เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

The Goodcery ร้านของชำที่เชื่อว่าอาหารบอกเล่าได้มากกว่าความอร่อย

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

อาหารคือความหลากหลาย อาหารคือวัฒนธรรม ถ้าคุณเชื่อแบบนี้ ร้านของชำเชียงใหม่ร้านนี้กำลัง

ยิ่งระบบการซื้อขายวัตถุดิบอาหารถูกดึงดูดเข้าไปสู่ห้างสรรพสินค้าและห้างขายส่งมากขึ้นเท่าไร ร้านชำเล็กๆ ก็ดูเหมือนจะยิ่งหมดหน้าที่ไปมากเท่านั้น ความสะดวกสบาย มีมาตรฐานเหมือนกันหมดทุกที่ทุกสาขา เป็นข้อดีสำหรับการเดินชอปปิ้งในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ความเป็นมาตรฐานเหล่านั้นเองก็ทำให้เรากินน้ำตาลยี่ห้อเดียวกัน กินน้ำปลารสชาติเหมือนกันเกือบทั้งประเทศ

 

 

 

 

แต่เราเชื่อว่า ไม่ใช่คนทุกคนที่จะยินดีศิโรราบกับระบบการซื้อขายแบบนั้น อย่างเช่นวันหนึ่งที่เราได้เจอกับร้าน The Goodcery ร้านของชำคัดสรรในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มคนที่เชื่อว่าอาหารเป็นได้มากกว่าแค่รสชาติเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

“จุดเริ่มต้นคือเราไม่เข้าร้านสะดวกซื้อ ก็เลยอยากทำร้านของชำ แต่ถ้าทำร้านของชำแล้วเราก็ไปซื้อของอุตสาหกรรม เราก็จะหลุดไม่พ้นวงจรนั้นอยู่ดี ดังนั้นเราเลยต้องไปหาสินค้าท้องถิ่นมา มันเริ่มจากการหามากินก่อน เป็นส่วนตัวคือเป็นคนชอบกิน (หัวเราะ) แล้วเราก็ได้เจอว่า เห้ย มันอร่อยนะเนี่ย จริงๆ รสชาติแต่ละยี่ห้อมันไม่เหมือนกันเลย อยู่ที่ว่าเราจะเอาไปทำอะไร อย่างเช่น ซีอิ๊วยี่ห้อนี้ ต้องเอาไว้ทำพะโล้ เพราะมีกลิ่นเครื่องเทศจีนๆ อันนี้เหมาะกับการจิ้ม เพราะรสนัวๆ…”

 

 

 

 

 

 

 

คุณตาล – ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร หนึ่งในหุ้นส่วนและผู้ก่อตั้ง The Goodcery เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนอาคารเก่าหลังนี้ให้เป็นร้านของชำติดแอร์เย็นฉ่ำ ชวนให้ใช้เวลาเลือกของได้นานๆ ในฐานะของคนที่หมกมุ่นกับรสชาติซีอิ๊วจนรีวิวไปแล้วมากกว่า 20 ยี่ห้อ เราหูตาลุกวาวขึ้นมาทันที

 

 

 

 

นี่แหละคือร้านของชำแบบที่อยากเห็นมานาน!!

 

 

 

 

 

 

 

ของชำ กาแฟ คาเฟ่ สเปซ
และทุกอย่างที่คนเชียงใหม่อยากให้เป็น

 

 

 

 

The Goodcery เป็นร้านหน้ากว้างหลายคูหา ฝั่งติดถนนเป็นกระจกใสทำให้มองเห็นตัวร้านได้ชัดเจน ซ้ำยังอยู่ในย่านที่เริ่มนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวอย่างถนนราชวงศ์ ร้อยทั้งร้อยหากคนมองเข้ามาก็คงเข้าใจว่าที่นี่คือคาเฟ่เก๋ๆ เหมาะแก่การมานั่งถ่ายรูปเช็คอิน

 

 

 

 

 

 

 

ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีส่วนถูกอยู่ครึ่งหนึ่ง เพราะในพื้นที่ของ The Goodcery มีกาแฟดีๆ จาก Taste Cafe ร่วมอยู่ด้วย นอกจากนั้นก็ยังมีเบเกอรีอบสดใหม่ให้ได้เลือกชิม และมีอาหารที่เราขอนิยามว่าเป็นเมนู ‘กลางเก่ากลางใหม่’ อีกเพียบ เมนูที่ว่านี้ก็คืออาหารท้องถิ่นที่เสิร์ฟแบบทวิสต์ให้มีลูกเล่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ลาบคั่วจิ้นส้ม ที่ใช้จิ้นสมหรือเนื้อหมูหมักคล้ายแหนมมาปรุงด้วยพริกลาบเหนือกลิ่นหอมเครื่องเทศ สึคุเนะปลากรายชัยนาท เมนูเสียบไม้ที่ใช้ปลาเป็นวัตถุดิบหลัก หรือ ปาปาแซน้ำเงี้ยว เมนูน้ำเงี้ยวหอมๆ ที่เพิ่มความแปลกใหม่ด้วยการใช้เส้นปาปาแซหรือเส้นข้าวซองดังเดิมจากวัฒนธรรมจีนยูนนานมาเสิร์ฟแทนเส้นขนมจีนทั่วไป

 

 

 

 

 

 

 

เหนือไปกว่าอาหารและเครื่องดื่ม The Goodcery ยังมี ‘พื้นที่’ เป็นจุดเด่นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

 

 

 

 

“เราเป็นคนเชียงใหม่ เกิดเชียงใหม่ อยู่ที่นี่ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าอยากจะย้ายไปไหน เพราะฉะนั้นเราจะรู้ว่าคนเชียงใหม่ต้องการพื้นที่แบบนี้ พื้นที่ที่เป็นของคนที่นี่จริงๆ ไม่ต้องรองรับเฉพาะนักท่องเที่ยวได้ไหม เพราะฉะนั้นเราก็จะทำพื้นที่ที่เป็นแบบนั้น พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ มีอาหาร มีของให้จับจ่าย และมีสุนทรียะให้กินดื่ม กลุ่มเป้าหมายของเราก็เป็นแบบนั้น”

 

 

 

 

 

 

 

จะเช้าสายบ่ายเย็น The Goodcery จึงยินดีจะให้ชาวเชียงใหม่มานั่งทอดหุ่ย จิบกาแฟ กินอาหารอร่อยๆ เรื่อยเรียงไปจนถึงการจิบไวน์ตั้งแต่บ่ายแก่ถึงค่ำ สเปซที่โล่งสบายตาประกอบกับเสียงบรรยากาศการใช้ชีวิตของผู้คนคือไวบ์หนึ่ง ที่ทำให้เรารู้สึกว่า The Goodcery เป็นความละเมียดละไมในวันธรรมดาของชาวเชียงใหม่ได้แน่นอน

 

 

 

 

นอกจากจะเป็นห้องนั่งเล่นห้องรับแขกประจำย่านแล้ว The Goodcery ยังมีลานหินกว้างขวางอยู่หลังร้านให้เหล่า Food Activist และเชฟน้อยเชฟใหญ่ ทั้งในเชียงใหม่และเชฟรับเชิญจากทั่วประเทศได้มาจัดกิจกรรม ทำเวิร์กชอป ตั้งวงเสวนาเคล้าเสียงหัวเราะกันได้เสมอ

 

 

 

 

 

 

 

แม้จะเพิ่งเริ่มต้นมาแบบเตาะแตะเพียงไม่กี่เดือน แต่ร้านของชำแห่งนี้ก็ดูท่าว่าจะมีเรื่องสนุกๆ รออยู่อีกมากมายในอนาคต

 

 

 

 

เหนือ กลาง อีสาน ใต้
ของชำ Selected Shop ที่คัดแล้วคัดอีก

 

 

 

 

“ที่จะทำจริงๆ คือของชำที่ดูดีขึ้นมานิดหนึ่ง หมายถึงว่า เดินสบาย แอร์เย็น แต่ของก็คือบ้านๆ นะ ของบ้านเฮานี่แหละ ของจากกาด มันคือสิ่งที่เรากินในแต่ละท้องถิ่นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นชั้นวางจะถูกจัดวางแยกส่วนกันอีกแบบหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

“เวลาเราไปซูเปอร์มาร์เก็ต เขาจะแยกประเภทใช่ไหม ข้าวอยู่ตรงนี้ อันนี้เครื่องปรุง แต่ของเราจะเรียงตามภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ เราอยากให้คนได้เปรียบเทียบว่า ข้าวของเหนือกับข้าวของอีสาน เป็นข้าวเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน คุณอย่าคาดหวังว่ามันจะเหมือนกัน ถ้าคุณชอบแบบเม็ดๆ ร่วนๆ คุณก็จะต้องซื้อข้าวหอมมะลิ แต่ถ้าคุณชอบข้าวเม็ดอ้วนๆ หนึบๆ คุณก็ต้องไปดูที่ข้าวดอย เราไม่อยากให้เขาเคยชินกับแบบเดิม เพราะเราอยากให้เขาเข้าใจว่าท้องถิ่นมันมีความแตกต่างอยู่ อะไรที่มันเกิดขึ้นตามภูมิศาสตร์ มันก็จะออกมาเป็นผลผลิตตามนั้น เราอยากให้เขาเข้าใจว่า GI คืออะไร แล้วทำไมพื้นที่ตรงนี้มันถึงมีของแบบนี้

 

 

 

 

“ถ้าดูตามชั้นนี้ เราก็จะเห็นว่าซีอิ๊วมันมาจากภาคกลาง ภาคใต้ ส่วนชั้นของภาคเหนือเนี่ยไม่มีซีอิ๊วอยู่เลย หมายความว่าอะไร หมายความว่าชุมชนจีนฮกเกี้ยนจะอยู่ภาคกลาง ภาคใต้ ส่วนชุมชนจีนทางเหนือจะเป็นจีนยูนนาน”

 

 

 

 

 

 

 

บนชั้นวางของ The Goodcery แม้ยังไม่ใหญ่มาก แต่ก็มีสินค้าหลากหลายอย่างที่ว่ายืนอ่านฉลากเลือกของกันได้ค่อนวัน โดยเฉพาะกับคนที่ชื่นชมการสะสมเครื่องปรุงหรืออาหารแห้งจากที่ต่างๆ ไว้เป็นคลังสมบัติในครัว บนชั้นนี้คุณจะได้เจอกับซีอิ๊วไม่ต่ำกว่า 5 ยี่ห้อ กะปิหลากเฉดสี น้ำตาล พริกไทย น้ำผึ้ง ปลาร้าปรุงจากทั้งอีสานเหนือและอีสานใต้ (และต้องยอมรับไว้ ณ บรรทัดนี้เลยว่า การเห็นเครื่องปรุงขวดๆ วางรวมกันเยอะๆ นี่มันช่างสาแก่ใจคนบ้าเครื่องปรุงอย่างเราที่สุด)

 

 

 

 

 

 

 

การลงทุนเสาะหาะและสต๊อกวัตถุดิบแห้งและเครื่องปรุงสิ่งละอันพันละน้อยมารวมกันไว้ในชั้นนี้ ใช่ว่าเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อคนเลือกซื้อเท่านั้น แต่คุณตาลเล่าว่า ทั้งหมดทั้งมวลในการเป็นร้านของชำก็เพื่อตอบสนองต้องว่าอยากรู้ อยากลอง และอยากขับเคลื่อนบางสิ่งบางอย่างของทีมงานด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

“เราเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ ก็จะคิดอะไรในเชิงสังคมวิทยาค่อนข้างเยอะ เราสนใจมุมมองเรื่องมานุษยวิทยาในอาหาร มันก็พอจะมองเห็นว่า ท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่น รสชาติของเขาคืออะไร แล้วเราก็จะเห็นผู้คนในอาหารเหล่านั้น แต่ละที่ก็จะมีรสชาติต่างกัน มีเกลือ มีกะปิ มีปลาร้า มีอาหารทะเล มีถั่วเน่า มีอูมามิที่ไม่เหมือนกันเลย”

 

 

 

 

 

 

 

คนขายอาหาร ที่เชื่อว่าอาหารเป็นได้มากกว่าอาหาร

 

 

 

 

ไม่ว่าจะนิยามตัวเองไว้เป็นร้านแบบไหน สำหรับเราแล้ว The Goodcery ถือว่าเป็นผู้ประกอบการอาหารคนหนึ่งในเมืองเชียงใหม่อยู่วันยันค่ำ ไม่ต่างกับคาเฟ่ ร้านอาหารตามสั่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ

 

 

 

 

จะผิดกันเสียแต่ว่า ผู้คนที่อยู่เบื้องหลัง The Goodcery ต่างมีความเชื่ออย่างหนึ่งตรงกัน ว่าอาหารการกินนี่แหละเป็นสินค้าที่มีส่วนขับเคลื่อนโลกและความเท่าเทียมได้อย่างเห็นผลที่สุด

 

 

 

 

 

 

 

“ในความเชื่อของคนทำงานอาหาร เรารู้สึกว่านี่เรื่องใหญ่ คืออุตสาหกรรมนี่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วในโลกปัจจุบัน แต่จะทำยังไงให้มันไม่พุ่งไปทางเดียว ให้มันไม่ผูกขาดอยู่ที่เดียว เราก็ต้องกระจายไปสู่รายเล็ก โดยที่เราอยากทำหน้าที่เป็นสื่อกลางตรงนั้น

 

 

 

 

 

 

 

“แต่ความยากก็คือ เรามีกี่ SKU เราติดต่อเองหมดเลย เราไม่ได้เหมือนร้านขายของชำที่ยกหูหาสายส่งแล้วจะได้ของทุกอย่าง สินค้าของเราก็เลยต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางเจ้าก็คือ ตั้งแต่เป็นผู้ผลิตมา เขาก็ยังไม่เคยมีคนมาสั่งของไปขายแบบนี้ เพราะฉะนั้นหลายๆ คนก็ยังคิดราคาไม่ออก ราคาส่งก็ไม่มี เราเลยต้องซื้อขาดทั้งหมด คือเราไม่ได้อยากเป็นเจ้าใหญ่ที่ผู้ผลิตต้องมาส่งของ มารับของคืน เรายังการันตีไม่ได้ขนาดนั้น แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าการทำแบบนั้นมันสร้างผลประโยชน์ให้ผู้ผลิตได้จริงๆ ไหมนะ

 

 

 

 

 

 

 

“พื้นที่ข้างหลังก็คาดหวังว่าอยากจะเปิดตลาด ถึงตอนนี้เรายังสะดวกแค่พวกของแห้งที่อยู่บนชั้นได้นานหน่อย เราอยากให้ทุกคนมองว่าของเหล่านี้คือของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในวันที่เขาอยากจะเปลี่ยนรสชาติในปากให้กลายเป็นรสชาติท้องถิ่น หรือรสชาติที่เรารู้ที่มาจริงๆ มากกว่าที่จะเป็นร้านขายของฝาก และเราก็อยากให้อาหารสะท้อนภาพของคนที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ได้จริงๆ”

 

 

 

 

 

 

 

ในวันที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้ (ปลายปี 2022) The Goodcery มีสินค้าท้องถิ่นราว 300 รายชื่ออยู่ในร้าน มีลูกค้าทั้งเก่าใหม่แวะเวียนมาตลอดทั้งวัน มีกิจกกรรมอาหารเกิดขึ้นแทบจะสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ชวนให้เราจับตามองการเติบโตของร้านชำแห่งนี้ต่อว่า นานวันเข้า อาหารของ The Goodcery จะเป็นสิ่งใดและบอกเล่าอะไรให้กับคนกินได้อีกบ้าง

 

 

 

 

แค่นึกก็ตื่นเต้นขึ้นมาแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

The Goodcery
พิกัด : ถนนราชวงศ์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ (ตรงข้ามโรงแรมดาร์เลย์)
เวลาเปิด – ปิด : 09.00-21.00 (ทุกวัน)Facebook : The goodcery.th
โทร : 065 2423321

Share this content

Contributor

Tags:

ร้านอร่อยเชียงใหม่

Recommended Articles

Food Storyชมตึกเก่า กิ๋นข้าวลำ ที่ กิติพานิช เชียงใหม่
ชมตึกเก่า กิ๋นข้าวลำ ที่ กิติพานิช เชียงใหม่

ลิ้มรสอาหารเหนือที่กินง่าย เข้าใจง่าย ในบรรยากาศตึกเก่าร้อยปี บนถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่