ทุกขณะของการชงชา กระบวนการเยียวยาใจกับการตามหารสชาติที่ชอบ
มากกว่าความอร่อยล้ำลึก ‘การชงชาเยียวยาจิตใจ’ กลายเป็นโลกคู่ขนานที่คนดื่มชาอาจไม่ได้มีโอกาสสัมผัส เท่าคนชงชา เมื่อสบโอกาสพี่ชวนไปร้าน TE Time and space เพื่อเรียนรู้เรื่องชาเบลนด์จากพี่ปลา-นันธิดา รัตนกุล เจ้าของร้าน ฉันจึงตกปากรับคำ ด้วยหวังว่าความหลงใหลในชาของพี่ปลา อาจทำให้เราได้คำตอบว่า การชงชาเยียวยาจิตใจเราได้ยังไง?
เช้าวันศุกร์ที่เมฆครึ้มฟ้า ฉันจึงพาตัวเองมานั่งอยู่ที่เคาน์เตอร์บาร์ร้านย่านทองหล่อ พี่ปลาทักทายพร้อมยื่น Welcome drink ด้วยชาเบลนด์สีเหลืองใสเย็นหอมสดชื่น ต้อนรับเราสู่โลกชา เรานั่งฟังศาสตร์ชาเบลนด์และเส้นทางกว่าจะมาเป็น TE- time space (อ่านเพิ่มเติมในบทความเบลนด์ให้หอมกับ TE Time and space พื้นที่ลับของคนหลง (รัก) ชา) บทสนทนาสนุก ออกรสชาติพอๆ กับชาที่พี่ปลาเทียวเบลนด์มาให้ดื่ม บ้างให้รสสงบนิ่ง บ้างซับซ้อนแต่ให้ความรู้สึกตื่นตัว ก่อนสบจังหวะเราถามว่า “กระบวนการชงชา มันเยียวยาจิตใจเราได้ยังไง?”
“งั้นเรามาลองเบลนด์ชากัน” พี่ปลาไม่ได้ตอบคำถามในทันที แต่ชักชวนให้เราลองเบลนด์ชาดูสักครั้ง
ชงชา เวลาของการตามใจตัวเอง
การเบลนด์ชา คือการชงชาแล้วจับสมุนไพร ดอกไม้ ส่วนผสมต่างๆ ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งให้กลิ่นรสมาผสมกับชา ในอุณหภูมิและเวลาที่พอเหมาะ เพื่อดึงทั้งรสและกลิ่นจากส่วนผสม
“โจทย์คือชาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย” บรีฟสั้นๆ จากพี่ปลาคือให้เราลองเบลนด์ชาที่คิดว่าดื่มแล้วจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย โดยเลือกชากับส่วนผสมจากการดมกลิ่น และวัตถุดิบที่พี่ปลาทยอยหยิบออกมาจากชั้นทั้งชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ดอกไม้ให้กลิ่นอย่างลาเวนเดอร์ กุหลาบ ผลไม้แห้ง ข้าว มิ้นต์ เฮิร์ปทั้งหลาย ชอบกลิ่นไหนก็เลือกหยิบ และปรับอัตราส่วนตามที่เราจินตนาการอยากจะให้เป็น อยากให้กลิ่นไหนชัด กลิ่นไหนจาง ชาเข้มหรืออ่อน
“นี่ไง จดจ่ออยู่กับชากันแล้ว” พี่ปลาพูดขึ้นมาเมื่อสังเกตท่าทีของพวกเราที่จดจ่ออยู่กับกาน้ำชา จากน้ำเปล่าใสก็ค่อยๆ เห็นสีชาออกมาเบลนด์ผสมสวย ได้กลิ่นหอมๆ สลับกับมองนาฬิกาทรายที่จับเวลาในการแช่ชาในน้ำร้อน 5 นาที
“กระบวนการบำบัด มันเกิดขึ้นตั้งแต่เราเห็นแล้วสวย ดมแล้วหอม ดื่มแล้วอร่อย ที่เหลือมันคือการอยู่กับตัวเอง ถ้าเราตั้งใจชงนะ ไม่งั้นก็บำบัดแค่ตอนกินเท่านั้นแหละ อย่างพี่จะไม่ใช้นาฬิกาดิจิทัล ไม่งั้นเราใส่ชา รอ 5 นาที ก็กดนาฬิกาจับเวลา เดินไปโน่นไปนี่ได้สิ 5 นาทีขอแค่เราตั้งใจ”
จนเมื่อชงเสร็จแล้วเราก็ยังลุ้นว่าชาที่เราตั้งใจเบลนด์จะรสชาติออกมาเป็นยังไง ชาเบลนด์ของฉันมีส่วนผสมของชาดำภูเขาไฟ บัควีต และมิ้นต์ ได้รสชาติอย่างที่ชอบ หอมชาดำกับบัควีตและมีมินต์พุ่งมาปลายๆ เพียงแต่อยากปรับปริมาณมิ้นต์ให้ชัดเจนอีกสักหน่อย ส่วนชาของพี่ที่นั่งเบลนด์พร้อมกัน โจทย์เดียวกันคือชาที่กินแล้วผ่อนคลาย กลับมีรสชาติคนละทิศละทางต่างกันสุดขั้ว ชาสีชมพูสวยรสชาติเปรี้ยวนำ หอมกลิ่นผลไม้ ดื่มแล้วสดชื่นตาหยี
ทุกคนมีกลิ่น มีรสที่ชอบเป็นของตัวเอง การดื่มชาเพื่อเยียวยาผ่อนคลายจึงไม่มีทฤษฏีตายตัวว่า ต้องเป็นชาชนิดไหน พี่ปลาหยิบขวดชาเบลนด์เล็กๆ 3 ขวดที่ฉันดมและเลือกหยิบวางไว้ตั้งแต่เข้าร้านมานั่งที่บาร์ และอธิบายว่าชา 3 ขวดนี้มีมิ้นต์เป็นส่วนผสมทั้งหมด แม้ขวดที่ไม่ได้กลิ่นมิ้นต์ชัดเจนตอนดม และฉันเลือกโดยที่ไม่รู้เลยว่ามันมีมิ้นต์เป็นส่วนผสม นั่นหมายความว่า กลิ่นมินต์คือความชอบและความผ่อนคลายของฉัน ในขณะที่กลิ่นฟรุตตี้รสเปรี้ยวหวานคือความผ่อนคลายของพี่อีกคน
การชงชาเยียวยาใจ กับดื่มชาบำบัดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายจึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
“ดื่มชาเพื่อบำบัดอาการทางร่างกาย มีเรื่องสรรพคุณทางยามาเกี่ยวข้อง มีลูกค้าเข้ามาถามหาชาว่า มีชาเพื่อแก้อาการที่เป็นปัญหาในชีวิตของเขาไหม เช่น นอนไม่หลับ ท้องอืดท้องเฟ้อ เครียด อาการคนวัยทำงาน เราที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องสรรพคุณทางสมุนไพรมาก่อนก็เริ่มหาข้อมูล ปรึกษาหมอแพทย์แผนจีนที่เรารู้จักแล้วก็เริ่มเบลนด์ชาเพื่อสรรพคุณบำบัดทางกาย เวลาเสิร์ฟชาก็ให้ฟีลลิ่งเหมือนจ่ายยาอยู่เหมือนกัน”
ความรู้สึกถูกเยียวยาที่เกิดขึ้นในขณะชงชานั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน การจดจ่อ ใช้เวลากับสิ่งตรงหน้า สัมผัสกลิ่นอโรม่า รสชาในแบบที่ตัวเองชอบ เป็นช่วงเวลาของการอยู่กับตัวเองตามใจตัวเอง ได้เลือกได้กินในสิ่งที่ชอบก็ทำให้ใจฟูขึ้นมาได้ การชงชาหรือเบลนด์ชาคือความตรงไปตรงมา เรารู้เราเห็นสิ่งที่ใส่เข้าไป เป็นความซื่อตรงที่คนชงมีสิทธิ์เลือก ถึงอย่างนั้นความตรงไปตรงมาก็ไม่ได้ลบล้างอรรถรสหรือความสนุกในการเบลนด์ชา การจับนั่นผสมนี่กะเกณฑ์ปริมาณก็เพราะคาดหวังความน่าจะเป็น แต่บางครั้งสิ่งที่เราจินตนาการอาจไม่ได้ออกมาอย่างที่คิด การทดลองใหม่จึงเกิดขึ้นซ้ำๆ กลายเป็นความสนุก
ทุกอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เราผ่อนคลาย เพียงแต่ทุกกระบวนการเยียวยาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณเริ่มชงชาอุ่นๆ อย่างละเมียดละไมดื่มดูสักถ้วย เหมือนฉันที่เข้าไม่ถึงการชงชาบำบัดจากตำราไหนทั้งนั้น กระทั่งมีโอกาสได้ลองเบลนด์ชาเองครั้งแรกนี่ละค่ะ
บาร์ชา มีเรื่องเศร้าพอๆ กับนั่งบาร์ดื่มเหล้า
ถึงจะใช้เวลาเบลนด์ชา 5 นาที แต่กลับรู้สึกเพลิดเพลินและสนุกกับบทสนทนาของพี่ปลาที่กินเวลากว่า 2 ชั่วโมง การหยิบโน่นนี่มาให้เราลองดม ลองชิมไม่หยุดหย่อนจนฉันนึกสงสัยว่ากับลูกค้าที่มานั่งอ้อยอิ่งอยู่บาร์ชา เขาแค่มากินชามาให้พี่ชงชาให้กินกันเฉยๆ เลยเหรอ พี่ปลาเลยย้ำว่าตนไม่ใช่ Tea masterแต่เป็น Tea designer และบางครั้งก็พ่วงตำแหน่งนักบำบัดแบบไม่รู้ตัว เพราะกับบางคนการได้อยู่กับตัวเองคือการเยียวยาใจ แต่บางคนก็ต้องการใครสักคนรับฟัง
“เราจะไม่บอกเขาว่ากินชาอันนี้แล้วทำให้ผ่อนคลาย หลับสบายนะ แต่จะถามความต้องการของแต่ละคนก่อน หรือรอเขาเปิดประเด็นก่อน ยกตัวอย่างมีคนมาเปิดเพลงให้เราฟังแล้วบอกให้เบลนด์ชาที่ให้ความรู้สึกเหมือนในเพลง บางคน ยื่นรูปให้เราดูเป็นรูปเปิดประตูแล้วด้านในเป็นสีขาว เราก็ต้องพูดคุยกับเขาถามเขามากขึ้นว่าเปิดไปแล้วคิดว่าภาพที่จินตนาการจะพาเราไปไหน ค่อยๆ ถามคำถามที่มันรีเรทได้ ถ้าพูดถึงความหนาว ความเย็น ความเหงา มันจะมีมิ้นต์เข้ามาแล้ว มีวัตถุดิบที่สัมผัสได้ ถ้าเป็นความคิดถึงอย่างคิดถึงบ้าน เราก็จะถามเขาแล้วว่าคิดถึงบ้านนี่คิดถึงอะไรที่บ้าน เขาบอกคิดถึงอาหารที่บ้าน กลิ่นมันเป็นยังไงเหรอ? บรรยากาศที่บ้านเป็นยังไง เราก็ค่อยๆ ดึงออกมา คือเรื่องกลิ่นเรื่องรสชาติมันเป็นความทรงจำที่อยู่ในหัวของแต่ละคน มันไม่เหมือนกัน นี่เหมือนจิตแพทย์อยู่นะ”
คนดื่มชามาคุยเรื่องเศร้า เหมือนคนนั่งดื่มที่บาร์เหล้า?
“ลูกค้าเราหลายคนก็มีภาวะซึมเศร้า บางครั้งเขาดื่มชาและแค่อยากหาคนรับฟัง เราก็แค่รับฟัง หลายคนที่มาบ่อยๆ เวลาเขาเศร้ามาเราก็กอดให้กำลังใจเขา หลายคนมาเล่าเรื่องชีวิตการงาน พ่อแม่พี่น้อง เขาสบายใจที่จะเล่าให้เราฟังเพราะเราไม่ใช่คนรู้จัก ไม่มีอะไรอ้างถึงคนที่เขาและเรารู้จักได้ สนุกสนานก็มีอย่างลูกค้าบางทีมาเจอกัน ไม่รู้จักกัน แต่เป็นหมอเหมือนกัน อีกคนหมอฟัน อีกคนหมอดูก็มีเรื่องให้คุยกันถูกคอ เราเลยรู้สึกว่าบาร์ชาเราเหมือน midnight dinner เหมือนกันนะ คุ้มแล้วที่ทำ”
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos