เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

‘ไอศกรีมกดกริ่ง’ 4 ทศวรรษแห่งความหอมหวานคู่เชียงใหม่

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ชวนชิมไอศกรีมร้านเล็ก ๆ ในย่านนิมมานเหมินท์ อร่อยได้แบบไม่ต้องมีคนขาย

ย่านนิมมานเหมินท์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นย่านปราบเซียนอีกแห่งหนึ่งในบรรดาพื้นที่ธุรกิจทั้งหลาย เพราะร้านรวงทั้งหลายต่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปภายในเวลาไม่กี่ปี ธุรกิจสวยงามวูบวาบเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิด เดี๋ยวเซ้ง จึงเป็นภาพชินตาของคนในพื้นที่

 

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีร้านไอศกรีมเล็ก ๆ อยู่ร้านหนึ่งที่อยู่ยงคงกระพันคู่นิมมานเหมินท์มาแล้วกว่า 20 ปี ร้านเล็กๆ ที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘ไอศกรีมโฮมเฟรช’ แต่บรรดาลูกค้าขาประจำต่างเรียกกันว่า ‘ไอศกรีมกดกริ่ง’ จนกลายเป็นชื่อเล่นของร้านที่มีคนรู้จักมากกว่าชื่อจริงเสียอีก

 

 

 

 

 

 

 

 

จากสวนไอศกรีม สู่ไอศกรีมกดกริ่ง

 

 

 

 

หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของไอศกรีมกดกริ่งก็จะรู้ว่า จริงๆ แล้วไอศกรีมกดกริ่งไม่ได้มีประวัติศาสตร์เพียง 20 ปีในย่านนิมมานเหมินท์เท่านั้น แต่รสชาติหอมหวานของที่นี่ต่อยอดมาจาก ‘สวนไอศกรีม’ แหล่งนัดพบยอดนิยมของหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในยุค 80 นั่นต่างหาก

 

 

 

 

“ถ้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น 40 ปีที่แล้วก็จะรู้จักร้าน ‘สวนไอศกรีม’ ตรงประตูเกษตร เพราะที่ร้านจะเป็นแหล่งนัดเจอ นั่งทำรายงาน เป็นที่ให้วัยรุ่นมากระหนุงกระหนิงกัน ร้านเราทำมารุ่นเดียวกันกับร้าน Boat หน้ามช. แต่ร้านเราจะอยู่ตรงหลัง มช.

 

 

 

 

“ตอนนั้นคุณแม่เป็นคนทำค่ะ พอเราเรียนจบปุ๊บ แม่ก็เริ่มอายุมาก ทำไม่ไหวแล้ว เราก็มาทำร้านต่ออีกสักพักหนึ่ง” พี่ดี สุรัสวดี สิโรรส ผู้รับช่วงกิจการร้านไอศกรีมต่อจากคุณแม่วีระจิต สิโรรส เริ่มเล่าเรื่องราวยาวนานของไอศกรีมกดกริ่งให้เราฟัง 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ยุคนั้นเป็นยุคศาลาโฟร์โมสต์น่ะค่ะ ที่กรุงเทพฯ จะมีศาลาโฟร์โมสต์ใช่ไหมที่โด่งดังมากๆ เป็นที่นัดเจอกันของหนุ่มสาว เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่เชียงใหม่น่ะไม่มีร้านอะไรเลย เราก็เลยเป็นเหมือนเจ้าแรก แล้วคุณแม่เนี่ยก็จะหัวทันสมัยหน่อย ตอนนั้นสวนไอศกรีมเลยเป็น Self-service ร้านเดียวในเชียงใหม่ บางคนก็รับได้ บางคนก็มีคำถามว่าทำไมต้องทำเองด้วยในเมื่อเสียเงินแล้ว

 

 

 

 

“สักพักหนึ่งก็มีศาลาโฟร์โมสต์ มีไอศกรีมดั๊ก ที่เริ่มเข้ามา แล้วก็ให้ลูกค้าบริการตัวเองเหมือนกัน คนก็เริ่มชินมากขึ้น แต่เด็ก มช.เนี่ยเขาจะชอบมาตั้งแต่แรกเลย เพราะมันทันสมัย แปลกใหม่”

 

 

 

 

สวนไอศกรีมเป็นแหล่งนัดพบของหนุ่มสาวชาวมช.อยู่นานเกือบ 20 ปี ก่อนที่พี่ดีจะเรียนจบและเข้ามารับช่วงกิจการต่อ ประจวบเหมาะกับความเปลี่ยนแปลงในตัวเมืองเชียงใหม่ที่กำลังก้าวสู่โลก Modern Trade ห้างสรรพสินค้าเริ่มเปิดตัวเยอะขึ้น ความนิยมของร้านสแตนอโลนเริ่มลดน้อยลง ทายาทรุ่นที่สองของสวนไอศกรีมจึงตัดสินใจโยกย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของ Modern Trade ตามกระแสแห่งกาลเวลา

 

 

 

 

 

 

 

 

“เราย้ายมาเปิดตรงนี้ เพราะเป็นหน้าบ้านตัวเอง จุดประสงค์คือมาส่งให้ลูกค้าเก่า เราตั้งใจว่าเข้าห้างอย่างเดียว คือส่งไอศกรีมไปลงในตู้แช่ของห้างเป็นหลัก แล้วหน้าบ้านตรงนี้ก็เปิดสำหรับลูกค้าประจำที่ซื้อส่งกับเรา คือซื้อไปขายต่อ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ทีนี้คนก็ผ่านไปผ่านมา ก็เห็นว่าเอ๊ะ นี่ทำอะไรกันมีส่งของ เราก็เลย เอ้า โอเค ขายปลีกด้วยก็ได้ ตั้งแต่นั้นมาคนก็เลยตั้งชื่อให้ว่าไอศกรีมกดกริ่ง เพราะถ้ามาจะต้องกดกริ่งก่อนถึงจะมีคนออกไปขาย เราไม่มีพนักงานประจำอยู่หน้าร้านตลอดเวลา”

 

 

 

 

นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ สวนไอศกรีมจึงกลายเป็นไอศกรีมโฮมเฟรช หรือ ‘ไอศกรีมกดกริ่ง’ ส่งเสียงปิ๊งป่องคู่นิมมานเหมินท์ซอย 5 มานานกว่า 20 ปี

 

 

 

 

ลงทุนกับวัตถุดิบให้มาก ตัดต้นทุนอื่นให้น้อย และทำไอศกรีมให้เหมือนที่อยากกิน – 
เคล็ดลับที่ทำให้เสียงกริ่งยังคงดังต่อเนี่องมาถึงปัจจุบัน

 

 

 

 

ส่วนตัวแล้วฉันไม่ชอบคำว่า ‘ร้านลับ’ และไม่เคยใช้คำคุณศัพท์นี้บรรยายร้านไหน แต่หากจะมีร้านสักร้านที่ทำให้ต้องกลืนน้ำลายตัวเองแล้วกลับคำมาใช้คำว่าร้านลับ ก็เห็นจะมีแต่ร้านไอศกรีมกดกริ่งนี่แหละที่ดูเข้ารูปเข้ารอยมากที่สุด

 

 

 

 

เพราะสิ่งเดียวที่บอกพิกัดของร้าน คือป้ายขนาด A3-A4 ที่แปะอยู่ตรงรั้วบ้านเท่านั้น

 

 

 

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงวูบวาบรวดเร็วของนิมมานเหมินท์ ร้านไอศกรีมเล็กๆ ลับๆ ร้านหนึ่งยังคงอยู่ยั้งยืนยงได้ด้วยเคล็ดลับ 3 ข้อที่เรียบง่าย ชัดเจน และปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

 

 

 

 

 

 

“สมัยคุณแม่มีแค่ประมาณ 10 รส มีใบเตย ขนุน รสชาติไทยๆ พอเรามาทำก็เริ่มมีกล้วยหอมคุ้กกี้ มียาคูลต์อะไรไปเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นตามกลุ่มลูกค้า เมื่อก่อนนิมมานเหมินท์นี่คอนโดญี่ปุ่นเยอะมาก เราก็มีรสงาดำ เพราะผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นชอบมาก พอมาอีกยุคหนึ่งเกาหลีมาแรง ลูกค้าเกาหลีมาทดแทน เราก็มีรสยาคูลต์เกาหลี ยุคต่อมาก็เป็นยุคคนจีน เราก็มีรสนมเม็ดมารองรับลูกค้ากลุ่มนี้ ธุรกิจนิมมานฯ ส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนไปแบบนี้ ตามนักท่องเที่ยว ตอนนี้ก็มีหลักๆ ทั้งหมด 25 รสค่ะ”

 

 

 

 

ร้านอื่นอาจมีเมนูยอดนิยม มีเมนูขายดีตลอดกาลยืนพื้น แล้วมีชอยส์อื่นๆ ไว้เพื่อสับเปลี่ยนบรรยากาศ แต่กับไอศกรีมกดกริ่ง 25 รสชาติที่ว่านี้ต้องมีสแตนบายติดตู้แช่ไว้เสมอครบทุกรส เพราะลูกค้าแต่ละคนก็จะมีรสชาติประจำของตัวเอง ชนิดที่ว่าแม้จะแวะไปชิมรสอื่นกี่ครั้งๆ ก็ต้องกลับมาตายรังที่รสเดิมเสมอ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะลดปริมาณการผลิตลงจากสัปดาห์ละ 4 วันเหลือเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน พี่ดีก็ยังต้องจัดสรรตารางการผลิตให้ครอบคลุมทุกรสอยู่เหมือนเดิม (สำหรับฉันในฐานะลูกค้ามานาน เกือบ 10 ปี ขอยกให้รสงาดำเป็นหมายเลขหนึ่งในดวงใจค่ะ Highly Recommend!)

 

 

 

 

 

 

 

 

ไอศกรีมกดกริ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นร้านไอศกรีมที่มีหน้าร้านเล็กที่สุดติดอันดับโลก คือมีพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร เมื่อมีตู้แช่ไอศกรีม 2 ตู้ โต๊ะวางอุปกรณ์แพ็กไอศกรีม พร้อมเครื่องทำไอศกรีมตัวเก่งตัวเก่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ของคุณแม่แล้ว ก็มีพื้นที่ให้ลูกค้ายืนเลือกของอีกไม่เกิน 2 ตารางเมตรเท่านั้น แต่รสชาติไอศกรีมกลับมีหลากหลายมากกว่าร้านไอศกรีมใหญ่ๆ หลายๆ ร้านเสียอีก

 

 

 

 

โอวัลติน ยาคูลท์ ฮอร์ลิกส์ ชาเขียวถั่วแดง กล้วยหอมโอริโอ้ นมเม็ด ชาไทย ลิ้นจี่ มะนาว งาดำ ฯลฯ นี่เป็นเพียงตัวอย่างรสชาติส่วนหนึ่งเท่านั้น และเมื่อได้ชิมแต่ละรสแล้ว เราก็จะเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าไอศกรีมของที่นี่ไม่ได้มาแบบเล่นๆ

 

 

 

 

“เราอยากกินอะไรเราก็ใส่อันนั้นแหละลงไป (หัวเราะ) แล้วถ้าเราทำด้วยความตั้งใจ ถ้าทำเหมือนเรากินเอง เราจะใช้ของดีอยู่แล้วแหละใช่ไหม เราก็จะใส่เต็มที่ แล้วมันก็จะอร่อย อย่างนมเม็ดนี่เราก็ซื้อมาหลายๆ ยี่ห้อเลยนะ มาชิมว่าอันไหนอร่อย สุดท้ายก็คือจิตรลดาอร่อยสุด ก็ใช้ได้อยู่ยี่ห้อเดียว

 

 

 

 

 

 

 

 

“หรืออย่างกะทิ เมื่อก่อนเราใช้กะทิสด แต่สาธารณสุขเขาก็มาแนะนำว่าเวลาทำไอศกรีม กะทิมันผ่านความร้อนแค่รอบเดียวคือตอนคั้น เพราะเราคั้นด้วยน้ำร้อน แต่หลังจากนั้นมันไม่ได้ผ่านความร้อนอีกเลย เขาก็แนะนำว่าถ้าใช้สเตอร์ไรส์ ใช้กะทิกล่องเราอาจจะมั่นใจเรื่องความสะอาดได้มากกว่า เราก็ซื้อกะทิทุกยี่ห้อมาชิมดูว่ากลิ่นไหนธรรมชาติสุด ก็ใช้ยี่ห้อนั้น

 

 

 

 

“ไอศกรีมน้ำผลไม้เขาเราก็คือธรรมชาติเลย ไม่แต่งกลิ่น ไม่แต่งสี อย่างไอศกรีมส้มก็เอาน้ำส้มสดๆ นี่แหละมาปั่นให้เป็นไอศกรีม ใส่เจลาตินนิดหน่อยเพื่อให้เหนียวตัว มะนาวก็คือน้ำมะนาวคั้นนั่นแหละ ถ้าซื้อไอศกรีมน้ำมะนาวของเราไปนะ เอาไปใส่ชา มันก็กลายเป็นชามะนาวเลย ถ้าวันไหนขี้เกียจชงชามะนาวก็ซื้อไอศกรีมไปแช่ตู้เย็นไว้ ชงชาเข้มๆ ใส่ไอศกรีมลงไปก็เป็นชามะนาวได้เลย”

 

 

 

 

ไม่ได้พูดเชียร์เกินหน้าเกินตา แต่ไอศกรีมมะนาวของไอศกรีมกดกริ่งคือไอศกรีมมะนาวที่อร่อยที่สุดเท่าที่ฉันเคยได้กินมาเลยจริงๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

“เราไม่ใส่อิมัลซิไฟเออร์ สารเหนียว สารกันบูด แต่งกลิ่น แต่งสี แต่งรส คอร์นไซรัป แบะแซ ไม่มีเลย รสชาติวัตถุดิบล้วนๆ เพราะฉะนั้นไอศกรีมเราจะไม่เหนียวหนืดนะ แต่จะคล้ายๆ น้ำแข็งไส คือร่วนๆ เพราะมีแค่เจลาตินเท่านั้นที่เราใช้ช่วยเรื่องความเหนียว พวกรสชาติไทยๆ ก็จะเป็นความหวานจากน้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าว มันก็จะหวานนวลๆ เพราะฉะนั้นไอศกรีมเราคือกินแล้วกินได้อีกเรื่อยๆ กินสองสกู๊ป สามสกู๊ปก็ได้”

 

 

 

 

การทำธุรกิจในมุมเล็กๆ บนพื้นที่บ้านของตัวเอง ทำให้พี่ดีไม่มีต้นทุนเรื่องค่าเช่า และยิ่งเป็นรูปแบบการซื้อขายแบบไม่มีพนักงานด้วยยิ่งทำให้ต้นทุนแรงงานลดน้อยลงไปอีก นั่นเป็นหมัดฮุกสำคัญที่ทำให้พี่ดีสามารถขายไอศกรีมได้เพียงสกู๊ปละ 30 บาท ท่ามกลางสงครามราคาในย่านยอดฮิตของเมืองเชียงใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทุ่มเงินไปกับการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ จึงได้รสชาติโฮมเมดแบบทำกินเองเหมือนเดิมมานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่ยุคสวนไอศกรีมมาจนเป็นไอศกรีมกดกริ่งเวอร์ชั่นไร้คนขายในแบบปัจจุบัน

 

 

 

 

ธุรกิจแบบไร้คนขาย ก้าวใหม่ของไอศกรีมกดกริ่งที่ไว้ใจว่าคนกินไอศกรีมทุกคนเป็นคนใจดี

 

 

 

 

ไอศกรีมกดกริ่งยุคแรกนั่นต้อง ‘กดกริ่ง’ สมชื่อ คือตัวร้านจะเป็นเหมือนตู้ยามเล็กๆ หน้าบ้านพี่ดีเอง เมื่อลูกค้าจะซื้อก็เลือกรสชาติได้จากป้ายหน้าร้าน พอตัดสินใจได้แล้วก็กดกริ่งเรียกคนขายออกมา บางครั้งก็เป็นพนักงานที่จ้างประจำไว้ บางครั้งก็เป็นพี่ดีที่ออกมาบริการลูกค้าด้วยตัวเอง

 

 

 

 

“สวัสดีค่า รับไอศกรีมรสอะไรดีคะ” – นี่คือคำทักท้ายที่คุ้นหูขาประจำเป็นอย่างดี

 

 

 

 

ในช่วง 3 ปีให้หลังมานี้เอง ที่ไอศกรีมกดกริ่งตัดสินใจโยกย้ายเข้าไปอยู่ในตัวบ้าน ลึกเข้าไปจากเดิมราว 5 เมตร พี่ดีใจกว้างเชื้อเชิญลูกค้าให้แวะเวียนเข้ามานั่งเล่นได้ในตัวบ้าน แถมยังนำบริการแบบ Self-service จากสวนไอศกรีมกลับมาด้วย เพียงแต่ในครั้งนี้ต่างจากเมื่อ 40 ปีก่อนคือเป็น Self-service แบบ 100% เพราะนอกจากตู้ไอศกรีมกับกล่องหยอดเงินแล้วก็ไม่มีใครอยู่ที่หน้าร้านอีกเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

“พี่ทำแบบนี้ก่อนจะมี Covid-19 อีกนะ มันคือเหตุการณ์พาไปน่ะค่ะ เป็นช่วงที่คนงานเขากลับบ้านพอดี แล้วเราไม่อยากรับคนงานใหม่ เราก็ลองย้ายเข้ามา แล้วให้ลูกค้าลองหยิบเองซื้อเอง ช่วงนั้น QR Code ยังไม่มีเลยนะ ก็ตั้งกล่องเงินไว้ให้นี่แหละ แล้วลูกค้าก็หยิบเงินทอนเอง ได้สักปีหนึ่งก็เริ่มมีการใช้ QR Code แล้ว ก็ง่ายขึ้น”

 

 

 

 

ใช่แล้วค่ะ ปัจจุบันของไอศกรีมกดกริ่งคือการมีตู้ไอศกรีมตั้งไว้ แล้วให้ลูกค้าเลือกเอง ซื้อเอง จ่ายเงินเอง และทอนเองเสร็จสรรพ ใครอยากกินที่ร้าน ในบ้านก็มีเก้าอี้ไว้ให้นั่งพักสบายๆ ส่วนใครที่อยากห่อกลับบ้านก็มีตู้ไอศกรีมแยกไว้ต่างหาก เป็นตู้ที่ความเย็นติดลบ ไอศกรีมจึงแข็งเป็นพิเศษเผื่อให้ห่อด้วยถุงกระดาษ แพ็กใส่กล่องโฟมอยู่ได้อีกหลายชั่วโมง

 

 

 

 

“รู้สึกว่าลูกค้าที่เขาตั้งใจจะมาซื้อ ที่เขาหาแล้วว่าเอ้อ นี่ร้านไอศกรีมกดกริ่ง จะไปร้านนี้ คือเขาหาแล้ว เขาตั้งใจมาซื้อ เพราะฉะนั้นเขาไม่หยิบฟรีแน่ ถึงหยิบฟรีก็ไม่เป็นไร ก็โอเค ไม่ได้กังวลอะไร ที่ผ่านมาก็มีนะคะ ไม่ใช่ว่าจะไม่มี แต่ก็มีแค่ปีละ 1 คนเอง

 

 

 

 

“ครั้งแรกคือเป็นเด็กต่างจังหวัด ติดยาเสพติด เขาก็มาล้วงเอาเงินทอน มากินไอศกรีมด้วยถ้วยหนึ่ง เราเดินผ่านไปมาเราก็เห็นเขานะ เขาก็นั่งเฉยแบบใจดีสู้เสือมาก แล้วก็มาเอาเงินทอนวันละร้อยสองร้อย ตอนเช็กไอศกรีมตอนเย็นแหละเราก็เห็นว่าตัวเลขมันผิดสังเกตมาเดือนสองเดือนละ ตอนแรกเราก็คิดว่าอาจจะมีการทอนผิด หรือบางทีลูกค้าประจำเรามาจ่ายย้อนหลังก็มี แต่พอเข้าเดือนที่สองแล้วก็ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ เราก็เลยตั้งกล้องส่วนตัว เลยได้เห็นว่าอ๋อคือคนนี้ เราก็แจ้งให้ตำรวจมา ไปคุยกัน เขาเป็นเยาวชนนะ เราก็บอกว่าขอไม่เอาเรื่อง เพราะไม่อยากให้น้องเสียอนาคต ให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน แล้วก็อบรมกันไป ก็มีคนเดียว ปีนั้น

 

 

 

 

“คนถัดมา คนนี้มีการมีงานทำด้วยนะ แต่อาจจะเป็นลักษณะที่ว่า พอหยิบได้แล้วรู้สึกสบายใจ รู้สึกว่าฉันทำได้ อะไรอย่างนี้ เขาก็หยิบไปแจกเพื่อนเขา เขาก็มีน้ำใจนะ (หัวเราะ) คือมากินแล้วก็เอาไปฝากเพื่อนด้วย พอเราเช็กยอดตอนเย็นเราก็เห็นแล้วว่าผิดปกติ แค่อาทิตย์สองอาทิตย์เท่านั้นล่ะ เราก็ตั้งกล้องดูเขา แล้วเขาใส่เสื้อของที่ทำงานที่เขาทำอยู่ไง เขาก็คงไม่ทันได้คิด เราก็เลยไปตามเขาที่ร้านเจอ

 

 

 

 

“ตำรวจก็เรียกไปคุย เราก็ไม่แจ้งความนะ เดี๋ยวจะเสียอาชีพการงาน แต่คุณเอาไปเท่าไร คุณเอาไปบริจาคให้กับเด็กตาบอด ให้กับคนด้อยโอกาสอะไรก็ได้ คุณจะได้รู้ว่าคนที่เขาไม่มีโอกาสเขายังไม่ทำเลย แล้วคุณมีหน้าที่การงานครบสมบูรณ์ แต่คุณมาลักเล็กขโมยน้อย มันไม่ดีนะ เตือนแล้วก็จบกันไป

 

 

 

 

“สุดท้ายตำรวจเลยบอกว่า พี่ติดกล้องวงจรปิดเถอะ (หัวเราะ) เพราะมันเป็นคดีเล็กๆ ไง แต่ถ้าเราไม่แจ้งความก็ไม่ได้ วันนี้เขาทำเล็กๆ วันข้างหน้ามันก็อาจเป็นอาชญากรรมที่ใหญ่ขึ้น เราก็โอเค ติด ติดเพราะว่าเกรงใจตำรวจ คือลูกค้าเราจริงๆ นะไม่มีปัญหาหรอก ไม่เคยมีปัญหาเลย”

 

 

 

 

ความภูมิใจของแม่ ความสบายใจของลูก และความคิดถึงที่หอมหวานมายาวนาน 40 ปี

 

 

 

 

เรื่องราวเบื้องหลังอาหารจานเด็ดที่คนมักพูดถึง คือความหลงไหลในรสชาติ ความหมกมุ่นในการครัวอย่างที่ว่ายอมเอาชีวิตเข้าแลกความฝันเหมือนนวนิยายคลาสิก อันที่จริงฉันก็ชอบเรื่องราวแบบนั้นมาก แต่ต้องเล่ากันตามตรงว่าในกรณีของไอศกรีมกดกริ่งไม่ใช่แบบนั้น

 

 

 

 

นี่เป็นบทเรียนสำคัญ ว่าทั้งการได้ทำงานที่รัก และการรักงานที่ทำนั้นมีความหมายไม่ต่างกัน

 

 

 

 

เหตุผลที่พี่ดีรับช่วงต่อกิจการของคุณแม่ไม่ใช่ความหลงไหลเหมือนนิยายที่เชฟหนุ่มหนีออกจากบ้านเพื่อมาตามล่าดาวมิชลินหรืออะไรอย่างนั้น แต่เป็นเพราะพี่ดีเห็นว่าการได้ธุรกิจของที่บ้าน อยู่ใกล้บ้าน และเริ่มต้นใหม่ในสิ่งที่คุ้นเคยอยู่แล้วเป็นความสบายใจอย่างหนึ่ง

 

 

 

 

แม้จะไม่โรแมนติกเลย แต่พี่ดีกลับบอกว่าเป็นความสบายใจนั้นเองที่ทำให้ไอศกรีมกดกริ่งยังเป็นไอศกรีมกดกริ่งมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

 

“ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว จบมาเงินเดือนสตาร์ต 3,500 ก็หรูแล้ว ต่างจังหวัดนะ ถ้าเราไปทำงานนอกบ้าน เจ็ดโมงเช้าถึงห้าหกโมงเย็น แต่ถ้าเราทำธุรกิจต่อจากแม่ เราไม่ต้องหาเยอะก็ได้ เพราะบ้าน รถ อะไรเราอยู่นี่หมดแล้ว แล้วอย่างน้อยที่สุด 3,500 บาท ได้แน่นอน (หัวเราะ)

 

 

 

 

“เพราะฉะนั้นเราไม่มีความบีบคั้นตัวเองเลย อาจจะมีช่วงที่เครียดบ้าง แต่ก็ไม่เคยต้องตัดสินใจลดคุณภาพวัตถุดิบหรือขึ้นราคาทีละห้าบาทสิบบาท เหมือนทำเอาม่วนอย่างเดียว (ทำเพื่อความสนุก – ผู้เขียน) คือเราอยากให้ธุรกิจตัวนี้มันยังอยู่เพื่อให้คุณแม่มีความสุขที่ได้เห็นธุรกิจของเขาอยู่ได้และมีความรุ่งเรืองต่อไป มันเป็นความสุขของคนที่ก่อร่างสร้างธุรกิจมานะ

 

 

 

 

“แรกๆ ที่เราบอกว่าจะขายแบบให้ลูกค้าจัดการเอง เขาก็มีกังวลบ้างว่ามันจะได้เหรอ มันจะไม่เกิดอะไรขึ้นเหรอ แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรนะ เขาก็รอดูเรา ตอนนี้คุณแม่แฮปปี้มาก เดินมาซื้อเองก็มี เพราะว่าอยากเล่น อยากหยอดเงิน (หัวเราะ)”

 

 

 

 

 

 

 

 

แม้จะไม่มีเรื่องราวประเภทที่ว่าเริ่มทำร้านไอศกรีมเพราะอยากเป็นนักทำไอศกรีมมือหนึ่งของโลก มีเพียงเรื่องราวเรียบง่ายอย่างการรับช่วงต่อจากคุณแม่ แต่ก็กลับเป็นเรื่องราวเรียบง่ายนี่เสียเองที่ปรุงแต่งรสชาติของไอศกรีมกดกริ่งให้หอมหวานอยู่เรื่อยมา

 

 

 

 

“ก็ต้องขอบคุณลูกค้าทุกคนนะคะ ที่ตามอุดหนุนเรามาเป็นเวลายาวนาน แล้วก็ยังไม่ลืมเรา ยังนึกถึงเราตลอด กลับมาซื้อร้านเราตลอด แล้วก็ขอบคุณลูกค้าใหม่ๆ ที่อยากลองชิม เห็นในข่าว เห็นจากที่นั่นที่นี่ เห็นจากป้าย แล้วก็อยากมาลองชิมว่าไอศกรีมเราจะเป็นยังไง ถึงเราจะไม่อยู่หน้าร้านแต่เราต้อนรับทุกคนเสมอ

 

 

 

 

“ใครที่คิดถึงรสชาติเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นักศึกษามช. รุ่นเก่าๆ ที่จบไป 20-30 ปีก่อน ก็เรียนเชิญมาชิมรสชาติเก่าๆ ได้ที่นิมมานฯ ซอย 5 แทนนะคะ ถึงจะไม่มีหนุ่มสาวให้นั่งดูแล้ว แต่ไอศกรีมยังมีเหมือนเดิม (หัวเราะ)”

 

 

 

 

 

 

 

 

ไอศกรีมกดกริ่ง

 

 

 

 

Facebook: https://www.facebook.com/RingtheBell.IceCream
สถานที่ : นิมมานเหมินท์ ซอย 5 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (Google Map : https://goo.gl/maps/wKvKMPif1QGghypo7)
เวลาเปิด-ปิด : 8.00 – 18.00 (เปิดทุกวัน)
โทร : 053 210491

 

 

 

 

กราฟิกโดย วิภาดา พัชรธนาโสภณ

 

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ร้านอร่อยเชียงใหม่, ไอศกรีม

Recommended Articles

Food Story10 ไอศกรีมดับร้อนราคาเบาในตู้แช่ร้าน 7/11
10 ไอศกรีมดับร้อนราคาเบาในตู้แช่ร้าน 7/11

ร้อนๆ แบบนี้ต้องหาไอศกรีมเย็นๆ มาดับ อยากลองตัวไหนพุ่งไป 7-11 ได้เลย

 

Recommended Videos