เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

คู่มือซื้ออาหารและนำเข้าบ้านอย่างปลอดภัย

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

วิธีปฏิบัติตัวเพื่อเลี่ยงเชื้อโควิดยามออกไปซื้อของที่ซูเปอร์ฯ และนำอาหารเข้าบ้านอย่างปลอดภัย

เชื่อว่าทุกคนรู้อยู่แล้วล่ะว่ายุคชีวิตติดโดวิดง่ายแสนง่ายแบบนี้ควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ทั้งสุขอนามัยส่วนตัวยามอยู่บ้าน และสิ่งที่ต้องทำเมื่อออกจากบ้าน ตั้งแต่สวมหน้ากาก เลี่ยงที่ชุมชน ห่างกันสองเมตร ไม่ออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น ซึ่งข้อหลังนี้สำคัญมากๆ นะคะ เพราะการออกไปนอกบ้าน เท่ากับการไปรับความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ รวมถึงเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อ (หากคุณติดโควิดแต่ไม่แสดงอาการ) ทีนี้บางทีมันก็เลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น นานๆ ครั้งเราก็ต้องออกไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของกินของใช้ ก็เลยมาย้ำกันอีกสักทีว่าหลักปฏิบัติยามออกไปช้อปต้องทำอย่างไร

 

 

แน่นอนว่าถึงจะยังไม่มีกฎเข้มข้นขนาดถ้าไม่สวมหน้ากากห้ามเข้าซูเปอร์ฯ หรือร้านสะดวกซื้อ แต่สวมเถอะ เพราะผลการวิจัยล่าสุดจากฟินแลนด์แสดงให้เราเห็นว่าละอองฝอยของสารคัดหลั่งทั้งน้ำมูก น้ำลาย สามารถแพร่ไปในอากาศได้อย่างรวดเร็วและไกลขนาดไหน โดย Aslto University จัดทำวิดีโอ 3D แสดงภาพสารคัดหลั่งที่แพร่กระจายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อมีบุคคลหนึ่งไอ จาม หรืออาจเพียงแค่พูดคุย โดยละอองฝอยจะแพร่กระจายในรูปของกลุ่มเมฆ (แน่นอนว่าเรามองไม่เห็น) ลอยอยู่ในอากาศนานหลายนาทีและสามารถลอยข้ามเชลฟ์ได้อย่างรวดเร็วด้วย ฉะนั้น หากคนที่ไอหรือจามติดเชื้อโควิดโดยไม่สวมหน้ากาก เชื้อก็จะลอยอยู่ในอากาศและตกลงสู่ข้าวของบนเชลฟ์ในที่สุด นี่ยังไม่รวมว่าหากคนติดเชื้อลืมตัว ใช้มือปิดปากขณะไอหรือจามแล้วไม่ได้ล้างมือ จากนั้นจึงสวมหน้ากาก เมื่อมาจับสินค้าแล้ววาง ก็เท่ากับนำเชื้อมาติดบนสินค้าแบบตรงๆ ไปเลย

 

 

ศาสตราจารย์แซลลี บลูมฟีลด์ จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็น ‘แหล่งอันดีเลิศ’ สำหรับการแพร่เชื้อไวรัส ทั้งจากคนที่จับสินค้าแล้วก็วาง บริเวณต่อคิวจ่ายเงิน การจับเครดิตการ์ดหรือบัตรจอดรถ ไปจนถึงการกดเอทีเอ็ม นอกจากการสวมหน้ากาก (และถ้าจะให้ดีคือสวมเฟสชิลด์) เรายังต้องป้องกันความเสี่ยงยามไปซูเปอร์ฯ ด้วยการ

 

     

  • ล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังออกไปซื้อของ
  •  

  • คิดไปเลยว่าพื้นผิวทุกที่มีเชื้อติดอยู่ จะได้ไม่ยกมือขึ้นแตะหน้าตัวเองหลังจับสินค้าหรือรถเข็น
  •  

  • ถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้ใช้บัตรจ่ายเงินแทนเงินสด อย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงลงเยอะเมื่อไม่ต้องสัมผัสเงินที่ไม่รู้ว่าผ่านมากี่มือ
  •  

 

 

 

ตัวอาหารและสินค้ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

 

ยังไม่มีหลักฐานว่าโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านอาหารได้ และการประกอบอาหารอย่างพิถีพิถันจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ ศ. บลูมฟีลด์ บอกว่าไม่มีอะไรที่มี ‘ความเสี่ยงเป็นศูนย์’ สิ่งที่ต้องระวังคือพื้นผิวด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ที่ใส่อาหารมา เธอแนะนำให้วางทิ้งไว้ก่อน 72 ชั่วโมงค่อยนำมาใช้ หรือไม่ก็เช็ดพื้นผิวด้านนอกของบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกหรือแก้วด้วยน้ำยาขจัดคราบ (bleach) ที่ผสมให้เจือจางตามสัดส่วนที่ระบุไว้ข้างขวด สำหรับของสดที่ไม่ได้ห่อมา ซึ่งใครจับมาแล้วบ้างก็ไม่รู้ ให้ล้างน้ำให้ทั่วและปล่อยให้แห้ง

 

 

บริการแบบเดลิเวอรีล่ะ เสี่ยงไหม

 

แน่นอนว่าการสั่งเดลิเวอรีย่อมปลอดภัยกว่าการออกไปซื้อของเอง อย่างน้อยก็ตัดความเสี่ยงเรื่องการรับเชื้อจากการพบปะผู้คนหลากหลายในที่จำกัด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงรับเชื้อจากกล่องใส่สินค้า หรือจากคนที่มาส่งของ ดร.ลิซา แอคเคอร์ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหาร แนะนำว่าให้เขียนข้อความติดไว้ที่ประตู ให้คนมาส่งของกดกริ่ง และช่วยถอยออกไป เราจะได้ออกไปหยิบของได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในบ้านเราตอนนี้เดลิเวอรีทุกเจ้าก็ออกมาตรการรับ-ส่งแบบห่างกันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง ก็ยังมีการเดินมารับ-ส่งกันถึงตัวตามความเคยชินอยู่บ่อยๆ อันนี้ต้องท่องไว้ย้ำๆ ว่าอย่าใกล้ ถอยห่างกันนิด อีกนิดนั่นแหละ อย่าลืมเป็นอันขาด

 

ดร. เจมส์ กิล จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยวอร์ริค ยังแนะนำว่าหลังรับของมาแล้ว ให้เช็ดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วทิ้งไว้ เชื้อโรคจะตายภายในหนึ่งนาที

 

แล้วถ้าซื้ออาหารกลับบ้าน…

 

การเตรียมอาหารอย่างสะอาดและมืออาชีพช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จึงควรเลือกซื้ออาหารจากร้านที่มั่นใจในความสะอาด  ถึงอย่างนั้น ศ. บลูมฟีลด์ ก็บอกว่าผู้ที่ซื้ออาหารกลับบ้านสามารถลดความเสี่ยงลงอีก ด้วยการเทอาหารลงในจานสะอาด ทิ้งกล่องที่ใส่อาหารมา นำอาหารไปอุ่นหรือเวฟให้ผ่านความร้อนอีกครั้ง หมายถึงอาหารที่ผ่านความร้อนได้นะจ๊ะ ถ้าสั่งบิงซูหรือไอศกรีมมากินก็ไม่ต้องเวฟนะคะ ล้างมือให้สะอาดก่อนกิน และกินด้วยมีดและส้อม ไม่ใช่มือ

 

แม้สำนักงานมาตรฐานอาหารแห่งสหราชอาณาจักร (UK Food Standards Agency) จะย้ำว่าความเสี่ยงติดเชื้อผ่านอาหารอยู่ในระดับต่ำ และไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลี่ยงอาหารที่ทำมาแล้ว หากผ่านการเตรียมอาหารอย่างดี แต่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยงแบบนี้ ทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการกินอาหารร้อนที่ทำแบบสดใหม่

 

ฉะนั้น มาเข้าครัวกับ KRUA.CO  กันเถอะทุกคน เราจะรอดไปด้วยกัน!

 

อ้างอิง: www.bbc.com/thai / www.cbsnews.com

Share this content

Contributor

Tags:

Covid-19

Recommended Articles

Food Storyทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง
ทำข้าวกล่องบริจาคยังไง ให้ถึงมือแบบไม่เหลือทิ้ง

จะทำข้าวกล่องต้องรู้ เลือกเมนูยังไง ปรุงแบบไหน บริจาคยังไงให้ไม่เหลือทิ้ง

 

Recommended Videos