เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

พรหมพิริยะ สอนศิริ เชื่อมั่นสายพันธุ์ควายไทยดีที่สุดในโลก

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

'นมควายพาสเจอร์ไรซ์' จากสายพันธุ์ควายไทยแท้ๆ แห่งแรกของประเทศ ที่ ‘สอนศิริฟาร์มควายไทย’

ควายไทยผิวเผือกตัวสูงใหญ่ เขาโค้งงอนยาวราวจันทร์เสี้ยว สูงเกือบ 170 เซนติเมตร ที่มีชื่อจริงและชื่อเล่นรวบไว้ในชื่อเดียวว่าแก้วฟ้า คือพ่อพันธุ์ควายไทยระดับแชมป์ประเทศ ที่ทำเราตกตะลึงในความกำยำ แข็งแกร่งดุจกระทิงเชื่องๆ ยืนเคี้ยวเอื้องอย่างสบายอารมณ์ จนแทบไม่เชื่อสายตาตัวเองว่ามันคือควายไทย และเป็นพ่อควายพันธุ์ดีของ ‘สอนศิริฟาร์มควายไทย’

 

ฟาร์มควายไทยแห่งแรกที่ผลิตน้ำนมควายพาสเจอร์ไรซ์ และเพียงชื่อ ‘น้ำนมควายไทย’ นี่แหละ ที่จุดชนวนความสนใจให้เรามาเยือนฟาร์มแห่งนี้ ใช่ว่าตื่นเต้นกับน้ำนมควาย เพราะหลายปีแล้วที่บ้านเรามีควายมูร่าห์สายพันธุ์จากอินเดียที่เลี้ยงไว้ให้นมโดยเฉพาะ แต่กับน้ำนมควายไทยพาสเจอร์ไรซ์ที่นี่นับเป็นแห่งแรกและแห่งเดียว เราจึงเดินทางมาพบกับคุณเอก พรหมพิริยะ สอนศิริ เจ้าของฟาร์มในจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อลิ้มรสน้ำนมควายสายพันธุ์ไทยแท้ๆ

 

 

ควายไทยพันธุ์ดี

 

ก่อนจะไปลองจิบนมควาย พี่เอกชวนเราไล่เดินดูโรงเรือนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่เลี้ยงวัวสายพันธุ์นอก กระทั่งถูกควายไทยกว่า 300 ตัวยึดครองเต็มพื้นที่โรงเรือนทั้ง 6 ในฟาร์มแห่งนี้ เมื่อพี่เอก อดีตเจ้าของฟาร์มวัวที่ตัวเลขผลประกอบการไม่สู้ดีนัก ตัดสินใจเปลี่ยนมาเลี้ยงควายไทยราว 5 ปีก่อน

 

“เราลองเปิดใจศึกษาดูว่าสัตว์ของไทยมีอะไรบ้างที่ดีสุดในโลก เลยมาพบว่าควายไทยเรานี่แหละ ถ้าเป็นพันธุ์วัวดีอาจต้องมาจากต่างประเทศ แต่ถ้าเป็นพันธุ์ควายดีที่สุดในโลกต้องควายไทย มีความเชื่อง เนื้อเยอะกว่าควายของอินเดีย อย่างที่อเมริกาก็มีฟาร์มควายไทยนะ เขาขายเนื้อควาย คนจะกินก็ต้องพิเศษคือมีเงิน เพราะค่อนข้างแพง หรือหมอแนะนำให้กิน ถ้าหมอเห็นคุณมีคอเลสเตอรอลก็จะสั่งให้เปลี่ยนจากเนื้อวัวมากินเนื้อควายคุณภาพดี เพราะไขมันน้อยกว่า เนื้อควายถึงราคาแพงกว่าวัว 2-3 เท่า ในยุโรปและอเมริกา

 

“เราก็เริ่มเพาะพันธุ์ควายเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาด พันธุ์ควายไทยนั้นตัวใหญ่ น้ำหนักเยอะ โดยระยะเวลาการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะอยู่ที่ 6 เดือน ถึง 1 ปี”

 

 

ในไทยการบริโภคเนื้อควายอยู่ในระดับไหน

 

บ้านเรายังไม่นิยมกินเท่าไร ด้วยประเพณีนิยมที่ว่าควายเป็นสัตว์ทำนาข้าวให้เรากิน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีควายไถนาแล้วนะ เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงบอดี้ควาย อย่างควายทำนาตัวจะเล็ก เดี๋ยวนี้จะเห็นว่าตัวใหญ่ เนื้อควายไทยเราก็ส่งออกไปจีน เวียดนาม เวียดนามเขาเอาไปทำเนื้อกระป๋อง หรือในเฝอเขาก็ใส่เนื้อควาย ไม่ค่อยใช้เนื้อวัว เพราะเนื้อวัวต้องขุนให้ตัวโตก่อนเอาเนื้อไปทำอาหาร มันมีไขมันเยอะ ถ้าเอาไปทำเนื้อกระป๋องเปิดมาก็จะเจอแต่ไขมันลอย ไม่น่ากิน เวียดนามนี่ทำเนื้อกระป๋องส่งไปแอฟริกา ไปตะวันออกกลางเยอะสุด

 

แต่ถ้าในไทยคนกรุงเทพฯ กินเยอะแต่ไม่รู้ เห็นลูกชิ้นเนื้อสีดำๆ ไหม นั่นแหละเนื้อควายทั้งนั้น เป็นควายแก่ปลดประจำการ เนื้อมันเหนียว พอเอามาตีเป็นลูกชิ้นแล้วมันจะฟู แต่ไม่ค่อยมีเนื้อควายดีๆ ที่เอาไปบุชเชอร์ขายเป็นชิ้นๆ

 

ควายไทยพันธุ์ดี แล้วทำไมบ้านเราไม่ค่อยมีฟาร์มควายไทย

 

ควายไทยพื้นบ้านพื้นเมืองเราเนี่ยอึด ทนโรค ทนต่อสภาพอากาศ แต่ของอะไรที่ใกล้ตัวก็ไม่มีใครสนใจพัฒนา เมื่อ 30-40 ปี เลี้ยงมายังไงก็เลี้ยงอยู่อย่างนั้น แล้วมัวแต่ไปเอาวัวเอาควายต่างชาติมาเลี้ยง โดยที่ไม่รู้เลยว่าพื้นฐานธรรมชาติบ้านเรา วัวควายที่เอามาจะอยู่ได้ไหม อยู่ได้ด้วยดีหรือเปล่า บางทีซื้อวัวจากต่างประเทศเป็นพ่อแม่พันธุ์ ตัวละ 4-5 แสน มาถึงไทยก็ตาย เพราะการเลี้ยงมันไม่เข้ากัน อากาศต่างกัน

 

 

จากเพาะพันธุ์ควายขาย รู้ได้อย่างไรว่านมควายไทยก็กินได้ ถึงกับผลิตนมควายพาสเจอร์ไรซ์ออกมา

 

บังเอิญมีคนงานพม่าแถวนี้ น้องชายเขาป่วย ปวดท้องมา 3 วันแล้ว เลยมาขอนมควายจากเรา เขาบอกว่าที่บ้านเขาถ้าไม่สบายแบบนี้กินนมควายก็หาย เราก็รีดนมได้นิดหนึ่งให้เขาไป แล้วก็ไปซื้อนมจากควายมูร่าห์มาเตรียมไว้ให้ เผื่อเขาไม่หายแล้วมาเอาเพิ่ม มันก็จุดประกายขึ้นตรงนี้ แต่ยังไม่ได้ทำตอนนั้นนะ

 

กระทั่งควายเราคลอดลูก แล้วลูกควายตายเหลือแต่แม่ควาย นมก็คัดเต้า ไม่มีลูกควายกินเลยต้องรีดนมทิ้ง ไม่อย่างนั้นเต้านมจะอักเสบ เราเลยลองเอานมมาพาสเจอไรซ์ ชิมดู ซื้อนมควายมูร่าห์มาเปรียบเทียบกันดูด้วยว่าเป็นยังไง เออ กินได้แล้วก็ลองเอาไปตรวจวัดคุณภาพของกรมปศุสัตว์ ปรากฏว่านมควายไทยเราดีเกินคาด แคลเซียมสูงกว่านมวัวถึง 2 เท่าจากนั้นก็ทำมาเรื่อยๆ เริ่มทำตั้งแต่ต้นปี 2561 จนมีเอเจนต์ติดต่อซื้อไปจำหน่าย

 

แฮปปี้บัฟ แฮปปี้มิลค์

 

พี่เอกส่งขวดแก้วบรรจุนมควายพาสเจอร์ไรซ์แช่เย็นให้ลองชิม ตามด้วยผลิตภัณฑ์จากนมควายอย่างโยเกิร์ต พุดดิ้ง โดยมีข้อแม้เพียงข้อเดียวคือ “ต้องกินให้หมด อย่าให้เหลือนะครับ เพราะเราตั้งใจทำ”

 

ธรรมดาที่ความรู้สึกเราจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘นมวัว’ มากกว่า ‘นมควาย’ เลยอาจทำให้เราและรวมถึงลูกค้าที่ไม่เคยกินนมควายมาก่อนเกิดอาการเกร็งๆ ก่อนดื่ม แต่เมื่อได้ดื่มนมควายเย็นๆ ละเมียดละไมอยู่ไม่กี่วินาทีก็ดื่มรวดเดียวหมด น้ำนมหอมอ่อนๆ ไม่มีกลิ่นเหมือนนมวัว รสชาติมันกว่าแต่ได้สัมผัสที่บางเบากว่า ไม่ทิ้งความหนืดเหนียวไว้ในปากและลำคอ ส่วนเนื้อโยเกิร์ตและพุดดิ้งนั้นทำออกมาได้ดีมาก โดยเฉพาะโยเกิร์ตที่เนื้อแน่นหนึบ รสเปรี้ยวมันกำลังดีนี้เป็นสูตรที่พี่เอกคิดค้นขึ้นมาเอง รวมไปถึงมอซซาเรลลาชีสที่ผลิตขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวตามแต่จะสั่ง

 

 

มีวิธีสื่อสารกับลูกค้ายังไงให้เขาเปิดใจลอง เพราะไม่ลองก็ไม่รู้เลยว่านมควายอร่อย

 

เหนือสิ่งอื่นใดคือเราต้องทำให้สะอาดที่สุด ให้เขารับรู้ว่าระบบเราสะอาดแค่ไหน เพราะแค่คำว่านมควายคนก็จะติดภาพควายตามทุ่งนา กลิ่นโคลนสาบควาย ควายของพี่เลี้ยงดียิ่งกว่าวัวนมอีกนะ สังเกตดูที่ผิว ความสะอาดของมันสิ ความสะอาดนี่สำคัญ เราเลี้ยงให้สะอาดเวลารีดนมก็จะสะอาด ต้องดูแลให้ดีตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เรียกว่าเลี้ยงแบบประณีต

 

ในความประณีต ต้องทำอะไรบ้าง เท่าที่สัมผัสได้คือสะอาด และแทบไม่มีกลิ่นอย่างฟาร์มอื่นๆ เลย

 

มีโรงเรือนเรียบร้อยถูกสุขลักษณะ ทำความสะอาดให้ดี ให้อยู่อย่างสบาย ควายก็เหมือนคน ถ้ากินไม่อิ่มนอนไม่อุ่นก็สุขภาพไม่ดี อีกอย่างคือระบบสะอาดมันป้องกันโรค ไม่มีแมลงสักตัว แมลงวันไม่มี เหลือบ ยุง ริ้น ไรก็จะไม่มี ควายมีความอึดทนต่อโรคและสภาพอากาศอยู่แล้ว ยิ่งเราเลี้ยงในระบบโรงเรือนที่มีการพ่นหมอกไอน้ำทุกชั่วโมงเพื่อคลายความร้อนให้เขา อาหารเราก็หามาให้กิน เขามีความเป็นอยู่ที่ดีก็มีความสุข เลยมีคนเรียกนมควายของเราว่า แฮปปี้บัฟ แฮปปี้มิลค์

 

 

 

อาหารที่หามาให้เขากินมีอะไรบ้าง

 

เราให้อาหารธรรมชาติ มีฟาง มีหญ้าเขียว ทำเลที่ปราจีนบุรีเป็นดินดำน้ำชุ่ม มีบ่อเลี้ยงปลาเยอะ เลยมีหญ้าเขียวให้กินตลอดทั้งปี เพราะตรงคันบ่อจะมีหญ้าเขียวขึ้นรอบๆ เจ้าของบ่อก็ไม่ต้องพ่นยาฆ่า เราจะไปดูแลคันบ่อให้เขาด้วยการตัดหญ้ามาให้ควายเรากิน เราไม่ต้องปลูก ควายเลยได้กินหญ้าธรรมชาติ วันหนึ่งนี่เขากินประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เช่น หนัก 500 โลฯ ก็กินวันละ 50 กิโลฯ เราก็ต้องไปตัดหญ้าวันละ 5-6 คันรถ

 

ควายอยู่ดีกินดี เลยเป็นที่มาของฉายาแฮปปี้มิลค์

 

ทั้งแม่ควายลูกควาย ทั้งคนเลี้ยง ต้องมีความแฮปปี้ที่ได้อยู่ด้วยกัน อย่าสร้างความลำบากให้กัน อย่างแม่ควายกับลูกควายก็ให้เขาอยู่คอกเดียวกัน ใน 8 ชั่วโมงเขาจะให้นม 1 รอบ เท่ากับใน 1 วัน เรารีดได้ 3 รอบ แต่ไม่เอา เรารีดแค่รอบเดียว เพราะไม่ได้เน้นปริมาณเราเน้นคุณภาพ นมที่เหลืออีก 2 รอบก็ให้ลูกเขากิน ให้ลูกมีความผูกพันกับแม่ มีความสุขด้วยกัน

 

แล้วระหว่างรีด เราก็ค่อยๆ รีด ไม่ได้เร่ง ควายก็จะค่อยๆ หลั่งนม หลั่งฮอร์โมนความสุขออกมา คนเลี้ยงเองก็ต้องมีความสุข สมมุติวันนี้ติดงานอื่นๆ มารีดนมไม่ได้ ก็ไม่ต้องรีด ไม่ต้องกังวลว่านมจะเสียคาเต้าหรือเต้านมจะอักเสบ เพราะเราปล่อยให้ลูกควายเขากินไปเลย แต่ถ้าเราแยกลูกกับแม่ รีดนมจนหมดแล้วให้ลูกกินนมผง ลูกอาจจะท้องเสียต่างๆ นานา ฟาร์มนั้นก็จะมีเชื้อเยอะ คราวนี้ก็ต้องเอายาเข้ามาช่วย แล้วถ้ารีดนมออกไม่หมด นมในเต้าก็จะเสีย ก็ต้องอาศัยยาอีก แต่นี่เราให้ลูกควายเขากินต่อ ฟาร์มเราเลยเป็นฟาร์มปลอดการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย

 

 

กลุ่มลูกค้าหลักคือใคร

 

นอกจากคนทั่วไป ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเราคือเด็กที่แพ้นมวัว อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปกินได้ เพราะแม่บางคนไม่พร้อมที่จะให้นมลูก ไม่มีนมให้ลูกกิน แล้วลูกก็แพ้นมวัวด้วย นมควายมีแคลเซียมสูงกว่านมวัวสองเท่านะ มีไขมัน มีโปรตีน ถ้าเทียบนมควายกับนมผง นมควายอาจแพงกว่า แต่เวลาไปเจอกรด เจอน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร นมควายจะจับตัวเป็นเคิร์ด เด็กจะอิ่มนานกว่ากินนมผง

 

 

ทิศทางเติบโตของตลาดนมควายในบ้านเรา

 

มีเกษตกรทำตามบ้างแล้ว ซึ่งเราอยากเห็นการต่อยอด อยากเห็นฟาร์มนมที่แปรรูปชีสจากนมควายส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมอซซาเรลล่าที่อร่อยก็ทำมาจากนมควาย แต่เริ่มต้นเกษตรกรต้องพึ่งตนเองได้ก่อน ต้องเป็น smart farmer คือมีความรอบรู้ทุกอย่าง ทำเองได้ตั้งแต่การเลี้ยง การผสมเทียม ครบวงจร อย่างโยเกิร์ต พุดดิ้ง พี่ก็คิดค้นแปรรูปเอง

 

อาหารที่ควายกินเข้าไปก็แปรรูปออกมาเป็นปุ๋ยได้ อย่างควายตัวเมียกินไป 50 กิโล ก็ออกมาเป็นมูล 25 กิโล ตัวผู้ก็อยู่ที่ 30-35 กิโล เพราะตัวใหญ่กินเยอะ เราก็ต้องคำนวณว่าจะได้มูลเป็นปุ๋ยกลับมาวันหนึ่งจำนวนเท่าไร คือการที่เราจะส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงควายมากขึ้น เราต้องให้เขาเห็นว่าจะได้อะไรกลับมาเท่าไร เขาต้องรู้จักใช้ของที่อยู่ในท้องไร่ ท้องนาอย่างหญ้ามาเป็นประโยชน์ให้มากสุด

 

ผู้บริโภคที่อุดหนุนเกษตรกรรายย่อย เกษตรกรก็มีกำลังใจทำสิ่งดีๆ มีคุณภาพต่อไป เกษตรกรก็จะอยู่ในบ้านเราอย่างมีคุณภาพ

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

Dairy Product, คุยกับผู้ผลิต, อาหารออร์แกนิก

Recommended Articles

Food StoryLemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข
Lemon Farm ธุรกิจที่เชื่อในมนตราของอาหาร คนทำชีวิตดี คนกินมีความสุข

หัวใจในการขับเคลื่อนธุรกิจคือโอบอุ้มความอยู่รอดของผู้ผลิตอาหาร และสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค