เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

‘เจปังหม้อหุงข้าว’ เจปังหมายเลข 2 จากการ์ตูนแชมเปี้ยนขนมปัง สูตรดังเขย่าโลก!

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

เมนูจากการ์ตูนในวัยเด็ก ทำเองก็ได้แบบไม่ต้องมีหัตถ์ตะวัน

“มีขนมปังอังกฤษ ขนมปังเยอรมัน ขนมปังฝรั่งเศส แต่ไม่มีขนมปังญี่ปุ่น ไม่มีเจปัง ดังนั้นต้องเริ่มทำกันสักที
เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้มีฝีมือร้อนแรงหรือหัตถ์ตะวัน อาสึมะ คาสึมะ เด็กหนุ่มที่ต้องการจะทำขนมปังญี่ปุ่น ของคนญี่ปุ่น เพื่อคนญี่ปุ่น ให้ทั้งโลกกึกก้อง
มหากาพย์อันยิ่งใหญ่ เจปัง!!”

 

 

 

 

แชมเปี้ยนเจปัง สูตรดังเขย่าโลก หรือ Yakitate!! Japan (焼きたて!! ジャぱん) เป็นมังงะฝีมือของ ทาคาชิ ฮาชิกุจิ ว่าด้วยเรื่องเด็กหนุ่มผู้มีพรสวรรค์เป็น ‘หัตถ์ตะวัน’ หรือมีอุณหภูมิของมือที่อุ่นคงที่ จึงเหมาะกับการนวดขนมปัง เมื่อบวกกับความรักในการคิดค้นขนมปังแบบญี่ปุ่นนานาชนิด เขาจึงได้เข้าไปทำงานและแจ้งเกิดในฐานะพนักงานดาวรุ่งของร้าน PantaSia (ปังตาเซีย) ซึ่งอันที่จริงจะพูดว่ารุ่งก็ไม่ถูกนักเพราะอาสึมะ คาสึมะ และทุกคนในสาขาเล็กๆ อย่างสาขา Minami Tokyo (มินามิโตเกียว) มักจะถูกคนของสาขาใหญ่ขัดแข้งขัดขาอยู่เสมอ ด้วยเหตุผลของการเมืองภายในองค์กร

 

 

 

 

แชมเปี้ยนเจปังฯ ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์บงกช และจัดจำหน่ายในเวอร์ชั่นวีซีดีและดีวีดีโดย DEX แต่เด็กที่เกิดในยุค 90s อย่างฉันส่วนมากน่าจะรู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ผ่าน ITV Cartoon Club ที่ฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ITV ในช่วงปี 2550 เสียมากกว่า (บอกอายุสุดๆ)

 

 

 

 

จุดขายของการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือขนมปัง ขนมปัง และขนมปัง ที่มาพร้อมกับปมอาฆาตบาดลึก ระหว่างผู้บริหารซึ่งอยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกันประหนึ่งเรื่องเลือดข้นคนจาง ในเกือบทุกตอนที่การ์ตูนฉายจบ ก็จะมีเคล็ดลับหรือสูตรขนมปังที่เกี่ยวกับตอนนั้นๆ ฉายต่อสั้นๆ แต่สารภาพเลยว่าที่ฉันนั่งรอดูการ์ตูนเรื่องนี้แทบทุกอาทิตย์ไม่ใช่เพราะสนใจเรื่องขนมปังแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะชอบฉากรีแอคชั่นเวอร์วังหลังจากที่ตัวละครได้กินสุดยอดขนมปังในแต่ละครั้ง

 

 

 

 

ขนมปังที่กินแล้วไปสวรรค์ ขนมปังที่กินแล้วย้อนอดีตได้ ขนมปังที่กินแล้วต้องเดินท่าปูหนีบ ฯลฯ เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของรีแอคชันจากบางเมนูเท่านั้น ยิ่งตอนที่เฉลยที่มาของรีแอคชั่น และเล่าถึงความพิเศษของขนมปังแต่ละสูตรนี่ละที่เมามันและกินเวลานานจนแทบจะลืมไปแล้วว่าขนมปังที่ตัวละครกินไปมีชื่อว่าอะไร (ฮาาาา)

 

 

 

 

ทีนี้พอนึกสนุกอยากจะย้อนวัยเข้า ฉันเลยกลับไปหาข้อมูลว่าบรรดาสูตรเจปังเหล่านี้สามารถนำมาทำได้จริงไหม และก็พบว่าบรรดาเมนูเหล่านั้นก็ยังคงเวอร์วังอลังการเหนือความคาดหมายอยู่เช่นเคย แม้ว่าจะผ่านมากว่า 15 ปีแล้วก็ตาม แล้วสุดท้ายฉันก็ไปสะดุดกับเมนูเจปังหมายเลข 2 เจปังหม้อหุงข้าว เพราะดูใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

โดยปกตินั้นการอบขนมปังในเตาอบธรรมดาจะต้องใช้อุณหภูมิสูงตั้งแต่ 180 องศาเซลเซียสขึ้นไป แต่หม้อหุงข้าวนั้นให้ความร้อนได้สูงสุดแค่ 110 องศา ดังนั้นหากมองกันเผินๆ หม้อหุงข้าวไม่น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ดีในการอบขนมปัง แต่มัตสึชิโระ เคน ผู้จัดการร้าน PantaSia สาขา Minami Tokyo ก็ได้อธิบายไว้ว่า เพราะการให้ความร้อนของหม้อหุงข้าวนั้นต่างจากการให้ความร้อนของเตาอบ ตรงที่มีผิวโลหะที่สัมผัสกับเนื้อขนมปังโดยตรง เมื่ออบด้วยเวลาที่นานพอมันจึงทำให้ขนมปังสุกโดยทั่วถึงได้ไม่ต่างกับเตาอบนั่นเอง

 

 

 

 

เรื่องผิวสัมผัสของหม้อหุงข้าวนั้นจะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ฉันคิดว่ามันเป็นขนมปังที่ใช้อุปกรณ์น้อย และดูจะเหมาะกับมือใหม่ รวมถึงชาวเด็กหอและครัวเล็กครัวคอนโดที่ไม่มีเครื่องอบขนมปังเป็นของตัวเอง และดูท่าจะง่ายที่สุดในบรรดาเมนูเจปังทั้งหมด เพราะในตอนได้เล่าไว้ว่า อาสึมะ คาสึมะ พ่อหนุ่มหัตถ์ตะวันของเราเริ่มคิดสูตรเจปังหมายเลข 2 ได้ตอนอายุ 6 ขวบเท่านั้นเอง (อะไรจะเก่งขนาดนั้นละพ่อคุณณณ) เพราะฉะนั้นเมนูนี้จึงเป็นเมนูย้อนวัยของอาสึมะ คาสึมะด้วยเช่นกัน ส่วนรีแอคชันของเมนูนี้คือเมื่อกินเข้าไปแล้วตัวเราจะกลายเป็นไอน้ำขาวฟูเหมือนกับไอน้ำที่พวยพุ่งออกมาจากหม้อหุงข้าวนั่นเอง (ใครอยากชมรีแอคชั่นเต็มๆ หาดูได้จากแชมเปี้ยนเจปัง สูตรดังเขย่าโลก ตอนที่ 27 นะคะ)

 

 

 

 

เรื่องน่าสนุกก็คือในตอนมีระบุส่วนผสมและวิธีทำเจปังหมายเลข 2 ไว้อย่างละเอียด แต่เรื่องน่าเศร้าก็คือเมื่อเรานำมาทดลองทำแล้วปรากฏว่าไม่ถูกปากเท่าที่คิด เพราะเนื้อขนมปังแน่น แห้ง และจืดเกินไป – อาสึมะ นี่นายกำลังหลอกเราอยู่รึเปล่า!!

 

 

 

 

อย่ากระนั้นเลย สุดท้ายเราจึงปรับสูตรนิดๆ หน่อยๆ ให้ออกมาเป็นเจปังหมายเลข 2 ในเวอร์ชั่นของ KRUA.CO โดยเพิ่มสัดส่วนของน้ำตาล นม และเนยลงไป เพื่อให้ขนมปังนุ่มและมีความชื้นมากขึ้น จนกลายเป็นขนมปังหม้อหุงข้าวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนวัยเด็กสูตรนี้ค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

สูตร ขนมปังปอนด์ (หม้อหุงข้าว)
จำนวน 1 ก้อน

 

 

 

 

วัตถุดิบ ส่วนผสม และอุปกรณ์

 

 

 

 

     

  • แป้งขนมปัง (ตรา วีนัส) 350 กรัม
  •  

     

     

     

  • น้ำตาลทราย 35 กรัม
  •  

     

     

     

  • เกลือป่น 4 กรัม
  •  

     

     

     

  • ยีสต์ 5 กรัม
  •  

     

     

     

  • น้ำ 150 กรัม
  •  

     

     

     

  • นมสดชนิดจืด 100 กรัม
  •  

     

     

     

  • เนยสดชนิดจืดนุ่ม 35 กรัม
  •  

     

     

     

  • เนยสดชนิดจืดสำหรับทาหม้อหุงข้าว
  •  

     

     

     

  • อุปกรณ์ หม้อหุงข้าวขนาด 1 ลิตร ผ้าขนหนู
  •  

 

 

 

 

วิธีทำ

 

 

 

 

1. ผสมส่วนผสมแห้ง ได้แก่ แป้ง น้ำตาล เกลือป่น และยีสต์ เข้าด้วยกันในอ่างผสม แล้วใส่น้ำและนมสดลงไป นวดจนส่วนผสมเข้ากันเป็นก้อนและไม่ส่วนส่วนที่เป็นผงแป้งเหลืออยู่

 

 

 

 

 

 

 

2. ใส่เนยสดจืดชนิดนุ่มลงไป แล้วนวดโดยการใช้อุ้งมือดึงแป้งให้ยืดไปด้านหน้า นวดจนแป้งเนียน ไม่ติดมือ และสามารถยืดเป็นฟิล์มได้ หลังจากนั้นจึงรวบแป้งให้เป็นก้อนกลม ผิวหน้าตึง

 

 

 

 

 

 

 

3. ทาเนยในหม้อหุงข้าวให้ทั่ว วางแป้งที่รวบดีแล้วลงในหม้อ นำหม้อไปใส่ในหม้อหุงข้าวชั้นนอกแล้วปิดฝา พักไว้นาน 1 ชั่วโมงเป็นการพักแป้งครั้งแรก เมื่อครบเวลาแล้วแป้งควรจะฟูขึ้นเป็นสองเท่า

 

 

 

 

 

 

 

4. เมื่อครบเวลาแล้ว นำแป้งมาไล่อากาศโดยการกระแทกหม้อลงบนพื้นหรือเคาเตอร์ (แนะนำให้ใช้ผ้าหนาๆ ปูรองไว้เพื่อลดเสียง) กระแทกราว 4-5 ครั้งจะมีก้อนอากาศออกมา และแป้งจะยุบตัวลง ให้นำแป้งใส่กลับไปในหม้อหุงข้าวอีกครั้งเพื่อพักแป้งครั้งที่ 2 นาน 30 นาที ขนมปังจะฟูเพิ่มขนาดขึ้นอีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

5. เสร็จแล้วกดเลือกโหมดเค้ก แล้วจับเวลาหุง 30 นาที เมื่อครบ 30 นาทีแล้วเปิดหม้ออกเพื่อกลับด้านแล้วหุงต่ออีก 30 นาที กลับด้านทั้งหมด 2 ครั้ง รวมเวลาหุงทั้งหมดประมาณ 90 นาที

 

 

 

 

 

 

 

6. เสร็จแล้วนำขนมปังออกจากหม้อหุงข้าว ทดสอบความสุกด้วยการใช้ไม้ปลายแหลมแทงเข้าไปในเนื้อขนมปัง ขนมปังที่สุกดีแล้วจะต้องไม่มีแป้งโดว์ติดออกมา พักขนมปังไว้บนตะแกรงให้คลายความร้อนเล็กน้อย ตัดขนมปังเป็นชิ้นสามเหลี่ยมแบบเดียวกับเค้ก ตกแตกด้วยวิปครีมและผลไม้สดตามชอบ เสิร์ฟขณะที่ยังอุ่นๆ ร้อนๆ

 

 

 

 

 

 

 

Tips&Tricks

 

 

 

 

     

  • ขนมปังหม้อหุงข้าวจะมีเนื้อแน่น เหนียว รสชาติอมหวานนิดๆ ในสูตรนี้เราปรับให้หวานขึ้น และนุ่มขึ้นด้วยการเพิ่มน้ำตาล นม และเนยให้เยอะขึ้นกว่าสูตรดั้งเดิมในการ์ตูน
  •  

     

     

     

  • การอบด้วยความร้อนต่ำจะทำให้ขนมปังไม่ฟูเท่ากับการอบในเตาอบ ดังนั้นการไล่อากาศของขนมปังสูตรนี้ก็จะไม่ใช้กำปั้นชกเหมือนสูตรอื่นๆ เพราะจะทำให้เนื้อขนมปังแน่นเกินไป
  •  

     

     

     

  • ควรกินตอนเพิ่งอบเสร็จใหม่แบบร้อนๆ จะได้รสชาติและเนื้อสัมผัสที่ดีที่สุด
  •  

     

     

     

  • ขนมปังสูตรนี้เมื่อทิ้งไว้แล้วจะแห้งและเหนียวมากกว่าขนมปังทั่วไป หากต้องการเก็บ ให้ใช้พลาสติกแร็ปหรือผ้าไขผึ้งห่อให้มิดชิดแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น เมื่อจะนำมากินให้พรมน้ำน้ำลงในหม้อหุงข้าวให้นุ่ม วางขนมปังลงไปแล้วกดปุ่ม ‘อุ่น’ พลิกกลับด้านเป็นระยะจนเนื้อขนมปังอุ่นและนุ่มขึ้นก็เป็นอันว่าเสิร์ฟได้ (แต่รสชาติก็จะไม่ได้นุ่มหนึบเหมือนตอนทำเสร็จใหม่ๆ หรอกนะคะ แนะนำว่าทำเสร็จแล้วกินเลยจะดีที่สุดค่ะ)
  •  

     

     

     

  • สุดท้าย สำหรับนักอบขนมปังมือฉมังมาอาจสูตรนี้เข้าอาจคิดว่านี่คือการเสียเวลาอย่างใหญ่หลวง เพราะใช้เวลาในการพักขนมปัง 90 นาที แล้วก็ต้องอบต่ออีก 90 นาที รวมๆ เวลาในการเตรียมของและนวดด้วยก็ปาเข้าไปราว 4 ชั่วโมงกว่าจะได้กินขนมปังซักก้อน ด้วยความสัตย์จริงก็คงต้องบอกว่าเห็นด้วยทุกประการเลยล่ะค่ะ เพียงแต่ว่าสำหรับครัวเล็กๆ หรือสำหรับคนที่ (ริอ่าน) จะอบขนมปังในสภาพอัตคัดดูบ้างเพื่อเป็นความสุขทางใจเล็กๆ น้อยๆ สูตรนี้ก็นับว่าไม่แย่เลยละค่ะ
  •  

 

 

 

 

ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นเจปังหมายเลขสองของคาสึมะ อาสึมะ แต่ไม่ต้องมีหัตถ์ตะวันก็ทำได้นะคะ

 

 

 

 

คลิกที่นี่เพื่อดูสูตรขนมปังปอนด์ (หม้อหุงข้าว)

 

ภาพประกอบจาก การ์ตูนเรื่อง แชมเปี้ยนเจปัง สูตรดังเขย่าโลก 

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมปัง, ขนมปังญี่ปุ่น, มือใหม่ทำขนม, อาหารกับภาพยนตร์, เบเกอรีญี่ปุ่น, เมนูทำง่าย, เมนูหม้อหุงข้าว

Recommended Articles

Cookingเคล็ดลับทำทีรามิสุ (Tiramisu) ที่บ้านให้อร่อยแบบอิตาลีแท้ๆ
เคล็ดลับทำทีรามิสุ (Tiramisu) ที่บ้านให้อร่อยแบบอิตาลีแท้ๆ

ถอดสูตรทีรามิสุพื้นฐาน จากเชฟผู้เข้าร่วม Tiramisu world cup 2023

 

Recommended Videos