เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

กินปูไข่ได้มั้ย? คุกคามระบบนิเวศหรือเปล่า?

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

หยุดซื้อ หยุดกินปูไข่นอกกระดอง เมนูหายนะของพันธุ์ปู

เทรนด์การกินที่ถูกจุดให้ฟีเวอร์ขึ้นมาอย่างปูไข่ดอง ไม่ว่าจะดองน้ำปลา หรือดองซีอิ๊ว เมื่อผ่านสื่อที่ทรงพลังตามยุคสมัยอย่างยูทูบเบอร์สายกินที่แทบทุกช่องต้องเคยผ่านการรีวิวปูไข่ดอง และรีแอคชั่นซู้ดไข่ปูยั่วๆ บดๆ ชวนต่อมน้ำลายแตก เมื่อมาเจอกับบริการฟู้ดเดลิเวอร์รี เสิร์ฟเมนูปูและอาหารทะเลอื่นๆ จากหลายน่านน้ำทะเลไทยได้ถึงบ้าน ทุกอย่างรวดเร็วทันใจแค่คลิก ชนิดที่ไม่ต้องรอให้ถึงวันหยุดสุดสัปดาห์แล้วค่อยขับรถไปกินปูดอง อาหารทะเลเหมือนเมื่อก่อนกันแล้ว 

 

เกริ่นแบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะมาต่อว่าการตอบสนองแบบรวดเร็วทันใจนี่ว่าไม่ดีนะคะ แค่จะบอกว่าทำไมปูไข่ดองถึงนิยม เข้าถึงได้ง่ายทั้งๆ ที่เมนูนี้ก็มีมานาน แต่ความต้องการกินปูไข่ดองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่ละที่กลายเป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศทางทะเลแบบที่คนกินอย่างเราๆ คาดไม่ถึง 

 

ไข่ปูนอกกระดอง vs ไข่ปูในกระดอง 

 

ความต้องการที่มากขึ้น ทำให้จำนวนปูในน่านน้ำทะเลไทยลดลงจากที่เคยจับได้ และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ จนเกิดการรณรงค์ละเว้นการกินไข่ปูนอกกระดองที่เกาะอยู่ตรงจับปิ้งปูตัวเมีย พวงไข่เม็ดจิ๋วหลายสีทั้งสีเหลือง ส้ม น้ำตาลอมเทา ซึ่งแตกต่างกันตามระยะเวลาความอ่อนแก่ของไข่ ในหนึ่งพวงนั้นให้กำเนิดลูกปูได้มากถึง 4 แสนตัว จำนวนปูที่ลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นวิกฤตที่คนกินไม่รู้ แต่ชาวประมงที่หล่อเลี้ยงชีพด้วยความอุดมสมบูรณ์จากท้องทะเลนั้นรับรู้ได้ดี ในหลายพื้นที่จึงมีการจัดตั้งธนาคารปูขึ้น เช่น จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี จันทบุรี พังงา ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งจับปูม้าอันดับต้นๆ ของไทย เมื่อชาวประมงจับแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองได้ก็จะถูกนำมาพักที่บ่ออนุบาลรอจนปูวางไข่ หรือเขี่ยไข่ออกจากกระดองเมื่อถึงระยะเวลาและปล่อยลูกปูกลับคืนสู่ท้องทะเล 

 

 

สรุปว่าไข่ในกระดองปู กินได้ใช่มั้ย? 

 

หากอธิบายตามหลักธรรมชาติแล้ว ไข่ในกระดองปูอย่างที่เราเห็นบ่อยในเมนูปูไข่ดอง ปูไข่นึ่ง มันคือไข่ที่แม่ปูผลิตขึ้น เมื่อเต็มกระดองจะดันผ่านท่อน้ำเชื้อพร้อมผสมกลายเป็นไข่เม็ดเล็กๆ นับแสนฟองจับตัวเป็นก้อนอยู่ที่จับปิ้งปู การกินไข่ในกระดองปูจึงไม่ต่างกับการกินไข่นอกกระดอง ตรงที่มันเป็นการตัดวงจรชีวิตของปูรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ว่า ในแง่ของการทำประมง ชาวประมงไม่สามารถเลือกจับปูเฉพาะตัวที่ไม่มีไข่อยู่ในกระดองได้ หากเทียบกับปูไข่นอกกระดองซึ่งเห็นได้ชัดเจน สิ่งที่ชาวประมงทำได้คือไม่จับปูในฤดูวางไข่ ช่วงตุลาคมถึงธันวาคมของทุกปี ไม่ใช้อวนตาถี่ จับปูเฉพาะที่ตัวโตเต็มวัย หากมีปูไข่นอกกระดองติดอวนมาก็ปล่อยกลับคืนท้องทะเล นอกจากปูไข่ดอง ไข่ปูนึ่งซึ่งเป็นที่นิยม ยำปูม้า หรือส้มตำปูม้า ที่มักใส่ปูม้าตัวเล็กๆ เข้ามาด้วย 

 

 

 

แม้ไม่มีการรณรงค์ห้ามกินไข่ปูในกระดองเป็นรูปธรรมเหมือนห้ามกินไข่ปูนอกกระดองด้วยข้อจำกัดที่กล่าวมา แต่ในมุมคนกิน ไม่ว่าจะงดการกินปูไข่นอกกระดอง (ซึ่งเอาจริงๆ ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันอร่อยนะคะ) ไม่ซื้อ ไม่สนับสนุน เช่นเดียวกับเมนูยำปูม้า ส้มตำปูม้า ที่หลายร้านนิยมใช้ปูม้าตัวเล็กมาเพิ่มมูลค่าให้กับเมนูส้มตำ เพื่อเป็นการส่งสารจากคนกินถึงแม่ค้าที่นำปูมาขายกลับไปสู่ชาวประมง  หากจะกินปูไข่ในกระดองก็กินแต่พอดี เลือกอร่อยกับอาหารให้หลากหลายขึ้น ความต้องการที่สมดุลกับระบบนิเวศในธรรมชาติก็ช่วยให้เรามีกินไปได้อีกนาน  

Share this content

Contributor

Tags:

sustainable food, อาหารทะเล

Recommended Articles

Food Storyข้าวมันทะเลบ้านบังนี เรียบง่ายแต่เท่อย่างคนเรือ
ข้าวมันทะเลบ้านบังนี เรียบง่ายแต่เท่อย่างคนเรือ

ข้าวหุงกับกะทิและสมุนไพร กินกับอาหารทะเลสดใหม่เพิ่งแกะออกจากอวน อร่อยจนลืมอิ่ม

 

Recommended Videos