เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

How to ปลูกผักกินเอง แม้พื้นที่น้อย

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

“ทำไมปลูกอะไรก็ตาย!” สิ่งสำคัญที่มือใหม่หัดปลูกผักห้ามมองข้าม

“คนมือร้อน ปลูกผักไม่ขึ้นหรอก” จริงไหม

 

 

 

 

ตอบได้เต็มปาก ในฐานะคนที่ปลูกอะไรก็ตาย แม้แต่ต้นไม้ที่ทนแทบทุกสภาพอากาศอย่างกระบองเพชรยังตายว่า ‘ไม่จริง’ ค่ะหากเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน อาจต้องนิยามคนมือร้อนใหม่ว่า ‘คนใจร้อน’ เพราะที่ผ่านมาคนมือร้อนอย่างฉันปลูกแบบผิวเผินเอามากๆ แต่คาดหวังผลลัพธ์แบบจริงจัง คือแค่เอาต้นไม้ลงดินแล้วก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรจะโตนะ แต่ไม่เคยสังเกตความเปลี่ยนแปลงหรือรู้ความต้องการของต้นไม้เลย รู้ตัวอีกทีคือตายคากระถาง ‘มือร้อนหรือมือเย็น’ คงเป็นการเปรียบเปรยคนปลูกเสียมากกว่าว่าใจเย็น จดจ่อ ใส่ใจ หรือใจร้อนขอเห็นผลไวๆ โดยไม่ใส่ใจระหว่างทาง

 

 

 

 

ที่สุดแล้วใครก็ปลูกผักให้งอกงามได้ คนเมืองพื้นที่เล็กก็ไม่ใช่ปัญหา หากใส่ใจ ศึกษาธรรมชาติของผักที่เราปลูก เลือกผักให้เหมาะกับพื้นที่ และหมั่นสังเกตเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มเพาะ

 

 

 

 

สำหรับมือใหม่หัดปลูกผักอย่างฉันที่มีข้อจำกัดคือพื้นที่เล็กๆ ข้างบ้าน ตั้งใจจะจริงจังกับการปลูกสักครั้ง เพราะอยากได้พื้นที่สีเขียวสบายตา ได้ผักปลอดสารไว้กิน ยิ่งในช่วงล็อกดาวน์สุดสัปดาห์ที่ขลุกตัวอยู่แต่บ้านจึงเริ่มสิงอยู่ในกลุ่มปลูกผักกินเองและวนเวียนอยู่ในช่องยูทูบที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักในพื้นที่จำกัด กระทั่งเริ่มปลูกผักสวนครัวในพื้นที่เล็กๆ หลังบ้าน กะเพรางามดี ข่า ตะไคร้งอกงาม มะเขือกำลังจะตามมา กระซิบเบาๆ ว่ากะเพราเด็ดสดจากต้นหอมกว่าซื้อตลาดเป็นไหนๆ จึงอยากมาแชร์ สิ่งที่คนเริ่มปลูกผักไม่ควรมองข้าม และชวนทุกคนที่อาจมีพื้นที่จำกัดมาเริ่มปลูกผักในพื้นที่เล็กๆ ไปด้วยกัน ริมระเบียงหอพัก คอนโด ข้างบ้าน หลังบ้านก็ปลูกได้ สร้างความมั่นใจด้วยคลิปปลูกผักเหล่านี้เลยค่ะ สวนสวยริมระเบียงจากผักกินได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  • (ยูทูบเบอร์ชาวเวียดนามที่ปลูกผักริมระเบียงบ้าน)
  • (ผัก 26 ชนิดริมระบียงเล็กๆ ขนาด 6 ตรม. ของแม่บ้านญี่ปุ่นชาวไทย)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

How to ปลูกผัก พื้นฐานที่คนเริ่มปลูกผักต้องรู้

 

แสงแดดกับชนิดผัก

 

 

 

 

 

 

 

 

อย่างที่เรารู้กันนะคะว่าอาหารของต้นไม้อยู่ที่กระบวรการสังเคราะห์แสง ต้นไม้จึงขาดแสงแดดไม่ได้ อย่างน้อยๆ ต้องได้รับแดดวันละ 6-8 ชั่วโมง หากเป็นผักกินผล ต้องการแดดเต็มวัน เช่น มะเขือเปราะ พริก มะเขือเทศ ฟักทอง แตงกวา ผักกินใบ ต้องการแดดอย่างน้อยครึ่งวัน เช่น คะน้า ผักสลัดต่างๆ ผักบุ้ง ผักกาด พืชผักบางชนิดชอบแดดรำไร เช่น กะเพรา โหระพา ขิง ข่า ตะไคร้ ผักชีฝรั่ง ใบเตย วอเตอร์เครส ตำลึง

 

 

 

 

 

 

 

 

การเลือกผักมาปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกจึงสัมพันกับการเจริญเติบโตของผัก ให้สังเกตดูว่าพื้นที่ปลูกเรารับแดดมากน้อย ยาวนานแค่ไหนแล้วเลือกชนิดผักให้เหมาะสม ส่วนบ้านใครมีดาดฟ้าได้รับแดดไปเต็มๆ ถือว่าเหมาะกับการปลูกผักแทบทุกชนิดแต่ให้ระวังเรื่องความร้อนที่มากเกินอาจทำให้ผักเหี่ยวเฉาได้ ให้หาตาข่ายกรองแสงมาคลุมไว้

 

 

 

 

เตรียมดิน ‘ปรุงดินดี’

 

 

 

 

3 สิ่งที่จะทำให้ต้นไม้งอกงามดีคือ แสงแดด ดิน และน้ำ แดดดูเรื่องทิศทางและระยะเวลาที่แสงส่องถึง น้ำดูเรื่องปริมาณความเหมาะสมกับต้นไม้ ส่วนดินต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดินเพื่อให้ต้นไม้ได้รับสารอาหาร ดินดีมีสีดำ ร่วนซุย ชุ่มน้ำแต่ไม่แฉะ หลายครั้งที่คนเริ่มปลูกเอาดินอะไรก็ได้มาปลูกหรือซื้อดินถุงทั่วไป สุดท้ายผักไม่งอกงาม แคระแกร็น ปลูกผักกินผลแต่ไม่เคยได้กินเพราะมีแต่ใบ ต้องเติมสารอาหารให้ดินกันก่อนค่ะ ดินไม่ดีไม่ต้องทิ้งนะคะ เราสามารถ ‘ปรุงดิน’ ให้ดีได้

 

 

 

 

 

 

 

 

  • สูตรปรุงดินสำหรับเพาะต้นกล้า หลักๆ ที่ใช้กันทั่วไปคือมีดินร่วน ขุยมะพร้าว เศษหญ้าหรือใบไม้เอามาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • สูตรปรุงดินปลูกจัดเต็มสารอาหาร ดินร่วน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน กาบมะพร้าวสับ (แช่น้ำ 3วัน) 1 ส่วน ขุยมะพร้าว 1 ส่วน ปุ๋ยคอกมูลวัว 2 ส่วน เปลือกไข่ดิบตากแดด 3 วันเอามาบด ครึ่งส่วน คลุกเคล้าผสมให้เข้ากันแล้วรดน้ำให้พอชื้น คลุกเคล้าให้ร่วน พร้อมใช้งาน
  • สูตรปรุงดินปลูกในกระถาง อย่างง่าย ดิน แกลบดำ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอกมูลวัวตากแห้ง อัตราส่วน 1:1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน หากดินแห้งให้รดน้ำเล็กน้อยพอชื้น
  • สูตรปรุงดินจากขยะสด เศษผักสดหั่นชิ้น ปุ๋ยหมักมูลวัว ดิน เติมน้ำตาลทรายเพื่อช่วยย่อยสลาย คลุกเคล้าให้เข้ากัน รดน้ำพอชุ่มแล้วเคล้าอีกรอบ ใส่ลังกระดาษหรือใส่กะละมังใช้ผ้าคลุมหมักไว้ 2 สัปดาห์ ก่อนนำมาใช้
  • ดินปรุงสำเร็จ เป็นอีกทางเลือกหรือทางลัด ด้วยการซื้อดินปรุงสำเร็จ ราคาสูงกว่าดินถุงทั่วไปอยู่สักหน่อย

 

 

 

 

เพาะต้นกล้า

 

 

 

 

ธรรมชาติของการปลูกผักเราจะนำเมล็ดลงแปลง ลงกระถางเลยก็ได้ค่ะ แต่ข้อดีของการเพาะต้นกล้าก่อนนำลงแปลง กระถางคือเราสามารถดูแลให้ต้นกล้าไม่โดนแดดโดนฝนจัดเกินไป เมื่อต้นกล้างอกก็คัดเลือกเฉพาะต้นกล้าที่แข็งแรงลงกระถาง ลงแปลง ลดอัตราการตายได้ วิธีการเพาะสามารถเพาะในกระถางโดยเว้นระยะห่างระหว่างเมล็ดราว 3 เซนติเมตร หรือใช้หลุมเพาะต้นกล้าก็สะดวกในการแยกลงปลูกในกระถาง

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยนำดินเพาะที่เตรียมไว้หรือใช้เป็น ‘พีทมอส’ วัสดุเพาะที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์และต้นมอส มีสารอาหารที่ดีและปราศจากเชื้อราซึ่งเป็นตัวหยุดยั้งการเจริญเติบโตของต้นกล้า อัดลงไปในหลุมเพาะให้แน่น ฉีดน้ำให้พอชุ่มเพื่อทำให้ดินนุ่ม แล้วใช้ตะเกียบหรือไม้เสียบลูกชิ้นจิ้มลงไปให้เป็นหลุมนิดๆ ไม่ต้องลึกมากก่อนหย่อนเมล็ดลงไป และปิดด้วยดินนิดหน่อย ที่ต้องจิ้มดินเป็นหลุมเพราะหากเราวางเมล็ดลงไปเฉยๆ แล้วรดน้ำ เมล็ดที่มีความเบาอยู่แล้วจะลอยน้ำ กระเด็นได้ค่ะ เสร็จแล้ววางถาดเพาะให้โดนแดดอย่างน้อยครึ่งวัน ผักแต่ละชนิดใช้ระยะเวลาในการงอกแตกต่างกัน อย่างผักใบอาจใช้เวลาสักสัปดาห์ รอให้มีใบแท้สักสองคู่ก็นำลงกระถางปลูกได้เลยค่ะ (ใบคู่แรกที่งอกออกมาคือใบเลี้ยง คู่ถัดมาเรียกว่าใบแท้ค่ะ)

 

 

 

 

นำกล้าลงปลูกในกระถาง

 

 

 

 

รู้ทิศทางแดด เลือกชนิดผักจนเพาะกล้าแล้ว ก็มาเลือกภาชนะปลูกให้เหมาะสม ใช้กระบะแปลงผักสำเร็จรูปก็ได้ หากพื้นที่จำกัดมากก็ปลูกในกระถาง ถุงพลาสติก กระทั่งกล่องนมหรือกล่องน้ำผลไม้ก็ปลูกได้หมดค่ะ วิธีเอาต้นกล้าที่เพาะไว้ลงภาชนะปลูก เริ่มจากหาเศษฟ่ง เศษหญ้าแห้งมารองก้นกระถางเพื่อให้ดินระบายน้ำได้ดี กันรากเน่า ตามด้วยดินที่เราปรุงไว้หรือดินปลูกธรรมดาก็เติมปุ๋ยคอกลงไป ขุดดินให้เป็นหลุมไม่ลึกพอให้วางต้นกล้าได้ แล้วกลบดินรอบๆ โคนต้นกล้า รดน้ำพอชุ่ม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หากใช้กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ เจาะรูที่ก้นกล่องให้มีที่ระบายน้ำ หาเศษฟางเศษไม้หรือก้อนหินรองก้นกล่อง ใส่ดินที่ปรุงไว้หรือดินปลูกแล้วตามด้วยปุ๋ยคอกนิดหน่อย ใส่กล้าลงไป ดินกลบโคนต้นลดน้ำให้ชุ่ม หมั่นดูแลรดน้ำ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงจนถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวค่ะ

 

 

 

 

เรียนรู้การปลูกผักผ่านช่องทางต่างๆ

 

 

 

 

นอกจากพื้นฐานสำคัญที่คนปลูกผักควรรู้ รายละเอียดในการปลูกผักแต่ละชนิดยังมีความแตกต่างในเรื่องการดูแลบำรุง ระยะให้ดอกผลให้ศึกษาอีกมาก เช่น คนเริ่มปลูกอาจไม่เคยรู้ว่าการปลูกฟักทองต้องอาศัยลม แมลง ช่วยผสมเกสรให้ติดผล หากไม่ผสมเราก็จะได้เห็น ได้กินแต่ดอกฟักทองเท่านั้น ซึ่งจะรอลม รอแมลงก็ต้องอาศัยระบบนิเวศที่ดีพร้อม เราจึงต้องช่วยฟักทองผสมเกสรด้วยมือของเราเอง เลยแนะนำช่องทางในการปลูกผักแต่ละชนิดไว้ศึกษากันต่อนะคะ

 

 

 

 

     

  • Facebook กลุ่มปลูกผักกินเอง (https://www.facebook.com/groups/2588433678063809เป็นคอมมูนิตี้ที่รวบรวมคนสนใจเรื่องการปลูกผักกินเอง ไว้แลกเปลี่ยนพูดคุยความรู้และสอบถามปัญหาในการปลูกผัก ซึ่งจะมีผู้รู้ใจดีมาตอบปัญหาและแชร์แนวทางแก้ไขจากประสบการณ์ตรง
  •  

  • เว็บไซต์และช่องยูทูบที่ให้ความรู้เรื่องการปลูกผัก 
    – 
    ช่องความสุขข้างบ้าน (https://bit.ly/3zKeauO)
  •  

  • ช่องเกษตรอินดี้ (https://bit.ly/3tirX9y)
  •  

  • เพจและเว็บไซต์ ‘สวนผักคนเมือง ปลูกเมืองปลูกชีวิต’ให้ความรู้การปลูกผักสไตล์คนเมือง พื้นที่น้อยและมีจัดเวิร์กชอปสอนปลูกผักอยู่บ่อยๆ ใครอยากได้ความรู้ชนิดจับมือปลูกก็สมัครร่วมเวิร์กชอปปลูกผักได้เลยค่ะ ( เว็บไซต์: https://bit.ly/3h7pav4) / (Facebook: https://www.facebook.com/cityfarmthailand)
  •  

  • ป้าป้อมปลูกผัก https://www.facebook.com/papomgardening/
  •  

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food, อาหารสุขภาพ

Recommended Articles

Food Storyป่วยง่าย ป่วยบ่อย ไม่เว้นแต่ละวัน ต้องมองหาเห็ดหูหนูขาวแล้ว
ป่วยง่าย ป่วยบ่อย ไม่เว้นแต่ละวัน ต้องมองหาเห็ดหูหนูขาวแล้ว

บูสต์ภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ด้วยเบต้ากลูแคนจากธรรมชาติ

 

Recommended Videos