้น

 

 

 

 

แล้วทำไม ‘เครื่องดื่มน้ำหวาน’ จึงเป็นเป้าในการลดการระบาดของโรคอ้วน?

 

 

 

 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก ‘เครื่องดื่มน้ำหวาน’ กันก่อน เครื่องดื่มน้ำหวานนั้นหมายรวมถึงเครื่องดื่มทุกชนิดที่ปรุงรสหวานด้วยการเติมน้ำตาลชนิดต่างๆ ทั้งน้ำตาลจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลผ่านกรรมวิธีคือ high fructose corn syrup และน้ำตาลเคมี เครื่องดื่มน้ำหวานจึงครอบคลุมถึงน้ำอัดลม ชาและกาแฟกระป๋อง น้ำหวานรสต่างๆ นมเปรี้ยว นมสดรสหวาน นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มชูกำลัง ตลอดจนน้ำผลไม้ทั้งหลายที่ผลิตแบบอุตสาหกรรม

 

 

 

 

 

 

 

 

School of Public Health แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แสดงข้อมูลหลักฐานชี้ว่าเครื่องดื่มน้ำหวานเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของภาวะโรคอ้วน ดังนี้

 

 

 

 

  1. ช่วงทศวรรษ 1970s การบริโภคเครื่องดื่มน้ำหวานคิดเป็น 4% ของปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคต่อวัน ถึงปีค.ศ. 2001 สัดส่วนเครื่องดื่มน้ำหวานเพิ่มสูงเป็น 9%
  2. ระหว่างปีค.ศ. 1999-2004 เด็กและเยาวชน (2-17 ปี) ดื่มเครื่องดื่มน้ำหวาน 224 แคลอรีต่อวัน คิดเป็น 11% ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดต่อวัน เด็กเล็ก (6-11 ปี) ปริมาณแคลอรีจากน้ำหวานเพิ่มกว่า 60% จาก 130 เป็น 209 แคลอรีระหว่างปีค.ศ 1989-2008
  3. ในวันหนึ่งๆ ชาวอเมริกันกว่าครึ่งที่บริโภคเครื่องดื่มน้ำหวาน 1 ใน 4 ของคนเหล่านี้ได้อย่างน้อย 200 แคลอรีจากเครื่องดื่มนี้ อีกร้อละ 5 ดื่มมากถึง 567 แคลอรี เทียบได้กับน้ำอัดลม 4 กระป๋อง
  4. ผลการวิจัยยืนยันสอดคล้องกันว่าเครื่องดื่มน้ำหวานสัมพันธ์ทางบวกกับโรคอ้วน การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าทุก 12 ออนซ์ที่เด็กกินน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นต่อวัน ความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนจะเพิ่มขึ้น 60%

 

 

 

 

ฮังการีและฝรั่งเศสจึงเริ่มเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำหวานในปีค.ศ. 2012 ตามด้วยเม็กซิโกปี 2013 อังกฤษ ฟินแลนด์ เซาท์แอฟริกา ในปี 2016 หลายรัฐในอเมริกาก็เริ่มจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำหวาน อาทิ เมืองเบิร์กเลย์ แคลิฟอร์เนีย (2015) ฟิลาเดลเฟีย (2017) ซานฟรานซิสโก (2018) ในดินแดนที่มีการเก็บภาษีเครื่องน้ำหวาน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มน้ำหวานออกมาคัดค้านอย่างหนัก โดยบอกว่าภาษีเครื่องดื่มเป็นภาระสำหรับคนจนและไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าอัตราโรคอ้วนจะลดลงด้วยการเก็บภาษีเครื่องดื่ม

 

 

 

 

 

 

 

 

หลายประเทศในเอเชียที่พิจารณาจะออกกฎหมายเดียวกัน ก็โดนคัดค้านแบบเดียวกัน อย่างไทย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นผู้เสนอร่างกฏหมายเก็บภาษีน้ำหวานเพื่อควบคุมปัญหาโรคอ้วน สู่การพิจารณาร่วมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลเมื่อต้นปี 2016 ซึ่งกระทรวงการคลังออกมาแถลงว่าให้ชะลอไว้ก่อน เพราะเกรงจะกระทบอุตสหกรรมน้ำตาลของประเทศ และเกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี เพราะอาหารอื่นๆ ที่ใส่น้ำตาลสูงไม่ถูกเก็บด้วย

 

 

 

 

มาดูสถานการณ์โรคอ้วน การบริโภคเครื่องดื่มน้ำหวาน และอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยเราบ้าง ระหว่างปี 2008-2011 อัตราโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในชายไทยเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจาก 8% เป็น 28% หญิงจาก 17% เป็น 41% ในเด็กก็พบอัตราโรคอ้วนและน้ำหนักเกิน 12% เทียบักบตะวันตก และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงอย่างน่ากลัวซึ่งมาจากสาเหตุการบริโภคอาหารอย่างตะวันตก

 

 

 

 

จากการสำรวจปี 2001 คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 25 ช้อนชาต่อคนต่อวัน เป็นอัตราสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเพิ่มขึ้นจาก 16 ช้อนชาต่อคนต่อวันในปี 1986 ปี 2010 เฉพาะสำหรับเด็ก รายงานการวิจัยปี 2547 พบว่า 2 ใน 3 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี กินน้ำตาลเฉลี่ยวันละ 8 ช้อนชา และอีก 1 ใน 4 วันละ 10ช้อนชา ซึ่งยืนยันว่าไทยเราบริโภคน้ำตาลสูงขึ้นอย่างมาก และมีปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินรุนแรงขึ้นทุกที

 

 

 

 

 

 

 

 

องค์การ UNICEF ระบุว่าอัตราเด็กอ้วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะในแปซิฟิกเพิ่มเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่คือเด็กแวดล้อมด้วยอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ อาหารแปรรูปที่มีแคลอรีสูง กินขนมที่มีน้ำตาลกับไขมันสูง แทนที่จะกินอาหารพวกเมล็ดธัญพืช เนื้อและผัก มีข้อมูลว่าร้อยละ 90 ของอาหารกับเครื่องดื่มที่มุ่งขายให้เด็กเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว (saturated fats) ไขมันที่เป็นโทษต่อสุขภาพ น้ำตาล เกลือในปริมาณสูง

 

 

 

 

ในอดีตคนรวยมักอ้วนเพราะมีอันจะกินและอยู่ดีกินดีตามที่เราชอบพูดกัน แต่ปัจจุบันไม่รวยก็อ้วนได้จากอาหารแปรรูปและเครื่องดื่มน้ำตาลสูงที่มีกลาดเกลื่อนไปหมดแถมยังราคาถูกกว่าอาหารสุขภาพมากมาย

 

 

 

 

ในแง่เศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความอ้วนกระทบจีดีพีโดยตรงร้อยละ 0.56 และกระทบโดยอ้อมอีกร้อยละ 0.22 ผลกระทบจีดีพีทางตรง เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเนื่องจากความอ้วนกับโรคอ้วน ส่วนผลกระทบทางอ้อมนั้นวัดจากมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียอันเนื่องจากการไร้สมรรถภาพกับตายก่อนวัยอันควร รัฐบาลทั่วโลกจึงตระหนักถึงภัยจากโรคเบาหวานที่กำลังก่อตัวอย่างรวดเร็ว การที่รัฐบาลกับสังคมต้องเสียเงินมหาศาลกับโรคเรื้อรังจึงสมผลกับการเก็บภาษีน้ำตาลตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และนำภาษีที่ได้รณรงค์ส่งเสริมให้คนดูแลรักษาสุขภาพ

 

 

 

 

 

 

 

 

องค์การอนามัยโลกเผยว่า ‘เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล’ คือเหตุผลหลักที่คนกินหวานเกิน ยกตัวอย่าง ชานมไข่มุกบางแห่งมีน้ำตาลถึง 70 กรัมต่อแก้ว เครื่องดื่มกระป๋องเฉลี่ยมีน้ำตาล 40 กรัมต่อกระป๋อง ในขณะที่องค์การอนามัยแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกิน 25 กรัมต่อวัน (6 ช้อนชา) และแนะนำว่ารัฐบาลสามารถทำหลายอย่างเพื่อลดปัญหาอันเนื่องจากคนกินหวานเกิน หนึ่งในนั้นคือเก็บภาษีน้ำตาล (sugar tax) เป็นการแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดการบริโภคน้ำตาล มีหลักฐานว่ายอดขายเครื่องดื่มผสมน้ำตาลในเม็กซิโกลดลงร้อยละ 7.6 หลังขึ้นภาษีน้ำตาลเมื่อปี 2014 ช่วยลดปัญหาโรคเรื้อรังที่มาจากการกินหวาน

 

 

 

 

ไทยเราเองก็จัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีมติเห็นชอบเสนอจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง และน้ำผลไม้ โดยเริ่มทำการเก็บภาษีตามขั้นบันไดทุก 2 ปี มาตั้งแต่ ปี 2559 เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัว ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มสูตรน้ำตาลน้อยหรือน้ำตาล 0 เปอร์เซ็นต์ออกมามากขึ้นเพราะไม่ต้องจ่ายภาษีตัวนี้

 

 

 

 

การเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำหวานเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาทั้งหมด ต้องร่วมกับมาตรการอื่นๆ เช่น การป้องกันไม่ให้เด็กกินหวานและกลายเป็นคนติดหวาน ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไม่ให้มีอาหารเครื่องดื่มรสหวานจัด จัดระเบียบการขายสิ่งเหล่านี้ ฉลากสินค้าต้องระบุคุณค่าโภชนาการอย่างชัดเจน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ในขณะที่ประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมก็น่าจะเป็นอีกสิ่งที่อยู่ในขั้นตอน เพราะอาหารอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้น้ำตาลสูงก็ไม่น่าจะรอดตัวเช่นกัน

 

 

 

 

ภาพ: www.expressandstar.com / bloximages.chicago2 / http://4.bp.blogspot.com/ http://graphics.straitstimes.com / smiles4kids.com / http://prod.static9.net.au/

 

 

 

 

ที่มา: นิตยสารครัว ฉบับที่ 272 / http://www.positive4thailand.com/2020/12/sugar-tax / https://www.csdlabservices.com

 

 

 

 

บทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

ติดหวาน!! เสพติดน้ำตาลอันตรายกว่าที่คิด​ | สุขภาพดีกับป้านิดดา

 

 

 

 

หวานนี้มีที่มา… สารพัดน้ำตาลจากอ้อย

 

 

 

 

หอมหวานอย่าง ‘น้ำตาลมะพร้าวแท้’

 

 

 

 

กว่าจะเป็นช็อกโกแลต การเดินทางจากต้นโกโก้ถึงร้านขนมหวาน

Share this content

Contributor

Tags:

น้ำตาล, วัฒนธรรมอาหารรอบโลก

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด

 

Recommended Videos