เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ขนมไหว้พระจันทร์ช่วยทวงคืนเอกราช เชื่อไหมล่ะ!

Story by พีรภัค จรเสมอ

ขนมไหว้พระจันทร์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อไหว้พระจันทร์ตั้งแต่ต้น แต่มีที่มาลึกซึ้งเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของบ้านเมือง

ใครมีเชื้อสายจีนคงคุ้นเคยกับขนมชนิดหนึ่งที่มีลักษณะกลมๆ คล้ายเค้ก มีไส้ข้างใน มักได้กินในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี นึกออกกันแล้วใช่ไหมว่ามันคือขนมอะไร?

 

ใช่แล้ว ‘ขนมไหว้พระจันทร์’ นั่นเอง เป็นขนมที่ลูกๆ หลานๆ เชื้อสายจีนร้อยทั้งร้อยต้องรู้จัก แต่อาจมีเพียงไม่กี่คนที่รู้ถึงที่มาที่ไปของมัน โดยขนมไหว้พระจันทร์เป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายเค้ก ทำจากแป้งสาลีชนิดพิเศษนวดผสมน้ำเชื่อม ใส่ไส้แล้วกดลงบนแม่พิมพ์ จากนั้นก็นำไปอบ ชาวจีนเชื่อว่าขนมไหว้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความกลมเกลียวสามัคคี รูปร่างทรงกลมนั้นหมายถึงความสมบูรณ์และการอยู่ร่วมกัน พระจันทร์เต็มดวงแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองและการกลับมารวมกลุ่มกันใหม่ซึ่งในที่นี้หมายถึงครอบครัว ขนมไหว้พระจันทร์จะถูกตัดออกเป็นเสี้ยวๆ เพื่อแบ่งให้สมาชิกในครอบครัวได้กินร่วมกันนำไปให้ญาติๆ หรือเพื่อนเพื่อแสดงความรักและเป็นการอวยพรด้วย ขนมไหว้พระจันทร์จึงไม่ได้ถูกมองเป็นเพียงแค่อาหาร แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่หยั่งลึกไปในจิตใจของชาวจีน เป็นสัญลักษณ์ของความรู้สึกทางจิตใจ

 

 

 

นับเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 100 ปีที่ขนมไหว้พระจันทร์ถือกำเนิดขึ้น โดยมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศจีนอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ก่อนพุทธกาลในรัชสมัยราชวงศ์โจว จักรพรรดิมักจะสักการะบูชาพระจันทร์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงโดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเจริญงอกงามและมีความอุดมสมบูรณ์ในปีต่อๆ ไป พอถึงสมัยราชวงศ์ถัง การไหว้พระจันทร์ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นทั้งในราชวัง กลุ่มชนชั้นสูง จนถึงประชาชนทั่วไป

 

แต่ขนมไหว้พระจันทร์มีบทบาทแฝงสำคัญที่สุดเมื่อจีนถูกยึดครองโดยกุบไลข่านแห่งจักรวรรดิมองโกล พร้อมสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นในช่วงปี พ.ศ.1822 ตอนนั้นสภาพสังคมย่ำแย่เพราะชาวจีนถูกกดขี่ มีการส่งทหารมองโกลไปประจำบ้านทุกบ้านเพื่อควบคุมอย่างใกล้ชิด ผู้นำกบฏนามว่าหลิวปั๋วเวิน (Liu Bowen) ต้องการเอกราชและปลดแอกชาวจีนจากสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ จึงเกิดไอเดียแจกจ่ายขนมไหว้พระจันทร์ให้กับทุกๆ บ้านในช่วงเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วงหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid-Autumn Festival) โดยในขนมไหว้พระจันทร์ทุกชิ้นจะมีกระดาษข้อความว่า “ให้ฆ่าทหารมองโกลพร้อมกันในวันเพ็ญที่ 15 เดือน 8 เวลายาม 3” (ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) หลังจากนั้น ชาวจีนก็ได้รับชัยชนะ ปลดแอกจากมองโกล ที่แผนนี้สำเร็จด้วยดีและผ่านฉลุยก็เพราะทหารมองโกลไม่กินขนมไหว้พระจันทร์นั่นเอง นับเป็นความภาคภูมิใจและความสามัคคีของชาวจีนที่ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้เพื่อให้ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา เหตุนี้ขนมไหว้พระจันทร์จึงมีคุณค่าทางจิตใจต่อชาวจีนในสมัยนั้นมาก

 

 

สำหรับขนมไหว้พระจันทร์นั้น มีหลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ในประเทศจีน มีทั้งแบบปักกิ่ง ยูนนาน ฮ่องกง แต่ที่ผู้คนนิยมนำมาไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์มากสุดคือ แบบกวางตุ้ง ที่เราเห็นได้ตามท้องตลาดทั่วไปในปัจจุบันนี้ รสชาติดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณ ได้แก่ ไส้ลูกบัว ถั่วแดง ฟัก ทุเรียน และพุทราจีน กระทั่งภายหลังจึงมีการริเริ่มคิดค้นไส้ใหม่ๆ มากมายเพื่อปรับให้เข้ากับยุคสมัย เช่น ไส้ส้มช็อกโกแลตลาวา ไส้เบอร์รีผสมอาซาอิเบอร์รี ไส้อินทผลัมธัญพืช ไส้พุทราชามะลิ ไส้มันม่วง ฯลฯ

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, อาหารจีน

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด

 

Recommended Videos