อีกหนึ่งเอกลักษณ์จากภูมิปัญญา ที่สร้างเสน่ห์ให้ขนมไทย
ธรรมชาติเกื้อกูลการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่ไหนแต่ไร คนสมัยก่อนชีวิตผูกพันกับธรรมชาติจึงหยิบจับสิ่งรอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างต้นกล้วยที่ใช้ได้แทบทุกส่วน ทั้งกินผล หยวกกล้วย หัวปลีใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหาร ลำต้นทำกระทง ใบใช้ทำบายศรีประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำภาชนะอย่างกระทงใบตองไปจนถึง ‘หีบห่อขนมไทย’ หลากรูปทรงซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
‘หีบห่อขนมไทย’ นับว่าเป็นภูมิปัญญาที่สร้างอัตลักษณ์ทั้งในแง่รูปทรงและการนำวัสดุมาใช้ เพราะไม่ได้มีแต่ใบตอง เมื่อภูมิศาสตร์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเราจึงได้เห็นหีบห่อขนมจากวัสดุหลากหลาย เช่น ใบเตย ใบมะพร้าวที่ขึ้นอยู่ทั่วไป หาได้ง่าย ใบจากในพื้นที่ที่มีป่าชายเลน หรืออย่างใบกะพ้อที่พบได้ทั่วถิ่นภาคใต้
ทั้ง ‘วัสดุธรรมชาติ’ และ ‘รูปทรง’ หีบห่อขนมไทยที่มีความหลากหลายยังสะท้อนถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ที่ช่างคิดช่างประดิษฐ์ ออกแบบรูปทรงและเลือกคุณสมบัติของวัสดุให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ห่อขนมแต่ละประเภท ทั้งความเหมาะสมกับเนื้อขนม การให้กลิ่น และกรรมวิธีที่ทำให้ขนมสุก
ใบตอง ใบตองที่นิยมใช้ห่อขนมคือ ใบกล้วยน้ำว้ากับใบกล้วยตานี ซึ่งแต่เดิมนั้นหาได้ทั่วไปเพราะกล้วยเป็นพืชที่ปลูกไว้ประจำบ้าน และด้วยเส้นใยใบตองสดที่ทนทานต่อความเย็นและความร้อน จึงใช้ห่อผักเพื่อคงความสด ห่ออาหาร ขนม ทั้งปิ้ง นึ่ง ย่าง ได้ ทั้งยังเพิ่มกลิ่นหอมให้อาหาร ส่วนใบตองแห้งก็มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมห่อขนมกวนอย่างกะละแม โดยหีบห่อขนมไทยที่ใช้ใบตองนั้นมีหลายรูปทรงที่เราเห็นบ่อย เช่น
ทรงเตี้ย มีฟังก์ชันการห่อในแง่ของภาชนะบรรจุ ปิดมิดชิดด้วยไม้กลัดที่ทำจากทางมะพร้าว เพื่อความสะอาดและสะดวกหยิบจับ จำพวกขนมถาดตัดชิ้น เช่น หม้อแกง ขนมชั้น เปียกปูน และข้าวเหนียวสังขยาหน้าต่างๆ
ทรงสูง เหมาะกับขนมประเภทนึ่ง เช่น ใส่ไส้ ขนมกล้วย ซึ่งนอกจากใช้ใบตองยังต้องมีใบมะพร้าวเจียนปลายใบแฉลบให้แหลมสวยงามทำเตี่ยวคาดหนีบใบตองทั้งสองข้างไว้เพื่อเพิ่มความแน่นหนาไม่ให้ขนมทะลักออกมาเมื่อสุก แล้วกลัดด้วยไม้กลัดทางมะพร้าว
กระทง ขึ้นรูปด้วยการจับมุมและกลัดด้วยไม้กลัดที่ทำจากทางมะพร้าว นอกจากเป็นภาชนะยังใช้ใส่ขนมประเภทนึ่งให้ขึ้นฟู ดูสวยเต็มถ้วย เช่น ขนมตาล ขนมกล้วย
ห่อเปิดหน้า เป็นการห่อแบบพับ โดยวางขนมตรงกลางใบตองแล้วห่อด้านข้าง พับปลายใบตองเก็บใต้ฐาน ไม่ต้องใช้ไม้กลัด ฟังก์ชั่นก็ตามชื่อ คือ ใช้ห่อข้าวเหนียวหน้าต่างๆ เปิดให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นข้าวเหนียวหน้าอะไร เช่น หน้ากุ้ง หน้าปลา สังขยา
ห่อข้าวต้มมัด กับห่อขนมเทียน เป็นทรงจำเพาะ เมื่อเห็นก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นขนมอะไร อย่าง ‘ขนมเทียน’ ทรงสามเหลี่ยม บ้างเรียกทรงเจดีย์ ทรงนมสาว เป็นการห่อแบบพับ นอกจากความสวยงามของรูปทรงยังมีนัยยะทางศาสนา เปรียบขนมเทียนเหมือนแสงเทียน บ้างว่าเหมือนเจดีย์ จึงเป็นขนมในงานบุญใหญ่ๆ ทางภาคเหนือ เรียกว่า ‘ขนมจ๊อก’ ส่วน ‘ข้าวต้มมัด’ เป็นการห่อพับใบตองหลายชั้นแล้วจับคู่มัดรวมกันด้วยตอก (ไม้ไผ่เหลาเส้น) ให้แน่นหนา กันไม่ให้น้ำเข้า ขณะต้ม ซึ่งแต่เดิมข้าวต้มใช้วิธีต้มก่อนเปลี่ยนเป็นนึ่ง คนสมัยก่อนยังเชื่อว่า หากคู่รักนำข้าวต้มมัดไปทำบุญในวันเข้าพรรษา จะครองรักคู่กันยาวนาน
กะพ้อ ต้นกะพ้อพบเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคใต้ เป็นพืชตระกูลปาล์ม นิยมนำใบอ่อนมาห่อขนมต้ม เรียกว่า ‘ข้าวต้มใบกะพ้อ’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘ต้ม’ รูปทรงสามเหลี่ยม เป็นขนมต้มที่มีส่วนประกอบของข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาล ถั่ว ผัดรวมกันแล้วเอาไปห่อต้ม คล้ายข้าวต้มมัด อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตานักเพราะเป็นขนมท้องถิ่นภาคใต้ นิยมทำในช่วงเทศกาลงานบุญและงานประเพณีต่างๆ เช่น งานชักพระ งานเดือนสิบ งานบวช
ใบเตย เตยเป็นพืชที่พบเห็นได้ทั่วไป นอกจากให้สีเขียวสวยๆ ให้กลิ่นหอมในขนมไทย ยังนำมาสานเป็นกระทงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ ใส่ขนมกวนอย่างตะโก้ เป็นภาชนะรูปทรงน่ารัก และช่วยเพิ่มกลิ่นหอมอ่อนๆ ให้ตะโก้ ซึ่งนับวันจะหาตะโก้ในกระทงใบเตยได้ยากขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการสาน
ใบตาล ดั้งเดิมนั้นใช้ห่อขนมนึ่งอย่าง ‘ขนมตาล’ โดยใช้ใบตาลอ่อนสานเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมกลวง เว้นตรงกลางไว้หยอดขนมตาล ก่อนนำไปนึ่งจนฟูดูน่ากิน เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของขนมตาลที่ใช้ส่วนผสมลูกตาลทำขนม ไปจนถึงหีบห่อจากใบตาล ขนมตาลในห่อใบตาลยังพอเห็นได้บ้างในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ที่ปลูกต้นตาลกันมาก
ใบจาก ต้นจาก พืชตระกูลปาล์มที่เจริญเติบโตได้ดีบริเวณป่าชายเลน ใบจากมีความเหนียวและกว้าง นำมาห่อ ‘ขนมจาก’ ขนมแป้งกวนกับน้ำตาลและมะพร้าวขูด ก่อนนำใบจากมาห่อแล้วปิ้งไฟ กลิ่นจากไหม้นั้นทำให้ขนมหอมเป็นเอกลักษณ์ แต่บางพื้นที่ที่หาใบจากได้ยาก ก็ใช้ใบมะพร้าวแทนได้ นอกจากขนมจากยังมีข้าวต้มมัดที่ใช้ใบจากห่อแทนใบตอง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการที่ต้นจากหาได้ง่าย
หีบห่อขนมไทย นอกจากฟังก์ชั่นการใช้งานในแง่ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ ความประณีตในการออกแบบรูปทรงที่สวยงามยังเป็นสัญญะเกี่ยวโยงกับความเชื่อ จึงเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ช่วยสร้างเสน่ห์ให้แก่ขนมไทย จน Kanita Leather แบรนด์กระเป๋าหนัง ได้แรงบันดาลใจหยิบจับไปออกแบบเป็นกระเป๋ารูปทรงหีบห่อขนมไทย เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ได้รับความนิยมทั้งคนไทยและต่างประเทศ… นี่แหละหนา อัตลักษณ์สร้างค่า
อ้างอิง
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos