เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ย้อนรสชาติแห่งอดีตที่ฮงฮวด ร้านไอศกรีมอายุ 80 ปีคู่เจริญกรุง

Story by ศรีวิการ์ สันติสุข

ไอศกรีมโบราณกับรสชาติดั้งเดิมที่เหมือนได้ย้อนยุคกลับไป 80 ปีที่แล้ว

ไอศกรีมกับเด็กๆ น่าจะเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นฉันที่เติบโตมาในต่างจังหวัด วันไหนได้ไปนั่งกินไอศกรีมที่ร้านไอศกรีมร้านดัง (เพราะมีร้านเดียว) ของจังหวัดจะมีความสุขเป็นพิเศษ แม้เมื่อโตขึ้นจะได้กินไอศกรีมหลากสัญชาติหลายเนื้อหลายรสสกู๊ปละตั้งแต่สิบปลายๆ ไปถึงร้อยกว่าบาท แต่บางครั้งก็อดนึกย้อนถึงรสชาติไอศกรีมโบราณรสพื้นๆ อย่างช็อกโกแลต สตรอวเบอร์รี ที่มากับท็อปปิ้งง่ายๆ อย่างถั่ว ลูกชิด วุ้นไม่ได้ ยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรก็เปลี่ยนแปลง ไอศกรีมโบราณอย่างที่คิดถึงสมัยนี้กลายเป็นของหากินยากไปเสียได้

 

 

 

 

แต่ก็ใช่จะหาไม่ได้เสียทีเดียว เพราะท่ามกลางไอศกรีมสมัยใหม่ที่มีมากมายเต็มเมืองไปหมด ยังมีร้าน ฮงฮวด ที่ซ่อนตัวอยู่ในห้องแถวสองคูหาย่านเจริญกรุง เป็นร้านที่ขายแต่ไอศกรีมอย่างเดียว เปิดขายมาแล้วกว่า 80 ปี สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แม้ปัจจุบันจะเป็นรุ่นที่ 4 เข้าไปแล้ว แต่ยังคงรักษาสูตรและความเรียบง่ายในแบบไอศกรีมเมื่อ 80 ปีที่แล้วไว้อย่างครบถ้วน

 

 

 

 

ฮงฮวด

 

 

 

 

ฮงฮวด

 

 

 

 

“ไอศกรีมของเราเป็นสูตรอาม่าที่มาจากเมืองจีน ก็ 80 กว่าปีแล้ว” พี่ หน่อง-อรอนงค์ ตั้งนรกิจ หญิงวัย 50 กว่าแต่ยังคงกระฉับกระเฉงและเป็นเจ้าของร้านรุ่นปัจจุบันเล่าให้ฟัง “แรกๆ อาม่าอยู่ที่ตลาดน้อย ก็ใช้รถเข็นเข็นมาขายตรงนี้ แล้วก็เปลี่ยนจากรถเข็นเป็นสามล้อถีบ ถีบมาถีบกลับทุกวัน จนถึงรุ่นพ่อที่แต่งงานกับแม่ เป็นรุ่นที่สามารถซื้อที่ได้แล้ว ก็เลยซื้อร้านนี้เป็นของตัวเองและอยู่ตรงนี้มาตลอด ถ้าเอาแค่ร้านนี้ก็น่าจะ 40-50 ปีได้”

 

 

 

 

ความขลังเห็นได้ตั้งแต่ป้ายชื่อร้านและตัวร้านที่เป็นห้องแถวแบบโบราณ ซึ่งก็ไม่ขัดเขินกับสภาพแวดล้อมที่แม้จะมีคาเฟ่สมัยใหม่ตกแต่งสวยเก๋อยู่ไม่ไกล แต่กลิ่นอายความเก่าแก่ของย่านการค้าที่แสนคึกคักในอดีตก็ยังคงไม่จางหายไปไหนเช่นเดียวกับไอศกรีมที่มีเพียง 5 รสชาติ ท็อปปิ้ง 4-5 อย่าง กับตู้แช่ขนาดกลางเพียง 1 ตู้ เทียบกับร้านไอศกรีมสมัยใหม่ที่มีรสชาติและทอปปิ้งให้เลือกจนตาลาย ฉันออกจะสงสัยว่ามันไม่น้อยไปหรือ?

 

 

 

 

“ต้องบอกก่อนว่าลูกค้าของเราเป็นลูกค้าเก่าแก่ที่กินกันมานาน ส่วนมากก็มีรสที่ชอบกันอยู่แล้ว บางคนมาถึงเขาก็สั่งแต่กะทิ มากี่รอบก็กินกะทิอย่างเดียว เราเลยคิดว่าการมี 5 รสก็เยอะแล้วนะ” พี่หน่องหัวเราะพลางถามกลับว่าเรากินไอศกรีมกี่รส ซึ่งฉันตอบโดยอัตโนมัติว่ารสเดียว อันนี้ว่ากันถึงเวลาไปร้านไอศกรีมจริงจัง ซึ่งเป็นคนละฟีลกับการซื้อไอศกรีมสำเร็จตามซูเปอร์มาร์เก็ต ที่บางทีเราก็อยากจะลองรสใหม่ๆ แปลกๆ แต่หลังจากลองแล้วก็ยอมรับเถอะว่าส่วนมากก็กลับมากินรสเดิมๆ ที่เราชอบนั่นแหละ

 

 

 

 

ฮงฮวด

 

 

 

 

ฮงฮวด

 

 

 

 

จุดขายของร้านฮงฮวดจึงไม่ใช่ความหลากหลาย แต่คือความเป็นตัวจริงของรสชาติพื้นๆ ที่ดูเหมือนร้านไหนๆ ก็มี หากพี่หน่องยืนยันหนักแน่นว่ากินไอศกรีมกะทิที่ไหนก็ไม่เหมือนที่ฮงฮวด

 

 

 

 

“ขายไอศกรีมเหมือนง่าย แต่จริงๆ ไม่ง่าย ยิ่งกับร้านเรามีโจทย์เลยว่าแต่ละรุ่นต้องรักษาความดั้งเดิม ทั้งสูตร ทั้งวัตถุดิบ ต้องฝึกทำจนกว่ารสชาติจะนิ่ง เปลี่ยนรุ่นทีต้องจับมาฝึกกัน 2-3 ปีกว่าจะเป๊ะ มันก็เหมือนการทำอาหารแหละ คุณเป็นลูกมือในครัวมา 10 ปีแต่พอให้ลงกระทะ ทำเอง มันไม่มีทางเป๊ะได้ตั้งแต่ครั้งแรก บ้านเราก็เหมือนกัน ถึงจะโตมากับการทำไอศกรีม แต่พอต้องมารับช่วงต่อจริงๆ ต้องฝึกกันหนักมาก”

 

 

 

 

วัตถุดิบก็เป็นอีกอย่างที่สำคัญ ฮงฮวดเน้นวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ใส่สารกันบูด และใช้วัตถุดิบตัวเดิมเท่านั้น ราคาจะขึ้นหรือลงก็ไม่เกี่ยง แต่จะไม่มีการเปลี่ยนไปใช้ตัวที่ราคาถูกกว่าเป็นอันขาด นอกจากจะเป็น ‘ความซื่อสัตย์’ ต่อทั้งลูกค้าและตัวเองแล้ว นี่ก็ยังเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ไอศกรีมฮงอวดรสชาติเหมือนเดิม ไม่ว่าจะกินเมื่อ 20 ปีก่อนหรือตอนนี้

 

 

 

 

“อย่างที่บอกว่าลูกค้าเรากินกันมานาน บางคนกินมาตั้งแต่เด็ก กลับมากินอีกทีก็ยังได้รสชาติในความทรงจำ ทุกคนพูดแบบนี้หมด” พี่หน่องเล่า “เพราะเราไม่เปลี่ยนสูตรและไม่เปลี่ยนวัตถุดิบ บางอย่างต้องนำเข้า ราคาแพงขึ้นเราก็ซื้อ ไม่มีการเปลี่ยนไปใช้ตัวที่ถูกกว่า อย่างกะทิต้องใช้มะพร้าวแก่ได้ที่ประมาณนี้ ร้านที่เราสั่งประจำเขาก็รู้ว่าร้านเราต้องการมะพร้าวแบบนี้ ถ้าไม่ใช่เขาจะคัดออกให้ ไม่มีการส่งมาแบบอะไรก็ส่งๆ ไป มันเป็นอารมณ์ต่างคนต่างเลือกของ เพราะเขาคิดเท่าไหร่เราก็ให้ตามนั้น ไม่มีการบอกว่าเอาอะไรมาก็ได้ในราคาเท่านี้ มีแต่เอามาเถอะแบบที่เราจะเอา ราคาเท่าไหร่ก็ว่ามา อย่างมากก็กำไรน้อยหน่อย หรือถ้าไม่ไหวเราก็ขึ้นราคา มันมีกลไกของมันอยู่แล้ว”

 

 

 

 

ฮงฮวด

 

 

 

 

ปัจจุบันไอศกรีมฮงฮวดมี 5 รสชาติ ได้แก่ กะทิ ที่เป็นตัวเอกตัวเด่นดังร่ำลือกันไปสามบ้านแปดบ้าน เพราะทำจากกะทิสดแท้ๆ จึงหอมกลิ่นกะทิ ผสานกับขนุน เผือก มะพร้าวอ่อน ที่คละเคล้าอยู่ในเนื้อไอศกรีม นอกจากมิติทางสัมผัสแล้ว ยังส่งผลให้รสชาติกลมกล่อม กินแล้วได้รสนัวนุ่มละมุนผสานกลิ่นกะทิหอมอวลในปาก โกโก้ กาแฟ วานิลลา และ สตรอวเบอร์รี ที่แต่ละตัวมากับเท็กซ์เจอร์แบบไอศกรีมโบราณเนื้อเบา ไม่ได้แน่นเนียนเหนียวหนึบแบบไอศกรีมสมัยใหม่ ได้กลิ่นหอมเบาๆ จากตัววัตถุดิบที่เลือกใช้ของจากธรรมชาติ ไม่ใส่สารกันบูด และรสชาติหวานน้อย ที่ถือเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของฮงฮวด

 

 

 

 

“เราเน้นหวานน้อย เพราะก็ต้องยอมรับนะว่าไอศกรีมยังไงมันก็มีน้ำตาล มีความหวาน กินมากๆ ก็ไม่ดี แต่เราพยายามทำให้หวานน้อยที่สุด”

 

 

 

 

ท็อปปิ้งก็เป็นอีกอย่างที่ขึ้นชื่อ โดยเฉพาะ เยลลี่ หรือที่หลายคนเรียก วุ้นแดง หน้าตาแสนจะธรรมดา แต่รสชาติและเนื้อสัมผัสไม่ธรรมดา พี่หน่องเล่าว่าบางคนซื้อไอศกรีมถ้วยเดียวแต่สั่งเยลลี่ 10 ชิ้น หลังได้ชิมก็เข้าใจได้ เพราะเยลลี่ของที่นี่เนื้อแน่น หนึบหนับ เคี้ยวเด้งสู้ฟัน และไม่มีรสเปรี้ยวหรือหวานโดดเลย ซึ่งเป็นความตั้งใจของร้านเช่นกัน

 

 

 

 

“ท็อปปิ้งมันเป็นเครื่องเคียง เหมือนเรากินน้ำพริกต้องมีผักเคียง แต่ผักมันไม่ต้องมีรสชาติเด่นเพราะจะมากลบน้ำพริกถูกมั้ย ท็อปปิ้งที่เราทำเองอย่างเยลลี่เลยออกมาแบบที่เห็น เน้นเท็กซ์เจอร์ เน้นความหอม แต่ไม่เน้นรส ส่วนตัวอื่นๆ ก็มีข้าวโพด ลูกบัว ลูกชิด ถั่ว เป็นท็อปปิ้งพื้นๆ ที่มีรสชาติในตัว ไม่หวาน ไม่จัดจ้าน เหมาะกับการเป็นเครื่องเคียง เพราะไม่กลบกลิ่นและรสแล้วยังเสริมให้ไอศกรีมอร่อยขึ้น”

 

 

 

 

ฮงฮวด

 

 

 

 

 

 

 

 

ไอศกรีมฮงฮวดราคาเริ่มต้นเพียงถ้วยละ 30 บาท 1 ถ้วยได้ไอศกรีม 3 ลูก ถูกอย่างเหลือเชื่อ ซึ่งเป็นความตั้งใจของร้านที่อยากให้ราคาเป็นโลคอล ใครๆ ก็เดินเข้ามากินได้ง่ายๆ ไม่ต้องคิดมาก เช่นเดียวกับบรรยากาศร้านแบบเก่าๆ ที่ชวนให้นึกถึงความทรงจำวัยเด็ก เป็นร้านที่แวะมานั่งหลังเลิกเรียนหรือชวนเพื่อนมานั่งคุยสัพเพเหระ ซึ่งตลอดเวลาที่ฉันนั่งคุยและกินไอศกรีมกับพี่หน่องอยู่นั้นก็มีคนแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ จริงๆ มีทั้งคุณป้า คุณพ่อที่มากับคุณลูกตัวน้อย รวมถึงคุณแม่ที่มาหาที่นั่งรอก่อนไปรับลูกที่โรงเรียน

 

 

 

 

“เราเน้นเรื่องความทรงจำ มันควรเป็นเรื่องในความทรงจำ มากินครั้งหนึ่งแล้ว พอพูดปุ๊บต้องนึกรสชาติออก เราถึงรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ ตั้งแต่ต้นเป็นยังไงปัจจุบันก็เป็นยังงั้น บางคนอาจจะบอกว่าดูเหมือนไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในความไม่เปลี่ยนแปลงของเรา เรารักษาคุณค่าที่เลียนแบบไม่ได้ ฮงฮวดถึงได้อยู่ถึงวันนี้ ถ้ามีคนมาก๊อปปี้ง่ายๆ ก็คงจบไปแล้ว”

 

 

 

 

 

 

 

 

ต้องบอกว่าพี่หน่องพูดถูกจริงๆ เพราะไอศกรีมรสชาติชวนให้นึกถึงอดีตแบบฮงฮวดหาแทบไม่ได้แล้ว แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นเก่านะ คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องราวอาหารก็แวะเวียนมากินไอศกรีมโบราณที่นี่กันไม่น้อย รสชาติจะถูกปากคนรุ่นใหม่หรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่คน แต่ขอให้มั่นใจว่าไอศกรีมฮงฮวดคือประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตและพร้อมส่งต่อสิ่งดีๆ ให้ทุกคนที่แวะมาเสมอ หรือใครจะโทรไปสั่งแล้วส่งแกรบหรือพี่วินไปรับก็ได้ เขามีบริการแพ็คกลับบ้านแบบเป็นกล่อง จะออร์เดอร์เล็กหรือใหญ่ระดับสั่งไปออกงานก็ได้หมดค่ะ

 

 

 

 

ฮงฮวด ไอศครีมไปรษณีย์กลาง

 

 

 

 

พิกัด: ซอยเจริญกรุง 43

 

 

 

 

เปิด-ปิด: 10.00-19.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)

 

 

 

 

โทร: 02 234 2252 / 081 684 7447

 

 

 

 

Google Maps https://goo.gl/maps/ksr1NMTNraopP3rR9

 

 

 

 

บทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

‘เซาปิ่งอากง’ ขนมแป้งทอดระดับตำนานแห่งย่านสี่พระยา

 

 

 

 

5 ร้านขนมเปี๊ยะในตำนาน ซื้อฝากอาม่าได้มรดกชัวร์!

 

 

 

 

‘ไอศกรีมกดกริ่ง’ 4 ทศวรรษแห่งความหอมหวานคู่เชียงใหม่

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

ร้านไอศกรีมโฮมเมด, ไอศกรีม

Recommended Articles

Food Story10 ไอศกรีมดับร้อนราคาเบาในตู้แช่ร้าน 7/11
10 ไอศกรีมดับร้อนราคาเบาในตู้แช่ร้าน 7/11

ร้อนๆ แบบนี้ต้องหาไอศกรีมเย็นๆ มาดับ อยากลองตัวไหนพุ่งไป 7-11 ได้เลย

 

Recommended Videos