เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

cooking post

คานาเป้ ย่อส่วนความอร่อยในหนึ่งคำ

Story by ณวรา เปลี่ยนบุญเลิศ

คานาเป้ คำเล็กน่ารักพร้อมสูตรอร่อย สวยๆ ในหนึ่งคำ

สิ้นปีแล้วหลายคนคงได้ไปกินอาหารอร่อยๆ กันมาบ้าง แต่ถ้าพูดถึงงานเลี้ยงสังสรรค์ไม่ว่าจะในงานแต่งงานหรืองานเลี้ยงฉลองต่างๆ หลายคนคงนึกถึงคำว่า ‘ค็อกเทล’ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงค็อกเทล (งานเลี้ยงที่เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีเหล้าเป็นส่วนประกอบ) ที่มีของกินเป็นคำๆ หน้าตาหลากหลาย แล้วต่างอย่างไรกับคำว่า ‘ฟิงเกอร์ฟู้ด’ หรือ ‘คานาเป้’ 

 

ค็อกเทลฟู้ด (cocktail food) หรือมีศัพท์บัญญัติเก๋ๆ ว่า ฟิงเกอร์ฟู้ด (finger food) หมายถึงอาหารคำเล็กๆ ที่หยิบกินด้วยมือโดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ช้อนส้อมให้วุ่นวาย 

 

คานาเป้ (canapé) ถ้าแปลมาจากภาษาฝรั่งเศส หมายถึงอาหารว่างคำเล็กๆ ที่มีฐานรอง เพราะ canapé แปลว่า bed หรือ sofa คานาเป้จึงประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ฐาน และหน้าหรือไส้ของคานาเป้ สมัยก่อนฐานคานาเป้มักใช้ขนมปังง่ายๆ เช่น แครกเกอร์ ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังฝรั่งเศส​ (บาร์แกต) แต่สมัยนี้เปลี่ยนเป็นขนมปังอย่างอื่นได้ เช่น พิตตา แผ่นนาโชกรอบ แป้งพัฟฟ์ เพียงแต่เราปรับแต่งให้มีขนาดพอคำ หรือแม้กระทั่งการประยุกต์เอาแป้งเอแคลร์ แป้งแพนเค้กมาทำเป็นฐาน หรือเปลี่ยนฐานเป็นผัก ผลไม้ อย่างแตงกวา ผักกาดคอส ส้ม ส่วนไส้หรือหน้าของคานาเป้นั้นแล้วแต่เราจะประยุกต์ให้รสชาติเข้ากันกับฐาน และไม่ทำให้นิ่มแฉะไม่น่ากิน

 

มีอีกคำที่เราได้ยินบ่อยๆ ในอาหารอเมริกันและฝรั่งเศสคือคำว่า ออร์เดิร์ฟ (hors d’ oeuvre)’ ซึ่งหมายถึง อาหารคำเล็กๆ หรือปริมาณน้อยๆ ที่เสิร์ฟก่อน main course เพื่อเรียกน้ำย่อย ดังนั้นถ้ากินในลักษณะค็อกเทลปาร์ตี้หรือแบบไม่นั่งโต๊ะเราจึงเรียกอาหารนั้นว่าฟิงเกอร์ฟู้ดหรือคานาเป้มากกว่า

 

 

นอกจากคานาเป้แบบมีฐานเป็นขนมปังแล้ว สมัยนี้เรายังสร้างสรรค์คานาเป้ให้เมนูหนึ่งเมนูลงมาอยู่ในคานาเป้หนึ่งคำของเราได้ เช่น คานาเป้สลัดซีซาร์ (สลัดซีซ่าร์วางบนแป้งฟัฟฟ์) คั่วกลิ้งสติ๊ก (คั่วกลิ้งหมูปั้นเป็นก้อนทอดกินกับแตงกวาหั่นแว่น) แม้กระทั่งการเอาสปาเกตตีหน้าต่างๆ มาทำเป็นคานาเป้โดยจัดเสิร์ฟอยู่ในช้อนเล็กๆ อาหารบางอย่างที่โดยธรรมชาติกินเป็นคำๆ อยู่แล้วก็เรียกได้ว่าเป็นคานาเป้ เช่น ปีกไก่บาร์บีคิว ข้าวห่อสาหร่าย เอแคลร์ แต่เราต้องหาอุปกรณ์จัดเสิร์ฟอย่างไม้จิ้ม กระดาษรองเพื่อให้ง่ายต่อการหยิบเข้าปาก

 

เสน่ห์ของคานาเป้อันดับแรกคงจะเป็นหน้าตา ความสวยงามของอาหารที่ดึงดูดให้คนหยิบใส่ปาก แต่สำหรับฉันสิ่งที่สำคัญไม่แพ้เรื่องหน้าตาคือ การบาลานซ์รสชาติวัตถุดิบในปริมาณน้อยนิดให้อยู่ในคำเดียวและผสมลงตัวกันในปาก ดังนั้นการจับคู่รสชาติวัตถุดิบของคานาเป้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เช่น ชีสกินอร่อยคู่กันกับผลไม้ หรือการตัดรสชาติกันของวัตถุดิบที่มีรสเผ็ด มัน นอกจากนั้นเรายังต้องคำนึงถึงลักษณะอาหารก่อนรับประทาน เพราะคานาเป้เป็นอาหารที่ตั้งทิ้งไว้เพื่อรอคนมาหยิบกิน อุณหภูมิและระยะความคงตัวของสภาพอาหารจึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเช่นกัน อาหารบางอย่างต้องกินเย็นๆ ถึงจะอร่อย หรือบางอย่างกินอุ่นๆ หรือกินที่อุณหภูมิห้องก็ได้ ดังนั้นอาหารที่ต้องกินร้อนอย่างเดียวถึงจะอร่อยจึงไม่ควรเอามาทำคานาเป้

 

สรุปแล้วการทำคานาเป้เป็นเรื่องน่าสนุกถ้าเรารู้จักประยุกต์และเข้าใจพื้นฐาน โดยมีหลักการให้ยึดเพียง 3 ข้อคือ หนึ่ง ความสวยงามและขนาดของคานาเป้กำลังพอดีคำ สอง รสชาติลงตัวในคำเดียว และสุดท้าย ลักษณะความถูกต้องของอาหารก่อนรับประทาน หากเราทำตาม 3 ข้อนี้ก็จะทำคานาเป้ของเราประสบความสำเร็จและอร่อยทุกครั้งแน่นอน

 

 

คลิกดูสูตรคานาเป้ปูอัด

 

 

คลิกดูสูตรคั่วกลิ้งสติ๊ก

 

 

คลิกดูสูตรฟักทองอบเครนเบอร์รี

 

บทความเพิ่มเติม

 

Share this content

Contributor

Recommended Articles

Cookingอาหารฤทธิ์เย็น แก้ร้อนได้จากภายใน
อาหารฤทธิ์เย็น แก้ร้อนได้จากภายใน

ร้อนๆ อย่างนี้ มาทำเมนูสุขภาพดีที่แก้ร้อนได้จากภายในกันเถอะ

 

Recommended Videos