แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่เกิดจากความบังเอิญ แต่มีอิทธิพลถึงขั้นก่อให้เกิดการเรียกร้องเอกราช
ในขณะที่ของกินหรือเครื่องดื่มหลายชนิด เราสามารถสืบย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นได้ง่ายๆ แต่สำหรับ ‘ชา’ มันไม่ง่ายแบบนั้น เพราะจุดเริ่มต้นคลุมเครือมาก ว่ากันว่าการดื่มชาเริ่มขึ้นในประเทศจีนเมื่อกว่า 2,167 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีเรื่องเล่าตำนานการเริ่มต้นดื่มชาหลายตำนาน บ้างก็กล่าวว่าจักรพรรดิเสินหนิงของจีนค้นพบวิธีชงชาโดยบังเอิญ เนื่องจากพระองค์เป็นทั้งบัณฑิตและนักสมุนไพรผู้รักความสะอาดเป็นอย่างมาก จะดื่มเฉพาะน้ำต้มสุกเท่านั้น วันหนึ่งขณะเสินหนิงกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นชาในป่า และกำลังต้มน้ำดื่มอยู่นั้น ปรากฏว่าลมได้พัดเอากิ่งชาร่วงหล่นลงในน้ำซึ่งใกล้เดือด สักพักก็มีกลิ่นหอมกรุ่นโชยออกมา เมื่อพระองค์เอากิ่งชาออกแล้วลองดื่มก็เกิดความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า การดื่มชาก็จึงเริ่มขึ้นนับจากนั้น แถมไม่ใช่แค่ค้นพบสรรพคุณของชา เสินหนิงยังทรงค้นคว้าและทดสอบสมุนไพรชนิดต่างๆ กว่า 200 ชนิด ชาวจีนจึงนับถือว่าพระองค์เป็นบิดาแห่งแพทยศาสตร์
อีกตำนานหนึ่งบอกว่า นักบวชชื่อธรรม ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์อินเดีย ได้ออกเดินทางเผยแพร่พระพุทธศาสนาในจีน ในช่วงแผ่นดินของจักรพรรดิถูตี่ช่วงปี ค.ศ. 519 จักรพรรดิถูตี่ทรงชมชอบนักบวชจึงได้นิมนต์ให้ไปพักอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในเมืองหนานกิง ขณะนักบวชสวดมนต์ภาวนาอยู่ก็เผลอหลับไป ทำให้ชาวจีนหัวเราะเยาะ เพื่อเป็นการลงโทษตัวเองไม่ให้กระทำความผิดเช่นนั้นอีก ท่านธรรมจึงตัดหนังตาของตัวเองทิ้ง หนังตาเมื่อตกถึงพื้นก็งอกขึ้นเป็นต้นชา ชาวจีนเห็นความอัศจรรย์จึงพากันเก็บชามาชงในน้ำดื่มเพื่อรักษาโรค
ตำนานสุดท้ายเล่าขานว่า ในสมัยหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคระบาดในเมืองจีน ผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก เกี้ยอุยซินแสพบว่าสาเหตุใหญ่ของการเกิดโรคเกิดจากการที่ผู้คนดื่มน้ำสกปรก จึงแนะนำให้ชาวบ้านต้มน้ำดื่ม และเพื่อให้ชาวบ้านเชื่อ จึงเสาะหาใบไม้มาอังไฟให้หอมเพื่อใส่ลงไปในน้ำต้ม เกี้ยอุยซินแสพบว่า มีพืชชนิดหนึ่งที่ให้กลิ่นหอมมากเป็นพิเศษ มีรสฝาดเล็กน้อยและแก้อาการท้องร่วงได้ จึงเผยแพร่วิธีการนี้ให้ชาวบ้านได้ทำตาม ซึ่งพืชที่มีกลิ่นหอมที่ว่านี้ก็คือต้นชานั่นเอง
แต่หลักฐานสำคัญที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับชาที่สืบทอดมาถึงทุกวันนี้คือ ‘วรรณกรรมชาคลาสสิกฉาชิง’ (Cha Ching) เป็นตำราเกี่ยวกับชาเล่มแรกของโลก บรรยายถึงแหล่งกำเนิดชา การปลูกชา การผลิตชา คุณภาพของชา วิธีการดื่มชา อุปกรณ์การชงชาและธรรมเนียมการชงชา นานนับศตวรรษที่หนังสือเล่มนี้กลายเป็นพื้นฐานการศึกษาของจีน
จากจีนสู่โลก
จากประเทศจีน ชาได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ใกล้ๆ กัน ชาถูกนำเข้าไปยังญี่ปุ่นโดยพระชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาศึกษาคำสอนทางพุทธศานาที่ประเทศจีน และได้นำเมล็ดชากลับไปปลูกที่ Shingakn ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี เมื่อถึงปี ค.ศ. 1191 การปลูกชาก็กระจายไปทั่วประเทศ พระชาวญี่ปุ่นชื่อไอไซได้ไปเยือนจีนในปี ค.ศ. 1192 และ 1196 แล้วเขียนหนังสือเกี่ยวกับ ‘การรักษาสุขภาพโดยการดื่มชา’ (Preseving Health in Drinking Tea) เป็นหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับชาในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นประเพณีการชงชาของญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศอินเดีย ช่วงศตวรรษที่ 18-19 บริษัท West India ได้นำเมล็ดชาจีนมาทดลองปลูกตามไหล่เขาหิมาลัย แต่การขยายตัวเชิงอุตสาหกรรมชาเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1818-1834 บวกกับการพบชาป่าแถบเนปาลและมานิเปอร์ จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลและมีการปลูกชาขึ้นที่กัลกัตตาในปี ค.ศ. 1834 รวมทั้งมีการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับชาในสวนพฤกษศาสตร์แห่งกัลกัตตา โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเมล็ดพันธุ์จากประเทศจีน กระทั่งจีนงดส่งพันธุ์ชามาให้อินเดีย เพราะเกรงว่าอินเดียจะผลิตชามาแข่งขัน อินเดียจึงพัฒนาสายพันธุ์ชาขึ้นมาเอง โดยใช้พันธุ์ชาที่ปลูกอยู่แล้ว และพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่อยู่ใกล้ชายแดนเนปาล จนถึงพรมแดนประเทศจีนแถบมณฑลยูนนาน
ในทวีปยุโรป อังกฤษเป็นประเทศแรกที่รู้จักนำใบชามาใช้ประโยชน์โดยการนำใบชามาจากประเทศจีนในปี ค.ศ. 1657 และในช่วงปี ค.ศ 1657-1833 บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้เป็นผู้ผูกขาดการนำเข้าชา อีกทั้งชาวอังกฤษก็ยอมรับการบริโภคชาได้เร็วกว่าชาติอื่นๆ โดยมีเซอร์โทมัส การ์ราเวย์ เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมชาของอังกฤษ ต่อมาทอมมี่ ลิปตัน และคาเนียล ทไวนิ่ง ได้จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตชายี่ห้อลิปตันหรือทไวนิ่งที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบันนี้
ในประเทศฝรั่งเศส ชาถูกยอมรับเป็นเครื่องดื่มในศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเสวยชาเพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และแรงเสริมอีกอย่างคืออุตสาหกรรมชาในอังกฤษเข้ามาตีตลาดในฝรั่งเศส
ในประเทศรัสเซีย เริ่มปลูกชาครั้งแรกที่ Sukhum Botanic Gardens บนฝั่งทะเลดำ ในปี ค.ศ. 1847 โดยอุปราชของเมืองคอเคซัส เมื่อต้นชาเริ่มให้ผลผลิต ทำให้ความนิยมปลูกชาเพิ่มมากขึ้น ปี ค.ศ.1884 มีการนำต้นกล้าชาจากประเทศจีนมาปลูกในเนื้อที่ประมาณ 5.5 เอเคอร์ หลังจากนั้นได้มีกลุ่มผู้สนับสนุนการปลูกชาขึ้น โดยจัดซื้อสวนบนฝั่งทะเลดำจำนวน 3 สวน เพื่อปลูกชาจำนวน 385 เอเคอร์ ใช้เมล็ดพันธุ์จากประเทศจีน อินเดีย และศรีลังกา รวมทั้งจ้างคนชำนาญเรื่องชากับคนงานจากประเทศจีนมาฝึกสอน โดยจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการทำชามาจากประเทศอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ 1900 กระทรวงเกษตรของรัฐเริ่มจัดตั้งสถานีทดลองและผลิตต้นพันธุ์แจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่า จากการส่งเสริมนี้ทำให้การปลูกชาขยายตัวมากขึ้น จนในปัจจุบันประเทศรัสเซีย จัดได้ว่ามีการปลูกชากันมากในรัฐจอร์เจีย (Georgia) ชายฝั่งทะเลดำ
ชนวนแห่งอิสรภาพ
แม้จะถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีน แต่ประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่มีหลายราย อาทิ ญี่ปุ่น รวมถึงอินเดียที่มีการค้นพบชาในรัฐอัสสัม และนำมาจำหน่ายครั้งแรกในอังกฤษเมื่อปี 1839 บวกกับลัทธิล่าอาณานิคมที่ทำให้การปลูกชาแพร่หลายไปทั้วโลก โดยเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้นำชาไปปลูกที่เคปทาวน์ในทวีปแอฟริกาเป็นครั้งแรกในปี 1687 ก่อนขยายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น เคนยา มาลาวี แทนซาเนีย
การเก็บภาษีชาของอังกฤษยังเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในชาติอาณานิคมในทวีปอเมริกาในศตวรรษที่ 17 โดยเกิดเหตุการณ์ที่ชื่อ Boston Tea Party กลุ่ม Sons of Liberty หรือผู้ปลดปล่อยอเมริกาแอบขโมยชาจากเรือขนส่งถึง 342 หีบ ทำให้อังกฤษออกกฎจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองในอาณานิคม นำไปสู่ความไม่พอใจและการทำสงครามประกาศอิสรภาพในเวลาต่อมา
เรื่องราวของชาในประเทศไทย
หลักฐานจากจดหมายของลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์บ่งชี้ว่า คนไทยรู้จักการดื่มน้ำชากันมานานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน ทั้งยังนิยมเสิร์ฟชาต้อนรับแขกด้วยวิธีเดียวกับการชงชาในประเทศจีน แล้วยังมีการค้นพบต้นชาป่าพันธุ์อัสสัมอายุหลายร้อยปีที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งชาวบ้านขนานนามว่าเป็น ‘ต้นชาพันปี’ ทำให้พบว่าต้นชามีอยู่ในไทยนานแล้วในแถบที่ราบสูงทางตอนเหนือของประเทศ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปาง และตาก
ประเภทของชาที่นิยมในปัจจุบัน
ชาในปัจจุบันมีความหลากหลายกว่า 3,000 ประเภท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ วิธีการเก็บและกระบวนการแปรรูป โดยชาที่นิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายมี 5 ประเภท ได้แก่
1. ชาขาว (White Tea)
เป็นชาที่ผลิตจากยอดชาอ่อนที่มีขนบางๆ สีขาวปกคลุม หลังเก็บเกี่ยวแล้วจะนำมาตากแดดหรือตากลมให้แห้งอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาความสดใหม่ ใบชามีกลิ่มหอมอ่อนๆ สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น จึงมีราคาแพง
2. ชาเขียว (Green Tea)
ผลิตจากยอดชาอ่อนสีเขียว นำมาอบไอน้ำเพื่อคงความสดใหม่ ชาเขียวได้รับความนิยมจากสรรพคุณด้านสุขภาพ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดโอกาสเกิดมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล และป้องกันการจับตัวกันของลิ่มเลือด
3. ชาอู่หลง (Oolong Tea)
ผลิตจากยอดชาอ่อนสีเขียวเช่นกัน แต่หลังจากอบไอน้ำแล้วนำมาหมักบ่มอีกครั้ง มีรสชาติขมเล็กน้อย
4. ชาดำ (Black Tea)
ผลิตจากใบชาแห้งที่นำไปรีดน้ำออกจนหมด และหมักบ่มจนเป็นสีส้มหรือสีแดง เป็นชาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุด หรือที่รู้จักกันว่า ‘ชาฝรั่ง’ เช่น ดาร์จิลิง เอิร์ลเกรย์ อิงลิชเบรคฟาสต์
5. ชาแต่งกลิ่นและชาสมุนไพร
มักนำชาดำมาแต่งเติมด้วยกลิ่นผลไม้หรือดอกไม้ บางทีก็เติมน้ำตาล หรือชาที่ทำจากผลไม้และดอกไม้แห้ง 100% เช่น เก๊กฮวย ตะไคร้ กระเจี๊ยบ ใบหม่อน
ที่มา: www.thailandcoffee.net/tea-history / www.sites.google.com/site/chonthicha47035/khwam-ru-thawpi-keiyw-kab-cha/prawati-khxng-cha / www.refresherthai.com/article/teaHistory.php / www.sites.google.com/a/samakkhi.ac.th/cha-thiy/thima-khxng-cha-thiy
ภาพ: www.akan.co.za/wp-content/uploads/2013/07/Tea-potcupcondements.jpg /www.cdn.shopify.com/s/files/1/0127/1178/8603/products/Black_Tea_Pouring_89320ee4-d4e4-4b45-9e26-ad1109434634.jpg?v=1543347766 / www.zojirushi.com/user/images/recipe/102.1.jpg /www./alevia.com.au/wp-content/uploads/2019/11/tea-3833600_1920.jpg /www.chooseulverston.co.uk/wp-content/uploads/2020/10/117321839_304258354218793_7351459282031936976_n-scaled-e1600791155253.jpg /www.migrelief.com/wp-content/uploads/2013/08/Ginger-Tea-Recipes-scaled.jpeg //www.jalewa.com/wp-content/uploads/2020/10/How-To-Make-Green-Tea-At-Home-Easily-And-Naturally.jpg /www.theshillongtimes.com/wp-content/uploads/2017/06/tea-garden.jpg /www.fm.cnbc.com/applications/cnbc.com/resources/img/editorial/2015/05/04/102647418-455469494.1910×1000.jpg /www.tse3.mm.bing.net/th?id=OIP.qWpZOyoSivBE6YoihLu-UgHaLH&pid=Api&P=0 / www.ccfinetea.com/wp-content/uploads/2020/05/Green-Tea-Garden-2020-image0-2-Compressed-1024×768.jpg /www.1000traveltips.com/wp-content/uploads/2017/04/Fresh-tea-leafs-in-womans-hand-at-tea-garden-Darjeeling-India.jpg /www.firmdalehotels.com/media/1064585/161026_f_no16_tea_2024plussunpluschampplusflowers.jpg?a=1&crop=0.019%2C0.102%2C0.0069740259740258088%2C0.012669791361520523&cropmode=percentage&width=1596&height=1088&bgcolor=fff&sig=455e724d9a7ecc6f063498990e2572df / www.fthmb.tqn.com/7MfYUqImFdmyWDPIWeIYW_V2-mU=/1500×1125/filters:fill(auto,1)/cup-of-tea-58a706ed5f9b58a3c91d92ad.jpg /www.thespruceeats.com/thmb/cLp4xcS0jW8Nt5PO_KjriFZP-Go=/5742×3642/filters:fill(auto,1)/GettyImages-126372448-5849a8615f9b58dcccf69b22.jpg /www.imperialteas.co.uk/pub/media/catalog/category/ceylonruhunacrop.jpg
บทความเพิ่มเติม
ประวัติศาสตร์ ‘เบียร์’ น้ำสีทองจากอารยธรรมแรกของมนุษยชาติ
ชอร์ตเบรดและสโคน ขนมคู่โต๊ะชายามบ่าย
ชาอินเดีย (มาซาล่าจาย) Welcome Drink แสนภูมิใจของบ้านเชฟน่าน!
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos