เรื่องราวของชอร์ตเบรดและสโคน ขนมคลาสสิคเคียงคู่โต๊ะชายามบ่าย
มีใครชอบกินชอร์ตเบรดกับสโคนไหมคะ! เปิดหัวมาแบบนี้เลย เพราะมีความรู้สึกว่าในบรรดาขนมนมเนยที่ฮอตฮิตในบ้านเราเนี่ย สองสิ่งนี้ดูจะไม่ค่อยติดโผ ทั้งที่ศักดิ์ศรีน้องทั้งสองสูงส่งเชียวนะคะ เพราะสโคนเป็นขนมคู่เมืองอังกฤษ ส่วนชอร์ตเบรดก็ไม่น้อยหน้า เป็นขนมประจำชาติสก็อตแลนด์เชียวนะ
แต่ว่าสำหรับในเมืองไทยแล้ว ชอร์ตเบรดที่ฉันได้กินบ่อยๆ ก็มีแต่ยี่ห้อ Walkers ที่สมัยไปอังกฤษ ขนซื้อกลับมาจนเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์เช็คอินหัวเราะถามว่า “เมืองไทยไม่มีขายเหรอ” สิบกว่าปีต่อมาก็ยังคงกินยี่ห้อเดิม เพราะไม่ค่อยมีใครทำขายมากนักเมื่อเทียบกับบราวนี่ เค้ก คุกกี้ ขนมปังสารพันชนิด ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะความคลาสสิคและธรรมดาสามัญ อะแดปต์หน้าตา เพิ่มเติมส่วนผสม หรือดัดแปลงสูตรให้หวือหวาเข้ายุคเข้าสมัยแบบขนมประเภทอื่นไม่ค่อยได้
สโคน อาจจะป๊อปกว่าหน่อย เพราะแม้จะเป็นขนมคลาสสิคดั้งเดิมที่แทบไม่มีการดัดแปลงใดๆ เช่นกัน แต่ยังพอจะหากินได้ตามร้านกาแฟและออนไลน์ แต่การจะหาสโคนที่ในความดูเหมือนทำง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อน ที่อร่อยบอกเลยว่าไม่ง่าย บางร้านแข็งจนปวดฟัน บางร้านร่วนซุยเกินไป บางร้านก็นิ่มเกินเหตุ การตามหาสโคนอร่อยจึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่ฉันเองก็ไม่รู้ตัว รู้อีกทีคือถ้าเจอคำว่าสโคนในเมนู ก็เป็นต้องสั่งโดยอัตโนมัติแบบบางทีก็นั่งงงอยู่หน้าจานสโคนว่าสั่งมาทำไม จะกินเค้กไม่ใช่เหรอ เรียกว่าเป็นมิสชั่นที่หยั่งไปถึงระดับจิตใต้สำนึก
วันนี้เลยจะมาป้ายยาให้ทุกคนลองเปิดใจให้น้องชอร์ตเบรดและสโคน ที่ชาวไทยอาจจะไม่ค่อยอิน แต่ที่บ้านเกิดของทั้งคู่นั้นอินกันมาก หาได้ทุกที่ ทุกตรอกซอกซอย และในความเป็นขนมพื้นฐาน ธรรมดาสามัญ แต่ทั้งชอร์ตเบรดและสโคนก็มีความหรูหราแอบแฝงอยู่ เพราะทั้งคู่เป็นขนมประจำโต๊ะน้ำชายามบ่ายหรือ Afternoon Tea ที่ถือเป็นกิจกรรมของชนชั้นสูงเลยนะ
ชอร์ตเบรด ขนมแห่งความฝัน
ชาวสวีดิชเรียกชอร์ตเบรดว่า ‘ดรอมมาร์’ (drömmar) แปลว่า ‘ความฝัน’ ด้วยเหตุใดไม่ปรากฎ แต่ก็เหมาะสมไม่น้อยเมื่อคิดว่ามันถือกำเนิดขึ้นที่สก็อตแลนด์ ดินแดนที่ไม่เพียงอึมครึมตลอดปีตลอดชาติ ยังเต็มไปด้วยเทพนิยาย แฟรี่ ภูต ราวกับดินแดนที่อยู่ในความฝัน
ชอร์ตเบรดเกิดจากขนมปังกรอบ (Biscuit Bread) ในยุคกลาง ซึ่งเป็นการเอาโดห์ที่เหลือจากการทำขนมปังมาอบด้วยไฟอ่อนๆ จนแห้งและกรอบ เมื่อนิยมกันมากขึ้น คนก็ไม่รอให้มีโดห์ขนมปังเหลือเพื่อมาทำแล้ว แต่ใช้วิธีปรับสูตรส่วนประกอบขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ จากโดห์ขนมปังแบบดั้งเดิมที่ประกอบด้วยแป้ง เกลือ ยีสต์ น้ำ ก็มีการเอาเนยมาใช้แทนยีสต์ ผลจากการใช้เนยจำนวนมากในส่วนผสม ทำให้ขนมมีลักษณะกัดแล้วร่วนเป็นชิ้นๆ ลักษณะความร่วนนี้สมัยก่อนภาษาอังกฤษเรียกว่า ชอร์ต (Short) ที่ตรงกันข้ามกับคำว่าลอง (Long) ที่แปลว่าหนืดและยืดได้ จากบิสกิตเบรดก็เลยกลายมาเป็นชอร์ตเบรดด้วยประการฉะนี้
รูปทรงของชอร์ตเบรดที่คุ้นเคยกันมี 3 แบบคือทรงแท่ง ทรงกลม และทรงสามเหลี่ยม ว่ากันว่าควีนแมรี่แห่งสก็อตแลนด์เรียกชอร์ตเบรดรูปสามเหลี่ยมว่า ปัตติโค้ตเทล (Petticoat Tail) หรือชายหางปัตติโค้ต-ชุดชั้นในของผู้หญิงนั่นเอง นอกจากจะให้ชื่อเก๋ๆ (รึเปล่านะ) นี้แล้ว ควีนแมรี่ยังทรงเป็นผู้ที่ทำให้ชอร์ตเบรดมีคุณลักษณะแบบที่เป็นในปัจจุบันด้วย
ช่วงแรกชอร์ตเบรดคือขนมราคาแพง เป็นของหรูหราสำหรับโอกาสพิเศษ อาทิ คริสต์มาส Hogmanay หรือวันส่งท้ายปีเก่าแบบสก็อต และงานแต่งงานเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปชอร์ตเบรดก็ลงจากหอคอยสู่สามัญ และกลายเป็นขนมประจำชาติสก็อตแลนด์ไปในที่สุด
สโคน เอ๊ะ! หรือ สคอน
อย่าว่าแต่ชาวไทยที่ยังงงว่าตกลงต้องเรียก สโคน หรือ สคอน แม้แต่ชาวอังกฤษเองก็ยังยก สโคน กับ สคอน ขึ้นมาเป็นประเด็นอยู่เรื่อยๆ เพราะเรียกทั้งสองอย่างแบบคู่คี่สูสี ถึงขั้นที่ปี 2016 YouGov บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังของอังกฤษทำโพลสำรวจกลุ่มตัวอย่างในเกรทบริเตนว่าคนเรียกมันว่าอะไรกันแน่ ซึ่งผลที่ออกมาสคอนชนะไปที่ 51% สโคนอยู่ที่ 42% ไม่รู้ 3% ไม่ได้เรียกทั้งสองแบบ 3% จริงจังกันเบอร์นี้!
ความเป็นมาของสโคนก็คลุมเครือไม่แพ้ชื่อเรียก เพราะจนบัดนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ริเริ่มแน่ แต่จากหลักฐานบางส่วน สันนิษฐานว่าน่าจะมีต้นกำเนิดจากสก็อตแลนด์ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 สมัยนั้นใช้ข้าวโอ๊ตทำสโคน ไม่ใช่แป้งสาลีแบบสมัยนี้ หน้าตาก็ไม่ได้เหมือนสมัยนี้ เพราะสโคนยุคแรกเป็นทรงกลมแบน ขนาดใหญ่ประมาณจานขนาดกลาง นำไปอบบนกระทะก้นแบน (หรือ girdle ของชาวสก๊อต) แล้วจึงนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ ทรงสามเหลี่ยมก่อนเสิร์ฟ ในขณะที่ชื่อสโคนนั้นก็มีหลากหลายเรื่องเล่า บ้างว่ามาจากชื่อ Stone of Scone หรือ Stone of Destiny ซึ่งใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์ บ้างก็ว่ามาจากภาษาดัชต์ schoonbrot แปลว่า beautiful bread เล่ากันไปคนละทางสองทางโดยไม่มีใครรู้ต้นกำเนิดที่แน่ชัด
แต่ชื่อกับประวัติจะคลุมเครือยังไงก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือสโคนเป็น Quick Bread คู่บ้านชาวอังกฤษ เป็นทั้งอาหารเช้าและขนมกินคู่กับชา ลักษณะจะว่าเป็นขนมปังก็ไม่ใช่ บิสกิตก็ไม่เชิง รสสัมผัสมีความกึ่งกรอบ กึ่งนุ่ม เนื้อร่วน มีส่วนประกอบหลักคือแป้งสาลี บางครั้งอาจใส่ลูกเกด ผลไม้แห้ง หรือถั่ว เพื่อเพิ่มรสสัมผัสและรสชาติ เนื่องจากสโคนมักมีรสชาติไม่หวาน คนอังกฤษจึงนิยมกินคู่กับวิปครีม คอตเตจชีส หรือแยมผลไม้ ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมของทั่วโลกไปด้วย ที่เวลาซื้อสโคนก็มักจะได้แยมกับเนยใส่ถุงมาให้พร้อมสรรพ
ชิมขนมรื่นรมย์ชายามบ่าย
แม้สโคนและชอร์ตเบรดจะสามารถรับประทานได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อสำคัญก็คือการขึ้นไปอยู่บนโต๊ะน้ำชายามบ่ายของชาวอังกฤษ อันนี้ต้องย้อนกลับไปในปีค.ศ.1840 ยุคนั้นเวลากินอาหารของคนอังกฤษมี 2 มื้อ ได้แก่ มื้อเช้ากับมื้อค่ำ กว่าจะเสิร์ฟมื้อค่ำก็ปาเข้าไป 2-3 ทุ่ม ท้องกิ่วระหว่างวันหนักเข้า Duchess Anna ลำดับที่ 7 แห่ง Duchess of Bedford จึงสั่งให้มีการตั้งโต๊ะชา ขนมปัง เค้ก เสิร์ฟระหว่างวันเพื่อรองท้อง สโคนในฐานะขนมประจำบ้านก็ได้รับเกียรติให้ได้ขึ้นโต๊ะชายามบ่ายไปด้วย ช่วงแรกอาจจะเพราะมีขนมอะไรก็ยกๆ มา แต่เมื่อวัฒนธรรมจิบชายามบ่ายเม้าท์มอยสังสรรค์ของเหล่าสตรีชั้นสูงกลายเป็นธรรมเนียม สโคนก็กลายเป็นหนึ่งในขนมที่ต้องมีบนโต๊ะน้ำชายามบ่ายไปด้วยจนถึงปัจจุบัน
จากวันนั้นถึงวันนี้ แน่นอนว่ามีการปรับเปลี่ยนขนมและของว่างบนโต๊ะชายามบ่ายไปตามยุคสมัย นอกจากขนมหวาน ขนมปัง ก็ยังมีของคาวอย่างแซนด์วิชชิ้นเล็กชิ้นน้อย พาย พัฟฟ์ ทาร์ต เค้ก คุกกี้ โดยยังคงมีขนมคลาสสิคดั้งเดิมอย่างสโคนที่นิยมเสิร์ฟคู่กับแยมและ Clotted Cream รวมทั้งชอร์ตเบรดที่อาจจะเรียกได้เป็นพี่เป็นน้อง มีความคล้ายคลึงในแง่ของความคลาสสิคและคงทนเหนือกาลเวลามาด้วยกัน ยืนหนึ่งบนโต๊ะชาประหนึ่งหญิงสาวหน้าตาเรียบๆ ไม่สวยฉูดฉาดบาดตา แต่ยิ่งพิศก็ยิ่งเพลิน ยิ่งมองก็ยิ่งชอบ
ใครอยากเนรมิตโต๊ะชายามบ่ายที่บ้านประชดความว่างช่วงโควิด หรือแค่อยากลองทำความรู้จักขนมหน้าตาธรรมดาแต่มีดีอะไรนะถึงได้ยืนยงคงทนท้ากาลเวลามาหลายร้อยปี กดลิ้งค์ด้านล่างได้เลยค่ะ KRUA.CO มีสูตรสโคนและชอร์ตเบรดที่รับรองว่าทำง่ายแต่อร่อยมากมาท้าให้ลอง!
ภาพ: http://cookdiary.net / https://backgalleycafe.com.au / http://2.bp.blogspot.com / http://www.dreamsofvelvet.com / https://www.tomis-shortbread.com / https://www.discoverbritainmag.com/https://www.themontcalmclub.com/ https://i.insider.com /
ที่มา: https://www.gourmetandcuisine.com/stories/detail/532
https://tomorn.co/2017/09/03/shortbread/
บทความเพิ่มเติม
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos