เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ดราม่า ‘ไก่ทอด’ เมื่อไหร่กันที่มันเป็นเมนูคนดำ?

Story by นคร โพธิ์ไพโรจน์

ตามไปดูประวัติศาสตร์ของเมนูมหาชนอย่าง 'ไก่ทอด' กับมุมมองของความ(ไม่)เท่าเทียม ผ่านภาพยนตร์นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ใน Green Book มีฉากหนึ่งที่ โทนี (วิกโก มอร์เทนเซน) คนขับรถผิวขาว พยายามโน้มน้าว ดอน (มาเฮอร์ชาลา อาลี) เจ้านายผิวดำของเขาซึ่งนั่งอยู่เบาะหลัง ให้ลองลิ้มชิมรสไก่ทอดสูตรเด็ดที่เวลากินต้องใช้มือจับชิ้นไก่ จึงจะได้รสสัมผัสอันเด็ดสะระตี่ของมัน ก่อนที่ต่อมาหนังหยิบไก่ทอดมาขยี้อีกครั้งในฐานะเมนูสุดพิเศษเพื่อเอาใจดอนในฉากการเลี้ยงรับรองซึ่งจัดโดยคนขาว แต่คนครัวล้วนเป็นคนดำ เมนูดาษดื่นอย่างไก่ทอดมันสลักสำคัญอย่างไร ทำไมจึงถูกหยิบมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในหนังที่พาดหัวด้วยประเด็นเหยียดผิวสุดเข้มข้นในอเมริกา คำตอบคือ มันเป็นเมนูที่สร้างมายาคติที่อเมริกันมีต่อคนดำ และนี่เองที่ทำให้ไก่ทอดใน Green Book นั้นทั้งชวนหัวทว่าก็เจ็บปวดอยู่ลึกๆ ในคราวเดียวกัน

 

 

หากคุณมีเวลามากพอ อยากแนะนำให้ลองหาหนังที่พูดประเด็นความแตกต่างทางสีผิวในอเมริกามาเปิดดูอีกรอบ แล้วลองจับสังเกตดูดีๆ จะพบว่าหลายเรื่องมีฉากตัวละครกินไก่ทอดอยู่ในนั้นแทบทั้งสิ้น และส่วนมากมันก็มาพร้อมถ้อยแถลงชวนเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น The Help ที่ตัวละคร ซีเลีย ของ เจสสิกา แชสเทน ลงทุนเชือดไก่ด้วยตัวเองเพื่อทำไก่ทอดเอาใจสาวใช้ผิวดำอย่าง มินนี ที่รับบทโดย อ็อกทาเวีย สเปนเซอร์ หรือ พรีเชียส (แกบอเรย์ ซิดิเบ) ใน Precious เด็กสาวร่างยักษ์อุ้มถังไก่ทอดจากร้านฟาสต์ฟู้ด เดินแทะน่องไก่อย่างสบายใจ ก่อนจะกลับบ้านไปอ้วกออกหมด และใน Moonlight หนูน้อย ลิตเติ้ล ได้รับรางวัลเป็นไก่ทอดมื้อพิเศษ ไก่ทอดที่ตัวละครกินดังตัวอย่างที่ยกมากำลังพูดอะไรกับเรา

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 โรงเรียน Carondelet High School for Girls ประกาศเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเฉลิมฉลองเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็น ‘เดือนประวัติศาสตร์คนดำ’ โดยจัดเมนูพิเศษคือ ไก่ทอด แตงโม และขนมปังข้าวโพด ก่อนที่ต่อมาผู้ปกครองนักเรียนผิวดำจะส่งจดหมายถึงโรงเรียน เพื่อขอทบทวนเมนูอาหารเหล่านั้นใหม่ เนื่องจากมันเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดทับคนผิวสีโดยที่โรงเรียนอาจไม่ทันได้คาดคิด เพราะทั้งสามเมนูที่กล่าวมานั้นคือภาพเหมารวมที่ถูกผูกติดกับคนดำมานับร้อยปีแล้ว และเป็นบาดแผลที่คนดำในอเมริกามีร่วมกันเมื่อใครสักคนพยายามผูกโยงพวกเขาเข้ากับการกินไก่ทอด จนกลายเป็นค่านิยมว่า ‘หากคุณเป็นคนดำก็ไม่ควรแทะกินไก่ทอดในที่สาธารณะ’ เพราะนอกจากมันจะมาพร้อมอากัปกิริยาที่ไม่สุภาพ (เลอะเทอะ มันแผล็บ) แล้ว มันยังตอกย้ำภาพเหมารวมของคนดำอีกด้วย

 

เพราะฉะนั้นเราลองไปย้อนดู Green Book ในฉากกินไก่ทอดอีกรอบ ในแง่หนึ่งมันสามารถเป็นฉากที่คนขาว–ซึ่งมีสถานะลูกน้อง–พยายามบอกเจ้านายว่าอย่าพยายามฝืนการเป็นตัวเองอีกต่อไปเลย แต่เมื่อมองในมุมของเจ้านายแล้ว มันอาจเป็นความรู้สึกที่เหมือนถูกเหยียบซ้ำก็เป็นได้ เช่นกันกับฉากนายจ้างทำไก่ทอดเอาใจสาวใช้ใน The Help เพียงแต่สลับบทบาทเจ้านาย-ลูกน้องกัน ส่วนใน Precious สาวอ้วนต้องแสร้งว่าไม่ได้รู้สึกรู้สากับมายาคติเรื่องไก่ทอด แต่สุดท้ายก็เกินจะทานทน ไม่ต่างจากชีวิตที่แสนยากของเธอ และใน Moonlight ไก่ทอดก็คือของขวัญสุดพิเศษที่ไม่ได้มีโอกาสกินกันได้ง่ายๆ

 

 

แคลร์ ชมิดต์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชาติพันธุ์และศิลปวัฒนธรรม แห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี กล่าวไว้ว่า ต้นตอที่ทำให้ไก่ทอดกลายเป็นอาหารของคนดำ เกิดขึ้นในหนังเรื่อง The Birth of a Nation ของ ดี ดับเบิลยู กริฟฟิธ ซึ่งออกฉายเมื่อปี 1915 และประสบความสำเร็จอย่างสูงในระดับที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์หลายคนยกให้มันเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่องแรกของโลก แต่ขณะเดียวกันมันก็ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น ‘หนังที่เหยียดมนุษย์ที่สุด เท่าที่โลกเคยสร้างมา’

 

หนังพูดถึงความหวาดกลัวของคนขาวที่มีต่อคนดำในช่วงสงครามกลางเมืองอเมริกาและยุคบูรณะ (Reconstruction Era) ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งประกาศเลิกทาสใหม่ๆ ทำให้คนดำมีสิทธิพลเมืองเต็มที่เทียบเท่าคนขาว โดยให้ภาพคนดำคุกคามคนขาวเยี่ยงสัตว์ร้าย ที่ดูจะเลวร้ายอย่างมากคือการเป็นสัตว์หื่นกระหายที่ไล่ข่มขืนหญิงสาว และยังมีสภาคนดำที่วางแผนจะยึดอเมริกาไว้ในครอบครองด้วย ระดับความเหยียดของหนังเรื่องนี้ลึกลงไปถึงการให้คนดำในหนังเรื่องนี้รับบทโดยคนขาวที่ทาหน้าดำเป็นส่วนใหญ่

 

The Birth of a Nation จึงถือเป็นหนังเรื่องสำคัญที่ส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน ในแง่ภาพยนตร์มันได้รับการบันทึกว่านำเสนอฉากต่อสู้ ไล่ล่า ได้ชวนระทึก อันเป็นต้นแบบให้หนังแอคชั่นยุคต่อๆ มาก็ไม่ผิดนัก แต่ในขณะเดียวกันมันก็เสมือนเชื้อเพลิงแห่งความเกลียดชังที่ยังเห็นร่องรอยในปัจจุบัน และฉากที่ทำให้ไก่ทอดกลายเป็นการเหมารวมรสนิยมคนดำคือภาพในสภาคนดำที่มีคนยกขาขึ้นมาพาดโต๊ะ ขณะที่อีกคนก็แทะไก่ทอดดูไร้มารยาท ฉากนี้ปรากฏเพียงสั้นๆ แต่ทำให้คนดำและไก่ทอดไม่ใช่ภาพจำที่ดีนักต่ออเมริกัน ฉากนี้ยังถูกหยิบยกมาอ้างอิงในหนัง BlacKkKlansman ของ สไปค์ ลี ที่โจมตีกลุ่มเหยียดเชื้อชาติ คูคลักซ์แคลน ซึ่งเป็นฮีโร่ในหนัง The Birth of a Nation นั่นเอง

 

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจู่ๆ กริฟฟิธจะจับยัดฉากไก่ทอดเข้ามาในหนัง ไม่ มันพอจะมีที่มาที่ไปอยู่บ้าง แม้ว่าอันที่จริงไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าไก่ทอดแบบหนังกรอบด้วยแป้งกับเกล็ดขนมปังนั้นมาจากไหน เพราะวัฒนธรรมการปรุงอาหารแบบ deep-fry ว่ากันว่ามาจากแอฟริกาฝั่งตะวันตก แต่ไก่ทอดดูเหมือนจะเป็นอาหารที่เป็นหน้าเป็นตาของอเมริกาทางตอนใต้มากกว่า โดยสูตรไก่ทอดชิ้นแรกสุดปรากฏอยู่ในหนังสือ The Art of Cookery Made Plain and Easy ของ ฮันนาห์ กลาสส์ ชาวอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1747 ซึ่งได้รับความนิยมสูงมากจนแม่บ้านในอเมริกาตอนใต้บังคับให้ทาสในเรือนพวกเธอเอาสูตรนี้มาดัดแปลง

 

 

ต่อมานับร้อยปี ผู้พันฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส ผู้มีผิวขาว ผมขาว และสวมสูทขาว เปิดร้าน Kentucky Fried Chicken เพื่อพยายามสื่อสารว่าเมนูนี้ไม่ได้เป็นของคนดำเสมอไป แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถล้างภาพจำเหล่านั้นออกได้อย่างหมดจดเสียที

 

เมื่อปี 2012 เบอร์เกอร์คิง ทำโฆษณาทีวีขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ชื่อ Crispy Chicken Snack Wrap โดยมีพรีเซ็นเตอร์เป็นนักร้องสาวผิวสี แมรี เจ ไบลจ์ โผล่มาร้องเพลงเกี่ยวกับเมนูนี้ขณะที่คนขาวกำลังสั่งอาหาร ซึ่งต่อมาโฆษณาชิ้นนี้ได้ถูกถอดออกเพราะโดนโจมตีว่ามีท่าทีเหยียดชาติพันธุ์อยู่ในนั้น

 

 

ปัจจุบัน ไก่ทอด คืออาหารเลื่องชื่อของร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีต้นกำเนิดจากอเมริกา อันเปรียบเสมือนตัวแทนทางวัฒนธรรมของประเทศมหาอำนาจไปแล้ว ทว่าในอีกด้านหนึ่ง มันยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ที่ฝังรากลึกทางวัฒนธรรมด้วยเช่นเดียวกัน ใครจะคิดว่าเมนูแห่งความสุขนี้จะมีรอยน้ำตาของใครบางคนหลบซ่อนอยู่บ้าง

 

ข้อมูลประกอบ

 

https://arkrepublic.com/2018/07/08/crispy-goodness-exploring-the-origins-of-fried-chicken-with-soul/

 

https://mic.com/articles/81629/when-did-fried-chicken-become-a-symbol-of-racism#.IFOAn23g8

 

https://thegrapevine.theroot.com/black-people-and-fried-chicken-a-love-affair-in-advert-1796671441

 

https://www.bbc.com/culture/story/20150206-the-most-racist-movie-ever-made

 

Share this content

Contributor

Tags:

วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, อาหารกับภาพยนตร์

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด