เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

คุณตาคุณยายนักทำ ‘ขนมจ้าง’ แห่งเมืองจันท์

Story by กฤติน ศรีบุตร

ขนมจ้างเคี้ยวหนึบ หอมใบอ้อ กินอร่อยคู่น้ำตาลอ้อย

 

วันนี้ชีพจรลงเท้าอีกแล้ว เพราะผมตัดสินใจออกเดินทางตามหาเรื่องราวรสหวานที่เมืองจันทบุรี เมืองที่ไม่ได้เป็นรองใครเรื่องความหวาน จนมีคำพูดติดปากอยู่ว่า “คนเมืองจันท์นั้นติดหวาน” เป็นวลีที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมในการกิน มีเสน่ห์ ชวนหลงใหลให้พิสูจน์ ระหว่างการเดินทาง สายตาผมจดจ่อกับสองข้างทางอยู่ตลอด เรียกว่าเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความแน่วแน่ตั้งใจ

 

 

 

 

เมื่อรถเลี้ยวเข้าสู่อำเภอเมืองจันท์ ตัวเมืองยังคงสวยงาม เพราะมีการอนุรักษ์สิ่งต่างๆ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ มีความเจริญแต่ไม่ละทิ้งอัตลักษณ์ ตามตรอกซอกซอยพบวัฒนธรรมหลากหลายปะปน เหมือนเชื้อสายที่หลากหลายของคนที่นี่ ซึ่งเห็นเด่นชัดในสถาปัตยกรรมโบราณ ที่ผสมผสานแต่ละวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างสวยงามและน่าหลงใหลแม้จนทุกวันนี้

 

 

 

 

เดินทางจากกรุงเทพฯ ร่วมสี่ชั่วโมงก็ถึงจุดหมายแรก ชุมชนตลาดล่างริมน้ำจันทบูร สองข้างทางเต็มไปด้วยอาหารทะเลแปรรูป อาหารท้องถิ่น อาหารที่หน้าแปลกตา ทำให้ไม่สามารถหยุดเดินชมได้ ทุกอย่างดูเพลิดเพลินสายตาไปหมด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ขนมจ้างอร่อยน้า ลองชิมได้

 

 

 

 

เสียงแม่ค้าในตลาดพูดเชิญชวนให้ลองมากิน ‘ขนมจ้าง’ หรือกี่จ่าง ขนมจ่าง และขนมซังแล้วแต่ชื่อเรียกตามแต่ละท้องที่นี้มีรูปทรงคุ้นตา เป็นก้อนสามเหลี่ยม วางกองกัน มัดเป็นจุก ผูกเป็นพวง เหมือนข้าวต้มน้ำวุ้น แต่แปลกตรงที่เนื้อของขนมมีสีเหลืองอมเขียว แถมยังเป็นก้อนข้าวเหนียวใสๆ ผมเลยถามแม่ค้าว่าขนมจ้างนี้กินอย่างไร

 

 

 

 

กินง่ายๆ จิ้มน้ำอ้อยเอาเข้าปากเลยลูก ตอนร้อนอร่อยนะจ๊ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ได้ยินแบบนี้ก็เลยคว้าขนมจ้างขึ้นมาพวงหนึ่ง แกะกินทั้งที่ยังร้อนๆ อย่างไม่รีรอ รสของตัวขนมออกจืดๆ แต่เนื้อสัมผัสจะหนึบเด้ง ลองกินคู่กับน้ำตาลอ้อยหรือที่คนจันท์เรียกน้ำอ้อยดูก็เข้าท่าดี จึงขอดูวิธีการทำ ซึ่งทำให้ทราบว่า แม่ค้าเขาก็รับมาจากอีกเจ้าที่อยู่ในตลาดน้ำพุ ตลาดสดกลางใจเมือง ยังดีที่ก่อนการเดินทางผมได้ทำการสำรวจข้อมูลเรื่องขนมต่างๆ ของจังหวัดจันทบุรีไว้แล้ว จึงทำการติดต่อกับ น้องวิวหนึ่งในคนทำขนมจ้างในจังหวัดจันทบุรี และได้ทำการนัดพบกับน้องวิวในวันรุ่งขึ้น

 

 

 

 

ถึงเวลานัดหมายผมก็ตรงดิ่งไปที่บ้านน้องทันที น้องวิวเองก็ไม่รีรอ แนะนำสมาชิกในครอบครัวแล้วพาเดินชมบรรยกาศรอบบ้านที่สัมผัสได้ถึงความร่มรื่น อบอุ่นเป็นกันเอง ก่อนจะลงนั่งคุยเรื่องราวต่างๆ เดินทางมาอย่างไร กินข้าวมาหรือยังตามประสาคนเพิ่งรู้จักพูดคุยกัน พอดีกับที่ ตาประวิง คุณตาของน้องกำลังยกขนมจ้างออกมาจากหม้อ กลิ่นหอมมาก แต่นึกไม่ออกว่ากลิ่นอะไร จึงถามคุณตาว่ากลิ่นหอมนี้มาจากอะไร ได้คำตอบว่าเป็นใบอ้อที่นำมาห่อขนม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ขนมจ้างของบ้านเราห่อด้วยใบอ้อ มันจะหอมพิเศษ ใบอ้อก็ไม่ต้องซื้อที่ไหน ไปหาตามป่าเสียส่วนใหญ่ เวลาไปหาใบอ้อ ต้องไปหาแถวตีนเขาฝั่งวัดขนุน แถบเขาคิชฌกูฏ แถวนั้นต้นอ้อมันเยอะ ไปถึงก็ต้องระวังซ้าย ระวังขวา ช้างมันชุม วันไหนถ้ามาไม่เห็นต้มขนมแสดงว่าไปเก็บอ้อ” 

 

 

 

 

คุณตาเล่าอย่างออกรส ทำเอาผมตื่นเต้นไปด้วย หากมีโอกาสได้ติดตามไปเก็บใบอ้อด้วย คงเหมือนได้ไปผจญภัย ทั้งได้เดินป่า ทั้งได้เจอช้าง 

 

 

 

 

“ทำมา 40 กว่าปี ตั้งแต่ฉันยังสาว ตอนนี้อายุ 67 แล้ว ทุกวันนี้ก็ให้ลูกให้หลานมาทำต่อ นับจากฉันเองวิวมันก็รุ่นที่สาม” คุณยายคำนวณ เล่าบ้าง พร้อมสายตาที่ดูภาคภูมิใจ พลางยืนยันว่าขนมจ้างนี้แหละ ที่เลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวมา

 

 

 

 

 

 

 

 

“แรกเลยฉันกับตาก็ทำไม่เป็น ห่อไม่ได้ อาสะใภ้ของฉันเองเป็นคนสอน เป็นคนพาทำ แรกๆ ฝึกทำฉันเอาทรายมาห่อแทนข้าวเหนียว จากนั้นก็ลองกับข้าวเหนียวจริงๆ ฝึกจนมันสวย ฉันลองกินก็ว่าอร่อย ใครลองกินเขาก็ว่าอร่อย ต่อไปก็ลองทำไปขายตามตลาด ตลาดพลิ้วบ้าง ตลาดเมืองจันท์บ้าง ขายดี ขายหมด หลังมาก็ทำขายส่งเขาอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ออกไปขายเองบ้าง แต่ไม่บ่อย”

 

 

 

 

ระหว่างการสนทนากับตาประวิง ยายคำนวณ น้องวิว และคุณแม่ต่างก็พากันกันหยิบขนมคนละพวงสองพวงลงหม้อใหญ่ ใหญ่ในระดับกินทั้งหมู่บ้านได้เลย ผมจึงลองถามเล่นๆ ว่าส่งทั้งจังหวัดเลยไหมเยอะขนาดนี้ น้องวิวตอบมาคำเดียวว่า “ค่ะ”

 

 

 

 

ฮ่าๆๆๆ ผมคิดว่าขนมจ้างในตลาดที่กินเมื่อวานก็คงเป็นฝีมือของบ้านนี้แหละ ><

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

“ทุกวันนี้ทำประมาณ 50 พวง บางวันก็ 100 พวง แต่ก่อนโควิดจะเข้ามาเยอะว่านี้เท่าตัว เดี๋ยวนี้ของแพง คนมาเที่ยวน้อยกว่าแต่เก่า เลยทำน้อยลง ตอนนี้ในจังหวัดจันทบุรีมีแค่สองบ้านที่ทำขนมจ้างขายส่ง มีบ้านหนูกับอีกที่หนึ่ง แต่บ้านหนูทำทุกวัน ไม่หยุด เพราะมีแม่ค้ารอเอาขนมไปขายตลอด หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดเขาก็ไม่มีขนมจ้างขาย ถ้าหยุด.. ก็หยุดไปตัดใบอ้ออย่างที่คุณตาบอก” น้องวิวตอบพลางหยิบขนมจ้างใส่ลงไปในหม้อ ก่อนจะลุกเดินไปหยิบกะละมังขนาดย่อม มีข้าวเหนียวที่ดูหมาด สีออกเหลืองตุ่น บรรจุอยู่ ด้วยความที่หน้าตาผมดูสงสัย คุณยายจึงช่วยไขข้อสงสัยให้

 

 

 

 

 “ตัวขนมจ้างเขาจะใช้ผงด่างแช่ข้าวเหนียว สีมันเลยเป็นอย่างที่เห็น ถ้าไม่แช่ด่างมันจะเป็นไต แต่ผงด่างที่ใช้ ฉันไม่ได้ซื้อมา ฉันทำเองหมด เวลาทำก็จะเอาไม้ กาบมะพร้าว มาเผาเอาขี้เถ้ามัน พอได้ขี้เถ้าแล้วก็เอาไปใส่น้ำ รอให้ตกตะกอนใสๆ เหมือนน้ำปูนใส ตักแต่น้ำใสมันมากรองกับผ้าขาวบาง แล้วเอาน้ำที่ได้ไปไว้แช่ข้าว” การทำขนมจ้างของคุณยายยังคงความพื้นบ้านง่ายๆ ไม่ต้องยุ่งยาก มีความเป็นออร์แกนิกที่แท้จริง ใช้ของรอบตัวมาทำทั้งหมด เป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและยังคงความยั่งยืนอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

น้องวิวเริ่มใส่ขนมจ้างลงต้ม พร้อมๆ กับอธิบายขั้นตอนการทำขนมจ้างไปด้วย ว่าเริ่มจากการแช่ช้าวเหนียวกับน้ำด่างสองวัน หากแช่ไม่ได้ที่ ข้าวจะแข็งเป็นข้าวเหนียวต้ม ระหว่างสองวันนี้ต้องคอยคนและเปลี่ยนน้ำให้ใสอยู่ตลอด ไม่งั้นจะเหม็นบูด ทำประมาณสองรอบ จากนั้นนำข้าวเหนียวไปล้างน้ำไม่ให้ขมด่าง (รสเฝื่อน) นำมาห่อใบอ้อเป็นลูกสามเหลี่ยม ผูกด้วยตอกไม้ไผ่เป็นพวง พวงละ 10 ลูก เอาไปต้มประมาณ 1 ชั่วโมง ได้ที่ นำขึ้นมาต้องล้างน้ำเลย ไม่อย่างนั้นจะเป็นเมือก 

 

 

 

 

กว่าจะได้ขนมจ้างไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ แต่ละขั้นตอนใช้เวลาเตรียมหลายวัน หากพลาดตรงไหนอาจส่งผลให้ขนมจ้างแข็ง มีรสขมด่าง หรือกลายเป็นข้าวเหนียวต้มได้ 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระหว่างรอให้ขนมสุก คุณตาประวิงจัดแจงเอาขนมจ้างกับน้ำอ้อย (น้ำตาลอ้อย) มาให้ชิม ด้วยความที่ผมเป็นคนปฎิเสธยาก มีหรือจะเกรงใจ มือก็แกะใบอ้อออก ปากก็เป่าให้ขนมเย็นลง ลักษณะขนมหากสังเกตดูชัดๆ จะเห็นเม็ดข้าวเหนียวจับตัวเป็นก้อนสามเหลี่ยมคล้ายวุ้น เนื้อขนมมีสีเหลืองตุ่นๆ กลิ่นของใบอ้อหอมไม่เหมือนใบห่อขนมชนิดไหน ก่อนกินก็ต้องจิ้มน้ำอ้อยสักหน่อย

 

 

 

 

รสชาติตัวขนมอย่างที่บอกไปว่าค่อนข้างจืด แต่หอมทั้งกลิ่นของข้าวเหนียวและกลิ่นของใบอ้อ เมื่อกินคู่กับน้ำอ้อยหวานหอมทำให้กินเพลิน กินสนุก จนคุณตาต้องหยิบมาให้เพิ่มเลยละครับ คุณตายังบอกผมอีกว่าบางคนก็เอาไปกินกับน้ำแข็งไส บางคนก็ใส่กับน้ำเชื่อม ทำให้อร่อยไปอีกแบบ

 

 

 

 

ทุกวันนี้คุณตาประวิงและคุณยายคำนวณ ก็ยังทำขนมจ้างขายอยู่ในตลาดพลิ้ว บางวันคุณยายก็หอบขนมไปนั่งขายเองที่ตลาดในเมืองจันท์ วันไหนที่ขยันหน่อย คุณยายจะทำขนมจากกับมะพร้าวอ่อนเผาไปขายด้วย ซึ่งคุณตาก็เป็นคนหาวัตถุดิบเช่นเคย ใบจากก็ไปตัดมาด้วยตัวเอง มะพร้าวอ่อนก็เอาจากที่ปลูกเองรอบบ้าน ไม่ต้องไปหามาจากที่อื่น

 

 

 

 

 

 

 

 

ผมรู้สึกดีใจและสนุกมากๆ กับการมาดูวิธีการทำขนมจ้างในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เคยได้มาเห็นวิธีการทำ ลองชิม  แถมยังได้รู้เรื่องราวของขนมที่เห็นได้ตลอดเมื่อเข้าสู่เมืองจันท์ ทำให้ยิ่งหลงเสน่ห์เจ้าขนมจ้างเข้าไปอีก ก็อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นละครับ จังหวัดจันทบุรียังคงมีเสน่ห์และความน่าหลงใหลอยู่เสมอ ใครมีโอกาสแวะเวียนมาเที่ยวจังหวัดจันทบุรี อยากให้แวะที่ตำบลพลิ้ว ชิม ‘ขนมจ้าง’ ฝีมือคุณตาประวิงและคุณยายคำนวณดูครับ รับรองว่าอร่อยไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน

 

 

 

 

สนใจอยากลองชิมขนมจ่าง สั่งล่วงหน้าได้ที่ 093-142-8664
หรือแอดไลน์ 082-906-5728              

 

 

 

 

บทความเพิ่มเติม

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Tags:

eat local, ขนมพื้นบ้าน, ขนมไทย

Recommended Articles

Food Storyบ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่ ชาวสะกอมชวนฉลองด้วย ‘ขนมดาด้า’
บ้านไหนมีเด็กเกิดใหม่ ชาวสะกอมชวนฉลองด้วย ‘ขนมดาด้า’

แป้งจี่เรียบง่าย ล้อมวงกินด้วยกันตอนยังร้อนๆ หอมๆ อร่อยอย่าบอกใคร

 

Recommended Videos