พื้นที่เล็กๆ กับมื้อริมทางอุ่นๆ ในวันที่โลกไม่ใจดีกับคุณ
ร้านอาหารเต็นท์แดงที่คลุมด้วยผ้าใบใส กลายเป็นภาพจำของร้านอาหารข้างทางในเกาหลี แม้แต่คนที่ไม่เคยไปเกาหลีสักครั้ง ก็ยังคุ้นหน้าค่าตากับเต็นท์แดง และบรรยากาศภายในร้านเล็กๆ ผ่านซีรีส์หลายต่อหลายเรื่อง คนเกาหลีเรียกเต็นท์แดงนี้ว่า Pojangmacha หรือ Pocha ขายอาหารประเภท ‘อันจู’ อาหารกินคู่เครื่องดื่มประจำชาติอย่างโซจู เบียร์ มักกอลลี
สำหรับชาวเกาหลีแล้วเต๊นท์แดงข้างทางเป็นสถานที่นัดดื่มเพื่อปรับทุกข์ แชร์เรื่องราวกับคนสนิทไว้วางใจ หรือเป็น save zone ขนาดย่อมไว้แวะดื่มคนเดียวก่อนกลับบ้าน เพื่อทบทวนความคิด ความรู้สึกกับเรื่องที่ได้พบเจอในแต่ละวัน เช่นฉากในซีรีส์เกาหลีเรื่อง ‘reply 1988’ พระรองอย่างคิมจองฮวานกำลังนั่งดื่มเป็นเพื่อนซองซุนอู แม้ตัวเองจะต้องรีบเดินทางกลับเข้ากรมทหารในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้าน บทสนทนาระหว่างทั้งสองดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ไม่ได้มีวลีกินใจอะไร แต่การอยู่ตรงนั้นของเขาก็เพียงพอแล้วที่จะบอกกับเพื่อนว่า นายไม่จำเป็นต้องอยู่คนเดียวตอนดื่มเหล้า และตอนที่ต้องเผชิญกับอะไรก็ตาม
อีกเรื่องอย่าง She Was Pretty ฉากที่คิมชินฮยอก พระรอง เห็นนางเอกอย่างคิมฮเยจิน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเขานั่งดื่มในโพจังมาจาคนเดียว จึงเข้าไปดื่มเป็นเพื่อน ความไว้วางใจและฤทธิ์แอลกอฮอล์ ทำให้เธอระบายความอัดอั้นตันใจกับพระรอง ด้วยการก่นด่าพระเอกที่อยู่ในฐานะเจ้านายว่า ที่ชีวิตการทำงานของเธอนั้นแสนลำบาก มีแต่ความทุกข์ในแต่ละวันนั่นก็เป็นเพราะมีเจ้านายอย่างเขา โพจังมาจาจึงไม่ใช่ร้านอาหารที่คนเกาหลีนัดเพื่อมากินข้าวด้วยกันอย่างจริงจัง แต่อาจเป็นมื้อถัดจากมื้อหลัก ช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยอารมณ์ ความอ่อนแอ หรือแม้แต่ความในใจอย่างฉากสารภาพรักใน Let’s Eat – Season 1
แรกเริ่มของเต็นท์แดงและเมนูอันจู
ย้อนกลับไปในปี 1950 Pojangmacha หรือ Pocha เป็นรถเข็นขายอาหารข้างทาง ที่ขายเพียงนกกระจอกเทศย่างกับโซจู จากรถเข็นเคลื่อนที่ก็เริ่มมีการกางเต็นท์ผ้าใบเพื่อกันฝนและลมหนาว พร้อมกับเก้าอี้นั่ง จนถึงปี 1970 เริ่มมีเมนูเครื่องดื่มอย่างมักกอลลีและเบียร์เข้ามา พร้อมๆ กับเมนูอันจูที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นคิมบับ เค้กข้าวเกาหลี ออมุก (โอเด้งสไตล์เกาหลี ทำจากเนื้อปลา)
แต่แล้ว Pocha ก็เข้าสู่ภาวะถดถอย จำนวนร้านลดน้อยลง ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ที่รัฐบาลเกาหลีคาดว่าจะมีชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในช่วงเอเชียนเกมส์ 1986 และโอลิมปิก 1988 ที่เกาหลีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูสิวิไลซ์ จึงบังคับใช้กฎจัดระเบียบร้านค้าข้างทางอย่างเข้มงวด ก่อนที่ pocha จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งเพราะพิษเศรษฐกิจเกาหลีในปี 1997 คนตกงานจำนวนมาก เจ้าของกิจการก็ประสบปัญหาทางการเงินไม่ต่างกัน โพจังมาจาจึงเป็นสถานที่ที่พวกเขาไปกินดื่มเพื่อรำลึกถึงคืนวันที่ดี ด้วยอาหารราคาไม่แพงและสามารถต่อรองกันได้ ตั้งแต่นั้นมา pocha ก็กลายเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการดื่มของเกาหลี
ในเต็นท์แดงกันฝนและลมหนาว เสิร์ฟเมนูเกาหลีร้อนๆ ราคาย่อมเยา แม้จะเป็นเมนูกินคู่เครื่องดื่มแล้วเข้ากันดี แต่สำหรับคนไม่ดื่มก็แวะเวียนเข้ามาฝากท้องกับอาหารอุ่นๆ ได้ ร้านเต็นท์ข้างทางมีทั้งแบบให้แวะเวียนยืนกิน และนั่งกินในร้าน เมนูที่เห็นได้ทั่วไปในโพจังมาจา มีทั้ง ต็อกบกกี แป้งจากข้าวที่เสิร์ฟร้อนๆ ในน้ำซอสเผ็ดสไตล์เกาหลี กินคู่กับ fish cake หรือออมุก เนื้อปลาแผ่นแปรรูป ซุนแด ไส้กรอกเลือด ทำจากเลือดวัวหรือเลือดหมู ผสมกับวุ้นเส้นและมันหวาน คิมบับ ข้าวห่อสาหร่ายสไตล์เกาหลี ออมุก เนื้อปลาแผ่นแปรรูปทอดเสียบไม้แช่ในน้ำซุปหม้อใหญ่ คล้ายโอเด้งญี่ปุ่น น้ำซุปอุ่นมักจะฟรี จึงขอเติมได้ พียงทวิกิ เมล็ดข้าวพองอัดแผ่นกลม ฮอทต๊อก แป้งแพนเค้กสอดไส้หวานๆ ด้วยน้ำตาลเชื่อม และทักโกชี ไก่ย่างเสียบไม้ทาซอส
กาลเวลาย่อมนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง หากไปเกาหลีในเวลานี้ เราอาจเจอโพจังมาจาที่ให้ความรู้สึกแตกต่างออกไป เสน่ห์ของเต็นท์ผ้าใบสีแดงถูกหยิบยืมมาเป็นกิมมิกเล็กๆ ให้กับร้านแฮงค์เอ๊าติดแอร์เย็นๆ บางร้านมีห้องน้ำในตัว ตอบสนองความสะดวกสบาย ไปจนถึงเมนูอันจูกับแกล้มสไตล์เกาหลีที่มีความฟิวชั่นอย่างคอร์นดอก ไก่ทอดซอสเกาหลีราดชีส ร้านเต็นท์เกาหลีฮอตฮิตเปิดใหม่ในบ้านเราก็เข้าทำนองนี้ค่ะ ให้ฟิลลิ่งแบบร้านแฮงค์เอ๊าท์ของเถ้าแก่ร้านทันบัม ในเรื่อง Itawon Class ซะมากกว่า สำหรับชาวเกาหลีที่แวะมาดื่มเพื่อซึมซับบรรยากาศและรำลึกคืนวันเก่าๆ จึงเลือกเข้าโพจังมาจาแบบรถเข็นติดล้ออย่างที่พวกเขาคุ้นเคย
อ้างอิงและภาพประกอบ
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos