เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

เทศกาลกินเจ จ.ตรัง ความยิ่งใหญ่ที่เกิดจากแรงศรัทธา

Story by ชรินรัตน์ จริงจิตร

ประเพณี ความเชื่อ และเเรงศรัทธาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น

พูดถึงเทศกาลกินเจที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ จะต้องมีเทศกาลกินเจที่ จ.ตรัง ด้วยแน่ๆ เนื่องเพราะที่นี่มีคนไทยเชื้อสายจีนอยู่กันมาก เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจบรรยากาศจึงค่อนข้างครึกครื้นและอบอวลไปด้วยแรงศรัทธา โดยตั้งแต่ก่อนจะเริ่มเข้าสู่เทศกาลกินเจนั้น ตามโรงพระหรือศาลเจ้าต่างๆ จะมีประกาศติดตามแหล่งชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาด โรงน้ำชา ทั่วตัวเมืองตรัง เพื่อแจ้งให้รู้ถึงพิธีกรรมในแต่ละวันของโรงพระนั้นๆ ชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองก็จะเตรียมพร้อม ต้อนรับเทศกาลกินเจกันอย่างเป็นทางการ บางบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน เปลี่ยนภาชนะที่ใช้ใหม่ และเตรียมเสื้อผ้าสีขาวสำหรับใส่ในช่วงเทศกาล

 

ภาพจำในอดีต

 

ใกล้เทศกาลกินเจเมื่อไร แม่มักจะเล่าเรื่องนี้ซ้ำๆ จนพี่ชายฉันจำได้ขึ้นใจ ส่วนตัวฉันจำได้บ้างไม่ได้บ้างตามเรื่องตามราว คือเรื่องที่ก๋งของฉันจะไปอยู่โรงพระตั้งแต่ 2-3 วันก่อนถึงวันกินเจ แล้วก็อยู่โรงพระยาวจนกว่าจะกินเจจบ จึงจะกลับบ้าน แม่ยังเล่าว่าก๋งเคร่งครัดเรื่องการถูกเนื้อต้องตัวมาก โดยจะไม่ให้ผู้หญิงถูกเนื้อต้องตัวเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่ฉันสัมผัสได้ ฉันคลุกคลีอยู่กับก๋งก็จริง แต่ก็ไม่เคยแตะเนื้อต้องตัวแกเลย จนเมื่อประมาณ 4-5 ปีให้หลังมานี้ถึงเพิ่งได้จับมือก๋งเป็นครั้งแรก ก๋งเองก็ยอมรับเรื่องความเคร่งครัดนี้ แกบอกว่าแกอยู่กับพระ จึงต้องสำรวม แม่ยังเล่าให้ฟังอีกว่า เวลาก๋งกินเจ แกจะกินไม่กี่อย่าง บางครั้งกินแค่ข้าวต้มกับเต้าหู้ยี้หรือผักกาดดอง บางครั้งแกก็กินแค่ข้าวต้มกับเกลือหรือถั่วลิสงคั่ว เพียงเท่านี้ เรื่องเนื้อสัตว์เจไม่ต้องพูดถึง ก๋งไม่กินแน่นอน และที่ก๋งกินเท่านี้เพราะสมัยก่อนอาม่าไม่กินเจ ก๋งก็เลยไม่อยากกินอะไรให้มันยุ่งยาก เพราะถ้าให้อาม่าทำอาหารเจ ก็ต้องซื้อหม้อใหม่ กระทะใหม่ สำหรับไว้ทำอาหารเจเพียงอย่างเดียว แกเลยเลือกกินเฉพาะสิ่งที่ไม่ต้องปรุงมากนัก

 

ต่อมาเมื่อเวลาเปลี่ยน ก๋งฉันเริ่มแก่ตัวลง เริ่มจะไปโรงพระไม่ไหว หลังๆ จึงไปเพียงแค่ไม่กี่วันเท่าที่จำเป็นเท่านั้น  ลุงของฉันจึงทำหน้าที่แทนก๋ง ลุงไปโรงพระทุกวัน เมื่อกลับมาก็จะหิ้วปิ่นโตกลับบ้านด้วยทุกครั้ง ในปิ่นโตเต็มไปด้วยอาหารเจจากโรงพระ เพื่อเอามาให้ก๋งและคนที่บ้านได้กินกัน เป็นภาพจำที่ฉันจำได้ทุกครั้งเมื่อกลับบ้านช่วงเทศกาลกินเจ

 

 

และไม่ใช่แค่เพียงบ้านแม่เท่านั้น บ้านพ่อฉัน  อาม่าก็จะตื่นแต่เช้าไปโรงพระพร้อมปิ่นโต 1 เถา เพื่อไปเอากับข้าวจากโรงพระมากินที่บ้าน การผูกปิ่นโตกับโรงพระนั้นทำกันมานาน เพราะสมัยก่อนการหาอาหารเจกินเป็นเรื่องค่อนข้างยากลำบาก ชาวบ้านที่กินเจจึงมักผูกปิ่นโตกับโรงพระใกล้ๆ เพื่อเป็นการหอบหิ้วอาหารจากโรงพระกลับมากินที่บ้าน จวบจนปัจจุบันนี้ก็ยังใช้วิธีนี้กันอยู่ ตามโรงพระต่างๆ จะสลับหมุนเวียนเมนูอาหารไปเรื่อยๆ ทั้งเมนูที่คนในโรงพระเป็นคนทำขึ้นมาเอง กับบางส่วนที่ชาวบ้านนำมาบริจาคหรือช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ตามแต่กำลังศรัทธา

 

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป คนหันมากินอาหารเจมากขึ้น ร้านค้าต่างๆ ก็ขายอาหารเจกันเนืองแน่น จึงทำให้การหาอาหารเจกินไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แต่ก็ใช่ว่าการผูกปิ่นโตจะหมดไปนะ บางคนก็ยังนิยมไปกินอาหารเจที่โรงพระเฉกเช่นเดิม เพราะเชื่อกันว่าการได้กินของจากโรงพระถือเป็นมงคลชีวิต เราจึงมักเห็นคนเก่าคนแก่นั่งกินข้าวในโรงพระกันมาก

 

ส่วนที่ว่าอาหารเจในเมืองตรังมีอะไรบ้างนั้น ก็คงจะไม่ต่างจากอาหารเจของที่อื่นสักเท่าไร แต่จะมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ เราใช้วิธีเปลี่ยนอาหารขึ้นชื่อของเรามาทำเป็นอาหารเจ อย่างเช่น ‘เกาหยุก’ แทนที่จะใส่เนื้อสัตว์ก็เปลี่ยนเป็นเต้าหู้ทอดกับเผือกทอด ผัดหมี่ฮกเกี้ยนก็เช่นกัน อย่างที่บอกว่าคนหันมากินอาหารเจกันมาก เมื่อถึงช่วงเทศกาลกินเจร้านค้าต่างๆ ก็เปลี่ยนมาขายอาหารเจ ถนนแทบทุกสาย แม้แต่ตลาดยามเช้าที่ขายของมากมายก็เปลี่ยนมาขายอาหารเจกันเกือบหมด ต้องเตือนเลยว่าใครไม่กินเจแล้วไปเที่ยวตรังช่วงกินเจอาจจะหาของกินค่อนข้างยากสักหน่อย แต่ถ้าไม่คิดมากก็อยากให้ลองกินอาหารเจที่ตรังดูสักครั้ง อาจจะถึงขั้นติดใจกันเลยทีเดียว

 

และใช่แค่ตามร้านอาหารเท่านั้นที่มีอาหารเจขาย เมื่อถึงช่วงเทศกาลเจทีไร ทางจังหวัดจะจัดกิจกรรมต่างๆมากมาย มีร้านค้ามาเปิดบูธขายอาหารแน่นขนัด บอกได้เพียงแค่ว่า อาหารคาวหากินได้ง่ายยังไง เมื่อถึงช่วงกินเจก็หาอาหารเจกินง่ายไม่แพ้กัน ก็ตรังขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองชูชกนี่นา ไม่ว่าจะช่วงไหนก็หาของกินได้ตั้งแต่เช้ายันค่ำเหมือนเดิม

 

พิธีกรรมและความศรัทธา

 

อย่างที่บอกว่าเมื่อเข้าใกล้เทศกาลถือศีลกินผัก โรงพระจะเริ่มทำป้ายประกาศกิจกรรมและพิธีกรรมต่างๆ ว่าจะจัดขึ้นวันไหน ช่วงเวลาใดบ้าง โดยแต่ละพิธีกรรมจะมีประชาชนที่มีความศรัทธาเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก แต่พิธีกรรมที่ผู้คนให้ความสนใจล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ คนต่างถิ่น หรือแม้แต่ชาวต่างชาติ (มีอยู่ปีหนึ่งฉันต้องเดินทางกลับบ้านช่วงงานกินเจ บนเครื่องบินเต็มไปด้วยกลุ่มชาวจีนที่อุ้มองค์พระต่างๆ มาเข้าร่วมพิธีกรรมช่วงเทศกาลกินเจ ตอนนั้นนึกในใจว่า เอาวะ บินกลับบ้านครั้งนี้ไม่เป็นไรแน่นอนเพราะนั่งมากับพระเกือบเต็มลำกันเลยทีเดียว) ก็คือวันที่พระออกโปรดสาธุชน (พระออกเที่ยว)

 

 

ในวันงานจะมีขบวนแห่องค์พระ ในขบวนประกอบไปด้วยธงประจำศาลเจ้า ธงประจำตัวพระทรง (ม้าทรง) เกี้ยวที่มีองค์พระประทับอยู่ด้านใน รูปปั้นพระ และพระทรง (ม้าทรง) ทั้งชายและหญิง โดยพระทรงที่เป็นผู้ชายนั้น บางองค์ก็จะแสดงอภินิหาร โดยใช้เหล็ก 1 ถึง 2 เส้น เสียบบริเวณกระพุ้งแก้มด้านหนึ่งทะลุอีกด้านหนึ่ง ในขบวนพิธีกรรมนี้ยังเต็มไปด้วยบรรดาลูกศิษย์พระแต่ละองค์ หรือพี่เลี้ยงพระ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่มีจิตศรัทธาร่วมเดินขบวนด้วย ขบวนจะเริ่มออกเดินจากโรงพระไปตามบ้านเรือนต่างๆ ผ่านบ้านไหนที่ตั้งโต๊ะไหว้ไว้ ขบวนพระก็จะแวะทำพิธีให้พรแก่คนในบ้านนั้นๆ โต๊ะที่ตั้งไหว้จะมีทั้งขนม ผลไม้ น้ำชา เป็นต้น

 

 

ฉันเคยกลับบ้านช่วงเวลาพระออกเที่ยว สมัยเด็กๆ จำได้ว่ากลัวมาก พอพระจะมาถึงที่บ้านก็จะวิ่งไปหลบหลังบ้าน ไม่กล้าออกมา แล้วก็คอยแอบดูว่าพระไปหรือยัง มีอยู่ครั้งหนึ่งจำได้ขึ้นใจ ฉันแอบดูพระอยู่ตรงตีนบันไดในบ้าน ลูกศิษย์เจ้าแม่กวนอิมเห็นฉัน ซึ่งลูกศิษย์ก็คือพระทรงเหมือนกัน เลยเดินเข้ามาหาฉัน จับมือฉันออกมาด้านหน้า จำได้ว่ากลัวมาก (แต่ไม่ได้ร้องไห้นะ) แล้วก็หยิบผลไม้ที่ตั้งไหว้ที่โต๊ะให้ฉัน 1 ลูก ฉันยืนถือมันไว้อย่างนั้น จนแม่ฉันพูดว่าให้กินให้หมดนะ ถือว่าเป็นของดี เป็นผลไม้จากพระ หลังจากนั้นฉันก็ค่อยๆ หายกลัว

 

ขบวนแห่พระนั้นถือเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดตรังเลยก็ว่าได้ โดยแต่ละโรงพระจะมีช่วงวันและเวลาที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละโรงพระนั้นจะกำหนดขึ้น ซึ่งก็จะตรงกับ 4 ค่ำ 6 ค่ำ 8 ค่ำ ตามปฏิทินจีน ชาวบ้านจะดูตามแผ่นป้ายประกาศของทางโรงพระว่า โรงพระไหนออกเที่ยววันไหน เวลาไหน ผ่านเส้นทางไหนบ้างจะได้เตรียมความพร้อมจัดโต๊ะเพื่อรับพระหน้าบ้าน แต่ถ้าบ้านไหนติดงานศพอยู่ (ตามต่างจังหวัดมักตั้งศพไว้ในบ้าน) คนทางโรงพระก็จะนำเอาผ้าดำมาปิดไว้หน้าบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามาในขบวนพิธีแห่พระ

 

 

นอกจากขบวนแห่พระ โรงพระยังมีพิธีกรรมอีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพิธียกเต็งโก การสวดมนต์ตอนกลางคืน การลุยไฟ พิธีเลี้ยงพระทหาร และพิธีกรรมอื่นๆ อีกมากมายตลอดช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมพิธีกรรมอย่างเนืองแน่น จึงทำให้ภายในโรงพระเหมือนเป็นแหล่งของคนที่มีจิตศรัทธาในเรื่องเดียวกันมารวมตัวกัน บางคนใช้เวลาอยู่ในโรงพระมากกว่าอยู่ที่บ้านเสียอีก ความเชื่อความศรัทธาเหล่านี้ยังถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเราย่างก้าวเข้าไปในโรงพระ จะเห็นว่ามีคนแก่จูงมือเด็กเล็ก เด็กน้อยมากราบไหว้ขอพรองค์พระ กลายเป็นประเพณีที่ส่งต่อกันมายาวนาน นี่เองที่ทำให้เกิดพลังในแรงศรัทธา

 

ทั้งหมดนี้อาจเป็นแค่คำบอกกล่าวผ่านภาพในความทรงจำของฉัน แต่ก็อยากเชิญชวนให้ทุกคนลองมาสัมผัส กลิ่นอายของเทศกาลถือศีลกินผัก ทั้งเรื่องของอาหารการกิน วิถีชีวิต หรือแม้แต่พิธีกรรมต่างๆ ของชาวตรังดูสักครั้ง คุณจะสัมผัสได้ถึงความเชื่อและแรงศรัทธาที่มีต่อเทศกาลกินเจในบริบทแวดล้อมที่มากกว่าแค่การ ‘ไม่กินเนื้อสัตว์’ อีกมากเลยทีเดียว

Share this content

Contributor

Tags:

ความเชื่อ, อาหารเจ

Recommended Articles

Food Storyยำจิ๊นไก่ เมนูอร่อย ผลพลอยจากพิธีกรรมสู่ขวัญของชาวล้านนา
ยำจิ๊นไก่ เมนูอร่อย ผลพลอยจากพิธีกรรมสู่ขวัญของชาวล้านนา

ยำไก่สูตรพื้นเมืองเหนือ ที่จะให้อร่อยต้องใช้ไก่สู่ขวัญ

 

Recommended Videos