เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ฟังแม่ลัดดาเล่าเรื่องไร่หมุนเวียนแบบกะเหรี่ยงโปว์บ้านห้วยหินดำ สุพรรณบุรี

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

หัวใจของนักสื่อสารบ้านดอย กับการต่อสู้ที่ก้าวผ่านวาทกรรม “กะเหรี่ยงเผาป่า” ไปไกล

กลิ่นควัน เปลวไฟ และภาพท่อนไม้ที่ถูกเผาไหม้เป็นตอตะโก คือสิ่งที่บาดตาบาดใจคนเมือง-คนกรุงอย่างกับอะไรดี เพราะเราคนกรุงทั้งหลายต่างมีสำนึกอันหนักแน่นว่าต้นไม้คือทรัพย์สมบัติที่มีค่ามากกว่าสิ่งไหน โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ชีวิตในดินแดนของตึกคอนกรีตและฝุ่นควันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

 

 

 

เปลวไฟหมายถึงผู้ร้าย เหมือนตัวโกงในละครที่มีแต่จะทำลายชีวิตแสนสวยงาม

 

 

 

 

ภาพน่ากลัวของเปลวไฟที่ ‘เผาทำลายป่า’ ทำงานกับหัวใจคนเมืองมาเสมอทุกยุคทุกสมัย วาทกรรม “กะเหรี่ยงเผาป่า ตัดต้นไม้ ทำไร่เลื่อนลอย” จึงถูกผลิตซ้ำมาแล้วนับสิบๆ ปี คู่ขนานไปกับการที่ชาวกะเหรี่ยงต้องต่อสู้กับวาทกรรมนี้มาหลายชั่วอายุคน 

 

 

 

 

แม่ลัดดา – ลัดดาวัลย์ ปัญญา  ชาวกะเหรี่ยงโผล่วบ้านห้วยหินดำ ก็เป็นนักต่อสู้อย่างที่ว่ามาเหมือนกัน

 

 

 

 

ไร่หมุนเวียน กะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยหินดำ

 

 

 

คนกะเหรี่ยงโผล่ว หรือ กะเหรี่ยงโปว์ เป็นชาติพันธุ์หนึ่งซึ่งมีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์[1] หรือมากกว่า 200 ปีก่อน ชาวกะเหรี่ยงโผล่วกระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัดของภาคตะวันตก และเป็นชาติพันธุ์ย่อยคนละกลุ่มกับชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่มากในภาคเหนือ กระนั้นทั้งคนกะเหรี่ยงโผล่วและคนปาเกอะญอก็มีวิธีมองธรรมชาติและมีปรัชญาในการหาอยู่หากินที่ใกล้เคียงกันมาก โดยเฉพาะแนวคิดในการทำไร่หมุนเวียน (Rotational Farming) ซึ่งเป็นรูปแบบการเพาะปลูกที่สืบต่อมาตั้งแต่ที่มนุษย์แรกเริ่มทำการเกษตรเลยทีเดียว[2]

 

 

 

 

แม่ลัดดาในฐานะเลือดเนื้อกะเหรี่ยงโผล่วบ้านห้วยหินดำ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นนักฮีโร่ท้องถิ่นอีกคนหนึ่งที่สื่อสารเรื่องการทำไร่หมุนเวียนมาเสมอ สโลแกนติดปากของแม่ลัดดาคือ “ไร่หมุนเวียนไม่ใช่เขาหัวโล้น เขาหัวโล้นไม่ใช่ไร่หมุนเวียน” เพราะแม่บอกว่าตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่ปู่ย่าตายายของแม่ลัดดาก็หาอยู่หากินกับไร่หมุนเวียนมาโดยเสมอ แต่ในวัยเด็ก แม่ลัดดาไม่เคยเห็นภูเขาหัวโล้นเลยแม้แต่หย่อมเดียว 

 

 

 

 

ไร่หมุนเวียน กะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยหินดำ

 

 

 

ภาพ : แนท – เพชรรัตน์ อนุสรณ์ประชา หลานของแม่ลัดดากำลังพาเราเดินเลาะห้วยหาปูและสมุนไพร

 

 

 

 

นอกจากความเข้าใจผิดเรื่องกะเหรี่ยงทำลายป่าแล้ว แม่ลัดดารวมถึงพี่น้องกะเหรี่ยงในหลานพื้นที่ยังต้องเจอกับปัญหาใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสุญเสียความสมบูรณ์ของพื้นที่ไปจากสัมปทานป่าไม้ ถูกประกาศพื้นที่ป่าสงวนทับซ้อนที่ดินทำกิน เรื่องฤดูการเพาะปลูกที่คลาดเคลื่อนไปจากประกาศห้ามเผา ฯลฯ แน่นอนว่าในฐานะนักต่อสู้และนักสื่อสาร แม่ลัดดารวบรวมข้อมูล ทำกิจกรรม สร้างเครือข่าย และเดินหน้าสื่อสารเรื่องที่บั่นทอนวิถีชีวิตกะเหรี่ยงอย่างไม่ลดละ แต่สุดท้ายเรื่องที่แม่ลัดดายังต้องกลับมาพูดซ้ำๆ วนอยู่แค่วาทกรรม “กะเหรี่ยงตัดต้นไม้ เผาป่า” ที่สังคมยังก้าวข้ามไปไม่พ้นเสียที

 

 

 

 

แม่ลัดดาอาจพูดเรื่องนี้มาแล้วนับหมื่นครั้ง แต่วันนี้ เราจะมาพูดเรื่องนี้เป็นครั้งที่หนึ่งหมื่นเอ็ดกันค่ะ

 

 

 

 

กระเหรี่ยงเผาป่าจริงไหม?

 

 

 

 

ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าเรา คือพื้นที่โล่งเปล่าที่มีร่องรอยของการตัดต้นไม้และใช้ไฟเผา ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพนี้ เมื่อดูผิวเผินแล้วก็เหมือนกับเป็นจุดจบของผืนป่า แต่สำหรับการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีของของคนกะเหรี่ยงโผล่ว รวมถึงคนปาเกอะญอ คนลั๊วะ และอีกสารพัดชาติพันธุ์ในประเทศไทย ขั้นตอนนี้คือจุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกที่จะก่อให้เกิดชีวิตและความงอกงามอีกมากมาย

 

 

 

 

ไร่หมุนเวียน กะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยหินดำ

 

 

 

ภาพ : ไร่ที่พักไว้ 6 ปี ที่ฟันและจุดเพื่อเตรียมพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนในปีนี้

 

 

 

 

ขั้นตอนที่เห็นนี้ คือขึ้นตอนของการจุดไร่หรือการเผาเพื่อเตรียมหน้าดินให้พร้อมสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลที่จะมาถึง ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน โดยก่อนจุดไร่ ชาวบ้านจะต้องฟันไร่เพื่อลดเชื้อเพลิงลงให้น้อยที่สุด และต้องทำแนวกันไฟเพื่อให้ป่า คน และสรรพสัตว์ทั้งหลายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

 

 

 

 

ดังนั้นหากถามแบบกำปั้นทุบดินว่า คนกะเหรี่ยงเผาไร่จริงไหม ก็คงต้องตอบอย่างกำปั้นทุบดินไปว่า “จริง”

 

 

 

 

แต่การเผานั้นเป็นไปอย่างไร เป็นไปเพื่ออะไร และมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ฉันจะขอชวนทุกคนมาดูหนังสือภาพของแม่ลัดดาไปพร้อมกันค่ะ

 

 

 

 

ไร่หมุนเวียน กะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยหินดำ

 

 

 

18 ขั้นตอนของการทำไร่หมุนเวียน

 

 

 

 

แม้จะไม่ได้มีภาษาไทยกลางเป็นภาษาแม่มาแต่กำเนิด แต่แม่ลัดดาก็เรียนรู้ด้วยตัวเองจนแตกฉานเพื่อจะเล่าเรื่องของคนกะเหรี่ยงโผล่วให้สังคมได้รับรู้ แถมยังเป็นนักเก็บข้อมูลตัวยง เพราะแม่ลัดดารู้ว่าการส่งเสียงด้วยเรื่องราวแบบมุกขปาฐะอย่างเดียวอาจไม่หนักแน่นพอจะเปิดหัวใจของคนนอกกลุ่มได้ โดยเฉพาะเรื่องการทำไร่หมุนเวียนที่กินเวลาหลายปีใน 1 วัฏจักร แม่ลัดดาจึงทำหนังสือภาพปฏิทินไร่หมุนเวียนแบบกะเหรี่ยงโผล่วขึ้นเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ไปในวงกว้าง – ไร่หมุนเวียนแบบเต็มวัฏจักรในความทรงจำของแม่ลัดดา มีทั้งหมด 18 ขั้นตอนเต็มๆ ทั้งขั้นตอนที่เป็นพิธีกรรมและกสิกรรม แน่นอนว่าการจุดไร่ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

 

 

 

 

แม่ลัดดาใจดีอนุญาตให้ฉันถ่ายรูปหนังสือทำมือสุดคราฟต์เล่มนี้มาเผยแพร่ไว้ และนี่คือเรื่องที่แม่ลัดดาอยากเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ

 

 

 

 

ไร่หมุนเวียน กะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยหินดำ

 

 

 

ขั้นตอนที่ 1 เวาลองวาทู่ : การเสี่ยงทายเพื่อขอพื้นที่ทำกิน

 

 

 

 

การทำไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงโผล่ว ใช่ว่านึกจะหมุนไปทำที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ เพราะคนกะเหรี่ยงโผล่วมองว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของผืนดินแห่งไหนได้โดยเด็ดขาด พื้นที่ป่าทุกตารางนิ้วล้วนมี “เจ้าของ” อยู่แต่เดิม จึงต้องมีการทำพิธีเสี่ยงทายเพื่อขอพื้นที่ในการทำกินกับเจ้าป่าเจ้าเขาเสียก่อน

 

 

 

 

การเสี่ยงทายมักทำให้เดือนมกราคม โดยจะมีขั้นตอนเคร่งครัดตั้งแต่คืนก่อนหน้าที่ต้องตั้งจิตอธิษฐาน หากในคืนนั้นฝันไม่ดี หรือกระทั่งเมื่อออกเดินทางตอนเช้าแล้วมีสัตว์ร้องทัก คนกะเหรี่ยงโผล่วจะถือว่าเป็นลางร้ายและจะเลื่อนการเสี่ยงทายออกไปทันที

 

 

 

 

แม่ลัดดาเล่าว่า กระทั่งว่าการเลือกพื้นที่เพื่อจะเสี่ยงทายก็ยังมีข้อกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

“ตรงที่มีตาน้ำ ที่ริมห้วย ที่ที่ 2 ห้วยมาประจบกัน กับที่สันเขา ทำไม่ได้เลย บรรพบุรุษเขาไม่ได้สอนหรอกว่ามันจะส่งผลต่อพื้นที่ ไม่ได้สอนว่า การตัดไม้ริมห้วยทำให้น้ำแลง การตัดไม้สันเขาทำให้เป็นเขาหัวโล้น แต่เขาสอนเป็นกุศโลบายว่า ที่แบบนี้ผีดุ พอเรากล้ว เราเคารพ บูชา นับถือ เราก็ไม่ไปทำไร่ตรงนั้น เมื่อก่อนคนกะเหรี่ยงเราไม่คิดหาเหตุผล บรรพบุรุษไม่ให้ทำ เราก็ไม่ทำ แต่ตอนนี้แม่ลัดดารู้แล้ว ว่ามันคือคุณค่าที่เลี้ยงชีวิตเรา และทำให้เรายังมีปลาอยู่

 

 

 

 

“แต่เดี๋ยวนี้ขั้นตอนเสี่ยงทายไม่มีแล้ว หายไปเลย”

 

 

 

 

“ทำไมถึงไม่มีคะแม่” – เราถาม

 

 

 

 

“ก็พื้นที่ไม่มีแล้ว ที่เราเคยหมุนเวียนเป็นพื้นที่ของอุทยานไปแล้ว เราจะไปเสี่ยงทายเอาไม่ได้ จะหมุนเวียนก็ไม่ได้”

 

 

 

 

คู่ขนานไปกับการต่อสู้เพื่อลบภาพจำกะเหรี่ยงตัดไม้เผาป่า แม่ลัดดาและชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มแม่น้ำลำตะเพลิน ซึ่งประกอบไปด้วย บ้านห้วยหินดำ บ้านป่าผาก และบ้านกล้วย ยังต้องต่อสู้กับสิทธิในการหาอยู่หากินบนผืนแผ่นดินของบรรพบุรุษอีกด้วย

 

 

 

 

ในประวัติศาสตร์ของชุมชน ชาวกะเหรี่ยงโผล่วต้องย้ายที่ทำกินจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการถูกประกาศพื้นที่ป่าสงวนหรือพื้นที่อุทยานทับที่ทำกิน การสัมปทานป่าไม้ หรือกระทั่งถูกจัดสรรพื้นที่ให้กลายเป็นแปลงเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งล้วนทำให้คนกะเหรี่ยงโผล่วลุ่มแม่น้ำลำตะเพลินกลายเป็น ผู้บุกรุก บนผืนดินที่พวกเขาเฝ้ารักษามาหลายชั่วอายุคน

 

 

 

 

ขั้นตอนสำคัญที่ขาดหายไป เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้แม่ลัดดาตัดสินใจทำหนังสือภาพเล่มนี้ขึ้น เพื่อให้ลายเส้นนี้เป็นองค์ความรู้ส่งต่อไปถึงลูกหลานคนกะเหรี่ยงโผล่วในวันหน้า ด้วยว่าภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนแบบสมบูรณ์ทุกขั้นตอนแบบนี้ อาจไม่มีให้เห็นอีกต่อไปแล้ว

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 2 ไน่ลองไมละ : ทำสัญลักษณ์จับจองพื้นที่

 

 

 

 

การเสี่ยงทายเป็นขั้นตอนชี้ชะตาทำกินไปอีก 1 ปีข้างหน้า จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก หากผลการเสี่ยงทายออกมาไม่ดี วันถัดๆ ไปคนกะเหรี่ยงโผล่วก็จะต้องหาโอกาสออกไปเสี่ยงทายที่อื่นใหม่ แต่หากผลการเสี่ยงทายออกมาดี แสดงว่าเจ้าป่าเจ้าเขาอนุญาตให้ใช้พื้นที่นั้นทำกินได้ ชาวบ้านก็จะใช้ไม้ไผ่ทำสัญลักษณ์กากบาทปักไว้เพื่อจองพื้นที่ นัยหนึ่งก็เพื่อแสดงความเคารพ ความขอบคุณ ต่อเจ้าป่าเจ้าเขาที่อนุญาตให้ทำกิน และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์ไว้ว่าพื้นที่นี้มีการจับจองแล้วในปีนี้ ชาวบ้านคนอื่นหากมาเห็นเครื่องหมายนี้ก็จะได้ไม่มาเสี่ยงทายทับซ้อนกัน

 

 

 

 

ไร่หมุนเวียน กะเหรี่ยงโผล่ว ห้วยหินดำ

 

 

 

ขั้นตอนที่ 3 พิค่าวบื๊อ : ฟันไร่

 

 

 

 

ไม่เกินต้นเดือนมีนาคม ชาวบ้านก็จะเริ่มแผ้วถางต้นไม้ในพื้นที่ที่เสี่ยงทายไว้ โดยมีหลักสำคัญคือจะไม่ตัดต้นไม้จนเหี้ยน ไม่ขุดรากถอนโคน เพราะรากต้นไม้มีหน้าที่ยึดหน้าดินให้แข็งแรง และที่สำคัญคือการตัดต้นไม้ที่เผื่อระยะลำต้นไว้แบบนี้จะทำให้ต้นไม้แตกกิ่งก้านขึ้นใหม่ได้ในเวลาไม่นาน

 

 

 

 

หลังจากฟันไร่แล้ว พื้นที่จะถูกพักไว้เพื่อให้ไม้แห้ง โดยเฉพาะไม้ไผ่ซึ่งหากมีความชื้นมากจะเผาไหม้ได้ไม่ดี

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 4 ซาวเคอะ : จุดไร่
ขั้นตอนที่ 5 วะมี้ : ทำแนวกันไฟ

 

 

 

 

เมื่อเข้าสู่เดือนมีนาคม ชาวบ้านก็จะเริ่มเตรียมหน้าดินให้พร้อมกับการเพาะปลูก คนกะเหรี่ยงโผล่วไม่เตรียมหน้าดินด้วยการไถหรือการขุดพลิกจนเตียน ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่จะเตรียมหน้าดินด้วยการ “จุดไร่” หรือการเผาซึ่งเป็นกระบวนการดั้งเดิมที่อยู่คู่กับการทำไร่หมุนเวียนมาแต่ไหนแต่ไร การจุดไร่จะได้ขึ้เถ้าซึ่งเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติที่ทำให้ดินสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีอื่นๆ เลย

 

 

 

 

ข้อสำคัญในการจุดไร่คือจะต้องนัดแนะกันในชุมชนเพื่อร่วมแรงกัน มีการทำแนวกันไฟ มีการควบคุมเวลา และต้องคอยจับตาดูทิศทางของลมและไฟอยู่ตลอดเวลาจนกว่าไฟจะดับ เพื่อไม่ให้ไฟลามเข้าสู่พื้นที่ที่ไม่ต้องการเผา การจุดไร่เป็นภูมิปัญญาที่ต้องทำด้วยความชำนาญและอยู่ในการควบคุมอย่างเคร่งครัดเพราะมีผลต่อความปลอดภัยของตัวคนจุดเองด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

ภาพการจุดไร่นี้เองที่มักเป็นประเด็นร้อนอยู่เสมอเมื่อมีภารเผยแพร่ภาพออกไปสู่สายตาคนเมือง ขั้นตอนสั้นๆ ที่กินเวลาไม่ถึง 1 วันถูกขยายความจนกลายเป็นวาทกรรม “กะเหรี่ยงเผาป่า” มาหลายสิบปีจนถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 6 หงู๊ค่าว : รื้อไร่

 

 

 

 

ไร่ที่เผาแล้วจะถูกพักไว้ราว 1 เดือนเพื่อให้ฟื้นตัว ในระยะนี้ต้นไม้ที่ถูกฟันไปจะเริ่มแตกกอ แตกกิ่งก้านใหม่มากขั้น วัชพืชเล็กๆ เริ่มเติบโตเพราะได้แร่ธาตุจากการเผา

 

 

 

 

 

 

 

ชาวบ้านจะจัดการกับเศษไม้ที่เหลือจากการจุดไร่อีกครั้ง เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกในฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 7 เพอร่าวลองบื๊อคลิ่งคู๊ : พิธีหยอดข้าว

 

 

 

 

ไม่เกินเดือนกรกฎาคม ชาวบ้านก็จะเริ่มหาฤกษ์ทำพิธีหยอดข้าว โดยนำเมล็ดพันธ์ุและอุปกรณ์เกษตรที่ใช้ในการหยอดข้าวมาประพรมด้วยน้ำขมิ้น ก่อนจุดธูปเทียนอธิษฐานขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาและแม่ธรณีช่วยบันดาลให้พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้อุดมสมบูรณ์

 

 

 

 

ในพิธีหยอดข้าว เจ้าของไร่จะต้องแทงหลุมและหยอดข้าวด้วยตัวเองก่อนจำนวน 7 หลุมเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มฤดูกาลอย่างเป็นทางการ

 

 

 

 

สายพันธุ์ข้าวที่คนกะเหรี่ยงโผล่วใช้ทำไร่หมุนเวียนไม่ได้ทำแค่สายพันธุ์เดียว อย่างแม่ลัดดาเองเมื่อทำไร่หมุนเวียนก็จะหยอดข้าวอย่างน้อย 5 สายพันธุ์ แยกโซนกันไว้ชัดเจนเพื่อให้เก็บเกี่ยวและคัดเลือกเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกต่อได้สะดวก สายพันธุ์ข้าวทั้งหมดก็เป็นข้าวท้องถิ่นที่เหมาะกับการปลูกบนไร่ ไม่ใช่ข้าวนาทั่วไป ข้าวจากไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงโผล่วจึงมีรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น และสีที่หลากหลายต่างกันไป

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 8 ถุ่งบื๊อ : ลงแขกหยอดข้าว

 

 

 

 

เมื่อพิธีหยอดข้าวสำเร็จไปด้วยดี จึงจะเป็นขั้นตอนการลงแขกหยอดข้าวร่วมกันของคนในชุมชน ภาพวาดของแม่ลัดดาทำให้เห็นว่า การทำไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงโผล่วไม่ใช่แค่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นกิจกรรมในระดับครอบครัวและชุมชน หากคนทำไร่หมุนเวียนลดลง ไร่หมุนเวียนที่เหลืออยู่ก็จะทำได้ยากขึ้นเพราะขาดแรงงานและความร่วมมือไปด้วย

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 9 พิน๊องบื๊อ : ถางหญ้าในไร่ข้าว

 

 

 

 

หลังจากหยอดข้าวไร่ไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม ต้นข้าวที่หยอดไว้ก็จะเติบโต คนทำไร่ข้าวจะต้องคอยดูแลด้วยการถางหญ้าในไร่ข้าวออกเพื่อให้ข้าวเติบโตได้เต็มที่ 

 

 

 

 

 

 

 

ระหว่างนี้พืชพรรณต่างๆ ในไร่หมุนเวียนก็จะทยอยติดดอกออกผลให้ได้กิน ไม่ว่าจะเป็นพริกกะเหรี่ยงเม็ดจิ๋วรถเผ็ดจี๊ด ดอกง๊องคุ๊ยหรือดอกขี้อ้นกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่ขาดไม่ได้ในสำรับกะเหรี่ยงโผล่วลุ่มแม่น้ำลำตะเพิน แตงเปรี้ยว แตงท้องถิ่นที่รสเปรี้ยวสดชื่นเป็นเอกลักษณ์ มะเขือส้มลูกเล็กรสเปรี้ยวนำใช้ปรุงอะไรก็อร่อย พืชพรรณเหล่านี้ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ ไม่มีขายในตลาด คนกะเหรี่ยงจึงต้องปลูก เก็บเกี่ยว และรักษาเมล็ดพันธุ์เองทั้งหมด

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : การปลูกข้าวไร่ควบคู่ไปกับการปลูกพืชพันธุ์อื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 10 ก่อบื๊อ : เกี่ยวข้าว

 

 

 

 

พอเข้าเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ข้าวก็จะออกรวงจนเก็บเกี่ยวผลผลิตประจำปีได้แล้ว นับเป็นเวลาดีของปีที่ชาวบ้านจะมาลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกัน 

 

 

 

 

 

 

 

การเกี่ยวข้าวของคนกะเหรี่ยงโผล่วมีขั้นตอนยิบย่อยออกไปอีก เช่นว่า ข้าว 7 กอแรก เจ้าของไร่จะต้องลงมือเกี่ยวเองเพื่อนำมาไหว้แม่โพสพ ระหว่างเกี่ยวข้าว 7 กอแรกก็จะมีการเรียกขวัญข้าวด้วย 3 ครั้ง และก่อนที่จะเกี่ยวข้าวทั้งไร่ ก็จะมีการคัดเลือกพันธุ์ข้าว โดยคัดเอาเฉพาะรวงที่แข็งแรง ข้าวเต็มเมล็ด ให้ผลผลิตมาก แยกต่างหากไว้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกในปีต่อไป

 

 

 

 

แม่ลัดดาบอกว่า หากไร่ของใครให้ผลผลิตดีเป็นพิเศษ คนในชุมชนก็สามารถขอ “ยืม” เมล็ดพันธุ์ไว้หยอดในปีหน้าได้ด้วย พอผลผลิตของปีหน้าออก ก็จะมีธรรมเนียมในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีลักษณะดีมา “คืน” เจ้าของวนเวียนไปเป็นวัฎจักร เช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ในไร่หมุนเวียน

 

 

 

 

คนกะเหรี่ยงโผล่วมีความเชื่อมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษว่าการซื้อขายเมล็ดพันธุ์จะทำให้ทำมาหากินไม่ขึ้น จะต้องแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกันเท่านั้น ส่งผลให้ชุมชนยังสามารถรักษาความหลากหลายของพันธุ์พื้ชไว้ได้เป็นอย่างดี โดยไม่มีใครคิดจะกอดเก็บความสมบูรณ์หลากหลายไว้ในไร่ของตนเพียงลำพัง 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : เมล็ดพันธุ์ตัวอย่างที่แม่ลัดดา “ยืม” จากไร่ของเพื่อนบ้านมาเพื่อใช้ทำวิจัยเรื่องความหลากหลายในไร่หมุนเวียนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 11 ต่องบื๊อ : หอบข้าว

 

 

 

 

การเกี่ยวข้าวไร่ต้องเกี่ยวด้วยแรงงานคนทั้งหมด ไม่สามารถใช้เครื่องจักรอย่างรถเกี่ยวมาช่วยทุ่นแรงได้ เพราะไร่หมุนเวียนของคนกะเหรี่ยงมักอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและอยู่กระจัดกระจายกันไป จึงไม่มีรถเกี่ยวข้าวที่ไหนเข้าถึงพื้นที่ได้ เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วชาวบ้านก็จะหอบข้าวไว้เป็นกองๆ รวมกัน จึงเป็นที่มาของการใช้คำว่า “หอบข้าว” นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 12 เพ่าบื๊อ : ฟาดข้าว

 

 

 

 

ข้าวที่หอบรวมกันไว้จะถูกนำมาฟาดเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง ได้เป็นข้าวเปลือกเตรียมพร้อมไว้สำหรับขั้นตอนต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 13 หวิบื๊อ : หวีข้าว

 

 

 

 

การหวีข้าวหรือวีข้าวคือการคัดเมล็ดกข้าวที่ลีบออก และไล่ความชื้นออกเพื่อให้ข้าวแห้งสนิท เก็บไว้กินได้นานตลอดปีโดยไม่ขึ้นรา 

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 14 เต๊อวบื๊อเดอุ๊ยบื๊อ : ตวงข้าวและโงข้าว

 

 

 

 

ข้าวที่หวีเรียบร้อยแล้วจะถูกตวงและโงกลับมาที่บ้าน คำว่าโงในที่นี้หมายถึงตะกร้าคาดหัว อุปกรณ์คู่กายยามไปไร่ของคนกะเหรี่ยงโผล่วที่เมื่อยกขึ้นคาดหัวแล้ว สองมือก็ยังคงว่างไว้หยิบจับและยกของต่างๆ ได้อย่างสะดวก ฉันลองยกโงขึ้นคาดหัวแล้วก็พบว่าข้อดีของโงคือแบกของหนักแค่ไหนก็ไม่ปวดไหล่ ทำให้แบกของหนักได้นานแม้ต้องเดินทางไกลๆ แต่ข้อเสียก็คือต้องอาศัยความชำนาญในการทรงตัว และต้องมีกล้ามเนื้อคอไปจนถึงกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวที่แข็งแรงพอควร ไม่อย่างนั้นก็จะปวดหลังหรือหงายท้องเอาได้ง่ายๆ

 

 

 

 

ถ้าสังเกตในรูป แม่ลัดดาจะวาดดอกไม้เป็นกลุ่มๆ แทรกไว้ระหว่างกอข้าวด้วย ดอกที่เห็นคือ “โพ่โวโพ่บ่อง” หรือดอกหงอนไก่ ซึ่งจะถูกผสมผสมเมล็ดพันธุ์รวมไปกับเมล็ดพันธุ์ข้าวตั้งแต่ตอนเพาะปลูก สำหรับชาวกะเหรี่ยงโผล่ว โพ่โวโพ่บ่องคือสัญลักษณ์ของไร่หมุนเวียนที่จะขาดไปไม่ได้ ชนิดที่ว่าต้องมีการเก็บเมล็ดพันธุ์โพ่โวโพ่บ่องไว้ใช้ในปีเพาะปลูกต่อๆ ไป ไม่ต่างกับเมล็ดพันธุ์ข้าวและพืชอื่นๆ

 

 

 

 

ภาพโพ่โวโพ่บองในไร่หมุนเวียนของแม่ลัดดาจึงคล้ายจะบอกเราว่า ไร่หมุนเวียนไม่ได้เติมเต็มชีวิตคนกะเหรี่ยงโผล่วแค่เรื่องปากท้องเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับมิติของความเชื่อและความรื่นรมย์ในชีวิตด้วยเหมือนกัน

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 15 อุ๊ยบื๊อถ๊องพ่องเผ่อ : โงข้าวขึ้นยุ้ง

 

 

 

 

การโงข้าวขึ้นยุ้งเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของการทำไร่หมุนเวียน สำหรับชาวกะเหรี่ยงโผล่วแล้ว การโงข้าวขึ้นยุ้งไม่ใช่แค่การเก็บข้าว แต่เป็นพิธีหนึ่งในการแสดงกตัญญุตาต่อแม่โพสพ ต่อเจ้าป่าเจ้าเขา ซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมชาติที่ให้อาหารและให้ชีวิตแก่ชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วมาเสมอ

 

 

 

 

ข้าวส่วนหนึ่งจาก 7 กอแรกที่เจ้าของไร่เป็นผู้เก็บเกี่ยว จะถูกนำมามัดรวมช่อกับผลผลิตอื่นๆ ในไร่ เพื่อทำเป็นเครื่องสักการะแม่โพสพที่เรียกว่า “พิบิ๊โหย่ว” ในช่อพิบิ๊โหย่วจะประกอบไปด้วยพืชต่างๆ เช่น ดอกฝ้าย ดอกง๊องคุ๊ย พริก และโพ่โวโพ่บ่อง

 

 

 

 

ช่อพิบิ๊โหย่วที่ทำขึ้นในวันแรกของการเกี่ยวข้าว จะถูกวางไว้ในไร่ตลอดระยะเวลาการเก็บเกี่ยว และจะถูกเก็บมาพร้อมการโงข้าวครั้งสุดท้าย

 

 

 

 

“ในการโงข้าวขึ้นยุ้งเที่ยวสุดท้าย เราจะเอาแม่โพสพไปเสียบลงในยุ้ง แล้วเราจะเรียกขวัญข้าว 3 ครั้ง เป็นการเรียกขวัญแม่โพสพให้เข้ามาอยู่ในยุ้งข้าว ความเชื่อของบรรพบุรุษเราบอกว่า ถ้าแม่โพสพมาอยู่ในยุ้งข้าว จะทำให้ข้าวพอกิน ข้าวไม่หมด ซึ่งก็คือการรำลึกบุญคุณแล้วก็ขอบคุณที่แม่โพสพให้เราได้ข้าวมากิน” แม่ลัดดาเล่าพลางชี้ใช้ดูช่อพิบิ๊โหย่วที่วาดไว้ในยุ้ง

 

 

 

 

แม้กับปัจจุบันที่ยุ้งฉางแบบดั้งเดิมหายไปจากชุมชน ลดรูปมาเป็นการเก็บข้าวในกระสอบ ถังพลาสติก และปี๊บแล้ว ขั้นตอนการโงข้าวขึ้นยุ้งก็ยังคงมีพิธีระลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพในลักษณะนี้อยู่เหมือนเดิม

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 16 ยัยอองบี่ซ่องคู๊ : ตำข้าวใหม่

 

 

 

 

ข้าวใหม่ประจำปีจะเริ่มตำในเดือนธันวาคมเป็นต้นไป การตำข้าวคือขั้นตอนการเอาเปลือกข้าวออกโดยใช้ครกกระเดื่องเป็นเครื่องมือหลัก แม่ลัดดาเล่าว่า คนกะเหรี่ยงโผล่วไม่มีโรงสี ไม่มีเครื่องสีข้าว เมื่อจะตำข้าวแต่ละครั้งก็ต้องใช้แรงมาก ทำให้เกิดการรวมตัวกันทั้งชายหญิง และมักมีการร้องรำทำเพลงไปตามจังหวะเหยียบครกกระเดื่อง หนุ่มสาวในชุมชนจึงมีโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและตกหลุมรักกันด้วยวิธีชีวิตแบบนี้อยู่เนืองๆ

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 17 อองลองบื๊อซ่องคู๊ : กินข้าวใหม่

 

 

 

 

เช่นเดียวกันกับชุมชนเกษตรกรรมดั้งเดิมในพื้นที่อื่นๆ เมื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นสุดลงก็จะต้องมีพิธีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลอง ในช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม คนกะเหรี่ยงโผล่วมีพิธีกินข้าวใหม่ที่น่ารัก เช่นว่า การกินข้าวใหม่ครั้งแรกของปี จะต้องมีการเชิญเพื่อนบ้านในชุมชนซึ่งเคยได้ร่วมลงแขกกันมากินข้าวร่วมกัน มีการปรุงอาหารมื้อใหญ่จากข้าวใหม่และผลิตผลในไร่หมุนเวียน ที่สำคัญคือจะต้องมีพิธี “พุ้งหล่องซู๊” ซึ่งเป็นการปั้นข้าวใหม่ในฤดูมาวางไว้ให้กับอุปกรณ์ที่ใช้ทำไร่หมุนเวียนและหุงหาอาหาร ไม่ว่าจะเป็นจอบ เสียม หม้อ กระทะ ฯลฯ ได้ร่วม “กิน” ข้าวใหม่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

 

 

 

 

 

 

 

ขั้นตอนที่ 18 มาบ่องชุพิ่งมี : ทำบุญแม่โพสพ

 

 

 

 

หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง ในเดือนกุมภาพันธ์ชาวบ้านทุกคนจะนำข้าวใหม่และผลผลิตในไร่หมุนเวียนมาร่วมกันทำบุญแม่โพสพร่วมกันตอนขึ้น 15 ค่ำ ที่บ้านเจ้าวัดหรือผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชน

 

 

 

 

การทำบุญแม่โพสพถือเป็นงานใหญ่ประจำปีที่จัดนานถึง 3 วัน 3 คืน คนในชุมชนจะแต่งตัวกันเต็มยศด้วยชุดกะเหรี่ยงโผล่วที่ย้อมและทอเอง มีการแสดง “รำตง” หรือ ที๊ลี๊เต๊อว ซึ่งเป็นการร่ายรำประกอบเพลงพื้นบ้าน ตกกลางคืนผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนก็จะล้อมวงเล่านิทานพื้นบ้านและตำนานดั้งเดิมของชุมชนให้เด็กๆ ฟังอย่างสนุกสนาน

 

 

 

 

การทำบุญแม่โพสพเป็นพิธีกรรมที่ชาวบ้านซึ่งทำไร่หมุนเวียนจะเข้าร่วมกันทุกครอบครัวโดยไม่มีเงื่อนไขด้านศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะการทำบุญแม่โพสพไม่ใช่พิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นพิธีกรรมทางจิตวิญญาณ และเป็นการแสดงความเคารพต่อแม่โพสพซึ่งเป็นตัวแทนของธรรมชาติที่มอบอาหารให้กับคนในชุมชนนั่นเอง

 

 

 

 

ในมุมมองของฉันการทำบุญแม่โพสพจึงไม่ใช่แค่พิธีกรรมทางศาสนา แต่เป็นพิธีกรรมทางจิตวิญญาณที่ยังคงเชื่อมโยงคนในชุมชนกะเหรี่ยงโผล่วไว้ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น และเป็นประตูที่ชุมชนเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามาสัมผัสความงดงามในวิถีไร่หมุนเวียนได้อีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

หรือกะเหรี่ยงจะต้องรับบทผู้ร้ายเผาป่าอยู่ร่ำไป?

 

 

 

 

หนังสือภาพทำมือ 18 หน้าของแม่ลัดดา มีเพียง 1 หน้าเท่านั้นที่พูดถึงการใช้ไฟจัดการพื้นที่ กระนั้นการผลิตซ้ำภาพคนกะเหรี่ยงเผาป่าในสังคมไทยก็ยังทำหน้าที่ได้ดีจนหลายคนไม่เชื่อว่าการทำไร่หมุนเวียนเป็นวิถีวนเกษตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเกษตรแบบอื่นๆ

 

 

 

 

ดั้งเดิมแล้วการทำไร่หมุนเวียนทั้ง 18 ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นตลอดทั้งปี คือเมื่อเข้าสู่ปีใหม่ ชาวกะเหรี่ยงโผล่วจะเริ่มเสี่ยงทายขอที่ดินใหม่ในการทำกินอีกครั้งควบคู่ไปกับช่วงกินข้าวใหม่และทำบุญแม่โพสพ พอเข้าสู่เดือนมีนาคมก็จะวนกลับไปเป็นฤดูแห่งการฟันไร่ในพื้นที่ใหม่ต่อไป กิจกรรมเพาะปลูกแบบไร่หมุนเวียนจึงอยู่ในปฏิทินชีวิตของคนกะเหรี่ยงทุกเดือนไม่มีเว้นวรรค จะเรียกว่าในอดีตที่ยังทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิม คนกะเหรี่ยงโผล่วแทบจะใช้ชีวิตไปตามฤดูกาลของไร่หมุนเวียนเสียด้วยซ้ำไป

 

 

 

 

ไร่เดิมที่เคยทำก็จะถูกพักไว้เป็น “ไร่ซาก” ให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเอง แม่ลัดดาเล่าว่า ไร่ซากที่พักไว้ช่วง 1-2 ปีแรก จะมีลูกหญ้า หรือมีวัชพืชอยู่เยอะ จะวนกลับมาทำไร่เลยไม่ได้ แต่ถ้าพักไว้ 4-10 ปี ไร่ซากจะเริ่มมีไม้ยืนต้นขึ้นสูง ทำให้วัชพืชบนพื้นดินมีน้อยลง เมื่อไปจุดไร่หรือรื้อไร่ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

 

 

 

 

คนกะเหรี่ยงโผล่วและชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ทำไร่หมุนเวียนใช้ธรรมชาติจัดการกับธรรมชาติ คือ เมื่อมีหญ้ามาก ก็ปล่อยพื้นที่ไว้ให้ต้นไม้ขึ้น พอมีต้นไม้มาช่วยแย่งอาหารและบดบังแสงแดด ให้หญ้าเหลือน้อยลง จึงไม่จำเป็นต้องใช้หญ้าฆ่าหญ้าหรือสารเคมีอื่นๆ ในการเพาะปลูกเลย ทว่าในสายตาของคนที่ไม่เข้าใจหลักการของไร่หมุนเวียน การตัดต้นไม้ที่ยืนต้นสูงมานานหลายปี รวมไปถึงการจุดไร่ ทำให้คนกะเหรี่ยงถูกมองว่าเป็น “คนลักลอบตัดไม้” และ “คนเผาป่า” แม้ว่าป่าที่เห็นอยู่นั้นจะเป็นบ้าน เป็นแหล่งอาหาร และเป็นความมั่นคงในชีวิตของคนกะเหรี่ยงเองก็ตาม

 

 

 

 

มีงานวิจัยโดยประยงค์ ดอกลำไย และคณะ (2553)[2] ที่พบว่า การทำไร่หมุนเวียนที่มีระยะพักฟื้น 10 ปี จะสะสมคาร์บอนได้มาถึง 17,348 ตัน แต่การเผาไร่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนแค่ 480 ตันเท่านั้น ตัวเลขนี้อาจตีความได้ว่า​ แม้จะมีการเผาเกิดขึ้นในกระบวนการ แต่การทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมก็ยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการทำไร่ถาวร แม้ว่าระยะพักฟื้นจะไม่ถึง 10 ปีก็ตาม

 

 

 

 

ในโลกทัศน์แบบคนเมือง ไฟและซากตอไม้ที่เห็นได้ด้วยตาชวนให้นึกถึงการทำลายล้างมากกว่าการเริ่มใหม่อยู่วันยังค่ำ มันจึงบาดตาบาดใจยิ่งกว่าเนื้อสัตว์ในตู้แช่ และน้ำตาลทรายบนชั้นวาง แม้ในขณะเดียวกันนั้นเรากำลังบริโภคเนื้อสัตว์อุตสาหกรรมซึ่งโตวันโตคืนด้วยหัวอาหารที่ผลิตมาจากพืชเชิงเดี่ยวอายุสั้น และยังบริโภคน้ำตาลทรายขาวซึ่งเป็นวงจรหนึ่งของการเผาอ้อย(อย่างไม่เป็นทางการ)อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

 

 

 

ตราบใดที่วาทะกรรมกะเหรี่ยงตัดไม้เผาป่ายังคงอยู่ พี่น้องกะเหรี่ยง ปาเกอะญอ และพี่น้องชาติพันธุ์ผู้ถูกแปะป้ายให้เป็นผู้ร้ายของโลกสีเขียวก็ยังคงต้องต่อสู้และสื่อสารเรื่องไร่หมุนเวียนอยู่ร่ำไป แม่ลัดดาอาจต้องเขียนหนังสือภาพอีก 10 เวอร์ชั่น และในขณะที่ยังต้องต่อสู้กับการกดทับในมิติอื่นๆ ร่วมด้วย

 

 

 

 

เมื่อป่าของเราไม่เท่ากัน จุดกึ่งกลางของรัฐและคนกะเหรี่ยงอยู่ตรงไหน?

 

 

 

 

แม่ลัดดาเล่าว่า ไร่หมุนเวียนในความทรงจำวัยเด็ก ตั้งแต่รุ่นปู่ยาตายายมาจนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ของแม่ลัดดา ไร่จะถูกพักไว้ 7-10 ปีจนเป็น “ป่าแก่” เพื่อให้ฟื้นตัวเต็มที่จึงจะสามารถกลับมาเสี่ยงทายเพื่อทำไร่ในที่เดิมได้อีกครั้ง แต่หลังจากที่มีการสัมปทานป่าไม้ รวมถึงการประกาศพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานทับพื้นที่ที่ชุมชนใช้ทำกิน การพักไร่ตามวงจรเดิมก็เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป 

 

 

 

 

 

 

 

“เราจะเห็นว่า แม่ลัดดาพยายามอธิบายให้เห็นคำว่าพักฟื้นและหมุนเวียน สมมติถ้าเราตรงนี้เราทำ เราทำแล้วครบ 2 ปีแล้ว เราก็พักฟื้น อาจจะ 3 ปี 4 ปี 5 ปี แล้วแต่ว่าเราจะเสี่ยงทายได้ที่ไหน”

 

 

 

 

ในหน้าหนึ่งของหนังสือภาพทำมือเล่มนี้ แม่ลัดดาพยายามสื่อสารคำว่า “หมุนเวียน” ออกมาให้เป็นรูปธรรมที่สุด เพื่อส่งเสียงไปยังอำนาจรัฐและคนในสังคมว่าการเปลี่ยนพื้นที่ทำกินทุกๆ 1-2 ปีไม่ใช่การทำไร่เลื่อนลอย ไม่ใช่การแผ้วถางป่าเป็นเขาหัวโล้น และไม่ใช่การปรารถนาจะเป็นเจ้าของที่ดินทุกตารางนิ้ว แต่เป็นภูมิปัญญาในการจัดการพื้นที่ทำกินให้สอดคล้องไปกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนที่สุด

 

 

 

 

ในทางกลับกัน แนวคิดและการมองที่ดินแบบรัฐชาติกลับไม่เอื้อให้คนสามารถหมุนเวียนพื้นที่กสิกรรมอย่างนี้ได้ เพราะรัฐชาติมองว่า คนจะต้อง “ครอบครอง” หรือ “เป็นเจ้าของ” ที่ดินผืนใดผืนหนึ่งไว้เป็นสมบัติส่วนตน เมื่อจะเปลี่ยนที่ทำกินก็ต้องเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เหนือผืนดินนั้นด้วยการซื้อขาย การเช่า หรือการสัมปทาน การเสี่ยงทายและจับจองพื้นที่ทำกินจึงเทียบเท่ากับการบุกรุกพื้นที่ การตัดไร่จึงกลายเป็นการตัดไม้ทำลายป่า และการจุดไร่จึงเป็นการเผาป่าที่เป็นหนทางไปสู่ความล่มสลายของป่าไม้อันอุดม หรือกระทั่งถูกตีความให้เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้เสียด้วยซ้ำไป

 

 

 

 

“คนกะเหรี่ยงเราทำไร่ก็มีแต่จอบ มีแต่เสียม มีแต่สองมือของเราถึงฟันไร่ถางหญ้า จะทำให้เกิดภูเขาหัวโล้นจนป่าหายได้ยังไง คนกะเหรี่ยงเราไม่ทำให้ป่าหาย เพราะป่าคือชีวิต ผืนดินคือจิตวิญญาณ ปัจจัยสี่เราได้จากปากทั้งหมด เรามีแม่ธรณีอยู่กับดิน มีแม่คงคาอยู่กับลำน้ำ มีแม่โพสพอยู่กับไร่ เราจึงไม่ทำร้ายแม่ของเรา

“ถ้ากะเหรี่ยงทำลายป่าจริง ห้วยหินดำจะมีป่าเหลือมาให้ประกาศพื้นที่อุทยานทับไหมละ”

 

 

 

 

คำของแม่ลัดดาทำให้เราต้องนั่งทบทวนอยู่พักหนึ่งเลยทีเดียว

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : ไร่ด้านหน้าคือไร่ที่เพิ่งผ่านการจุดเพื่อเตรียมหยอดข้าวในปีนี้ ส่วนไร่ด้านหลังที่เต็มไปด้วยต้นไม้ คือไร่ซากที่พักมาแล้วหลายปีเพื่อให้ดินได้ฟื้นตัวตามหลักการทำไร่หมุนเวียน

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : ชั้นไร่หมุนเวียนที่มีอายุต่างกัน

 

 

 

 

[3]ในปีพ.ศ.2505-2506 กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 2 ครั้ง รวมเป็นพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่หาอยู่หากินของคนกะเหรี่ยงจำนวนมาก แม่ลัดดาเล่าว่า การประกาศพื้นที่ป่าสงวนใช้วิธีมองลงมาจากฟ้า (ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ) จึงมองว่าพื้นที่ทำกินที่สมบูรณ์และเขียวขจีของชาวบ้านเป็น “ป่า” ที่ต้อง “สงวน” ไว้ไม่ให้มีมนุษย์อยู่ในนั้น

 

 

 

 

ปี พ.ศ. 2516-2532 รัฐเปิดให้เอกชนเข้ามาสัมปทานไม้ในพื้นที่กว่า 180,000 ไร่ ต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ถูกตัด ทำให้น้ำแห้ง ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศลดลง แม้ชาวบ้านจะยังทำกินบนพื้นที่ได้ แต่ผลจากการสัมปทานครั้งนั้นก็ส่งผลต่อวิถีทำกินของชุมชนกะเหรี่ยงหลายหมู่บ้าน 

 

 

 

 

เมื่อหมดสัญญาสัมปทาน ในปีพ.ศ.2532 พื้นที่ทรุดโทรมลงมาก ชาวบ้านได้พยายามร้องขอกับรัฐเพื่อกลับเข้าไปทำกินในพื้นที่เดิม แต่ผู้รับเหมาสัมปทานก็ได้กว้านซื้อที่ดินเดิมเพื่อปลูก “สวนป่า” ทำให้ชาวบ้านชุมชนลุ่มน้ำลำตะเพินต้องออกจากพื้นที่และไม่ได้กลับขึ้นไปใช้ประโยชน์บริเวณนั้นอีกเลยจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าจะเป็นที่ที่เคยได้ใช้หากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษก็ตาม

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : ทางรถบนพื้นที่ “ปางช้าง” พื้นที่ส่วนหนึ่งของห้วยหินดำ ซึ่งเป็นร่องรอยของการทำสัมปทานไม้ในอดีต

 

 

 

 

ปี พ.ศ.2537-2540 กรมปศุสัตว์ใช้พื้นที่กว่า 1,290 ไร่สร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี และมีการใช้ที่อีกกว่า 350 ไร่ไปกับการสร้างอ่างเก็บน้ำองค์พระ ชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพินหลายครัวเรือนต้องออกจากพื้นที่โดยไม่ได้รับการชดเชย

 

 

 

 

ปี พ.ศ.2541 มีการประการพื้นที่อุทยานแห่งชาติเกือบ 2 แสนไร่ ทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพินจำนวนมาก การประกาศครั้งนี้ทำให้พี่น้องกะเหรี่ยง 3 หมู่บ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่หาอยู่หากินดั้งเดิมได้แม้กระทั่งการหาหน่อไม้หรือเก็บเห็ด ชาวบ้านจึงเริ่มต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการทำกินโดยร้องเรียนไปยังศาลปกครองในปี พ.ศ.2542 แต่กระนั้นน้ำเสียงของชาวบ้านก็ยังดังไม่พอจนคนในชุมชนเริ่มโดนจับในข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานฯ ขณะที่กำลังหยอดข้าวไร่[4] แถมยังถูกฟ้องร้องข้อหาทำให้โลกร้อนพ่วงด้วย แม้ภายหลังจะมีคำสั่งยกฟ้อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถูกจับกุมและฟ้องร้องด้วยข้อหาเข้าใจยากเหล่านั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้สังคมมองชาวบ้านเป็น “ผู้บุกรุก” และบีบให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของตัวเอง

 

 

 

 

ล่าสุด ในปี พ.ศ.2565 ก็ได้มีการให้บริษัทเอกชนเช่าพื้นที่กว่า 1,800 ไร่เพื่อทำ “สวนป่า” ต่ออีก 30 ปี ในขณะที่ชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำละตำเพินยังคงฝังใจกับประสบการณ์ถูกกีดกันออกจากพื้นที่ที่บรรพบุรุษเคยได้หาอยู่หากินมานับครั้งไม่ถ้วน

 

 

 

 

ประสบการณ์นี้ทำให้หลายคนถอดใจไปทำเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่ หรือกระทั่งออกไปทำงานรับจ้างกินเงินเดือน แต่สำหรับแม่ลัดดาและชาวบ้านห้วยหินดำอีกหลายคน การถูกกดทับกลับเป็นชนวนให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : ต้นไม้หลายต้นบนพื้นที่ปางช้าง เป็นหลักฐานว่าในอดีตคนกะเหรี่ยงโผล่วบ้านห้วยหินดำเคยใช้พื้นที่นี้ทำไร่หมุนเวียนมาก่อน ภายหลังเมื่อมีการประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนกับพื้นที่ทำกิน ชาวบ้านก็ไม่สามารถขึ้นมาเสี่ยงทายขอใช้พื้นที่บริเวณนี้ทำกินได้อีก เช่นต้นมะม่วงต้นนี้ที่ไม่ใช่สายพันธุ์มะม่วงป่า แต่เป็นมะม่วงบ้านที่ชาวบ้านปลูกไว้นับสิบปีจนสูงนับสิบเมตร

 

 

 

 

แม่ลัดดาไม่ได้มองการพัฒนาเป็นศัตรู แต่มองว่าการต่อสู้มายาคติกะเหรี่ยงทำลายป่า และต่อสู้ถอนรากถอนโคนไปถึงกับอำนาจที่ไม่ยุติธรรม คือสิ่งที่จะทำให้ชุมชนได้กลับมามีความมั่นคงในการหาอยู่หากินอีกครั้ง

 

 

 

 

“ถ้าเรามีความมั่นคงทางที่ดินทำกิน เราก็จะสามารถรื้อฟื้นไร่หมุนเวียนได้อีกครั้ง ต้องกลับมาค่อยๆ ฟื้น เราจะมาทำทีเดียวให้มันได้ทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันถูกรุกไปเยอะมาก

 

 

 

 

“ตอนนี้แม่ลัดดา แม่ๆ ทุกคน ก็เลยต้องเดินมาเก็บทีละเม็ด สองเม็ด เก็บเมล็ดพันธุ์ที่มันตกหลายไป แล้วเราก็เอามาปลูก ปลูกตรงไหน ก็ปลูกตรงจิตสำนึกไง พอปลูกจิตสำนึกแล้ว ทีนี้เมล็ดพันธุ์ตรงนั้น ก็จะกลับมา ปี 1 ก็ 1 กำมือ 2 ปีก็ 2 กำมือ แล้วก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป”

 

 

 

 

การต่อสู้ของแม่ลัดดาและชาวกะเหรี่ยวโผล่วห้วยหินดำจึงเป็นไปทั้งในทางบู๊และบุ๋น ยิ่งเมื่อมีลูกหลานกะเหรี่ยงโผล่วรุ่นใหม่ที่กลับมาอยู่บ้าน บรรยากาศการต่อสู้ก็ยิ่งแช่มชื่นและมีพลังมากขึ้น มีทั้งการทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ นักวิชาการ เครือข่ายประชาชน เพื่อรวบรวมข้อมูลชุมชนเป็นหลักฐานในการเรียกร้องพื้นที่ทำกิน รวมถึงพื้นที่ทางกายภาพอื่นๆ อย่าง​พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่พิธีกรรม พื้นที่ใช้ประโยชน์ และพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งจำเป็นต่อการรักษาอัตลักษณะและวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงโผล่วให้อยู่คู่ลุ่มน้ำลำตะเพินสืบไป

 

 

 

 

นอกจากนั้น บ้านห้วยหินดำยังต่อสู้ด้วยการสื่อสารไปสู่คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ในหมู่บ้านในเป็นโฮมสเตย์ การพยายามทำหนังสือภาพแบบแม่ลัดดา และการสื่อสารด้วยข้าวไร่และเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นที่จะบอกกับทุกคนว่าวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนในรุ่มรวย หลากหลาย และอร่อยแค่ไหน

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นจากไร่หมุนเวียนที่เป็นเครื่องมือสื่อสารของแม่ลัดดาและชาวกะเหรี่ยงห้วยหินดำ

 

 

 

 

“แม่โตมาแม่ก็เห็นแบบที่ที่แม่ว่าเนี่ย” แม่ลัดดาว่าแล้วก็ชี้กลับไปที่หนังสือภาพคู่กาย

“ตอนที่เรายังเด็กอยู่ เราก็แม่จะใช้ใช่ไหม แม่ของแม่ลัดดาใช้ให้แม่ลัดดาไปหุงข้าว ทอผ้า หาฟืน ตำข้าว องค์ประกอบทุกอย่างที่แม่ใช้นั่นคือเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำมาหากินในครอบครัว พอวันนี้ที่แม่ลัดดาเป็นแม่คนนะ เราก็รักลูก รักคนในครอบครัว แม่ก็เลยเอาแต่สิ่งดีๆ ให้ลูกของแม่เหมือนกับที่แม่ลัดดาเคยได้รับมา ความปรารถนาของแม่ก็คืออยากให้ลูกเราได้สิ่งดีๆ เหมือนกัน อยากให้ลูกทำเป็น อยากให้ลูกรู้ อยากให้ลูกพึ่งตนเองได้ ดังนั้นยังไงแม่ก็จะต้องทำเรื่องนี้ไปอีกเรื่อยๆ นะ 

 

 

 

 

“จะทำจนกว่าไม่ไหว ถ้าแม่ลดาแก่มากๆ ขึ้นไปไร่ไม่ไหว ไปกรุงเทพไม่ไหว แม่ก็จะใช้ปากพูด จะทำจนกว่าแม่ไม่อยู่แล้วในโลกใบนี้ แล้วพอแม่ลดาไม่อยู่แล้วในโลกใบนี้ ก็ยังมีลูกหลานที่แม่ได้ปลูกฝังเรื่องนี้ไว้แล้ว แล้วก็เมล็ดพันธุ์ก็จะขยายออกไป มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ใช่ไหม”

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ : กิจกรรมที่ชุมชนจัดให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตกับธรรมชาติแบบชาวกะเหรี่ยงโผล่ว (ภาพจาก Hear & Found)

 

 

 

 

ทุกเรื่องเยิ่นยาวที่ฉันบันทึกไว้ในบทความนี้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน และเยิ่นยาวกว่านี้นับ 100 เท่าด้วยว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตและสิทธิของผู้คนจริงๆ ที่อยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันกับเราทุกคน ฉันจึงไม่คิดว่า เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ทุกคนจะได้คำตอบแบบชี้ผิดชี้ถูกเป็นรางวัลตอบแทน

 

 

 

 

แต่อย่างน้อยที่สุด ฉันหวังว่าเรื่องของแม่ลัดดาจะจุดประกายให้เรามองเห็นผู้คนที่อยู่ห่างออกไปจากเรา มีวิถีชีวิตไม่เหมือนเรา และถูกกดทับด้วยเงื่อนไขที่ต่างจากเราได้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่ว่าสุขทุกข์ของพวกเขาจะถูกรับฟังอย่างตั้งใจ และเพื่อให้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเขาไม่เงียบเชียบร้างไร้อย่างที่เคยเป็นมา

 

 

 

 

ป.ล. แม่ลัดดาฝากมาบอกทุกคนว่า หากต้องการเรียนรู้เรื่องวิถีกะเหรี่ยงโผล่วบ้านห้วยหินดำ และเรื่องการทำไร่หมุนเวียน สามารถติดต่อแม่ลัดดาได้โดยตรง โดยเฉพาะน้องๆ นักเรียนนักศึกษาและหน่วยงานด้านการศึกษาที่อยากเข้ามาทำวิจัย แม่ลัดดายินดีต้อนรับทุกคนค่ะ

 

 

 

 

สนใจทำกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชนกะเหรี่ยงโผล่ว ติดต่อ 0653706846 นกเอี้ยง
โฮมสเตย์บ้านห้วยหินดำ-บ้านแม่ลัดดา ติดต่อ 0807896427 หน่อย

 

 

 

 

คลิกอ่านเรื่อง “พื้นที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เพิ่มเติม

 

 

 

 

[1] ข้อมูลจาก ข้อมูลชุมชนบ้านห้วยหินดำ ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล
[2] ข้อมูลจาก หนังสือ Taj Auf Le Quu ต่า เอาะ เลอะ คึ Cooking in the Rotational Farming โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
[3] ข้อมูลจาก ประวัติศาสตร์ชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน เอกสารประกอบโครงการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน จังหวัดสุพรรณบุรี
[4] ข้อมูลจาก “โพ่โว โพ่บ่อง… ไม่ใช่แค่ดอกไม้สีสวยประดับท้องทุ่ง” แต่คือ ‘หญิงแกร่งแห่งลุ่มน้ำตะเพิน’ กระเหรี่ยงโผล่วผู้ทวงคืนผืนดินและความเป็นธรรม โดย สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

 

 

 

ขอขอบคุณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), Hear and Found และ ศูนย์การเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชุมชนบ้านห้วยหินดำ

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food, อาหารชาติพันธุ์

Recommended Articles

Food Story‘อะวอจก์อะจ็อม’ น้ำปลายำตำรับมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
‘อะวอจก์อะจ็อม’ น้ำปลายำตำรับมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

แจกสูตรน้ำปลายำแบบคนมอญราชบุรี ทำง่าย หอมกลิ่นสมุนไพร

 

Recommended Videos