เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

กะปง ตะกั่วป่า เสน่ห์พังงาหน้าฝน

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

เดินตลาดในม่านหมอกเมืองกะปง สัมผัสเมืองเก่าตะกั่วป่า เที่ยวพังงาในวันที่ฝนโปรยปราย

“พังงาเหรอ” ฉันเงียบไปแป๊บหนึ่ง ทิ้งให้ปลายสายรอคำตอบขณะเปิดสมุด year plan นับวันลาพักร้อนที่เหลืออยู่… 4 วัน 3 คืน ไม่เกินโควต้า วันลาเหลือๆ แต่ยังไม่มีแรงจูงใจพอที่จะตอบตกลง จนเมื่อเพื่อนเริ่มสาธยายว่าเราจะไปที่ไหนในพังงา

 

 

 

 

รู้ตัวอีกที ฉันก็นั่งเปิดรีวิวหมู่เกาะสิมิลันดูรัวๆ ‘สวรรค์แดนใต้ หมู่เกาะที่สวยที่สุด น้ำทะเลใสมากกก หาดทรายสีขาว ใครชอบดำน้ำต้องมาให้ได้ — เจอกันพังงา โอ้ทะเลแสนงาม

ทริปนี้เรามีพี่ชายใจดี (ใช้สรรพนามนี้ตลอดทั้งทริปเลยแล้วกัน) อยู่ที่พังงาอาสาขับรถพาเที่ยว จึงหมดห่วงเรื่องการเดินทาง แต่มีเรื่องให้น่ากังวลยิ่งกว่า เมฆครึ้มตั้งเค้าทักทายเราตั้งแต่รถแล่นออกจากสนามบินภูเก็ตมุ่งหน้ายังพังงา ฝนโปรยปรายจนเข้าสู่ช่วงรอยต่อระหว่างจังหวัด เอาวะ อย่างน้อยท้องฟ้าพังงาก็สว่างไสว

 

 

 

 

โครม—ฝนห่าใหญ่ ลบล้างความหวังเราทันทีเมื่อใกล้ถึงที่พัก

 

 

 

 

“ฝนตกเวลาบ่ายๆ อย่างนี้ทุกวันค่ะ จริงๆ ช่วงนี้ก็ตกเกือบทั้งวันนะคะ” พนักงานต้อนรับของโรงแรมบอกกับเราเป็นภาษากลางสำเนียงท้องถิ่นใต้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม มือจับคันร่มแน่นกางมาส่งเราถึงห้อง นาทีนั้นฉันคิดอยู่อย่างเดียวว่า พรุ่งนี้สิมิลันสวรรค์แดนใต้ของฉันต้องรอดสิ ก็ในเมื่อทางการเขายังไม่ประกาศปิดเกาะ เขาก็ต้องคำนวณมาแล้วว่าสภาพอากาศมันโอเค เหมาะกับการท่องเที่ยว ตลอดทั้งวันของฉันจึงหมดไปกับการนั่งดูสายฝนไหลลงขอบหน้าต่าง สระว่ายน้ำไร้คน หยดน้ำฝนกระทบผิวน้ำ กับความหวังเล็กๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฝนซาช่วงเย็นย่ำ ใกล้เวลาอาหารค่ำ พี่ชายปลอบใจเราด้วยการพาไปกินอาหารท้องถิ่นร้าน ‘เรอดัง’ ร้านเล็กๆ ริมทางที่ตั้งใจใช้ชื่อร้านเพื่อบ่งบอกอากัปกิริยาของคนได้กินของอร่อยแล้วเบรกแตก กินยับแบบหยุดไม่อยู่ กว่าจะรู้ตัวว่าควรอิ่มก็เรอดังเสียแล้ว ก็จริงสมชื่อ ไม่บ่อยที่เราจะเจอร้านทำอาหารได้อร่อยถูกปากเกือบทุกเมนู แต่เรอดังทำได้ กรรเชียงปูผัดต้นหอม เนื้อปูหวานนุ่มหอมกลิ่นคั่วกระทะและน้ำมันงาอบอวลในปาก, แกงกะทิปูใบชะพลู รสกลมกล่อมนัวกะทิถึงเครื่องถึงแกง ยิ่งเนื้อปูสดๆ ชิ้นตู้มๆ เต็มปากเต็มคำเข้ากับน้ำแกงได้ดี ใครมาเที่ยวพังงาแนะนำให้มาลอง สั่งแกงพริกถ้วยเดียวกับไข่เจียวก็เปลืองข้าวเป็นโถแล้วค่ะ รับประกันความอวย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“เขาบอกว่าคลื่นยังสูงอยู่ มันเสี่ยงเกินไป พี่ว่าเรางดสิมิลันไปก่อนแล้วกัน” พี่ชายบอกกับเราหลังสื่อสารสถานการณ์กับคนที่ท่าเรือ ระหว่างขับรถมาส่งพวกเราที่โรงแรม “ตี 5 เจอกันหน้าล็อบบี้ เดี๋ยวพี่พาไปเที่ยวกะปง ไปเดินตลาดในหมอกกันดีกว่า”

 

 

 

 

เอาน่า ไม่ได้ตั้งใจมาดำน้ำสักหน่อย สิมิลันเหมาะกับดำน้ำนี่เนาะ ทะเลสำหรับคนว่ายน้ำไม่เป็นอย่างฉันเอาไว้ฟังเสียงคลื่นกระทบ เดินทอดน่อง และนั่งดูพระอาทิตย์ตกดินก็เท่านั้น

 

 

 

 

…โอ้ทะเลแสนงาม ฟ้าสีครามอยู่ไหน…

 

 

 

 

กะปง เมืองในม่านหมอก

 

 

 

 

รุ่งสาง หลังฝนพรำทั้งคืน ตลอดสองข้างทางที่มุ่งหน้าไปยังอำเภอกะปงปกคลุมด้วยหมอก บดบังถนนเป็นบางช่วง การขับรถจึงต้องอาศัยความชำนาญเส้นทาง หรือขับช้าๆ เพื่อความปลอดภัย แล้วเราก็มาถึงที่หมายก่อนพระอาทิตย์ฉายแสงยัง ‘ตลาดนัดปากถัก’ ที่เหมือนตั้งตัวหลบผู้คนอยู่ในม่านหมอกบังตาหากมองจากระยะไกล จึงมีอีกชื่อเรียกว่าตลาดในหมอก แต่พอสาวเท้าเข้าไปใกล้ก็เหมือนแหวกม่านหมอกเข้ามาอีกโลก ผู้คนคึกคัก เดินจับจ่ายหาซื้อของสด อาหารปรุงสำเร็จราคาย่อมเยา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เราแวะนั่งกินมื้อเช้าที่ร้านกาแฟโบราณในตลาด สั่งกาแฟร้อนโบราณมากินกับขนมใส่ไส้ ปาท่องโก๋ และอีกสารพัดขนม ทั้งหมดที่วางไว้ให้บนโต๊ะ หยิบกินได้ไม่อั้นเท่าที่อยากจะกิน ไม่ใช่ว่าฟรีหรอกนะ แต่เดี๋ยวอาแปะจะมาคิดเงินตามจำนวนจริงหลังกินเสร็จ แล้วก็สั่งโจ๊กใส่ไข่ร้านข้างๆ มากินด้วย โจ๊กร้อนๆ เนื้อนวลเนียนหอมกลิ่นพริกไทยชัด อร่อยละมุนละไมกับบรรยากาศเย็นชื้น และบทสนทนาออกรสออกชาติของสภากาแฟ เป็นมื้อเช้าแบบไม่เร่งรีบ และสบายอารมณ์ที่สุดในรอบปี

 

 

 

 

อิ่มหนำสำราญกับมื้อเช้า เราเดินจากตลาดในหมอกที่เปิดเฉพาะวันอาทิตย์ ข้ามถนนสายเล็กๆ ไปยังสะพานประชาอุทิศ สะพานคมนาคมที่ทอดตัวตัดผ่านลำธารธรรมชาติขนาบด้วยทิวเขาและยอดไม้หนาแน่น ซึ่งชาวบ้านยังได้อาศัยใช้สอยน้ำจากลำธารนี้อยู่ เดินเล่นซึมซับบรรยากาศให้หนังท้องตึงๆ จากมื้อเช้าหย่อนลงสักหน่อย จึงเดินทางต่อไปยังน้ำพุร้อนปลายพู่ อีกแลนด์มาคลับๆ ของเมืองกะปง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ความเขียวชอุ่มของต้นไม้ ป่าเขา ล้อมเราไว้ตลอดสองข้างทาง และไอหมอกหนาทึบที่ค่อยๆ บางตาลงหลังพระอาทิตย์สาดแสง แต่ยังเหลือไอจางๆ ลอยละลิ่วละยอดไม้ให้ได้เห็น เมืองกะปงนั้นไม่ต้องรอหน้าหนาวก็สัมผัสกับไอหมอกได้ตลอดทั้งปี เป็นหมอกจากความชื้นหนาแน่นที่เกิดขึ้นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้ใบหญ้าและป่าเขา แค่วิวระหว่างทางก็ทำให้เราเริ่มหลงไหลกะปงแบบหยุดมองไม่ได้ และหลงรักหมดใจเมื่อมาถึงบ่อน้ำพุร้อนปลายพู่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บ่อน้ำพุที่กลมกลืนอยู่เป็นสายเดียวกับลำธารน้ำใสกว่า 9 กิโลเมตรที่ไหลมาจากภูเขาเบื้องหน้า ทำให้น้ำในลำธารบางช่วงเย็นบางช่วงอุ่น มหัศจรรย์ มันเป็นออนเซ็นกลางป่าเขาที่ธรรมชาติสร้างมาให้ อยากอุ่นหรืออยากเย็นก็เลือกลงนอนแช่ได้ และในจุดที่มีบ่อน้ำพุร้อนอุณหภูมิเดือดสุดๆ ก็ถูกล้อมไว้ด้วยหินก้อนใหญ่พร้อมป้ายตักเตือนชัดเจนว่าห้ามลงเล่น เว้นแต่ว่าหิวก็หาไข่มาหย่อนต้มได้ เราใช้เวลาเพลิดเพลินอยู่ที่นี่พักใหญ่ก็ออกมาหาอะไรกินกันในตลาดเก่ากะปง

 

 

 

 

ป้าเมียด ร้านเล็กๆ ในตลาดที่ถ้าไม่สังเกตให้ดีก็อาจมองข้ามไป ป้ายสีแดงเขียนว่าข้าวขาหมู หมูแดง หมูกรอบ คุณป้ายืนฟาดกระทะควันฉุยๆ อยู่หน้าร้าน ด้วยกลิ่นและเสียงเร้าอารมณ์ให้เราลังเลระหว่างหมูกรอบชิ้นหนากับผัดหมี่ฮกเกี้ยน ตัดสินใจไม่ได้ก็สั่งมาทุกอย่างแล้วแบ่งกันกินนี่ละค่ะ ข้าวหมูกรอบหน้าตาชวนงงเพราะไม่มีน้ำราดสีแดงอย่างที่คุ้นเคย แต่มีน้ำพริกน้ำส้มรสเปรี้ยวเผ็ดนิดๆ ให้ราดซึ่งเข้ากันดีกับหมูกรอบหนังเกรียมหอม จานถัดมาขาหมูเนื้อนุ่มหนังเด้งน้ำพะโล้เค็มนำ และว้าวสุดๆ คือผัดหมี่ฮกเกี้ยน น้ำผัดหมี่กลมกล่อมหอมกลิ่นคั่วกระทะอวลในปาก เส้นผัดมาพอดีมากเหนียวนุ่มไม่เละไม่แข็ง ท็อปด้วยไข่ยางมะตูม สำหรับฉันยกให้เป็นที่สุดของร้านป้าเมียด เป็นรสมือที่กินแล้วนึกถึงอากงอาม่าเลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฉันนึกขอบคุณคลื่นสูงที่สิมิลัน และแผนสองของพี่ชายที่ทำให้เราได้มาเยือนกะปง เมืองเล็กๆ เสน่ห์ในม่านหมอกที่ทำเราหลงรักหัวปักหัวปำจนอยากกลับมาทำความรู้จักอีกครั้ง

 

 

 

 

ตลาดย่านเมืองเก่า ตะกั่วป่า

 

 

 

 

วันต่อมาเราอยู่เที่ยวในตัวเมืองตะกั่วป่า เดินเล่นดูความเป็นอยู่ของผู้คนชาวพังงา และเดินหาของกินที่ตลาดย่านเมืองเก่า ซึ่งเปิดเป็นวาระ (เรามาเดือนสุดท้ายพอดี และจะเปิดตลาดอีกทีช่วงเดือน พ.ย.) มีพ่อค้า แม่ค้าเป็นชาวบ้านมาตั้งโต๊ะเรียงรายทำขนม ของกิน ของฝากมาขาย กำเงินร้อยมาเดินหาของกินและเดินชมตึกเก่าที่สะท้อนความรุ่งเรืองในอดีตที่ตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าซึ่งชนหลายชาติหมุนเวียนเข้ามาค้าขาย ทั้งชาวเปอร์เซีย อาหรับ ชาวจีน กระทั่งตั้งรกรากบางส่วน ความเป็นอยู่ อาหารกินจึงเป็นวัฒนธรรมที่หลอมรวมมาแล้ว และเป็นเมืองรุ่งเรืองสุดในยุคที่มีการทำเหมืองแร่ กระทั่งเหมืองปิด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฉันไม่อยากนึกเสียดายว่าในอดีตตะกั่วป่าจะรุ่งเรืองแค่ไหน เพราะเท่าที่เห็นวันนี้อาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปตุกีสก็ยังคงมีชีวิตชีวา ผู้คนในชุมชนยังดำเนินชีวิตปกติ ยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายคนแปลกหน้าอย่างพวกเรา เมืองเก่าจึงยังคึกคักและไม่เงียบเหงานัก

 

 

 

 

มาในแหล่งของกินเยอะๆ ก็คิดหนักอยู่ อยากลองกินไปหมดจึงค่อยๆ ไล่เดินดู เห็นขนมแป้งนึ่งสีเหลืองๆ เรียกว่า กี้โก้ย’ เลยลองซื้อมากิน เป็นแป้งมันสำปะหลังนึ่ง ตัดเป็นชิ้น เทกเจอร์หนึบๆ แป้งเปล่าไม่มีรสชาติอะไร ต้องกินคู่กับน้ำตาลอ้อยเคี่ยวหวานๆ หอมๆ ถัดมาไม่ไกลคุณยายยืนคีบขนมหน้าตาคล้ายบิ๊กซาลาเปาทอดที่มีชื่อว่า ฉีเปี๊ยะ’ อื้อหือ รสชาติเหมือนกินหอยทอดที่ไม่มีหอยทอดเลยค่ะ พอพิจารณาส่วนผสมตามที่คุณยายบอกมันก็คล้ายจริงๆ นั่นแหละ มีแป้ง มันแกว ถั่วงอก เต้าหู้เหลือง ยิ่งน้ำจิ้มนี่หอยทอดชัดๆ ร้อนๆ อร่อยกินเพลินดีค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถัดมาเป็นของหวาน ขนมเบื้องโบราณ’ ทำสดใหม่น้ำตาลไหม้ๆ เหมือนคาราเมลเดือดปุดๆ น่ากินมาก จึงปรี่เข้าไปซื้อมาลอง เทกซ์เจอร์ตัวแป้งนั้นกรุบกรอบมีสัมผัสให้ได้เคี้ยว เป็นแป้งโม่จากข้าวสุกผสมกะทิ ซึ่งที่ร้านโม่เอง นำมาละเลงบนเตาร้อนๆ ทาด้วยน้ำตาลอ้อยเคี่ยวหอมๆ ใส่ไส้ถั่วแดงและมะพร้าวขูดขาว รสมันหวานหอมน้ำตาลอ้อยเคี่ยวอุ่นๆ ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน

 

 

 

 

จัดทั้งของกินเล่นคาวหวาน เดินมายังไม่ทันสุดทางตลาดก็เจอกับ TROK Cafe คาเฟ่ที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอก ขนาบข้างด้วยตึกเก่า ผนังปูนดำคร่ำครึ กำแพงอิฐ กับบานหน้าต่างลูกกรงสีสนิมที่ทำหน้าที่กั้นฉากระหว่างลูกค้ากับเจ้าของร้าน พลังความขลังและลึกลับคือเสน่ห์ที่ทำให้เราไม่พลาดเดินเข้าตรอกคาเฟ่ ร้านกาแฟโบราณ ที่คนขายบอกกับเราว่าเคยคิดอยากจะทำเท่ด้วยการดริปกาแฟขาย แต่ไม่ทันการทันกิน เลยเปลี่ยนมาขายกาแฟโบราณกับน้ำหวานโซดาซะเลย เราสั่งโกโก้เย็นหวานน้อยมาดื่ม และชวนเจ้าของร้านกับพี่ชายคุยไปพลางจนรู้ว่าบ้านนี้เป็นบ้านเก่าของคนมีอันจะกินในครั้งอดีต สังเกตได้จากบ่อน้ำบาดาลส่วนตัวที่ตั้งอยู่หลังบ้าน หากเทียบกับบ้านอื่นๆ ที่ในสมัยก่อนต้องแบ่งบ่อน้ำบาดาลใช้ร่วมกันกับเพื่อนบ้านข้างๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อิ่มท้องเบาๆ ที่ตลาดเก่าตะกั่วป่า ก่อนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ พี่ชายอาสาพาพวกเราไปซึมซับบรรยากาศบริสุทธิ์ สูดไว้ให้เต็มปอดก่อนกลับ ด้วยจุดเช็คอินที่อินเทรนด์สุดของพังงาในนาทีนี้ เสม็ดนางชี ที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จุดชมวิวที่เห็นอ่าวพังงาได้แบบพาโนราม่า ด้วยเส้นทางชันและขรุขระทำให้ต้องจอดรถ แล้วนั่งรถสองแถวที่จอดรอให้บริการอยู่ยังจุดขึ้นไปชมวิวที่เสม็ดนางชี บูทีค นอกจากวิวอ่าวพังงาที่ว่าสวย ยังเป็นอีกจุดที่เหมาะชมพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ชมหมู่ดาว ตามล่าหาทางช้างเผือกยามค่ำคืน เพราะมีที่ให้กางเต็นท์ และมีห้องพักแบ่งเป็นสัดส่วนไว้ให้บริการ

 

 

 

 

อ่าวพังงามุมสูงนั้นตระการตาดังว่า ผืนน้ำสลับลายล้อมด้วยภูเขาลูกเล็กใหญ่ ความงดงามและความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติตรงหน้านั้นส่งพลังให้ฉันรู้สึกตัวเล็กลงเหลือนิดเดียว ฉันนั่งนิ่งๆ ทอดสายตามองวิวข้างหน้ารอจนพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ได้เวลาบอกลาพังงาและพี่ชายใจดี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

โอ้พังงาแสนงาม แล้วเจอกันใหม่นะ 🙂

 

 

 

 

ภาพโดย ปริญญา ชาวสมุน

Share this content

Contributor

Tags:

ร้านอร่อยพังงา, อาหารทะเล

Recommended Articles

Food Storyข้าวมันทะเลบ้านบังนี เรียบง่ายแต่เท่อย่างคนเรือ
ข้าวมันทะเลบ้านบังนี เรียบง่ายแต่เท่อย่างคนเรือ

ข้าวหุงกับกะทิและสมุนไพร กินกับอาหารทะเลสดใหม่เพิ่งแกะออกจากอวน อร่อยจนลืมอิ่ม

 

Recommended Videos