เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

อินทนิล ขนมไทยชื่อไพเราะ นุ่มหนึบหากินยาก

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

ขนมไทยส่วนผสมน้อย ความอร่อยที่เกิดจากกระบวนการคิดปรุง

เสน่ห์หนึ่งของขนมไทย คือแม้มีส่วนผสมหลักเพียงสามอย่าง แป้ง กะทิ น้ำตาล ก็สามารถเนรมิตขนมให้ออกมาแตกต่างหลากสัมผัสทั้งรูป กลิ่น รส ที่ล้วนเป็นหัวใจของขนมไทย ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการทำ ปรับสัดส่วนหรือเพิ่มวัตถุดิบที่หาได้ตามท้องถิ่นนั้นเช่นขนมไทยหากินยากอย่าง ‘อินทนิล’ นามไพเราะ รูปงาม เลียนแบบทั้งชื่อและสีขนมจากไม้ยืนต้นผลัดใบชื่อต้นอินทนิล มีช่อดอกกลีบซ้อนสวยงามสีม่วงสด หรือม่วงอมชมพู ออกช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน

 

 

 

 

หากแต่ขนมอินทนิลในปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนจากสีม่วงน้ำดอกอัญชันเป็นสีเขียวจากใบเตย อาจเพราะใบเตยนั้นหาได้ง่ายกว่า และเพิ่มความหอมให้กับเนื้อขนม ชื่อของอินทนิลในคราบขนมกวนสีเขียวราดกะทิในปัจจุบันจึงไม่ได้บอกเล่าที่มาหรือมีความหมายกำกับตัวขนม เสน่ห์ที่เปลี่ยนไปพร้อมรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้ความสมบูรณ์ของอินทนิลหล่นหาย

 

 

 

 

 

 

 

 

ทำอินทนิลให้สมชื่อทั้งทีจึงควรเป็นสีม่วงจากอัญชันหากไม่เหนือบ่ากว่าแรงนัก และแม้จะใช้สีม่วงจากน้ำดอกอัญชันก็ไม่ทำให้กลิ่นหอมลดลง เพราะคนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับ ‘กลิ่น’ ใกล้ตัวตั้งแต่การอบร่ำหีบเสื้อผ้า (‘ร่ำ’ แปลว่ากลิ่นหอม) ทำน้ำอบ น้ำปรุง ไปจนถึงกลิ่นในอาหารและขนม ด้วยการอบร่ำควันเทียน อบร่ำดอกไม้ จึงไม่ละเลยขั้นตอนการอบร่ำควันเทียนเพื่อให้กลิ่นในขนมอินทนิล

 

 

 

 

ส่วนผสมหลักคือแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งแต่เดิมเป็นของมีราคาเพราะต้องนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ อินทนิลจึงเป็นขนมที่ทำเฉพาะในรั้วในวัง และแม้ตัวขนมที่นุ่มหนึบ ลื่นอร่อยกินกับน้ำกะทิสดอบร่ำหอมๆ แล้วจะเข้ากัน หากแต่ปัจจุบันส่วนผสมที่หาได้ง่าย ไม่ได้ราคาสูงเหมือนในอดีต เพียงสละเวลามาลองทำขนมไทยอินทนิลกินในครอบครัว แจกเพื่อนฝูงก็คุ้มค่านอกจากส่งความอร่อย ยังสานต่อตำรับขนมไทยอย่างอินทนิลต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

อินทนิล (ตำรับเก่า)

 

 

 

 

สำหรับ 4 คน
น้ำอุ่น 2  ถ้วย
ดอกอัญชัน 25  ดอก
น้ำมะนาว   ¼  ช้อนชา
แป้งมันสำปะหลัง 1 1/3  ถ้วย (100 กรัม)
น้ำตาลทราย  1½  ช้อนโต๊ะ
เนื้อมะพร้าวอ่อน   ½  ถ้วย
กลีบดอกอัญชันสำหรับตกแต่ง

 

 

 

 

อุปกรณ์ ผ้าขาวบาง กระทะทองเหลือง ไม้พาย เทียนอบและถ้วยสำหรับตั้งเทียนอบ

 

 

 

 

กะทิอบควันเทียน

 

 

 

 

หัวกะทิ   1  ถ้วย
น้ำ   ½  ถ้วย
น้ำตาลทราย  3  ช้อนโต๊ะ
เกลือสมุทร  ¼   ช้อนชา
ใบเตยมัดปม  2  ใบ

 

 

 

 

 

 

 

 

วิธีทำ

 

 

 

 

1. เทน้ำอุ่นลงในอ่างใส่ดอกอัญชัน ทิ้งไว้ให้สีในกลีบดอกอัญชันละลายออกมา พอน้ำหายร้อน ใช้มือค่อยๆขยำเบาๆให้กลีบดอกอัญชันหมดสี กรองน้ำดอกอัญชันผ่านผ้าขาวบางลงในอ่างผสม เตรียมไว้

 

 

 

 

2. ค่อยๆใส่น้ำมะนาวลงในน้ำอัญชันเล็กน้อยแค่พอให้เปลี่ยนเป็นสีม่วง เทน้ำอัญชันลงในอ่างแป้งมันสำปะหลัง คนให้เข้ากัน กรองส่วนผสมผ่านตะแกรงลงในกระทะทองเหลือง ใส่น้ำตาลทราย คนให้เข้ากัน ยกกระทะขึ้นตั้งบนไฟอ่อน ใช้ไม้พายกวนแป้งไปเรื่อยๆจนเเป้งสุกข้น ลักษณะแป้งจะใสและข้น เทใส่ชามพักไว้ให้เย็นสนิท

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3. ทำกะทิอบควันเทียนโดยใส่หัวกะทิ น้ำ น้ำตาล เกลือสมุทร และใบเตยมัดปมลงในหม้อ ยกขึ้นตั้งไฟกลาง คนจนน้ำตาลละลายดี รอให้กะทิเดือดอีกครั้ง ปิดไฟ พักไว้ให้หายร้อน เอาใบเตยออก

 

 

 

 

4. อบควันเทียนกะทิโดยจุดเทียนอบที่อยู่ในถ้วย รอให้ไส้เทียนเดือดพล่าน รีบเป่าให้เทียนดับ แล้ววางถ้วยเทียนอบลงในหม้อ ปิดฝาหม้อทันที อบควันเทียนทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที

 

 

 

 

5. จัดเสิร์ฟโดยตักกะทิใส่ถ้วย ใช้ช้อนเล็กจุ่มน้ำหมาดๆตักแป้งที่กวนไว้เป็นคำเล็กๆลงในน้ำกะทิ ตักเนื้อมะพร้าวอ่อนใส่ตามชอบ ตกแต่งด้วยกลีบดอกอัญชัน

Share this content

Contributor

Tags:

ขนมไทย, อาหารว่าง, อาหารโบราณ, อาหารไทยโบราณ

Recommended Articles

Food Storyขนมมันสำปะหลังวัตถุดิบน้อยอร่อยด้วยความเรียบง่าย
ขนมมันสำปะหลังวัตถุดิบน้อยอร่อยด้วยความเรียบง่าย

 

 

Recommended Videos