
น้ำพริกสามัญประจำบ้าน ทำง่าย อร่อยได้ประโยชน์
ยุคนี้เป็นยุคที่คนตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันมาก ในวงสนทนาที่มีทั้งเจน z เจน y มักวกมาคุยเรื่องสุขภาพ การดูแลตัวเองกันบ่อยๆ ไม่นานมานี้ได้ฟังคุณหมอท่านหนึ่งแนะนำให้ทำน้ำพริกผักชีกิน เพราะผักชีช่วยต้านการอักเสบ มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก น่าเสียดายถ้าเราจะได้กินผักชีก็ต่อเมื่อโรยหน้ามาบนอาหารอยู่ 3-4 ใบ เลยแนะนำให้ทำน้ำพริก คุณหมอว่าน้ำพริกผักชีนี้คนหลงลืมกันไปมาก ทั้งๆ ที่เป็นน้ำพริกทำง่าย แต่ในคลิปนั้นไม่ได้แจงสูตรเอาไว้ว่าทำอย่างไร
ฉันเองก็เพิ่งจะเคยได้ยินชื่อ เลยลองสุ่มเปิดตำราอาหารเก่า หยิบจากชั้นหนังสือของแสงแดด เปิดจนเจอชื่อน้ำพริกผักชีอยู่ในหนังสือ ‘ตำรับอาหารวิทยาลัยในวัง’ มีสูตรน้ำพริกผักชีอยู่ด้วยกันถึง 2 สูตร

ส่วนผสมหลักคือผักชีสดหนึ่งถ้วย กะปิ รากผักชี กุ้งย่าง กระเทียม พริกขี้หนู ปรุงรสน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ มะนาว ทั้งสองสูตรส่วนผสมเหมือนกัน ต่างก็เพียงอัตราส่วน อ่านดูแล้วไม่แน่ใจว่าใช่สูตรที่คุณหมอพูดถึงไหม แต่น้ำพริกผักชีสูตรนี้ทำให้ได้กินผักชีสดๆ เยอะขึ้น และยังรู้สึกอร่อยกับการกินผักชีปริมาณมากแน่นอน เพราะปริมาณผักชีเป็นถ้วยนี่ไม่น้อยเลยค่ะ เลยหยิบมาแนะนำกับทุกคน
พอได้ลองทำกินดูแล้ว เป็นรสชาติที่ออกจะคุ้นเคย เปรี้ยว หวาน เค็มหอมสดชื่นจากผักชี อูมามิจากเนื้อกุ้งที่ตำลงไป เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ เหมือนกินน้ำพริกกะปิผสมกับน้ำจิ้มซีฟู้ด อย่างไรอย่างนั้น สูตรนี้เชฟเน็ต ณวราพัฒนาต่อจนได้เป็นสูตรน้ำพริกผักชีอร่อยๆ มาให้ทุกคนไปลองทำกันดู
ผักชีมีดีอย่างไร? ก่อนไปดูสูตร ชวนมาสำรวจกันว่าทำไมเราถึงไม่ควรมองข้ามผักชี
ผักชี (Coriander) เป็นพืชเก่าแก่ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบยุโรปใต้และเขตเมดิเตอร์เรเนียน ครัวไทยเป็นชาติที่ใช้ผักชีทุกส่วนในการประกอบอาหารทั้งลูกผักชี ใบและต้นผักชี และจัดอยู่ในหมวดเครื่องเทศชนิดหนึ่ง รากผักชี ให้กลิ่นหอมเย็นเป็นเอกลักษณ์ ใบมักเป็นผักโรยหน้าเติมสีสันและกลิ่นให้อาหาร รากผักชีให้กลิ่นเข้มข้น มักตำกับกระเทียมพริกไทยเป็นสามเกลอไว้หมักเนื้อสัตว์ หรือตำใส่ในน้ำจิ้มซีฟู้ดเพิ่มกลิ่นหอม ทุบโยนลงหม้อต้มเป็นเครื่องหอมในบรรดาต้มเคี่ยว และเข้าเครื่องแกง ส่วนลูกผักชีแห้ง เอาไว้หมักเนื้อสัตว์เพิ่มความหอม

นอกจากแต่งกลิ่นเสริมรสในอาหาร แต่ละส่วนยังมีสรรพคุณทางยา ดังนี้
ใบและลำต้น – มีวิตามินซีและวิตามินเอสูงมาก มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ช่วยย่อยอาหารและทำให้รู้สึกเจริญอาหาร
ราก – บำรุงสายตา ขับลม ขับปัสสาวะ
เมล็ด – มีน้ำมันหอมละเหยที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยเจริญอาหาร เบาเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
ที่ญี่ปุ่นเขาออกจะเครซี่กินผักชี ทำเค้กผักชี สลัดผักชี ซุปผักชี น้ำแข็งไสผักชี! กรีดเลือดออกมาเป็นสีเขียวเลยมั้ยไม่รู้ ที่แน่ๆ เราเองจะกินผักชีเฉพาะที่โรยหน้าก็เสียดายอยู่ สำหรับใครที่กินผักชีเป็นผักสด กินเป็นต้นได้แบบเจริญอาหารก็ยินดีด้วย แต่ถ้าใครยังต้องการตัวช่วยให้กินได้อร่อยแนะนำให้ตำน้ำพริกผักชีกินดูค่ะ ส่วนใครเลิฟผักชีอยู่แล้วอย่าลืมเพิ่มน้ำพริกผักชีเข้าไว้ในลิสต์ด้วยนะคะ
หมายเหตุ: นอกจากกินผักให้อร่อย จะกินให้ได้ประโยชน์ต้องรู้จักเลือกแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ อย่างน้อยก็ไม่ควรมองข้ามการล้างผักให้สะอาดที่สุด ไม่ว่าผักนั้นจะมาจากแหล่งใดก็ตาม ดูวิธีล้างผักให้สะอาด ปลอดภัย ได้ที่ https://krua.co/video_post/how-to-wash-vegetables-3-ways-cook-to-know

น้ำพริกผักชี (สำหรับ 4-6 คน)
กุ้งขาวทั้งเปลือก 6 ตัว (100 กรัม)
กระเทียมไทย 12 กลีบ
รากผักชีซอย 1 ราก (2 ช้อนชา)
กะปิย่าง 2 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูสวน 30 เม็ด
น้ำตาลมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำปลา 1½ ช้อนโต๊ะ
น้ำมะนาว 5 ช้อนโต๊ะ
น้ำต้มสุก 2 ช้อนโต๊ะ
ผักชีซอย ¾ ถ้วย (35 กรัม)
ผักสดตามชอบได้เลย
กินกับผักได้ทุกชนิด หรือผักลวกกะทิก็เข้ากัน

วิธีทำ
1. นำกุ้งไปย่างจนสุก จะย่างบนเตาหรือใครมีหม้อทอดไร้น้ำมันก็เลือกใช้ได้ตามสะดวก สุกแล้วพักไว้ให้หายร้อนค่อยแกะเอาแต่เนื้อกุ้ง
2. โขลกกระเทียมกับรากผักชีให้ละเอียด ใส่กะปิ เนื้อกุ้ง แล้วโขลกให้ละเอียด ตามด้วยพริกขี้หนูสวน โขลกพอแหลก จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว น้ำปลา น้ำมะนาวและเติมน้ำต้มสุก ผสมให้เข้ากัน


3. ชิมจนได้รสตามชอบ แล้วเติมผักชีลงไป คนเบาๆ พอเข้ากัน
4. ตักน้ำพริกใส่ถ้วย โรยผักชีเพิ่มให้สวยงาม แล้วเสิร์ฟกับผักสด ผักลวก หรือจะใช้จิ้มผักชีสดๆ ก็เข้ากัน เป็นอันพร้อมอร่อย


หมายเหตุ: เรื่องรสชาติปรับได้ตามชอบใจเลยค่ะ กะปิที่แต่ละคนเลือกใช้อาจให้รสเค็มไม่เท่ากัน ฉะนั้นปรับเพิ่มรสเค็ม เปรี้ยว หวาน ได้ตามชอบ แนะนำให้ใช้ ‘กะปิตำ’ เป็นกะปิจากเคยดี จะให้รสเค็มมัน ถ้าเป็น ‘กะปิแกง’ จะให้รสเค็มจัดเหมาะกับการนำไปแกงมากกว่าตำน้ำพริก
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos