ย่ำเท้าลัดเลาะริมน้ำจันทบูร ชมวิถีชีวิตท่ามกลางชุมชนเก่าหลากวัฒนธรรม ที่ฝากร่องรอยอดีตผ่านสถาปัตยกรรม และอิ่มเอมกับอาหารท้องถิ่นริมน้ำ
จันทบุรี เมืองเล็กๆ ทางภาคตะวันออก ที่คั่นระหว่างระยองกับตราด มีทั้งภูเขา น้ำตก ทะเล ให้เลือกเที่ยวได้ตามสไตล์ จะเก็บให้หมดจบในทีเดียวก็ย่อมได้ แต่ถ้ามีเวลาไม่มากนัก การเดินเล่นริมน้ำจันทบูรก็ดูจะเหมาะไม่น้อย
“ที่นี่มีอะไรให้เที่ยวบ้างคะ?” เสียงนักท่องเที่ยวคนหนึ่งโพล่งถามขึ้น ขณะที่เราก้าวเท้าเข้าสู่ถนนในชุมชนริมน้ำจันทบูร ออกตัวก่อนว่าเราเป็นคนจันท์ สมัยเรียนก็เดินกลับบ้านทางนี้เป็นประจำ เราเองก็เคยสงสัยเมื่อเริ่มเห็นนักท่องเที่ยวเข้ามา ประมาณว่าเขามาดูอะไรกัน มีอะไรให้ดู พอมองย้อนกลับไปเลยเข้าใจว่า ความเคยชินอาจทำให้เราเฉยชากับสิ่งเล็กๆ รอบตัว กระทั่งห่างมาไกลพอจะให้หวนคิดถึงวิถีชีวิตผู้คนท่ามกลางบรรยากาศริมน้ำที่คุ้นเคย และอาหารคุ้นลิ้นทั้งก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ขนมไข่ป้าไต๊ ข้าวโพดคลุกยายต่อม ฯลฯ
พล่ามซะยาวเพื่อจะบอกว่านั่นละ คือ ‘วิถีชีวิต’ ส่วนหนึ่งที่คุณจะได้สัมผัส เชิญทำตัวเอื่อยๆ เดินชิลล์ ชม และชิมขนมไปพร้อมๆ กันค่ะ
ชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และยังเป็นย่านการค้าเศรษฐกิจ ติดท่าน้ำ ขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ความแตกต่างของที่นี่กับตลาดริมน้ำอื่นๆ คือไม่ว่าที่ไหนบ้านเรือน ร้านค้าก็จะหันหน้าเข้าหาน้ำ เปิดรับการเจรจาค้าขาย แต่ริมน้ำจันทบูรบ้านเรือนหันหลังให้แม่น้ำ แล้วหันหน้าเข้าหากัน มีถนนตัดผ่าน เพราะมักนำสินค้าขึ้นมาจากท่าเรือแล้วเจรจาค้าขายกันบนบก
และด้วยความเป็นย่านการค้าจึงมีวัฒนธรรมผสมผสานทั้งไทย จีน ญวน ซึ่งฝากร่องรอยไว้ชัดเจนผ่านสถาปัตยกรรม ตลอดทางที่เราเดินผ่านจะสังเกตเห็นบ้านเรือนที่ผสมผสานทั้งแบบโคโลเนียล ชิโนโปรตุกีส ลูกกรงหน้าต่างไม้ลายฉลุแบบจีนสไตล์ รวมทั้งบ้านเรือนไทย สลับไปมาขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของบ้านนั้นเป็นใคร มีบางช่วงที่เป็นบ้านสร้างขึ้นมาใหม่เพราะเคยเกิดไฟไหม้ใหญ่ในชุมชนริมน้ำแห่งนี้
ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม ศาสนาที่คนในชุมชนยึดถือหลักๆ จึงมี 2 ศาสนา คือพุทธกับคริสต์ จึงเห็นว่าในชุมชนริมน้ำนี้มีทั้งวัด ศาลเจ้า และโบสถ์คริสต์ เช่น วัดโบสถ์ ศาลเจ้าตั้วเล่าเอี๊ย และอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (วัดโรมันคาทอลิก) ส่งผลถึงความหลากหลายของอาหารการกินที่มีให้เลือกตลอดทาง และล้วนเป็นร้านดั้งเดิมที่อยู่คู่ชุมชนมานาน เนื่องจากเรากินมื้อหลักมาแล้ววันนี้จึงเดินเล่นแวะกินขนมตามรายทาง
ข้าวตังโบราณ
หอมกรอบเคี้ยวเพลิน กลิ่นอวลในปาก
เราเริ่มเดินจากฝั่งวัดจันทนาราม เข้ามาไม่ไกลเหลียวซ้ายแลขวา เห็นคุณป้ากำลังง่วนอยู่หน้ากระทะใบใหญ่ 3-4 ใบ สาวเท้าเข้าไปสืบความได้ว่า คุณป้าจินดา กำลังทำ ‘ข้าวตังโบราณ’ เป็นสูตรที่ทำกินกันมานาน เพราะแต่เดิมนิยมหุงข้าวด้วยกระทะใบบัว พอคดข้าวออกเหลือข้าวติดก้นกระทะเขาก็จะทำข้าวตัง โดยปรุงน้ำจิ้มมาทา หุงข้าวกระทะเดียวได้ทั้งข้าวสวยและขนม น้ำปรุงข้าวตังยังคงสูตรเดิมไว้ทุกประการ คือมีเพียงน้ำตาล น้ำปลา กระเทียมตำเคี่ยวรวมกัน แล้วใส่ใบผักชี แต่ไม่ได้ใช้ข้าวติดก้นกระทะเหมือนก่อน ตอนนี้ใช้ข้าวหุงสุกนำมายากับกระทะ รอให้เหลืองกรอบ หนาเกินก็ขูดออกบางส่วน พอแห้งดีแล้วจึงทาน้ำจิ้มที่ปรุงไว้ รอให้แห้งอีกพักหนึ่งก็แคะออกจากกระทะ
จังหวะที่ตัดแบ่งข้าวตังออกเป็นแผ่นๆ เสียงกรุบกรอบเร่งเร้าให้เราหยิบมาชิม ข้าวกรอบหอมน้ำตาลไหม้คล้ายคาราเมลเจือกลิ่นกระเทียม รสชาติหวานๆ เค็มๆ หอมอบอวลในปาก อร่อยเคี้ยวเพลิน หากอยากมาลองแนะนำให้มาตอนเช้าๆ เพราะลูกค้าส่วนมากเป็นขาประจำในพื้นที่ ขายดี หมดไว อย่างวันที่เรามาช่วง 11 โมงกว่าๆ ก็เป็นกระทะสุดท้ายพอดี วันหนึ่งคุณป้าจะทำประมาณ 20 กระทะ ตัดแบ่งกระทะละ 6 ชุด เริ่มจุดเตาตั้งแต่ 8 โมงเช้า แนะนำให้กินตอนทำเสร็จใหม่ๆ ถ้าซื้อกลับมาเป็นของฝากควรอุ่นร้อนด้วยเตาอบก่อนกิน
ขนมไข่ป้าไต๊
กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นกรุ่น อร่อยยาวนานกว่า 70 ปี
ใกล้ๆ ตรอกที่มีสะพานข้ามคลองไปยังวัดโรมันคาทอลิก มีร้าน ‘ขนมไข่ป้าไต๊’ ที่เปิดโล่งให้เห็นขั้นตอนการทำ อบสดใหม่ ขายกันวันต่อวัน คุณลุงพฤนท์ลูกชายที่รับช่วงต่อสูตรขนมไข่จากป้าไต๊ใจดีเล่าให้เราฟังว่า ขนมไข่แบบนี้เป็นวัฒนธรรมการกินของคนญวน ที่รับมาจากคณะบาทหลวง มิสซังชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาตั้งโบสถ์คริสต์ (วัดโรมันคาทอลิก) ที่นี่ ป้าไต๊ได้สูตรมา ลองผิดลองถูกอยู่นานจนกระทั่งลงตัว ทำขายมาเรื่อยๆ เกือบ 70 ปีแล้ว
เนื้อสัมผัสขนมไข่นั้นกรอบนอก นุ่มใน หยุ่น กัดแล้วเด้งคืนตัว หอมอ่อนๆ เราถามเหตุที่ทำให้ขนมไข่ที่นี่แตกต่าง คุณลุงเล่าว่า สัดส่วนส่วนผสมที่ผิดกัน และการควบคุมอุณหภูมิที่ต่างกันเล็กน้อยทำให้ขนมออกมาไม่เหมือนกัน
“ย่านกุฎีจีน แถววัดกัลยาณมิตร ก็จะมีขนมกุฏีจีน คล้ายๆ ขนมไข่แต่ไม่เหมือนกันนะ เพราะเขาใช้ไข่เป็ด ใส่เครื่องอย่างฟักเชื่อมแห้ง ลูกเกด ผลไม้แห้ง เป็นการผสมผสานระหว่างโปรตุเกสกับวัฒนธรรมจีน แต่เมืองจันท์เราไม่ค่อยมีเป็ด มีแต่ไก่ ก็ใช้ไข่ไก่ แป้งสาลี น้ำตาล ตีให้เข้ากัน มาทางสายฝรั่งเศส เนื้อขนมก็จะต่างกัน คนละแบบ”
คุณลุงเล่าติดตลกว่า เคยมีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสกับโปรตุเกสมายืนเถียงกันหน้าร้านว่านี่มันขนมของบ้านฉัน แม่ฉันทำให้กินตั้งแต่เด็ก—บทสรุปพอเดาได้ ศึกนี้ไม่มีใครยอมใคร
ขณะที่มือยังง่วนอยู่กับการทำขนม ทั้งตักใส่พิมพ์ เอาเข้าเตาอบ สลับกับแคะออกจากพิมพ์ แต่ก็ยังหันมาสบตาส่งยิ้มให้เราเป็นระยะๆ ตลอดเวลาที่สนทนาเรื่องขนมไข่
“แต่ก่อนอบด้วยเตาถ่านสุมไฟบน-ล่าง เดี๋ยวนี้ใช้เตาอบ แรกๆ ก็ต้องเรียนรู้เรื่องอุณหภูมิเตา แต่รสชาติเรายังคงเดิม เพราะลูกค้าเก่าๆ ตั้งแต่รุ่น 50-60 ปีที่แล้วก็ยังกินอยู่ พาลูกพาหลานมากิน รสชาติเดิมในสถานที่เดิมคือชุมชนริมน้ำตรงนี้ เขาก็เลยรู้สึกว่ายังได้กินขนมเหมือนที่เคยกินตอนเด็ก ตอนหนุ่มสาว เราเลยไม่อยากให้ความทรงจำตรงนั้นของเขาหายไป การดัดแปลงมันจะกระทบความรู้สึก ความทรงจำของคนกินหลายรุ่นที่เขาผูกพันอยู่ เราเลยไม่เปลี่ยนแปลงเด็ดขาด”
รสชาติและสัมผัสทางใจยังเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนกันใน 3 ฤดู คือ เนื้อสัมผัสของขนมไข่
ประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่หน้าเตาขนมไข่ทุกวัน ทำให้คุณลุงสังเกตพบว่า สัมผัสของขนมจะเปลี่ยนตามฤดูกาล 3 ฤดู ก็ 3 แบบ เพราะความชื้นในอากาศแต่ละช่วงไม่เท่ากัน อย่างฤดูร้อนความชื้นสูง ขนมก็นุ่มหน่อย แต่พอฤดูหนาว หน้าแล้งความชื้นในอากาศไม่มี ผิวก็จะกรอบเป็นพิเศษ เนื้อก็แห้งไปอีกแบบหนึ่ง
ลูกค้าส่วนมากคือคนในชุมชน ทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ ที่เพิ่มขึ้นมาคือนักท่องเที่ยวขาจรที่ติดใจจนกลายเป็นขาประจำสั่งมาให้ส่งไปทั้งเชียงราย เชียงใหม่ โคราช สมุทรสงคราม ส่งหมดทุกภาค ด้วยปริมาณจำกัดวันหนึ่งทำได้ 300 ถุง ถุงละ 10 ชิ้น จึงอาจต้องต่อคิวกันสักหน่อย อย่างเราสั่งไว้แล้วไปเดินเล่นประมาณ 20 นาทีค่อยกลับมารับขนม สารภาพว่าเดินไปกินไปไม่ถึงครึ่งทางเกลี้ยงถุง กินเปล่าๆ ว่าอร่อยแล้ว หากอดใจไหวเหลือติดไม้ติดมือกลับมาละก็ แนะนำให้ลองกินคู่ไอศกรีมกะทิสดดูค่ะ เข้ากันสุดๆ
ขนมเทียนแก้วลุงจุ่น
แป้งนุ่มหนึบ ไส้เนื้อเนียนละเอียด กลมกล่อม
เดิมทีลุงจุ่นถีบจักรยานตระเวนขายขนมเทียนแก้วทำเองทั่วเมืองจันท์ รสชาติอร่อยจนเป็นที่คุ้นเคยว่าถ้ากินขนมเทียนแก้วต้องอุดหนุนลุงจุ่น ปัจจุบันภรรยาลุงจุ่นและลูกหลานรับช่วงต่อเปิดร้านขนมเทียนแก้วคู่กันสองร้าน ‘ขนมเทียนแก้ว’ เป็นขนมแป้งกวน ใส่ไส้แล้วนำไปนึ่ง เหตุที่เรียก ‘ขนมเทียนแก้ว’ เพราะแป้งใสเหมือนเนื้อแก้ว มองเห็นสีสันของไส้กวนที่สอดไว้ด้านใน เนื้อแป้งทำจากแป้งเท้ายายม่อม มีความหนึบแต่เนื้อไม่หนัก ไม่หนาอย่างขนมเทียน ส่วนไส้ใช้ถั่วเขียวเราะซีก กวนจนได้เนื้อเนียนละเอียด แล้วปรุงรสด้วยพริกไทยอย่างไส้ขนมเทียนทั่วไป
น้ำมะปี๊ด
จี๊ดจ๊าด สดชื่น ดับกระหาย
เดินกินขนมไปหลายอย่างจนหวานไปทั้งปาก ต้องแวะซื้อน้ำที่ร้านตั้งหมงเซ้ง ร้านน้ำชงที่เปิดมากว่า 60 ปี อยู่ข้างๆ วัดเขตนาบุญญาราม นอกจากน้ำชงรสเข้มข้น ก็มี ‘น้ำมะปี๊ด’ สีเหลืองอมส้ม ที่ได้จากการคั้นผลมะปี๊ด (ภาษากลางเรียก ‘ส้มจี๊ด’) เพิ่มรสหวานด้วยน้ำตาลเล็กน้อย ได้น้ำมะปี๊ดรสจี๊ดจ๊าดเปรี้ยวอมหวาน ดื่มแล้วชุ่มคอ ดับกระหาย เป็นเมนูขายดีที่เพิ่งขายมาได้ 10 กว่าปี เพราะเมื่อก่อนยังไม่มีคนนำผลมะปี๊ดมาทำน้ำ แต่นิยมปรุงรสน้ำพริก, น้ำพริกเกลือ (น้ำจิ้มซีฟู้ด) มากกว่า แต่เมื่อผลผลิตมะปี๊ดในจันท์มีมากจนล้น จึงมีผู้คิดเพิ่มมูลค่านำมาทำน้ำ ได้รับความนิยมแพร่หลาย จนถูกบรรจุไว้ในเมนูร้านน้ำหลายร้านในจันทบุรี เป็นเมนูเครื่องดื่มล้างปาก หรือดับกระหายในวันอากาศอบอ้าวได้อย่างดี
ข้าวโพดคลุก 3 รส
หวาน เค็ม เผ็ด เด็ดมา 20 ปี
เมื่อเดินจนสุดทางถนนริมน้ำ จะพบซอยที่เชื่อมไปยังตลาดพลอยเมืองจันท์ เดินเข้าไปชมบรรยากาศการค้าขายพลอยกันก็ได้ แต่เราตั้งใจไปกินข้าวโพดคลุก สังเกตง่ายเห็นเตาข้าวโพดปิ้งก็พุ่งไปเลยค่ะ มีเจ้าเดียวโดดเด่น แต่ขอให้ลบภาพข้าวโพดคลุกเนยหวานมันที่เราคุ้นออกไปก่อน เพราะจะพามาลองข้าวโพดคลุกน้ำปรุงสามรส คือรสเค็มจากน้ำปลา หวานจากน้ำตาล เผ็ดจากพริกจินดาสีแดงโขลกกับกระเทียมไทย แล้วนำไปเคี่ยวจนข้นพอดี จากนั้นนำมาราดคลุกเคล้ากับข้าวโพดหวานฝานชิ้น มีให้เลือกทั้งปิ้งและต้ม วันที่เรามาข้าวโพดปิ้งหมดเสียก่อน ถ้ามีโอกาสมาลอง แนะนำให้กินข้าวโพดปิ้งคลุกค่ะ เพราะจะได้ความหอมของเตาถ่านเพิ่มเข้ามา อร่อยเข้ากันแบบไม่น่าเชื่อ ถ้าใครไม่กินเผ็ดก็มีน้ำคลุกแบบไม่ใส่พริกด้วย มองๆ ส่วนผสมแล้วไม่น่าเข้ากัน แต่อร่อยอย่างน่าประหลาดใจ หากินไม่ได้ที่ไหน ป้าเขาขายมาเกือบ 20 ปีแล้ว
ไอศกรีมตราจรวด
กรอบนอกหวานใน เย็นฉ่ำชื่นใจ
ก่อนกลับเราแวะโรงงานไอศกรีมตราจรวด ที่อยู่คู่เมืองจันท์มานาน หน้าร้านมีตู้แช่ไอศกรีมที่มีไอศกรีมตัดหลากรส ทั้งทุเรียน กะทิ ชาเย็น รวมมิตร หรือจะเป็นไอศกรีมแท่งหลากสีก็มี แต่ทีเด็ดต้องลองคือ ‘ไอติมกระเบื้อง’ ที่เรียกกระเบื้องเพราะเนื้อไอศกรีมเคลือบด้วยเกล็ดน้ำแข็งกรอบสีน้ำตาลซึ่งทำจากน้ำชา ช่วยเพิ่มเท็กเจอร์ อารมณ์ไอศกรีมแท่งเคลือบช็อกโกแลตนั่นแหละ แต่ตราจรวดเขาเคลือบน้ำชา กัดแล้วกรอบนอกหวานในด้วยไอศกรีมเนื้อนุ่มรสวานิลลา และรสใหม่ที่เพิ่มเข้ามาตามยุคสมัยคือทุเรียนกระเบื้อง หากตัดสินใจซื้อให้สั่นกระดิ่งหน้าร้านส่งสัญญาณถึงคนขาย ก็จะเลื่อนบานหน้าต่างมาขายไอศกรีม เราเลือกไอติมกระเบื้องรสดั้งเดิม หยิบมาชื่นใจในราคา 10 บาท ปิดทริปด้วยความหวานเย็น อันเป็นซิกเนเจอร์ของริมน้ำจันทบูร
จากที่ได้สัมผัส… เสน่ห์ของริมน้ำจันทบูร คือเป็นย่านเก่าที่ไม่ถูกปรุงแต่งขึ้นมาเอาใจนักท่องเที่ยว ผู้คนยังคงใช้ชีวิตเรียบง่าย จึงได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนชุมชนริมน้ำ อาหารการกินและร้านรวงต่างๆ ที่ยังคงเดิม มีเพียงอาคารทรุดโทรมบางหลังที่ได้รับการบูรณะให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่เหมือนเคย และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วยเพิ่มสีสันให้ริมน้ำจันทบูรแห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นสักหน่อยช่วงสุดสัปดาห์ ราวกับย้อนอดีตไปในครั้งที่เคยได้ชื่อว่า ‘เป็นย่านเศรษฐกิจ’ ที่พลุกพล่านด้วยพ่อค้าแม่ขาย และเรื่องราวอีกมากมาย
—-
ภาพ : Parinya Chawsamun
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos