เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ก้าวใหม่ของใบชาตราสามม้า ชาที่มีทุกบ้าน

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

เรื่องราวบทต่อไปของใบชาประจำบ้านที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 80 ปี

ไม่ว่าคุณจะกินชาไข่มุก ชานมไต้หวัน ชาไทยหวานมัน ชาจีนหอมกรุ่น หรือกระทั่งว่าแทบไม่ดื่มชาเลย อย่างน้อยที่สุด คุณน่าจะเคยได้เห็นกล่องกระดาษแบบนี้

 

 

 

 

กล่องกระดาษลวดลายฉูดฉาดแต่คลาสสิก ไม่ว่าจะวางในร้านของชำหรือร้านโมเดิร์นเทรดก็มองเห็นโดดเด่นกว่าชาไหนๆ และสำหรับขาประจำ (ไม่ว่าจะซื้อไปชงเอง ซื้อไปชงให้อากงอาม่า หรือซื้อไปชงไหว้ตี่จู่เอี๊ยะ) ก็จะรู้ได้ทันทีว่านี่แหละคือใบชาตราสามม้าในความคุ้นเคย และอย่าแปลกใจที่คนทุกเพศทุกวัยต่างรู้จักใบชาตราสามม้า เพราะนับตั้งแต่วันที่เริ่มเป็น ‘ห้างใบชาอุ้ยปอกี่’ มาจนถึงปัจจุบัน ใบชาตราสามม้านับเป็นแบรนด์ที่มีอายุกว่า 80 ปี แล้ว

 

 

 

 

 

 

 

อู่หลงในกล่องกระดาษ ภาพจำหมายเลขหนึ่งของใบชาตราสามม้า

 

 

 

 

“ผู้ดื่มในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็น passive drinker คือไม่ได้ใส่ใจเรื่องชาเป็นหลัก คุณเสิร์ฟอะไรมาเราก็ดื่มไป เพราะฉะนั้นก็จะมีหลายๆ ท่านที่ดื่มชาของเราไปแล้วไม่รู้ว่าเป็นยี่ห้อไหน” คุณอิศเรศ อุณหเทพารักษ์ เริ่มเล่าถึงชาจีนสีน้ำตาลใสซึ่งเป็นสินค้าขายดีตลอดกาลของใบชาตราสามม้าให้เราฟัง

 

 

 

 

ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารจีน ร้านติ่มซำ หรือร้านสุกี้เจ้าดังที่มีสาขาทั่วประเทศ ถ้ามีชาใสถูกเสิร์ฟไม่ว่าจะเป็นแบบร้อนหรือเย็น ขอให้เดาไว้ได้เลยว่าคุณกำลังจะได้ดื่มชาตราสามม้านี้แหละ หากไม่ใช่คนที่ลงมือชงเอง และไม่ใช่คนที่ดื่มชาใสอยู่เป็นนิจ ก็อาจจะไม่รู้เลยว่า ชาจีนที่เรากินอยู่ประจำตามร้านโน้นร้านนี้คือชาอู่หลง

 

 

 

 

“อู่หลงจะเป็นกรรมวิธีในการผลิตชาเท่านั้น ในอู่หลงก็จะมีสายพันธุ์ชาอีกเป็นร้อยๆ ชนิดเลย

 

 

 

 

“อู่หลงคือชาที่ผ่านกระบวนการหมักแค่ครึ่งทาง เด็ดใบชาช่วงเช้าก่อน เสร็จแล้วเราก็จะเอามาผึ่งบนลานตากชา ต้องผึ่งตอนที่แดดไม่ร้อนจัด ไร่ชาเขาก็จะมีภูมิปัญญาว่าถ้าแดดร้อนขนาดนี้ ต้องผึ่งนานขนาดไหนเพื่อให้ใบชาคลายตัวในระดับหนึ่ง จากนั้นก็ต้องรีบเก็บเข้าที่ร่ม พอเก็บเข้าในโกดังเสร็จแล้วก็จะต้องฝัดชา การฝัดเป็นการกระตุ้นกระบวนการหมัก เพราะเวลาเราฝัด ใบชาตกลงในกระด้งก็จะเริ่มช้ำ แต่จะช้ำแต่น้อย มันจะมีตัวน้ำในใบชาออกมา ซึ่งเมื่อออกมาทำปฏิกริยากับออกซิเจนแล้วก็จะเกิดการหมักขึ้น ฝัดเสร็จแล้วก็พัก แล้วก็ฝัดใหม่ ฝัดมากน้อยเท่าไหร่ก็ให้เหมาะกับชนิดชานั้นๆ ชาชนิดเดียวกัน คนที่ขยันฝัดมากกว่าใบชาก็จะหอมกว่า

 

 

 

 

“พอฝัดชาเสร็จ มันก็จะไปผ่านกระบวนการที่จะหยุดการหมักของเอนไซม์บนใบชา แล้วค่อยไปผ่านกระบวนการม้วนชาหรือนวดชา เพื่อให้ใบชาขึ้นมาเป็นเส้นหรือเป็นเม็ดกลมก็แล้วแต่ จากนั้นจึงนำไปย่างไฟเพื่อไล่ความชื้นออกจนกระทั่งเหลือ 5-8% ตามชนิดของชา ใบชาเบอร์ 1 เบอร์ 3 ก็จะเป็นกรรมวิธีแบบนี้ แต่จะเป็นสายพันธุ์ชาในประเทศเป็นหลัก”

 

 

 

 

สำหรับ passive drinker อย่างฉัน แค่ได้ยินกระบวนการก่อนจะเป็นชากล่องๆ ที่คุ้นตาก็ตื่นเต้นขึ้นมาทันที เพราะไม่เคยนึกมาก่อนว่าชาหน้าประจำกล่องละไม่กี่สิบบาทจะมีเบื้องหลังที่ต้องลงแรง ต้องให้เวลา และต้องใช้ความชำนิชำนาญมากขนาดนี้

 

 

 

 

แต่เรื่องของชากล่องในความคุ้นเคยของเรายังไม่จบเพียงเท่านั้นค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

“จริงๆ เราจะมีไร่ชาประจำของเราตั้งแต่ไหนแต่ไรมาอยู่แล้ว เฉพาะในประเทศไทยจะมี 4 ไร่ชา ในจีนจะมี 3 ไร่ชา ในไต้หวันจะมี 1 ไร่ชา หลักการก็คือ เราจะต้องรู้จักกันก่อนว่ามีชาอะไรที่จะนำเสนอบ้าง หลังจากนั้นเราก็จะมีการลองซื้อล็อตแรกๆ พอซื้อแล้ว ถ้าเขาสามารถคงคุณภาพไว้ให้มันมีมาตรฐานทุกครั้งที่ส่งมา ก็ถึงจะกลายเป็นลูกค้าประจำ ในไทยจะมีเชียงใหม่กับเชียงรายเพราะจะมีไร่ชาอยู่เยอะ และส่วนใหญ่ก็จะรู้จักกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่แล้ว

 

 

 

 

“สายพันธุ์ในประเทศเราก็ต้องเลือก เพราะแต่ละที่มีกลิ่นหอม รสชาติ ก็จะต่างกัน บางทีเราจะใช้สายพันธุ์ที่มีรสชาติเข้มข้น มีกลิ่นหอมไม่มากมาเป็นเบสชา แล้วใช้จากอีกหุบเขาหนึ่งมาเบลนด์เพื่อเป็นกลิ่น ถึงเรียกว่าเป็นสูตรของเรา ทุกอย่างจะผ่านการเบลนด์มาแล้ว เพราะอย่าลืมว่าใบชาเนี่ยเป็นของจากธรรมชาติ ใบชาแต่ละฤดู แต่ละปี คุณภาพก็ไม่เหมือนกัน

 

 

 

 

“ถ้าเป็นชาอู่หลงเราจะเก็บฤดูใบไม้ผลิกับใบไม้ร่วง ชาฤดูใบไม้ผลิ ปกติแล้วตัวใบชาจะมีเนื้อหนา กลิ่นหอมระดับหนึ่ง แต่รสชาติจะเข้มข้น พอเข้าฤดูใบไม้ร่วง ต้นชาดูดซับแร่ธาตุจากดินมาเกือบทั้งปีแล้ว แร่ธาตุของดินในฤดูใบไม้ร่วงก็จะน้อยลง ใบมันก็จะบางกว่า กลิ่นจะหอมจัด แต่ body มันก็จะเริ่มบางแล้ว อันนี้เป็นธรรมชาติของใบชา”

 

 

 

 

 

 

 

“ใบชาที่ช่วงเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิของปีนี้ เราก็จะต้องเอามาเบลนด์กับของฤดูใบไม้ร่วงในปีที่แล้ว ฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ก็เอาไปเบลนด์กับของฤดูใบไม้ผลิปีหน้าได้ ยิ่งถ้าเรามีวัตถุดิบในมือเยอะ การเบลนดิ้งก็จะยิ่งสม่ำเสมอ อย่างเบอร์ 1 เนี่ยเราก็จะมีใบชาต่างประเทศมาผสมด้วย สิ่งที่เราพยายามจะทำก็คือ เราพยายามจะรักษามาตรฐาน ให้ผู้บริโภคดื่มชาเบอร์ 1 หรือ เบอร์ 3 ตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคมแล้วรสชาติไม่ต่างกัน

 

 

 

 

“เพราะฉะนั้นก่อนที่ชาวสวนจะส่งชาให้เรา ต้องมีการส่งตัวอย่างให้ก่อนทุกครั้ง ว่าล็อตนี้ของปีนี้เป็นอย่างไร เราต้องการให้เขาเพิ่มกระบวนการฝัด หรือนวด เพิ่มขึ้นไหม พอเราพอใจคุณภาพนี้แล้ว เขาก็จะล็อกกระบวนการนั้นไว้สำหรับล็อตนั้นๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีตำแหน่ง Tea master อยู่ที่โรงงาน เป็นคนกำหนดสูตร Tea master รุ่นก่อนก็คือคุณปู่ แล้วก็มาเป็นคุณพ่อ ตอนนี้ก็จะเป็นพี่ชายของผมเป็นหลัก”

 

 

 

 

หลังจากบทสนทนากรุ่นกลิ่นชาร้อนในวันนั้น ฉันไม่สามารถมองชาฟรีตามร้านอาหารด้วยสายตาเฉยชาแบบเดิมอีกต่อไป – นี่มันงานฝีมือระดับเซียนโดยแท้

 

 

 

 

 

 

 

ชา น้ำ ความร้อน และเวลา กติกาในโลกของชาใส

 

 

 

 

คนรุ่นใหม่ๆ อาจนับให้การดื่มชาใสชาร้อนเป็นเรื่องของอากงอาม่า (ถ้ายังนับว่าตัวเองเป็นคนรุ่นใหม่ได้ ฉันก็จัดอยู่ในหมวดนี้เช่นเดียวกัน) แต่หากมานั่งลงทำความรู้จักกันดีๆ แล้ว ความละเมียดละไมซับซ้อนแต่ทว่าเรียบง่ายของชาใสนั้นสมควรถูกจัดให้เป็นความรื่นรมย์ระดับเดียวกันกับการจิบกาแฟพิเศษทีเดียว

 

 

 

 

ฉันนึกเปรียบเทียบว่าการดื่มชาใสชาร้อนนั้นไม่ต่างอะไรกับการดื่มกาแฟดำดีๆ เลยค่ะ เพราะมันเป็นรสชาติที่ถูกสกัดออกมาจากวัตถุดิบล้วนๆ แบบไม่มีรสของนม น้ำตาล หรือเครื่องแต่งรสชาติอื่นๆ มาผสม เพราะฉะนั้นหากวัตถุดิบดี สกัดดี ผลลัพธ์ก็จะออกมาดี

 

 

 

 

แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าสกัดแย่น่ะหรือคะ? ก็เป็นชาแก่รสฝาดเจือขมที่เราคิดว่าเป็นรสชาติมาตรฐานของชานั่นแหละค่ะ!

 

 

 

 

“ในเมื่อคุณต้องชงไหว้เจ้า ไหว้ตี่จู่เอี๊ยะที่บ้านอยู่แล้ว ถ้าคุณชงดีๆ น้ำแรกคุณใช้ไหว้ก่อน ที่เหลือคุณชงให้ถูกวิธีแล้วเก็บไว้ดื่มระหว่างวันมันก็จะไม่ต้องทิ้งให้เสียของ แล้วรสชาติออกมาก็ใช้ได้ด้วย ต่อให้มันเป็นไปชาที่ไม่ได้แพงมาก สมัยก่อนเราจะนิยมว่า ชงแล้วแช่ทิ้งเอาไว้เลย ตั้งแต่เช้าจนเย็น พอเราชงเกินระยะเวลาที่มันสมควรแล้ว ใจตรงกลางที่เป็นแกนของใบชา คือส่วนท่อน้ำเลี้ยง ก็จะแตก ความฝาดขมที่มันอยู่ตรงใจก็จะคายออกมา

 

 

 

 

“อย่างเช่นชาเขียวเนี่ย ถ้าเราไปใช้น้ำเดือดที่เราเพิ่งต้มเสร็จใหม่ๆ แทนที่กลิ่นหอมบนใบชาจะออกมา ปลายเป็นว่าน้ำเดือดจะไปต้มตัวใบชาจนผิวเขาสุก มันก็จะมีฝาดขม มีกลิ่นเขียว เพราะฉะนั้นถ้าเป็นชาเขียวต้องชงตั้งแต่ 75-90 องศาเซลเซียส”

 

 

 

 

 

 

 

“แต่ถ้าเป็นชาอู่หลง เราไม่ใช้น้ำร้อนชง ใบชาก็จะไม่คลายตัว กลิ่นหอมไม่ออก ก็จะมีกลิ่นอับออกมาอีก ผมไม่ได้กำลังพยายามทำให้มันยุ่งยาก การดื่มชาเนี่ยจริงๆ ถ้ามองให้เป็นเรื่องง่าย มันคือการเอาน้ำร้อนมาสกัดแร่ธาตุบนใบชาออกมาดื่มแค่นั้น แต่เราแค่ต้องรู้ว่าชาประเภทไหนควรใช้น้ำร้อนอุณหภูมิเท่าไร แล้วปริมาณที่จะใช้ต่อสัดส่วนน้ำ มันต้องเหมาะสมด้วย เลือกอุณหภูมิน้ำให้ถูก เลือกระยะเวลาการสกัดให้ถูก แค่นี้ก็ดื่มได้แล้วครับ”

 

 

 

 

ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีประวัติยาวนานหลายพันปี สำหรับคนที่ดื่มชาไปแบบรู้บ้างไม่รู้บ้างอย่างฉัน เมื่อประตูสู่โลกชาใสเปิดออก มันจึงมีประตูซ้อนประตู ซ้อนประตู และซ้อนอีกประตูอยู่เต็มไปหมด ถ้าคุณอ่านบทความนี้แล้วอยากเขยิบเข้าไปในโลกของชาให้มากขึ้น คุณอิศเรศแนะนำว่าให้เดินเข้าไปหาร้านชาใกล้บ้านได้เลยค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

“ชาใสในที่นี้ก็มีการแยกประเภท ชาขาว ชาเขียว ชาเหลือง ชาอู่หลง ชาแดง ชาหมัก เพราะฉะนั้นคุณต้องได้ลองดื่มก่อน จริงๆ คือ ร้านใบชาในประเทศไทยทั่วไป อยากลองชิมชาตัวไหน เราขอให้เขาชงให้เราดื่มก่อนได้นะครับ ถ้าชอบค่อยซื้อกัน ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องซื้อ ไม่ซีเรียส

 

 

 

 

“ถ้าเกิดลูกค้าซื้อไปต่อให้มันเป็นขีดละ 28 บาท ขีดหนึ่งชงได้ 10 ลิตร ต้องมานั่งทนกินชาที่ไม่ชอบ 10 ลิตร มันทรมานมากนะ แต่ถ้าซื้อไป มันขีดละ 1000 แต่เราดื่มแล้วเรา happy มันก็ worth it มันไม่เกี่ยวกับราคา มันเกี่ยวกับความรู้สึกมากกว่า

 

 

 

 

“ถ้าอยู่ในกรุงเทพแนะนำเลยว่ามาชิมก่อนได้ ทักมานัดทาง Facebook ได้ก่อนจะยิ่งดี แต่ถ้าอยู่ในต่างจังหวัด เรามีชุดเทสต์เตอร์ อย่างเช่น ชุดคลาสิก 4 เราจะมีชาอยู่ 4 ชนิด ชนิดละ 15 กรัม 300 กว่าบาทจัดส่งฟรี ซองละ 15 กรัม ชงได้มากสุดก็ประมาณ 1 ลิตรครึ่ง ถ้าชอบตัวไหนก็ค่อยไปซื้อตัวนั้น ถ้าไม่ชอบก็จะได้ไม่ต้องทนชิมมาก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นชาที่ออกมาใหม่ 90% ผมจะมีชุดเทสต์ให้หมด”

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากผู้บริโภคที่เป็น passive drinker แล้ว ปัจจุบันใบชาตราสามม้ายังเปิดตลาดใหม่ โดยการนำเข้าชาพรีเมียม รวมถึงชาพิเศษที่ผลิตมาให้ถูกรสนิยมคนไทยโดย เพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มใหม่อย่างเหล่า active drinker ผู้ลุ่มหลงในกลิ่นรสของชาใสทั้งหลาย

 

 

 

 

“บางทีเราจะไปนั่งถามผู้บริโภคว่าใครชอบแบบไหน เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีชาประเภทนี้ เราต้องพยายามมองหาชาประเภทที่อาจจะเหมาะกับคนไทย มันจึงเป็นที่มาของชาหลายๆ ตัวที่สั่งเข้ามา จะมีชาประเภทหนึ่งที่เรียกว่าชาหินผา หรือ Rock Tea ปลูกในพื้นที่ที่เป็นดินทราย ดินร่วน ซึ่งจะมีแร่หินแร่เหล็กในดินเยอะ เวลาดูดแร่ธาตุเข้ามาที่ตัวใบชาก็จะมีรสชาติเฉพาะตัว

 

 

 

 

“แต่ว่าชาประเภทนี้ ในจีนเขาจะนิยมย่างไฟเยอะ ถึงมันจะมีหลายสายพันธุ์มาก แต่พอผมกับพี่ชายเอามานั่งดื่ม เราแยกไม่ออกว่าตัวไหนต่างกันอย่างไร อย่าง ชาฉีหลัน ที่แปลว่ากล้วยไม้อัศจรรย์เนี่ย ในประวัติเขา จะต้องมีกลิ่นกล้วยไม้หอมๆ แต่ผมกับพี่ชายดื่มอย่างไรก็แยกไม่ออก ก็เลยกลับไปคุยกับทางไร่ชาว่ามีอะไรผิดพลาดหรือเปล่า เขาก็บอกว่า อ๋อ พอดีที่ประเทศจีนจะนิยมดื่มชาเข้ม มันจึงได้แต่ความหอมของควันไฟอย่างเดียว กลิ่นดอกไม้ก็จะหายไป

 

 

 

 

“เราก็ถามว่า ถ้าอย่างนั้น คุณทำให้เราได้ไหม เขาก็ไปลองทำกระบวนการนวด หมัก แล้วก็ย่างไฟให้มันน้อยลง เราก็ทำสูตรไปมากับเขาอยู่สองปี จนกระทั่งพอตอนหลัง ชาแต่ละชนิดมันเริ่มมีกลิ่นดอกไม้ออกมาแล้ว เราถึงนำเอามาขาย ไม่ได้หมายความว่าผมมีอยู่เจ้าเดียวนะครับ เจ้าอื่นก็มี เพียงแต่ว่าการตีความมันอาจจะไม่เหมือนกัน และชาตัวนี้ก็เป็นการตีความในแบบของใบชาตราสามม้า”

 

 

 

 

ฉันตื่นเต้นอยากเข้าสู่วงการ active drinker เต็มที จึงรบกวนให้คุณอิศเรศแนะนำชาสำหรับคนที่อยากเปิดโลกชาใสกับเขาบ้าง และคำตอบที่ได้มาก็คือชา 3 อย่างนี้ค่ะ

 

 

 

 

“อย่างแรกสุดก็จะเราใช้ฝูติ่งต้าเยี่ย เป็นสายพันธุ์ของชาในมณฑลฮกเกี้ยน และเลือกทำเป็นชาเขียว ไร่ชาไร่นี้เขาทำมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ชาเขียวจะเด็ดปีละครั้งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเอาชาสดมาผ่านกระบวนการให้เป็นชาเขียวแล้วเก็บไว้ในโกดังก่อน ส่วนดอกมะลิที่นำมาใช้คือมะลิชุนหยาหวัง ซึ่งคุณภาพที่ดีที่สุดจะออกในช่วงเดือน 7 ก็จะต้องเอาสองตัวนี้มาผสมกัน

“เขาจะเด็ดดอกมะลิสดๆ ในช่วงเช้าของแต่ละวันมาผสมกับใบชาในสัดส่วนที่พอเหมาะ แล้วทิ้งให้ใบชาดูดกลิ่นประมาณ 1 คืน วันรุ่งขึ้นเขาก็จะต้องคัดดอกมะลิออกให้หมด แล้วตอนกลางวันก็เด็ดล็อตใหม่มาผสม ทำซ้ำๆ แบบนี้ 6-7 วัน ใบชาก็จะมีกลิ่นหอมของดอกมะลิอยู่ในเนื้อใบเลย”

 

 

 

 

ฉันรู้มานานว่าใบชามีสรรพคุณในการดูดซับกลิ่น แต่สารภาพไว้ ณ บรรทัดนี้ ว่าฉันไม่เคยนึกมาก่อนว่าใบชาจะดูดซับกลิ่นได้มากถึงขนาดที่ว่า เราจะสามารถเสิร์ฟชามะลิโดยที่ไม่ต้องมีดอกมะลิลอยอยู่ในแก้วก็ได้ นอกจากเรื่องเล่าที่เขย่ากระเป๋าสตางค์อย่างเต็มที่แล้ว แพ็กเกจสีขาวน่ารักก็เชื้อเชิญให้พกไปวางไว้บนโต๊ะกาแฟที่บ้านเสียเหลือเกิน

 

 

 

 

“อันที่สองคือชาที่มีความเป็นกลางสูง หมายความว่า เป็นชาตัวที่ดื่มร้อนก็อร่อย หรือจะดื่มผสมน้ำแข็งก็ยังอร่อยมาก ชื่อว่าชาเหวินซานเปาจ่ง จากไต้หวัน เป็นชาที่เลยกระบวนการผลิตชาเขียวมาหน่อยหนึ่ง เริ่มเข้าสู่กระบวนการอู่หลงแล้ว แต่ก็ไม่เป็นอู่หลงเข้มมากนัก

 

 

 

 

“แล้วก็ถ้าเป็นอีกตัวหนึ่ง อาจจะเป็นอู่หลงเข้มอย่างฉีหลันหรือกล้วนไม้อัศจรรย์ก็จะมีกลิ่นดอกไม้ออกมา แต่น้ำชาจะรสเข้มเลย ติดอยู่ในกระพุ้งแก้มนาน ก็จะมีรสหวานๆ อยู่ในลำคอตลอด เป็นความหวานอีกแบบ ถ้าอยากดื่มความหวานจากธรรมชาติ คือความหวานชุ่มคอ ก็ต้องมาหาชาตัวนี้”

 

 

 

 

 

 

 

อัศวินม้าเร็ว ‘ชิ้นเดียวก็ส่งจ้าาา’

 

 

 

 

เหนือจากความพิถีพิถันในเลือกการเลือก การเบลนด์ และการบริการในแบบของใบชาตราสามม้าแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ฉันคงใจจะขาดถ้าไม่ได้พูดถึง ก็คือ ‘อัศวินม้าเร็ว’ หน่วยเดลิเวอรีสุดเท่ของใบชาตราสามม้า

 

 

 

 

“คันที่เก่าที่สุดนี่น่าจะเกิน 40 ปีแล้วครับ เราใช้มาแต่ไหนแต่ไร ราวๆ 4-5 ปีเราก็จะทำเครื่องยนต์ใหม่ ทำดีไซน์ใหม่ครั้งหนึ่ง สมัยก่อนเราจะมีลูกค้าเจ้าเล็กๆ เยอะ ยิบย่อย การเอารถตู้ไปส่งมันไม่สะดวก เวสป้ามันวิ่งเข้าตรอกซอกซอยได้ดีกว่า และมันบรรทุกน้ำหนักได้เยอะมาก ตอนนี้เรามีรถตู้ 2 คัน มอเตอร์ไซค์ 5 คัน เราวิ่งส่งได้ครอบคลุมเกือบทั่วกรุงเทพฯ แล้ว”

 

 

 

 

 

 

 

รถเวสป้าสุดเก๋าและแจ็กเก็ตยีนส์ปักลายคือเครื่องแบบประจำตัวแบบล่าสุดของหน่วยอัศวินที่ทำหน้าที่ส่งสินค้าถึงมือลูกค้าทั่วกรุงเทพฯ พร้อมสโลแกน ‘ชิ้นเดียวก็ส่งจ้าาา’ ที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเล่นๆ

 

 

 

 

“ลูกค้าในกรุงเทพฯ เราส่งฟรีนะครับ ชากล่องสองกล่อง ราคาสี่สิบห้าสิบบาทเราก็ส่ง ไม่จำเป็นต้องมีวอลลุ่ม ยกเว้นบางที่ที่ไกลมากๆ และมีรถใหญ่วิ่งเยอะ เพราะพนักงานเราไปแล้วเคยเกิดอุบัติเหตุ”

 

 

 

 

เหล่าอัศวินม้าเร็วของชาตราสามม้านี่แหละเป็นเครื่องตอกย้ำถึงบริการที่ดูแลคนดื่มชาทุกคน ทุกระดับ ทุกตลาด ในโลกที่โมเดิร์นเทรดและร้านค้าสะดวกซื้อมีอยู่ทุกหัวมุมถนน แบรนด์ชาเก่าแก่ 80 ปีแบรนด์นี้ก็ยังคงยินดีให้บริการเพื่อนเก่าวัยเก๋าที่ไม่สะดวกจะเดินเหินออกจากบ้านไปไหนไกลๆ

 

 

 

 

ฉันนึกภาพอาม่ายกหูมาสั่งชาครั้งละสี่ห้ากล่องแล้วก็ได้แต่อมยิ้ม เพราะก็คงเป็นอัศวินม้าเร็วนี่แหละที่เป็นอัศวินตัวจริง ขี่ม้า (สองล้อ) ไปหา ไม่ยอมให้บ้านอาม่าต้องขาดกลิ่นชาจีนหอมๆ แม้แต่สักวันเดียว

 

 

 

 

ก็ถ้าไม่มีใบชาตราสามม้า แล้วอาม่าจะไหว้ตี่จู่เอี๊ยะยังไงล่ะ!

 

 

 

 

 

 

 

 

ใบชาตราสามม้า

 

Facebook : https://www.facebook.com/3horsestea
Website : http://www.3horsestea.com/
Google Map : https://g.page/3horsestea?share (เยื้องกับโรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ปิง(ดาว้องก์). สำนักงานใหญ่สาขาเยาวราช)
เปิด-ปิด : 08.00-17.00 (ปิดทุกวันอาทิตย์)
โทร. 02-2221394

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

Share this content

Contributor

Tags:

คุยกับผู้ผลิต, ชา, ร้านอร่อยกรุงเทพ

Recommended Articles

Food Story‘น้ำผึ้งรักษ์ป่า’ รสซับซ้อนของน้ำผึ้งใต้จากการเลี้ยงผึ้งอย่างรับผิดชอบที่สุด
‘น้ำผึ้งรักษ์ป่า’ รสซับซ้อนของน้ำผึ้งใต้จากการเลี้ยงผึ้งอย่างรับผิดชอบที่สุด

เก็บกระเป๋าล่องใต้ไปชิมน้ำผึ้งเดือนห้าจากป่าเบญจพรรณที่ชุมพร หวานซ่อนเปรี้ยวที่อวดความสมบูรณ์หลากหลายในพื้นที่

 

Recommended Videos