เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ทำไมคนเกาหลีถึงดื่มเก่ง? เขาดื่มไปเพื่ออะไรกัน?

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

แกะรอยวัฒนธรรมการดื่มอย่างเกาหลี ประเทศที่มีอัตราการดื่มสูงที่สุดในเอเชีย!

“จัน! จัน!” หากคุณมีเพื่อนเป็นชาวเกาหลีใต้ เชื่อว่าคุณต้องเคยได้ยินคำนี้ และถ้าคุณเคยดวลโซจูกับชาวเกาหลีสักหนก็จะต้องตกใจ เพราะเห็นหน้าใสๆ อย่างนั้น ชาวเกาหลีดื่มกันอย่างหนักหน่วง ดื่มเหมือนเมาไม่เป็น จนได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดนักดื่มแห่งเอเชีย

 

สาเหตุที่เป็นสุดยอดนักดื่มแห่งเอเชียนั้นก็เพราะว่าเกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นแชมป์ของเอเชีย (อันดับของเอเชีย 2 ได้แก่เวียดนาม และอันดับ 3 ของเอเชียได้แก่ไทย) พูดให้เห็นภาพคือชาวเกาหลีใต้ดื่มเยอะอย่างที่ว่าเฉพาะในเกาหลีใต้เอง มีสถิติว่าโซจูถูกจำหน่ายไปราว ‘คืนละ’ 7 ล้านขวด! แถมวัฒนธรรมการกระดกโซจูเพียวๆ ยังส่งให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล้าเพียวราวอาทิตย์ละ 14 ช็อต/ คน สูงกว่าสุดยอดนักดื่มของโลกอย่างรัสเซียไปเกือบๆ 1 เท่าตัว

 

คำถามก็คือ คนเกาหลีใต้ดื่มหนักขนาดนั้นเพราะอะไร?

 

ประวัติศาสตร์น้ำเมาของเกาหลี

 

 

ก่อนจะพูดถึงค่านิยมในการดื่มของยุคปัจจุบัน เห็นทีจะต้องร่ายยาวประวัติศาสตร์น้ำเมาของเกาหลีใต้ให้ฟังกันก่อนอย่างคร่าวๆ และฉาบฉวย เพื่อให้เห็นภาพตรงกัน

 

ภาพที่ว่านี้ก็คือ เครื่องดื่มมึนเมาอยู่กับสังคมเกาหลีใต้มาทุกช่วงเวลา นับตั้งแต่ยุคสามราชอาณาจักร (57 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 668) ผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบคาบสมุทรเกาหลีก็ได้ค้นพบวิธีการหมักข้าวให้กลายเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรียกว่าไวน์ข้าว แล้วพัฒนามาใช้ผลิตผลทางการเกษตรอย่างอื่นมาหมักจนเกิดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายชนิดจนกลายเป็นสินค้าส่งออกมาตั้งแต่ยุคนั้น

 

กรรมวิธีการผลิตไวน์ข้าวของเกาหลีเริ่มซับซ้อนขึ้นในอาณาจักรโคริว (ค.ศ. 919 – 1392) ไม่ว่าจะเป็นการหมักหลายครั้ง การเติมข้าวสุกเข้าไปในไวน์ข้าวเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มเปอร์เซนต์แอลกอฮอล์ และการใส่สมุนไพร ใส่ส่วนผสมอื่ ๆ เพื่อปรับรสชาติและเพิ่มสรรพคุณให้กับไวน์ข้าว รวมถึงมีการใช้เทคนิคกลั่นเหล้าซึ่งได้มาจากการติดต่อกับมองโกเลีย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในยุคโคริวจึงมีทั้งไวน์ข้าว (มอคคอลลี) สุรากลั่น (โซจู) อันนับได้ว่าเป็นรากฐานของการผลิตเครื่องดองของเมาของชาวเกาหลีใต้มาจนถึงในปัจจุบันนี้

 

 

ถัดมาในยุคโซซอน (ค.ศ. 1392 – 1910) เมื่อเกาหลีมีลัทธิขงจื๊อเป็นความเชื่อหลัก การไหว้บรรพบุรุษจึงมีบทบาทในการพัฒนาและสืบทอดสูตรการทำไวน์ข้าวและสุรากลั่นของแต่ละบ้าน ด้วยเชื่อว่าเมื่อไหว้บรรพบุรุษจะต้องไหว้ด้วยข้าวปลาอาหารที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ละบ้านจึงมีสูตรเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉพาะที่สร้างสรรค์และสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นเพื่อเก็บไว้เป็นสูตรประจำวงศ์ตระกูล โดยมีลูกสาวคนโตเป็นผู้สืบทอดสูตรต่อจากแม่ และจะเก็บไว้เป็นความลับประจำตัว แม่บ้านของตระกูลใหญ่โตก็นิยมปรุงไวน์ข้าวเพื่อเก็บไว้ใช้ต้อนรับแขก บ้านไหนที่มีไวน์ข้าวรสชาติดีก็จะเป็นที่เชิดหน้าชูตา นอกจากนี้ยังมีการนำเข้าไวน์และเหล้าจากต่างประเทศในช่วงปลายของยุคโซซอน จึงเกิดวัฒนธรรมการชิมและเก็บสะสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างแดนไว้เพื่อแสดงความมั่งคั่งและแสดงรสนิยม น้ำเมาในยุคโซซอนจึงเป็นยุคแห่งความหลากหลายและรุ่งเรือง

 

อย่างไรก็ตาม รากฐานและความรุ่งเรืองจากยุคก่อนหน้า ถูกลบหายไปในช่วงที่เกาหลีตกเป็นดินแดนในอารักขาของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1907 – 1945) เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการนำเข้าเหล้าสาเกและเบียร์ จึงมีการเก็บภาษีสุราขึ้น ทั้งยังมีการตั้งโรงกลั่นประจำหมู่บ้านโดยต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ และห้ามให้ประชาชนหมักไวน์และกลั่นเหล้าเองในครัวเรือน ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันไปดื่มสาโทญี่ปุ่นแทน ส่วนสูตรเครื่องดองของเมาประจำตระกูลที่เคยสืบทอดกันมาก็ค่อยๆ สูญหายไปในช่วงนี้นั่นเอง

 

 

จนกระทั่งเมื่อเกาหลีได้รับเอกราชกลับคืนมาหลังปี ค.ศ. 1945 กระบวนการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงกลับมาพัฒนาขึ้นอีกครั้ง มีการใช้วัตถุดิบอื่นๆ เช่นกากน้ำตาลและมันฝรั่งมาใช้แทนข้าว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าวในช่วงสงครามเกาหลี รวมถึงมีการตั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้เทคนิควิธีแบบตะวันตก เส้นทางของน้ำเมาในเกาหลีจึงหลากหลายขึ้นอีกครั้ง ทั้งจากโซจูและไวน์ข้าวแบบดั้งเดิม ไปจนถึงบรั่นดี วิสกี้ หรือว้อดก้า ประกอบกับการรับวัฒนธรรมการดื่มเบียร์แบบอเมริกาที่เข้ามาในภายหลัง ในปัจจุบันนี้ชาวเกาหลีใต้จึงมีหนทางสู่ความมึนเมาอันแสนหลากหลาย ทั้งโซจูรสชาติต่างๆ การผสมผเสกับน้ำหวาน เยลลี่ เพื่อให้เกิดเครื่องดื่มรสชาติดีกินง่าย ไปจนถึง ‘โซแม็ก’ หรือโซจูบอมบ์ ที่เสิร์ฟโดยใส่โซจูทั้งช็อต (รวมถึงแก้ว) ลงไปในเบียร์แก้วใหญ่อีกที กลายเป็นเมนูสุดยอดแอลกอฮอล์ที่ทั้งสนุก ตื่นเต้น และเมาแบบสองต่อในแก้วเดียว

 

คลื่นลูกใหม่ของการดื่มแอลกอฮอล์ในเกาหลี คือคราฟต์เบียร์ที่ผลิตขึ้นในเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจจู ปูซาน หรือกังนัม เรียกว่าหากเดินทางไปที่เมืองไหนก็ควรได้กินคราฟต์เบียร์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองนั้น กระแสการดื่มแบบเกาหลีในปัจจุบันยังพัฒนาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ประวัติศาสตร์ขึ้นๆ ลงๆ ของน้ำเมาแบบเกาหลีนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความเป็นนักดื่มมือวางอันดับ 1 แห่งเอเชียนั้นไม่ได้ได้มาโดยความบังเอิญแต่อย่างใด

 

Seniority ในความมึนเมาแบบเกาหลี

 

ชาวเกาหลีใต้เริ่มดื่มได้อย่างถูกกฏหมายเมื่ออายุ 20 ปี การดื่มจึงเป็นเรื่องของวัยมหาวิทยาลัยและวัยทำงานเป็นหลัก สำหรับคนเกาหลีแล้ว การดื่มร่วมกันจึงเป็นหนทางสู่มิตรภาพ การเข้าสังคม รวมไปถึงความก้าวหน้าในหน้าที่การงานอีกด้วย ประกอบกับค่านิยมในสังคมที่ให้ความสำคัญกับระบบอาวุโสอย่างเคร่งครัด กระทั่งในวงเหล้าก็จึงมีวิถีปฏิบัติเฉพาะตัวที่น่าสนใจ

 

ประการแรกก็คือ ในการดื่มโซจู คนเกาหลีจะไม่นิยมรินโซจูให้กับตัวเอง (ยกเว้นการไปนั่งดื่มคนเดียว) ในพื้นที่นอกเมือง การรวมตัวกันดื่มมักเกิดกับคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นเพื่อนกัน แต่ในพื้นที่เมือง ซึ่งเต็มไปด้วยมหาวิทยาลัยและบริษัทต่างๆ การดื่มมักร่วมคนหลายรุ่นไว้ด้วยกัน คนผู้น้อย ทั้งน้อยด้วยอายุและน้อยด้วยตำแหน่งในหน้าที่การงาน จะต้องเป็นผู้รินเครื่องดื่มให้กับผู้อาวุโส โดยจะต้องจับขวดด้วยมือหนึ่ง และประคองขวดหรือประคองข้อศอกด้วยมืออีกข้าง จึงจะถือได้ว่าเป็นท่าทีที่สุภาพนอบน้อม ผู้อาวุโสในวงจะจับแก้วเหล้าด้วยมือเดียวเพื่อยกขึ้นดื่ม และเมื่อผู้อาวุโสในวงดื่มเหล้าจนหมดแก้วแล้วก็อาจจะมีการยกแก้วขึ้นเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้น้อยเติมเครื่องดื่มให้อีกครั้งหนึ่ง

 

 

ใช่ว่าผู้น้อยจะทำหน้าที่รินเครื่องดื่มอยู่ฝ่ายเดียวเท่านั้น ผู้อาวุโสก็จะต้องรินเครื่องดื่มให้กับผู้น้อยด้วยเช่นกัน แต่จะจับขวดด้วยมือข้างเดียว ส่วนผู้น้อยนั้นจะต้องยกแก้วรับเครื่องดื่มด้วยมือสองข้าง ในลักษณะจับแก้วมือหนึ่ง และประของก้นแก้วไว้ด้วยมืออีกข้างหนึ่ง เมื่อดื่มก็จะต้องจับแก้วด้วยมือสองข้าง และหันหน้าออกจากวงก่อนยกดื่ม ไม่ดื่มแบบหันหน้าเข้าวงประจันหน้ากันกับผู้อาวุโสโดยตรง เพราะจะถือว่าไม่สุภาพและไม่ให้เกียรติรุ่นพี่หรือเจ้านายนั่นเอง

 

ชาวเกาหลีใต้มีธรรมเนียมในการรักษามารยาทและระยะห่างระหว่างกัน ดังนั้นโซจู เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ จึงทำหน้าที่ลดช่องว่างเหล่านั้น ให้รุ่นพี่รุ่นน้อง หรือลูกน้องกับเจ้านายได้สื่อสารกันตรงไปตรงมาได้มากขึ้น การติเตือนกันและกันเป็นไปได้ง่ายและจริงใจกว่าในวงเหล้า รวมถึงบรรยากาศเฮฮาสังสรรค์ก็เป็นการลดความเครียดระหว่างคนที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน ชาวเกาหลีจึงชวนกันไปดื่มเหล้าในแทบทุกโอกาส ตั้งแต่การทำความรู้จักกับรุ่นน้องในชมรม การนัดบอด ไปจนถึงการเลี้ยงเพื่อขอบคุณลูกค้าหรือคู่ค้า ดังนั้นเมื่อมีเจ้านาย ลูกค้า หรือรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยชวนไปดื่ม การปฏิเสธจึงเป็นเรื่องยาก ไปจนกระทั่งเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว

 

 

นอกจากนี้แล้ว ชาวเกาหลีใต้ยังมีวิถีการดื่มอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสุดโต่งในสายตาคนนอกวัฒนธรรม นั่นคือการเปลี่ยนร้านดื่มไปเรื่อยๆ จนถึงเช้า การดื่มไปเรื่อยๆ เช่นนี้มีเหตุผลหลายอย่าง เป็นต้นว่า คนเกาหลีถือว่าการดื่มด้วยกันคือการแสดงน้ำใสใจจริง หากเพื่อนคนหนึ่งชวนเพื่อนคนอื่น ๆ ไปเลี้ยงข้าวที่ร้านหนึ่ง คนในวงก็จะต้องเปลี่ยนมือกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงเหล้าในร้านอื่นๆ จึงมีการต่อไปร้านที่ 2 ร้านที่ 3 กันตลอดคืนเพื่อแสดงถึงความใจกว้างและใจนักเลงของอีกฝ่าย

 

หรือเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ชาวเกาหลีดื่มต่อกันถึงเช้า อาจเป็นเพราะว่ารถโดยสารสาธารณะในเกาหลีนั้นไม่ได้มีตลอดคืน และค่าแท็กซี่ก็แพงแสนแพงอย่างที่ว่าอาจถึงครึ่งหมื่นได้ แต่ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นสามารถหาซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมงในราคาที่ไม่แรงนัก การอยู่ดื่มต่อจนกว่ารถโดยสารสาธารณะจะเปิดให้บริการอีกครั้งในเช้าวันถัดไปจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า โดยการดื่มไปเรื่อยๆ แบบนี้มักเริ่มจากร้านอาหารที่มีการสั่งเหล้าหรือเบียร์เล็กน้อย หลังจากนั้นจึงไปดื่มต่ออย่างหนักหน่วงที่ร้านไก่ทอดหรือร้านคาราโอเกะ แล้วต่อด้วยร้านสนุ๊ก ร้านเกมเบสบอล หรือตีกอล์ฟแบบผู้ใหญ่ ซึ่งร้านหลังๆ จะสั่งเครื่องดื่มมาจิบเพียงเล็กน้อย เพื่อให้สร่างเมาทันกลับบ้านในตอนเช้า และอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานได้ตามปกติ

 

 

Jennie ศิลปินจากวง BLACK PINK ในบทบาทของพรีเซนเตอร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ชาวเกาหลีใต้มีวัฒนธรรมการดื่มที่แทรกอยู่ในทุกแวดวงและทุกรูปแบบ กระทั่งว่าไอดอลหนุ่มๆ สาวๆ ยังสามารถเป็นพรีเซนเตอร์ขายโซจูยี่ห้อต่างๆ ได้ จึงสะท้อนว่าสังคมเกาหลีไม่ได้ตัดสินคนดื่มสุราว่าเป็นคนที่ดีหรือไม่ดี แต่หากดื่มแล้วไม่สามารถตื่นไปทำงานตอนเช้าได้ตามปกตินั่นต่างหากที่จะทำให้สังคมตัดสินว่าคุณเป็นคนไร้ความรับผิดชอบ และไม่น่าทำงานด้วยเป็นอย่างยิ่ง

 

โซจูสร้างชาติ ชาติสร้างโซจู

 

หากพอทราบประวัติศาสตร์เกาหลีใต้มาบ้าง เราก็น่าจะได้เห็นว่าประชากรของประเทศเกาหลีนั้นต้องต่อสู้กับเรื่องปากท้องอย่างหนักหน่วงมาแทบจะตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งภายใน ภัยสงครามและเจ้าอาณานิคมภายนอก และช่วงบุกเบิกสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกาหลีใต้ถีบตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญของโลกอีกประเทศหนึ่งได้ในปัจจุบัน

 

เบื้องหลังความเจิรญแบบก้าวกระโดดนั้นคือหยาดเหงือแรงงานของหนุ่มสาวชาวเกาหลี ที่ต้องเรียนหนัก ทำงานหนัก ชีวิตที่สมบุกสมบันเช่นนั้นทำให้การผ่อนคลายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจของแต่ละวันจึงเป็นเรื่องที่สังคมเกาหลีให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด จึงไม่ต้องแปลกใจหากในหนึ่งสัปดาห์ เราจะเห็นว่าพนักงานออฟฟิศชาวเกาหลีนั้นออกไปดื่มสังสรรค์ราว 3-5 วันเลยทีเดียว และไม่ต้องแปลกใจที่ในยามค่อนคืนเราจะสามารถเห็นกองอาเจียนตามที่โน่นที่นี่ของย่านการค้าได้เป็นปกติ

 

เมื่อการดื่มกลายเป็นมิติสำคัญสำหรับการทำงาน ทั้งเพื่อการผ่อนคลายและเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างคู่ค้าหรือเพื่อนพนักงานด้วยกันเอง ยอดสถิติของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงเติบโตขึ้นไปด้วย ทำให้เครื่องดื่มสีใสรสชาติร้อนแรงอย่างโซจูเติบโตมาเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ครองตลาดในประเทศได้อย่างเหนียวแน่น เฉพาะเจ้าดังอย่างยี่ห้อ JINRO ขวดเขียวๆ ที่เราคุ้นเคยนั้นมีกำลังผลิตถึง ‘นาที’ ละ 1,000 ขวด นอกจาก JINRO แล้วยังมีเจ้าอื่นๆ อีกกว่า 60 ชื่อ ทำให้การแข่งขันเรื่องรสชาติ คุณภาพ ราคา และการโฆษณาของโซจูนั้นคึกคักว่าที่หลายคนจะคาดเดาได้

 

 

บริษัท JINRO เริ่มกิจการในปี ค.ศ. 1924 (หากเทียบกับประวัติศาสตร์ประเทศไทยคือปีสุดท้ายในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือร. 6) และดำเนินกิจการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกของกิจการ โซจูเป็นเหมือนเครื่องดื่มราคาแพง เพราะเกาหลียังอยู่ในภาวะขาดแคลน จนมาถึงปัจจุบันที่โซจูกลายเป็นเครื่องดื่มราคาถูก (โซจูในเกาหลีคิดเป็นเงินไทยราคาเพียงขวดละ 30-50 บาทเท่านั้น) ก็คงต้องบอกว่าโซจูและความมึนเมาในรูปแบบอื่นๆ นั้นอยู่กับเกาหลีใต้มาทุกยุค

 

เนื่องจากเป็นเรื่องดื่มที่มีราคาไม่สูงมาก แถมยังหาซื้อได้แทบจะทุกที่ หาซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง โซจูจึงกลายเป็นมิตรแท้ของหนุ่มสาววัยทำงาน เป็นตัวช่วยในการปลดปล่อยความเครียดของแต่ละวันเพื่อให้มีแรงไปทำงานขับเคลื่อนประเทศในวันต่อไปได้ จะเรียกว่าโซจูเป็นเครื่องดื่มสร้างชาติของเกาหลีใต้ก็คงไม่ผิดแปลกเท่าไรนัก

 

 

และในปัจจุบันที่ประเทศเกาหลีกลายเป็นประเทศที่แข็งแรงทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และ Soft Power ที่ส่งต่อมาผ่านกระแส K-Entertainment วัฒนธรรมเกาหลีไหล่บ่ามาพร้อมกับความบันเทิงและอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ต่างๆ จนคนทั้งโลกยอมรับ แน่นอนว่าโซจู มอคคอลลี และเครื่องดองของเมาของชาวเกาหลีก็เดินทางไปยังต่างประเทศด้วยพร้อมๆ กัน ความ ‘ป๊อป’ ของเกาหลีส่งให้คนทั้งโลกรู้จักโซจู ในปี 2020 ที่ผ่านมา เฉพาะโซจูเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าในตลาดมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงต้องบอกว่าความเป็นชาติอันแข็งแกร่งของเกาหลีก็ได้สร้างโซจูให้กลายเป็นความมึนเมาในระดับโลกด้วยเหมือนกัน

 

คำถามที่ว่าทำไมคนเกาหลีถึงดื่มเก่งนั้นน่าสนุกแล้ว แต่เมื่อล่วงเลยยืดยาวมาจนถึงบรรทัดนี้ คำถามใหม่ที่ว่าคนไทยก็ดื่มเก่งแสนเก่ง แต่ทำไมเครื่องดองของเมาของบ้านเราถึงไม่สามารถบุกไปตีตลาดโลกได้สักที ก็น่าขบน่าคิดไม่แพ้กัน จริงไหมคะ?

 

ข้อมูลจาก

 

https://10mag.com/the-history-of-soju-and-its-modernization/

 

https://thesoolconnection.com/a-brief-history-of-soju-most-popular-spirit/

Share this content

Contributor

Tags:

วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, อาหารเกาหลี, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Recommended Articles

Food Storyแจกสูตร สาโททำง่าย หมัก 12 วันพร้อมชนแก้ว
แจกสูตร สาโททำง่าย หมัก 12 วันพร้อมชนแก้ว

วิธีทำสาโท หรือน้ำขาว น้ำหมักจากข้าวแบบไทยๆ สูตรพื้นฐานสุดๆ

 

Recommended Videos