เที่ยวตะจาน เทศกาลสาดน้ำของบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเมียนมาร์ ตามประสาคนไม่อยากเปียกน้ำ
“สงกรานต์กลับบ้านมั้ยเนี่ย”
“ไม่ได้กลับค่ะ ว่าจะไปที่อื่น”
“เอ้าเหรอ จะไปไหน”
“จะไปพม่าค่ะพี่ หนีคนเล่นน้ำ เบื่อ”
“เหรอ แต่พม่าก็เล่นน้ำนะ”
“…”
บทสนทนาสิ้นสุดลงตรงที่ความมึนงงของฉัน ผู้ไม่ประสีประสาและไม่มีความรู้รอบตัวเอาเสียเลย ในทุกๆ สงกรานต์ฉันมักจะลี้ภัยสงครามน้ำไปที่อื่นเสมอ ที่อื่นของฉันหมายถึงต่างประเทศใกล้ๆ ที่ไหนก็ได้ซึ่งไม่มีการเล่นน้ำ ตัดประเทศข้างๆ อย่างลาวออกไปก่อนได้เลย เพราะรู้ว่าเมืองลาวเล่นน้ำหนักพอกันกับบ้านเรา
เวียดนามไปปีนั้น มาเลย์ฯ ไปปีโน้น กัมพูชาไปปีก่อน กับแผนปีนี้ ล่วงผ่านต้นเดือนเมษายนมาแล้วฉันก็ยังไม่มีที่หมายในใจ จนเพื่อนชี้ทางสว่างให้ว่ามีเมืองหนึ่งของอินเดียที่บินไปได้ในเวลาแค่สี่ชั่วโมงเท่านั้น
อินเดียเป็นตัวเลือกเหมาะ ถ้าไม่ติดที่ว่า…
“แก อินเดียมันต้องใช้วีซ่านะ รีบไปทำ”
ถอนหายใจเฮือกยาว งานตรงหน้าก็ยังไม่เสร็จและฉันไม่มีเวลาไปติดต่อวีซ่าให้ทันก่อนเดินทางแน่ๆ คิดอย่างชุ่ยๆ งั้นไปใกล้ๆ แล้วกัน แล้วตั๋วเครื่องบินไป-กลับดอนเมือง-ย่างกุ้งก็ถูกจองเสร็จสรรพภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น
หลังจากจองตั๋วเสร็จฉันก็แทบลืมเรื่องวันหยุดสงกรานต์ เช็กคร่าวๆ แค่ว่ามี Grab บริการ และควรแลกเงินอะไรแบบไหน ภารกิจเพียงอย่างเดียวของฉันคือการหาซื้อหนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ เวอร์ชันภาษาเมียนมาร์กลับมาเติมคอลเลกชั่นให้จงได้ ที่เหลือเอาไว้ไปคิดที่โน่น จนมาเฉลยเอาด้วยบทสนทนาข้างต้นนั่นแหละ ว่าเมียนมาร์น่ะเขามีสงกรานต์นะหล่อน มีวันที่หล่อนจะไปนั่นเลย (เขียนมาถึงบรรทัดนี้แล้วต้องถอนหายใจในความไม่รอบคอบของตัวเอง เห้อ)
สงกรานต์ที่ผ่านมาฉันเลยได้ไปเรียนรู้วิถีสงกรานต์เมียนมาร์แบบงงๆ ด้วยเหตุนี้แหละค่ะ
เมียนมาร์ตอกย้ำความเด๋อด๋าของฉันตั้งแต่ลงเครื่องด้วยป้าย Thingyan Festival ทั่วสนามบิน Thingyan (ติงยาน ทิงยัน หรือ ตะจาน) คือการเฉลิมฉลองต้อนรับปีใหม่ประเพณีเช่นเดียวกับสงกรานต์บ้านเรา และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกหลายประเทศ เดิมทีเทศกาลตะจานจะเปลี่ยนวันไปบ้างเล็กน้อยตามปฏิทินจันทรคติ แต่ปัจจุบันยึดตามประกาศวันหยุดของรัฐบาลเมียนมาร์ซึ่งมากน้อยต่างกันไป บางปีมีวันหยุดยาวนานถึง 10 วัน ส่วนในปีนี้ที่เพิ่งผ่านไปหยุดเพียง 3 วัน ก็คือวันที่ 13 – 15 เมษายน
คำว่าวันหยุดตะจานสำหรับชาวเมียนมาร์คือวันหยุดประจำปีอย่างแท้จริง ไม่เพียงแต่ร้านรวง บริษัทเอกชน และผู้ใช้แรงงานทั่วไปเท่านั้น แต่ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านหนังสือ ไปจนถึงเคาน์เตอร์แลกเงินก็พากันหยุดทำงานไปเฉลิมฉลองตะจานด้วย อย่าว่าแต่เจ้าชายน้อยเวอร์ชั่นภาษาเมียนมาร์เลย ฉันจะเติมเงินโทรศัพท์มือถือได้ที่ไหนยังไม่แน่ใจ เรียกได้ว่าเป็นการฉายเดี่ยวเที่ยวพม่าแบบผิดแผนในทุกมิติ
หลังจากถอนหายใจให้ตัวเองเป็นรอบที่ร้อยแปดสิบเจ็ด ฉันเก็บกระเป๋าเข้าล็อกเกอร์ เหลือสัมภาระติดตัวไว้เพียงเงินเท่าที่จะใช้ โทรศัพท์ และนามบัตรโรงแรม ทุกอย่างจับยัดลงไปในกระเป๋ากันน้ำแบบห้อยคอ พร้อมเปียกตลอดเวลา แล้วกดโทรศัพท์เรียก Grab เป็นอันดับแรก
คิดว่าจะไปเดินให้ตัวเปียกเหรอ ฝันไปเถ้ออออออ
ฉันตั้งต้นที่ชเวดากองเป็นที่แรกของทริปและให้เวลากับที่นี่ไปเลยค่อนวัน ไม่ได้ใฝ่ธรรมะมากพอที่จะขลุกอยู่ในศาสนสถานได้นานๆ แต่ชเวดากองคือข้อยกเว้น เพราะสำหรับชาวเมียนมาร์แล้วชเวดากองรวมถึงวัด เจดีย์ และศาสนสถานอื่นๆ ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ในการใช้ชีวิตมากกว่าเป็นแค่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น
ที่ชเวดากองเราจะได้เห็นแม่ค้ามาขายของ เห็นคนนั่งอ่านหนังสือ นักบวชมาปฏิบัติธรรม ต่างชาตินุ่งโสร่งเดินเรียงกันเป็นแถว หนุ่มสาวมาจีบกันจิ๊จ๊ะ และเด็กๆ มาวิ่งเล่นบนลานเจดีย์ ชาวเมียนมาร์ให้ความสำคัญกับเทศกาลตะจานและศาสนสถานมาก แทบทุกคนเลยแต่งตัวจัดเต็มมาชเวดากองในวันนี้ ฉันกลายเป็นคนโชคดีที่เลือกมาถูกที่และถูกวัน นอกจากจะไม่เปียกน้ำซักหยดแล้ว การนั่งดูคนเพลินๆ ที่ลานเจดีย์ชเวดากองนี่ก็คือการพักผ่อนที่ได้พักจริงๆ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาเลยก็ว่าได้
กว่าจะยอมออกจากชเวดากองก็เกือบเย็น ความยากของชีวิตในวันนี้ก็คือการไปหาอะไรใส่ท้องบ้าง ตั้งแต่ออกจากที่พักมาฉันก็ยังหาร้านอาหารที่เปิดประตูไม่ได้เลยแม้แต่ร้านเดียว จะมีก็แต่ร้านที่ตั้งเต๊นท์ข้างทางซึ่งฉันยังไม่ยอมลงไปกิน ไม่ใช่เพราะมีปัญหากับเต๊นท์ข้างทาง แต่ฉันมีปัญหากับการเดินฝ่าน้ำออกไปกินต่างหาก – ยอมหิวไม่ยอมเปียก!
จนมาเจอฮีโร่ช่วยชีวิตเอาก็ตอนที่เดินเข้าที่พัก กับร้านน้ำชาเหงาๆ ที่ยังคงเปิดอยู่ เมียนมาร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ได้ชื่อว่ามีวัฒนธรรมการดื่มชาที่เหนียวแน่น นอกจาก Royal Tea อันเลื่องลือที่ร้านชาต้องมีกันทุกร้านแล้ว ก็มี ‘อะจ่อ’ หรือสารพัดของทอดนี่แหละที่อยู่คู่ร้านชาแบบขาดไม่ได้
คุณป้าตอบกลับมาว่าโอเค ๆ แต่ดูท่าจะไม่โอเคเท่าไร ฉันได้ซาโมซามาหนึ่งชิ้นก็จริง แต่ไม่ใช่แค่หนึ่งเดียว เพราะคุณป้าคีบทุกอย่างลงถุงพลาสติกมาด้วยอย่างละหนึ่งชิ้น รวมทั้งสิ้นห้าชิ้นถ้วน
ใช่ค่ะ ของทอดห้าชิ้นกับฉันคนเดียว
หิ้วของทอดมาเต็มถุงอย่างไม่รู้จะปฏิเสธด้วยภาษาไหน พร้อมชาร้อนในแก้วกระดาษหนึ่งแก้ว แลกกับเงินราวสี่สิบบาทไทย ไม่เพียงแต่เติมมื้อเที่ยงในเวลาเกือบห้าโมงเย็น แต่ยังเป็นมื้อเย็นและมื้อดึกของฉันไปด้วย
ซามูซา ก่อเปี้ยงจ่อ อีจากวย ฟักทองทอด และหัวหอมทอด (ซึ่งสองอย่างหลังนี่เกินความสามารถในการจดจำชื่อของฉัน)
ซามูซาของเมียนมาร์ก็คือ ‘ซาโมซา’ อิทธิพลทางอาหารที่ได้รับไปจากอินเดียนั่นแหละ ส่วนไส้จะเป็นมันฝรั่งผัดกับเนื้อสัตว์ และผงเครื่องเทศหอมๆ ห่อด้วยแป้งซาโมซาแผ่นยาว พับวนไปวนมาให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ฝั่งอินเดียมักเสิร์ฟมากับซัตเนย์หรือโยเกิร์ตเครื่องเทศ ส่วนในร้านอาหารไทยฉันเคยเจอแบบเสิร์ฟกับน้ำจิ้มอาจาดก็เข้ากันดี ส่วนที่กินวันนี้ไม่เสิร์ฟคู่กับอะไรนอกจากชา Royal Tea หอมๆ ในมือ
ก่อเปี้ยงจ่อก็คือปอเปี๊ยะทอดไส้ผัก ส่วนอีจากวยก็คือปาท่องโก๋ชิ้นใหญ่ยักษ์ รสชาติแบบเดียวกับปาท่องโก๋หน้าปากซอยธรรมดาๆ แต่ชิ้นใหญ่เกินคืบ ซึ่งการกินปาท่องโก๋แบบเพลนๆ ไม่มีอะไรจิ้มก็น่าหนักใจอยู่เล็กน้อย ต้องพึ่งความหวานจาก Royal Tea อีกนั่นแหละถึงจะลงตัว #RoyalTeaForLife
ฟักทองทอดและหัวหอมทอดฉันคุ้นเคยมาจากสำรับไทใหญ่ โดยที่พี่น้องไทใหญ่เรียกว่า ‘ข่างปอง’ ส่วนคนเมืองเชียงใหม่บ้านฉันที่รับเอาวัฒนธรรมอาหารไทใหญ่มาอีกทอดหนึ่ง เรียกด้วยสำเนียงเพี้ยนๆ แต่มีความหมาย กลายเป็นเมนูชื่อโหดอย่าง ‘กระบอง’ จะแตกต่างจากผักชุบทอดทั่วไปก็ตรงที่มีรสเผ็ดของพริกสดและพริกแกง ทางแม่ฮ่องสอนนิยมกินคู่กับขนมจีนน้ำเงี้ยวหรือขนมจีนน้ำหยวก
ขึ้นชื่อว่าพักก็คือพัก ฉันนอนตื่นสายโด่ง กินขนมปังแห้งๆ ที่เป็นเซอร์วิสจากโฮสเทล แล้วต่อด้วยการอ่านหนังสือกลิ้งไปมาจนรู้สึกผิดกับตั๋วเครื่องบิน กว่าจะคิดได้ว่าควรออกไปเจอโลกภายนอกบ้างก็เกือบบ่าย โดยมีเป้าหมายแรกอยู่ที่ร้านอาหาร (อีกแล้ว)
วันนี้ฉันทำการบ้านมาดี ด้วยการผูกมิตรกับพนักงานประจำเคาน์เตอร์ (ผู้เป็นชายร่างเล็กและร้องเพลง ‘O.K.นะคะ’ ของแคทลียา อิงลิช ในเวอร์ชันภาษาพม่าอยู่แทบจะตลอดเวลา) เขาโทรหาแท็กซี่ที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่องพร้อมต่อรองราคาให้เสร็จสรรพ โปรแกรมของวันนี้คือ ไปกินข้าว ขับรถวนรอบเมืองชื่นชมบรรยากาศตะจานแบบฉาบฉวย และกลับโฮสเทล
ช่างเป็นแผนการเที่ยวที่โลดโผนดีจริง
พี่แท็กซี่พอจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย โจทย์ของพี่ในวันนี้ก็คือ พาฉันไปร้านอาหารร้านใดก็ได้ที่ยังเปิดอยู่ พี่แท็กซี่ตอบโอเคเสียงดังแล้วล้อก็หมุนทันที ปรากฏว่าแทบไม่มีร้านไหนเปิดเลยนอกจากร้านอาหารญี่ปุ่น-เกาหลีหนึ่งร้านถ้วน นอกจากนั้นคือเราต้องฝ่าคนเล่นน้ำเข้าไปในพื้นที่เทศกาลถึงจะมีแผงขายอาหารตั้งอยู่เพียบ แต่ฉันขอถอยดีกว่า
สารถีเริ่มทำหน้างงๆ พี่เขาอาจจะสงสัยว่าเอ็งจะมาย่างกุ้งช่วงตะจานทำไมถ้าเอ็งจะกลัวน้ำขนาดนี้ แต่ก็ยอมวนหาร้านต่อไปตามใจฉันแต่โดยดี หลังจากวนรถกันจนหมดหวัง ดูเหมือนพี่เขาก็นึกอะไรออก
“I know. I know.” แล้วล้อก็หมุนอีกครั้งก่อนพาฉันมาหยุดที่… Grab & Go
Grab & Go ไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมง มีอาหารกึ่งสำเร็จรูปและพวกอาหารอุ่นร้อนง่ายๆ อย่างซาลาเปา มีเครื่องดื่ม มีขนมอย่างละเล็กอย่างละน้อยตามแต่ร้านสะดวกซื้อควรจะมี และใช่ค่ะ มันแทบจะเป็นร้านหนึ่งเดียวที่เปิดบริการอยู่ในช่วงหยุดยาวประจำปีอย่างนี้
ฉัน Grab แล้ว Go สมชื่อ โกยทุกอย่างที่อยากกินใส่ตะกร้าคล้ายคนประชดชีวิด บะหมี่กึ่งฯ มันฝรั่งทอด น้ำอัดลม ไส้กรอก และอีกสารพัด ลวกบะหมี่มาหนึ่งถ้วย ซาลาเปาสองลูก บะหมี่ฉันครองคนเดียว ส่งซาลาเปาและกาแฟกระป๋องให้พี่แท็กซี่ เราออกจาก Grab & Go เพื่อขับรถวนรอบเมือง ฉันอยากดูคนเล่นน้ำแต่ไม่อยากเปียก นี่คือโจทย์ข้อที่สองของวันนี้
กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อน ๆ ในรถแอร์เย็นฉ่ำ วนดูหนุ่มสาวเล่นน้ำกันจนฉันพอใจ พี่แท็กซี่ส่งฉันกลับที่พักอย่างปลอดภัยและอิ่มตื้อในเวลาทุ่มกว่า ฉันควรขึ้นห้องไปอาบน้ำและแพ็กกระเป๋าสำหรับเดินทางกลับในตอนเช้า แต่ในเมื่อเป็นคืนสุดท้ายฉันก็ควรจะรู้จักย่างกุ้งให้มากกว่านี้อีกหน่อย (เอ๊ะ เพิ่งคิดได้สินะ)
ด้วยคำแนะนำจากพนักงานจากเคาเตอร์คนเดิม (ซึ่งหลังจากที่รู้ว่าฉันเป็นคนไทย ก็เปลี่ยนมาเปิดเพลง O.K นะคะ เวอร์ชันภาษาไทยให้ฟังแทน) และเขาบอกว่าไปไชนาทาวน์สิ ของกินเพียบเลย เดินไปกินไปก็อิ่มแล้ว
อื้ม จริง ๆ ก็อิ่มอยู่ แต่ฉันเป็นคนเชื่อคนง่าย เป่าหูนิดเดียวก็เคลิ้มเลย เป็นอันต้องออกโฮสเทลอีกครั้ง และพบว่า…
น่าจะมาตั้งแต่เมื่อวานแล้วหล่อน!!
ขึ้นชื่อว่าไซน่าทาวน์ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลกก็เต็มไปด้วยของอร่อย ที่ยอดนิยมที่สุดเห็นจะเป็นปิ้งย่างเสียบไม้เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มที่คล้ายน้ำจิ้มซีฟู้ดแต่อ่อนรสเผ็ดลงมาอีกระดับ และยำใบเมี่ยงตามร้านรถเข็น แต่ท้องฉันอิ่มจนเกินคำว่าอิ่ม แต่สะดุดตากับร้านปิ้งย่างที่มีอยู่นับไม่ถ้วนในไชน่าทาวน์ ก็เลยต้องขอลองสักหน่อย
ปิ้งย่างเสียบไม้ที่นี่ให้บรรยากาศกินไปจิบไปมากกว่าจะเป็นการกินจริงจัง มีตั้งแต่สารพัดผัก หมู ไก่ ลูกชิ้น ไปจนถึงอาหารทะเลที่ราคาสูงขึ้น ฉันกินปิ้งย่างไปไม่กี่ไม้พร้อมเครื่องดื่มอีกหนึ่งแก้ว โดยมีอาหารตาเป็นแบ็กแพ็กเกอร์ตาน้ำข้าว และหนุ่มน้อยนุ่งโสร่งพูดอังกฤษคล่องปร๋อ ซึ่งก็นับว่าเป็นมื้อส่งท้ายย่างกุ้งที่น่าประทับใจอยู่เหมือนกัน
บอกลาเมียนมาร์ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ หนุ่มสาวแต่งตัวเต็มยศมารอเล่นน้ำเป็นวันสุดท้าย ร้านรวงก็ยังคงปิดเป็นส่วนมาก ภารกิจตามหาเจ้าชายน้อยที่ย่างกุ้งล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ฉันยังคงนับให้เป็นวันพักผ่อนที่ดี (แม้จะฉาบฉวยไปสักนิด)
คนขับแท็กซี่เปิดวิทยุระหว่างรอสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียว ทำนองคุ้นหูจากอดีตย้อนกลับมาอีกครั้งในภาษาใหม่ ไม่ได้เจ้าชายน้อยภาษาเมียนมาร์กลับบ้าน แต่ได้ O.K. นะคะภาษาเมียนมาร์ติดหูมาแทน ก็ถือว่าเจ๊ากันไป
In Brief
- ช่วงตะจานหรือสงกรานต์ของเมียนมาร์ ร้านส่วนใหญ่หยุดทำการ *เตือนแล้วนะ
- อาหารท้องถิ่นเมียนมาร์น้ำมันเยอะกว่าอาหารไทย ใครที่กลัวเลี่ยนหรือพะอืดพะอมให้ดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยได้
- มันฝรั่งทอด ๆ พวกที่มีพริกแห้งอยู่ในถุงด้วยอร่อยมาก ต้องซื้อ (แน่นอนว่าใน Grab & Go เพื่อนยากก็มีจ้า)
- เมียนมาร์มีร้านชานมไข่มุกด้วยนะ สั่ง Royal Tea ได้อีกต่างหาก
- ไชนาทาวน์แม้จะดูทัวริสต์มาก ๆ แต่ควรไปเพราะอาหารอร่อยและถูก
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos