จากอาหารศักดิ์สิทธิ์ สู่การค้าทาส กว่าจะมาเป็นของหวานยอดนิยมของช็อกโกแลต
น้อยคนจะรู้ว่าแต่เดิม ขนมหวานอันเป็นตัวแทนของความรักและความสุขอย่างช็อกโกแลตนั้น ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในสถานะ ‘อาหารศักดิ์สิทธิ์’ ที่เป็นเหมือนของขวัญจากพระเจ้าและเป็นอย่างนั้นอยู่นานกระทั่งอาหารศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ทำให้มนุษย์ต้องยื้อแย่งให้ได้มาตลอดหลายยุคสมัย
ครั้งแรกๆ ที่มนุษยชาติรู้จักช็อกโกแลตนั้น คือราว 2 พันปีก่อนคริสตกาล เมื่อสมาชิกชนเผ่าโอลเมค (Olmecs) ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำอะแมซอนหรือแถบๆ ทวีปละตินอเมริกาในปัจจุบัน ค้นพบผลไม้มหัศจรรย์สีสันสดใสที่ด้านในมีเมล็ดคล้ายถั่วซ่อนไว้เต็มไปหมดและเมื่อนำเมล็ดของมันมาบดผสมกับน้ำดื่มก็ช่วยทำให้ตื่นเต็มตาเรียกกำลังวังชาได้อย่างดีเลิศ แถมยังมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการป่วยไข้และช่วยให้อารมณ์ดีได้อีกต่างหาก เผ่าโอลเมคจึงเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า ‘คาเคา’ (Cacao) และถือว่าเป็นผลไม้วิเศษที่พระเจ้าประทานให้
สรรพคุณดีงามของคาเคา ทำให้มันแพร่ความนิยมไปทั่วลุ่มน้ำอะแมซอน สู่อีกหลายชนเผ่าที่มีอารยธรรมรุ่งเรืองในสมัยนั้น ทั้งเผ่ามายาและแอสเท็กซ์ ซึ่งส่งต่อสูตรลับในการปรุงคาเคามารุ่นสู่รุ่น กระทั่งเวลาผ่านไปนับพันปี ผลไม้มหัศจรรย์ผลนี้จึงได้เวลาออกเดินทางครั้งใหม่ ผ่านการค้าและการเมือง
‘คาเคา’ ของขวัญเมืองขึ้น
เวลาผ่านมาถึงยุคล่าอาณานิคมราวศตวรรษที่ 15-16 ช่วงที่ประเทศฝั่งยุโรปพากันล่าดินแดนฝั่งละตินอเมริกาเพื่อหวังทรัพยากรและแรงงานส่งกลับมายังประเทศแม่ เพื่อสนับสนุนให้ระบบทุนนิยมเสรีที่กำลังตั้งต้นพัฒนาอยู่ในขณะนั้นเติบโตอย่างรุดหน้า กว่านั้นพลวัตในการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศฝั่งยุโรปยังเร่งเร้าให้การแสวงหาพื้นที่ใหม่ในการทำกำไรเป็นไปอย่างสู้ตาย นำหน้าโดยสหราชอาณาจักรโปรตุเกสและสเปน
โดยเฉพาะสเปนนั้น มุ่งหน้าล่าอาณานิคมในแถบละตินอเมริกาอย่างหนัก ด้วยมีทรัพยากรสำคัญทั้งแร่เงิน แร่ทอง พืชเศรษฐกิจ รวมถึงแรงงานชนเผ่าพื้นเมืองที่มีลักษณะประณีประนอมยอมอ่อนข้อให้กับเจ้าอาณานิคม สุดท้ายนักสำรวจชาวสเปนนามเฮอร์นันโด กอร์เตส (Hernando Cortes) ก็เดินหน้าเข้าเจรจาการค้าและการทูตกับจักรวรรดิแอสเเท็กซ์ ซึ่งขณะนั้นปกครองโดยกษัตริย์นามมอนเตซูมา (Montezuma) ซึ่งจังหวะเวลานั้นเองที่กอร์เตสได้ชิมรสของ ‘คาเคา’ เป็นครั้งแรก ในฐานะเครื่องดื่มรสขมปร่าที่ใช้สำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และคาเคาคงสร้างความประทับใจให้เขาไม่น้อยเพราะหลังจากนั้นกอร์เตสได้นำผลคาเคาใส่ลำเรือมุ่งหน้ากลับไปถวายพระราชาสเปน
และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ชาวยุโรปได้รู้จักกับ ‘คาเคา’ เป็นครั้งแรก
ทว่ายังไม่ใช่คาเคาในแบบของช็อกโกแลตอย่างที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ เพราะในคราวนั้นมันยังมีสถานะคล้ายยา รสขมปร่า ใช้ดื่มสำหรับบรรเทาอาการป่วยไข้ หรือเป็นอาหารสำหรับต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และแพร่หลายอยู่เฉพาะแวดวงชนชั้นสูงเท่านั้น แถมการดื่มน้ำคาเคายังมีพิธีกรรมซับซ้อนมากมาย เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มที่สะท้อนสถานะทางสังคมระดับลึกซึ้ง คล้ายกับพิธีชงชาอันละเอียดลออของชาวญี่ปุ่นอย่างไรอย่างนั้น
การบริโภคคาเคาของชาวยุโรปดำเนินไปอย่างเนิบช้า และจำกัดอยู่ในเฉพาะแวดวงชั้นสูงหรือผู้มีอันจะกิน ในระยะแรกจึงไม่เกิดปัญหาคาเคาขาดตลาดหรือภาวะแก่งแย่งซื้อขายคาเคาแต่อย่างใด ทำนองว่าเป็นของแพงที่ขายเฉพาะคนรวย และในละตินอเมริกาเองก็มีต้นคาเคาอยู่มากมายเหลือกิน
กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเดินทางมาถึง…
เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 16 การแข่งขันทางการค้าของบรรดานายทุนจึงเริ่มคุกรุ่น การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเริ่มกระตุ้นให้เกิดการผลิตขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายคาเคาจึงถูกทำให้กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมด้วยการนำเมล็ดของมันมาผ่านเครื่องบีบอัดแยกน้ำมันและเนื้อของเมล็ดคาเคาออกจากกัน ก่อนนำน้ำมันไปทำเครื่องสำอางและนำเนื้อมาผสมกับน้ำมันและน้ำตาล เพื่อเปลี่ยนเป็นขนมหวานรสติดขมที่เป็นขวัญใจคนทั่วโลกที่เราเรียกกันมาถึงทุกวันนี้ว่า ‘ช็อกโกแลต’
การเมืองในสวนคาเคา
ด้วยราคาที่ถูกลงหลายเท่า และรสชาติที่เข้าถึงง่ายกว่าเดิม ความนิยมช็อกโกแลตจึงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สุดท้ายช็อกโกแลตก็กลายเป็นของหวานที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วทุกมุมถนนในยุโรป รวมถึงฝั่งอเมริกาเองช็อกโกแลตก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงอาหารอย่างน่าสนใจ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาหารและเครื่องดื่มสไตล์อเมริกันต่อมาอีกนับร้อยปี
ทว่าตลกร้ายก็คือ… ขณะที่ความนิยมช็อกโกแลตเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและทำท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนั้น แต่ประเทศเหล่านี้กลับไม่มี ‘ต้นคาเคา’ เป็นของตัวเองแต่อย่างใด เพราะคาเคานั้นเป็นพืชเมืองร้อนเติบโตได้ดีเฉพาะในละแวกประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรที่มีอากาศร้อนชื้น บริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตทั้งหลายจึงจำต้องนำเข้าเมล็ดคาเคาจากประเทศแถบละตินอเมริกาและแอฟริกาเช่น เปรู บราซิล กาน่า หรือไอวอรี่โคสต์ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นช็อกโกแลตหลากหลายหน้าตาวางขายกันตามซูเปอร์มาร์เก็ต
และเพราะความนิยมช็อกโกแลตนั้นซ้อนทับกับช่วงเวลาของยุคล่าอาณานิคม การผลิตเมล็ดคาเคาจึงดำเนินไปภายใต้ระบบอำนาจนิยม ประเทศเจ้าอาณานิคมมีสิทธิ์ขาดในการกำหนดราคาซื้อขาย รวมถึงมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเกณฑ์แรงงานชาวพื้นเมืองมาเพื่อทำการผลิตให้ทันความต้องการของตลาด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘แรงงานทาส’ ขึ้นในหลายประเทศและเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้
ปัญหาแรงงานทาสในสวนคาเคานั้นรุนแรงถึงขนาดกลายเป็นประเด็นระดับโลก เพราะไม่ใช่แค่วัยแรงงานเท่านั้นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทว่าส่วนมากยังเป็นเด็กและสตรีที่มักถูกกดราคาค่าจ้างและใช้แรงงานเกินกำลัง จนองค์กรเพื่อสิทธิระหว่างประเทศต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือตลอดเวลานับร้อยปี
กว่านั้น แม้ยุคล่าอาณานิคมจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ปัญหาเชิงการเมืองในวงการช็อกโกแลตก็ยังไม่ถูกสะสางอย่างสิ้นเชิง ด้วยโลกของอาหารอุตสาหกรรมนั้นเรียกร้องผลผลิตเมล็ดคาเคาในปริมาณมาก และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ การต่อรองระหว่างนายทุนและนักการเมืองผู้ดูแลประเด็นปัญหาในสวนคาเคาจึงเกิดขึ้นเรื่อยมา และทำให้ช็อกโกแลตกลายเป็นขนมหวานที่มี ‘รสขม’ ที่ไม่ได้มาจากเพียงเมล็ดของคาเคาแต่มาจากเรื่องราวเบื้องหลังด้วย
นอกจากปัญหาการกดขี่ในพื้นที่ปลูกคาเคาที่ยืดเยื้อยาวนาน อีกปัญหาที่กำลังถูกจับตาทุกวันนี้ ยังรวมถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ว่ากันว่าอาจทำให้ช็อกโกแลตหายไปจากโลกภายใน 40 ปี ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ต้นคาเคาที่ยืนต้นอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรล้มตายอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความหวั่นใจว่าในอนาคตราคาของเมล็ดคาเคาอาจพุ่งสูงจนขาดตลาดและทำให้เกิดปัญหาทั้งการเมืองและเศรษฐกิจตามมาอีกหลายระลอก
ทว่าปัจจุบัน ก็กลับมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักช็อกโกแลตรุ่นใหม่ที่่อาจทำให้เราเบาใจขึ้นได้หนึ่งเปลาะ กับกระแสของ ‘คราฟท์ช็อกโกแลต’ หรือที่เรียกกันว่าช็อกโกแลตบีนทูบาร์ (Bean-to-bar) ซึ่งคือช็อกโกแลตที่สนใจคุณภาพการผลิตกันตั้งแต่ต้นทาง ไล่เรียงมาตั้งแต่ความยุติธรรมต่อชาวสวนคาเคาคุณภาพการผลิตเมล็ดคาเคาและช็อกโกแลต รวมถึงการออกแบบจุดขายและแพ็คเกจที่ตอบโจทย์คนกินช็อกโกแลตรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เสพเพียงรสชาติความอร่อย ทว่าเสพความอิ่มใจจากเบื้องหลังอันดีงามด้วยเช่นกัน
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos