เส้นทางของ 'เบียร์' เครื่องดื่มเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
เมื่อมีการเพาะปลูกและปรุงอาหารเกิดขึ้นในโลก การทำเครื่องดื่มก็ย่อมจะมาควบคู่กัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้น สืบความย้อนต้นกำเนิดกลับไปถึงกว่า 9,500 ปีก่อนคริสตกาลโน่นแน่ะ โดย ‘เบียร์’ คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกๆ ของโลก ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคอารยธรรมสุเมเรียน-อารยธรรมแรกของมนุษยชาติในเมโสโปเตเมียนั่นเลย มีหลักฐานเป็นภาพการทำเบียร์จารึกอยู่บนอักษรคูนิฟอร์ม การหมัก (เครื่องดื่มที่เป็นต้นกำเนิดของ) เบียร์ในช่วงนั้น ใช้วิธีทำให้ข้าวสาลีแห้งเป็นผงแล้วนำไปอบเป็นขนมปัง จากนั้นก็บดขนมปัง เติมน้ำ และหมักตามธรรมชาติ
ความนิยมในเบียร์พุ่งขึ้นถึงขีดสุดในยุคถัดมาคือบาบิโลเนีย ช่วงแรกเครื่องดื่มที่ชวนให้เคลิบเคลิ้มนี้มีไว้สำหรับบูชาเทพเจ้า ก่อนจะแพร่หลายสู่ชาวบ้านร้านช่อง ชาวบาบิโลเนียนดื่มเบียร์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน จริงจังถึงขั้นต้องมีการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเบียร์ไว้ในประมวลกฎหมายฮัมมูราบี-บทบัญญัติที่รวบรวมกฎหมายต่างๆ และพระราชกฤษฎีกาของพระเจ้าฮัมมูราบี ราชาแห่งบาบิโลเนีย และเป็นประมวลกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งช่วงนี้เองที่มีทั้งโรงเบียร์และร้านขายเบียร์มากมาย (แหล่งขายเบียร์ในยุคนั้นเรียกว่า Bit Sikari)
โดยกฎทางอาญาเกี่ยวกับเบียร์ในประมวลกฎหมายฮัมมูราบีตราไว้ว่า ห้ามใส่น้ำที่จะทำให้เบียร์เจือจางลง และเจ้าของโรงเบียร์ที่รู้ว่ามีการเจือจางหรือปลอมปนจะต้องแจ้งทางการทันที มิเช่นนั้นจะมีความผิดในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิด ทั้งนี้เพราะสำหรับชาวบาบิโลเนียนแล้ว เบียร์ไม่ใช่เพียงเครื่องดื่มทั่วไป แต่เป็น ‘เครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพระคุณของพระเจ้า’ การกระทำใดๆ ที่เจือจางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือเป็นการดูหมิ่นพระเจ้าและเป็นการกระทำที่ไม่อาจยกโทษให้ได้ ยืนยันความเป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ของเบียร์ด้วย ‘เรื่องปรัมปราของเทพีนินกาซิ’ คำอธิษฐานต่อเทพธิดาแห่งเบียร์ของเมโสโปเตเมีย ที่เป็นทั้งบทสวดและเป็นวิธีการจำสูตรทำเบียร์ในวัฒนธรรมที่มีคนรู้หนังสือเพียงแค่ไม่กี่คน
แต่เบียร์มากลายเป็นเบียร์แบบที่เราคุ้นเคยกันก็เมื่อ 3,000 ปีก่อนคริสตกาลที่อียิปต์ ที่มีการทำเบียร์จากข้าวโดยนำเมล็ดข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากริมฝั่งแม่น้ำไนล์มาอบแห้ง แล้วบดให้ละเอียดใส่ในถังผสมกับดอกฮ็อปส์ (Hops) ที่ช่วยให้เบียร์มีรสขมแบบที่เราคุ้นชิน (และยังช่วยให้เก็บได้นานขึ้น) เติมน้ำลงไปผสมหมักกับยีสต์ที่เป็นเชื้อรา ส่าเหล้าที่ได้จากแป้งที่ทำขนมปังและอากาศในอียิปต์ทำให้เกิดกระบวนเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลและเกิดแอลกอฮอล์ที่มีการตกตะกอน แล้วจึงกรองเอาแต่น้ำมาดื่ม โดยใช้กรรมวิธีการหมักคล้ายกับการทำไวน์
ในยุคที่อียิปต์เจริญรุ่งเรือง เบียร์ถูกจัดเป็นเครื่องดื่มประจำชาติที่มีการดื่มกันเป็นประจำคู่กับอาหารประจำวัน แม้แต่เด็กเล็กยังต้องดื่มเบียร์แทนน้ำ นักโบราณคดีถึงกับคาดว่าเบียร์มีบทบาทสำคัญในการก่อตัวของอารยธรรม เห็นได้จากเมื่อราว 4,500 ปีก่อนคริสตกาล คนงานในเมืองอูรุกได้รับเบียร์เป็นค่าจ้าง และระหว่างการก่อสร้างมหาปิรามิดในกิซา คนงานแต่ละคนก็ได้รับปันส่วนประจำวันเป็นเบียร์ 4-5 ลิตร ซึ่งช่วยทั้งเรื่องโภชนาการและทำให้สดชื่น ถือว่าเบียร์เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานก่อสร้างมหาปิรามิดที่กลายมาเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ชองโลกกันเลยทีเดียว ยุคนี้ปากไม่แดงไม่มีแรงเดิน แต่ยุคโน้นเบียร์ไม่มาไม่มีแรงขนหินนะเออ
ประวัติศาสตร์เบียร์ยุคใหม่เริ่มขึ้นที่ประเทศเยอรมนีในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 เพราะชาวเยอรมันเป็นผู้คิดค้นทำเบียร์ขึ้นในแคว้นบาวาเรีย โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบการทำเบียร์จากชาติใดๆ เบียร์ของเยอรมันทำจากมอลต์ เรียกว่า Peor หรือ Bior ที่เพี้ยนมาเป็นคำว่า Beer นั่นเอง ชาวเยอรมันเชื่อว่าเบียร์มีความบริสุทธิ์สะอาดกว่าน้ำเปล่า เลยดื่มเบียร์กันแทนน้ำเลยก็ว่าได้ ความที่ปริมาณแอลกอฮอล์ในเบียร์นั้นต่ำมากเพียง 3.5-6.0 ดีกรี อีกทั้งอายุการเก็บรักษาค่อนข้างสั้น เลยดื่มกันได้บ่อยเท่าที่ต้องการ
วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ผลิตเบียร์คือข้าวบาร์เลย์ เรียกวิธีการผลิตนี้ว่า Brewing โดยจะนำข้าวบาร์เลย์มาเพาะและอบแห้งทำเป็นมอลต์เกรนที่เรียกว่า Barley Malt Grain แล้วนำมาผสมกับน้ำ ปรุงแต่งรสชาติและกลิ่นด้วยดอกฮ็อปส์ที่ทำให้เกิดรสขม แล้วหมักรวมกับยีสต์จะได้ของเหลวที่มีแอลกอฮอล์ นำมากรองก็จะได้เบียร์ นอกจากข้าวบาร์เลย์ ชาวเยอรมันยังใช้ข้าวสาลี (Wheat) มาทำเป็นมอลต์ด้วย จะได้เบียร์ที่เรียกว่า Weizembier หรือ Wheat Beer
ชาวเยอรมันจริงจังกับการทำเบียร์แค่ไหน ก็แค่มีหลักฐานเป็นการการออกคำสั่งเรื่อง ‘ความบริสุทธิ์ของเบียร์’ ในปี 1516 ถือเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการกำหนดลักษณะของเบียร์ โดยระบุว่า ‘อย่าใช้สิ่งอื่นใดนอกจากส่วนผสม 3 ชนิด ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ฮ็อปส์ และน้ำ’ ที่กลายมาเป็นมาตรฐานในการรักษาและปรับปรุงคุณภาพของเบียร์
ส่วนการที่คนทั่วโลกสามารถเอนจอยกับเครื่องดื่มสีทองพร้อมฟองละมุนได้ทุกเมื่อทุกเวลา อันนี้ต้องขอบคุณนักวิทย์หลายคน โดยคนที่มีส่วนสำคัญมากๆ ได้แก่ หลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้คิดค้นวิธีการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อป้องกันการหมักไวน์ซ้ำ จากทฤษฎีที่ว่าสิ่งมีชีวิตเกิดจากสิ่งมีชีวิตเท่านั้น วิธีการนี้ทำให้เบียร์มีอายุยาวนานขึ้น แฮนเซน ที่ค้นพบว่าการดัดแปลงเบียร์อาจเกิดจากยีสต์ป่าและการย่อยสลายของแบคทีเรียตามที่ปาสเตอร์กล่าวไว้ ทำให้สามารถแยกยีสต์เบียร์ที่ยอดเยี่ยมและพัฒนาวิธีการต้มเบียร์โดยใช้วิธีการเพาะเลี้ยงที่บริสุทธิ์ ลินเด ผู้คิดค้นตู้แช่แข็งแอมโมเนีย เนื่องจากเบียร์ต้องได้รับการหมักจนได้ที่ที่อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ ก่อนการกำเนิดของตู้แช่แข็ง บ่อยครั้งที่การหมักไม่คืบหน้าเนื่องจากสภาพอากาศและฤดูกาล แต่เมื่อมีตู้แช่แข็งแอมโมเนีย เราก็สามารถผลิตเบียร์ได้ทุกฤดู และ อเบอร์ ผู้คิดค้นหลักการบรรจุกระป๋อง ผู้คนในทั่วทุกมุมโลกจึงสามารถละเลียดฟองเบียร์ในกระป๋องที่มีรสชาติเสถียรในปัจจุบัน
ครั้งหน้าที่หยิบเบียร์ขึ้นดื่ม ลองนึกถึงเส้นทางอันยาวไกลและความวิริยะอุตสาหะของเหล่าบรรพบุรุษมนุษย์ที่คิดค้นพัฒนาเครื่องดื่มมหัศจรรย์นี้ แล้วส่งต่อเป็นความสุขบนโต๊ะอาหาร ในผับ ในคลับ หน้าเวทีคอนเสิร์ต ให้พวกเรามากว่าหมื่นปีกันนะคะ เอ้า ชนนนนนน!
ภาพ: https://th.wikipedia.org/ https://cdn.theculturetrip.com/ https://www.dailydot.com/ http://cdn.ecommercedns.uk/ https://www.golegal.co.za/
ที่มา: https://th.wikipedia.org/ / https://th.maboroshinosake.com/sake/beer/history / https://sites.google.com/a/email.kmutnb.ac.th/sirima/home/prawati-khxng-beiyr
บทความเพิ่มเติม
Aircraft Cola ‘โตล่าสด’ ที่อยากให้น้ำอัดลมเป็นมิตรกับคนมากขึ้น
Chit Beer คราฟต์เบียร์หัวดื้อของวิชิต ซ้ายเกล้า
Chimaek ทำไมคนเกาหลีต้องกินไก่ทอดกับเบียร์
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos