เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘กินแล้วนะคร้าบ’ คนญี่ปุ่นบอกใครและบอกทำไมก่อนจะกินอาหาร

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

'อิทะดะคิมัส' ถ้อยคำมหัศจรรย์ที่ปลูกฝังความขอบคุณลงในดีเอ็นเอของชาวญี่ปุ่น

เชื่อว่าคอการ์ตูนญี่ปุ่นทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับฉากบนโต๊ะอาหาร ที่ทุกคนในครอบครัวจะมานั่งกันพร้อมหน้า ก่อนจะพนมมือแล้วพูดคำว่า “กินแล้วนะครับ” หรือ “กินแล้วนะคะ” แล้วจึงเริ่มกินอาหารกันอย่างเอร็ดอร่อย การ์ตูนญี่ปุ่นแทบทุกเรื่องที่มีฉากล้อมวงกินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นชินจังจอมแก่น โดราเอม่อน หรือว่าหนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจังก็ตามล้วนมีภาพนี้ให้เห็น

 

 

เมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทย ตัวละครเหล่านี้จะพูดว่า “กินแล้วนะคร้าบบบ” ลากเสียงยาวเหยียดสดใส ยิ่งยาวเท่าไรก็เหมือนยิ่งบอกความอยากกินมากเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว คำนี้ในภาษาญี่ปุ่นคือ いただきますหรือ อิทะดะคิมัส (itadakimasu) นั่นเอง

 

อิทะดะคิมัส ด้วยความหมายในคำแล้ว ไม่ได้หมายถึงการ ‘กินแล้วนะครับ’ อย่างที่แปลมาเป็นภาษาไทยแต่อย่างใด หากเขียนด้วยตัวคันจิ อิทะดะคิมัสจะเขียนเป็น 頂きます ซึ่งตัวคันจิ 頂 มีความหมายสื่อถึงการ ‘ได้รับ’ บางอย่าง ทั้งยังอาจหมายถึงสิ่งที่อยู่สูงเหนือหัวได้ด้วย

 

 

ในอดีต เมื่อชาวญี่ปุ่นได้รับสิ่งของใดๆ จากบุคคลผู้มีสถานะสูงกว่า ก็มักจะยกสิ่งนั้นขึ้นเหนือระดับศีรษะเพื่อแสดงความเคารพและแสดงความขอบคุณ เช่นเดียวกับเมื่อได้กินอาหาร ก็เหมือนกับการได้รับของจากพระเจ้า ดังนั้นคำว่า 頂く(itadaku) จึงเป็นคำถ่อมตน (1) ที่หมายถึง กิน (食べる- taberu) หรือ ได้รับ (もらう- morau) การเอ่ยคำว่า อิทะทะคิมัส ความหมายตรงตัวจึงไม่ได้หมายถึง ‘กินแล้วนะครับ’ แต่หมายถึง “I humbly receive” คือการรับอาหารมื้อนี้ไว้ด้วยความถ่อมตน

 

จากบริบทแล้ว การกล่าวคำว่า อิทะดะคิมัส หรือที่เรามักแปลเป็นไทยว่า ‘กินแล้วนะคร้าบบ’ จึงเป็นการเปล่งเสียงออกมาเพื่อขอบคุณที่ได้รับอาหารมื้อนี้ ซึ่งหมายถึงการขอบคุณทั้งคนที่มีส่วนในอาหารมื้อนี้ ชาวนา เกษตรกร ชาวประมง คนเลี้ยงสัตว์ จนถึงคนปรุงอาหารซึ่งมักหมายถึงคุณแม่ และรวมถึงการขอบคุณวัตถุดิบในมื้ออาหารด้วย เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่า ไม่เพียงแต่สัตว์ต่างๆ เท่านั้นที่มีชีวิต แต่พืชผักผลไม้ก็มีชีวิตเช่นเดียวกัน และมื้ออาหารแต่ละมื้อของเราก็คือการเสียสละชีวิตเหล่านั้น คำว่าอิทะดะคิมัสในแง่หนึ่งจึงหมายถึงการได้รับชีวิตของวัตถุดิบเหล่านี้เพื่อต่อชีวิตของเราในแต่ละมื้อด้วยเช่นกัน

 

 

ชาวญี่ปุ่นจะปลูกฝังให้รู้จักขอบคุณอาหาร กินอาหารด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนตั้งแต่เล็ก ในครอบครัวเอง ทุกคนจะต้องนั่งลงพร้อมหน้าที่โต๊ะอาหาร รอจนอาหารสำหรับทุกคนพร้อมแล้ว ก็จะพนมมือแล้วพูดคำว่า “อิทะดะคิมัส” พร้อมกันก่อนกิน จะไม่มีใครกินก่อนหรือกินทีหลัง ในโรงเรียนแม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ก็จะต้องรอจนอาหารพร้อม และพูดคำว่าอิทะดะคิมัสเช่นกัน

 

นอกจากถ้อยคำที่ต้องพูดก่อนกินอาหารแล้ว ยังมีคำว่า โกะชิโซสะมะ (ごちそうさま–gochisosama) สำหรับพูดเมื่อกินอาหารมื้อนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับอาหารมื้อนั้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่ออาหารมื้อนั้นมีเจ้ามือเป็นรุ่นพี่หรือเป็นเจ้านาย จะต้องพูดคำว่า โกะชิโซสะมะเดส (ごちそうさまです – gochisosamadesu) หรือ โกะชิโซสะมะเดชิตะ (ごちそうさまでした– gochisosamadeshita) เพื่อแสดงความขอบคุณให้กับคนที่จ่ายเงินสำหรับมื้ออาหารนี้

 

 

คนญี่ปุ่นที่อายุมากยังคงนิยมพูดคำนี้กับเชฟหรือพ่อครัวแม่ครัวอยู่ แม้จะจ่ายเงินกินอาหารเองนอกบ้านก็ตาม ส่วนคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่หลายคนให้ความเห็นว่า เมื่อเป็นการจ่ายเงินซื้ออาหารกินเอง คำว่า โกะชิโซสะมะ ก็อาจไม่จำเป็นต้องพูดแต่อย่างใด เพราะการพูดว่า โกะชิโซสะมะ ในปัจจุบัน มีความหมายเหมือนกับ ‘ขอบคุณที่เลี้ยงอาหาร’ หากแต่ความหมายดั้งเดิมอาจลึกซึ้งกว่านั้น

 

โกะชิโซสะมะ เขียนด้วยคันจิได้ว่า ご馳走様 ในตัวคันจิ 馳 (chi) จะมีตัว 馬 ซึ่งแปลว่า ม้า ประกอบอยู่ ส่วนตัว 走 (sou) ก็หมายถึงการวิ่ง เนื่องจากว่า ในอดีต การเตรียมอาหารต้อนรับแขก เจ้าบ้านจะต้องขี่ม้าเดินทางเพื่อเสาะหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาทำอาหาร การพูดว่า “โกชิโซสะมะ” จึงเป็นการขอบคุณที่เจ้าบ้านเสียเวลา เสียแรง วิ่งหาอาหารที่ดีที่สุดมาให้ในมื้อนี้ การกล่าวคำนี้กับพ่อครัวแม่ครัวที่ทำอาหารให้จึงหมายถึงการชื่นชมว่าอาหารมื้อนี้อร่อยมากนั่นเอง แต่ด้วยความหมายที่เปลี่ยนไปอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ปัจจุบันหากไปกินอาหารกับรุ่นพี่ โดยที่ไม่ได้ตกลงปลงใจกันว่าจะเลี้ยง การพูดคำว่าโกะชิโซสะมะอาจกลายเป็นการบังคับให้รุ่นพี่ต้องควักกระเป๋าจ่ายอย่างกระอักกระอ่วนก็เป็นได้

 

 

เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลก ญี่ปุ่นเองก็กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมายที่ทำให้หลายครอบครัวไม่ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันเหมือนในอดีต หากแต่มนต์ขลังของคำว่า “อิทะดะคิมัส” ยังคงถ่ายทอดความรู้สึกขอบคุณต่อมื้ออาหารตรงหน้าได้เป็นอย่างดีอยู่เสมอ

 

(1) คำถ่อมตน (謙譲語 :kenjougo) คือคำสุภาพรูปแบบหนึ่งที่มักใช้เพื่อลดระดับให้ตัวเองต่ำลง เป็นการยกย่องและให้เกียรติฝ่ายตรงข้ามหรือผู้ที่กำลังถูกพูดถึง

 

ข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

https://www.iromegane.com/japan/culture/why-japanese-say-itadakimasu-together-before-they-eat/

 

https://cotoacademy.com/itadakimasu-and-gochisousamadesu/

 

https://press.ikidane-nippon.com/th/a00513/

 

https://www.nippon.com

 

https://goodmanners.tokyo/

 

https://www.wacoca.com

 

https://www.nutas.jp

 

https://foodhub.co.jp

Share this content

Contributor

Tags:

วัฒนธรรมอาหารรอบโลก, อาหารญี่ปุ่น

Recommended Articles

Food Storyเครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?
เครื่องบะกุดเต๋ มีอะไรบ้างนะ?

ชวนทำความรู้จักกับเครื่องยาและสรรพคุณ จากบะกุดเต๋หม้อโปรด

 

Recommended Videos