เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

อิน-จัน ผลไม้พื้นบ้านหอมฉุน รสหวาน ฉ่ำ กินได้ทั้งสุกและดิบ

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

จันผลสุกกลิ่นหอมฉุนทำขนมหวานรสละมุน ผลดิบกินเป็นตำหมากจัน จานเด็ดตามฤดูกาลของคนอีสาน

ใครเขาชมดอกตีนเป็ดว่าหอมมั่งมีแต่เธอนั่นแหละ!” — กลิ่นหอมฉุนของดอกตีนเป็ดที่ลอยมาตามลมในช่วงฤดูหนาวเคยเป็นประเด็นให้ฉันถกเถียงกับเพื่อน เพราะรู้สึกว่ากลิ่นฉุนเป็นเอกฉันท์ไม่น่ามีใครชอบ แต่พอลองนึกดู ฉันในวัยเด็กที่ชอบเก็บลูกจันสุกมาวางไว้หัวนอน ดมกลิ่นหอมๆ จนผล็อยหลับไปก็เคยโดนตาทำจมูกฟุดฟิด ทำหน้ายู่ยี่ใส่ว่าลูกจันมันออกจะฉุนชวนเวียนหัว

 

 

 

 

ต้นจันออกผลเป็นลูกอิน-ลูกจัน…

 

 

 

 

ลูกจันที่ฉันพูดถึงเป็นผลจากต้นจัน ต้นไม้ขนาดกลาง-ใหญ่ จัดเป็นผลไม้พื้นบ้านไทยที่นับวันจะหายากขึ้นทุกทีค่ะ กว่าจะเติบโตให้ผลก็ใช้เวลานับ 10 ปี ความมหัศจรรย์อีกอย่างที่ฉันเพิ่งมารู้เอาตอนโตคือต้นจันออกผล 2 แบบ 2 ชื่อเรียก ลูกเล็กแป้นมีรอยบุ๋มตรงขั้วไม่มีเมล็ดเรียกว่า ‘ลูกจัน’ ส่วนลูกกลมใหญ่มีเมล็ดเรียก ‘ลูกอิน’ บ้างเรียกจันโอ- จันอิน เป็นที่มาของชื่อแฝดสยามชายไทยคู่แรกของโลกที่ชื่อว่าอินกับจันนั่นละค่ะ เหตุที่ต้นจันออกผล 2 แบบ เพราะเป็นต้นไม้ที่ออกดอกทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียในต้นเดียว ดอกที่ได้รับการผสมจะออกผลเป็นลูกจัน ที่ไม่ได้ผสมจะออกมาผลใหญ่เรียกลูกอิน ตอนเด็กก็รู้แต่ว่าลูกจันลูกเล็กกับลูกจันลูกใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

ลูกอินผลใหญ่ ลูกจันผลเล็ก

 

 

 

 

 

 

 

สมัยยังเด็กฉันกับญาติลูกพี่ลูกน้องชอบเก็บผลจันสุกสีเหลืองนวลที่หล่นอยู่ใต้ต้น เลือกลูกเล็กน่ารัก ไม่หยิบลูกใหญ่อย่างลูกอินเลย คัดแต่ลูกสวยไม่ช้ำ บางลูกเป็นรอยโบ๋เพราะกระรอกแทะ ตาดีได้ ตาร้ายหอบลูกจันกลับบ้านไปพร้อมหนอนน้อยไชออกจากผลก็มี ลูกจันที่เก็บได้ก็เอามาวางไว้หัวนอนส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วห้อง ฉันเคยหยิบลูกจันงอมจัดที่วางไว้หัวนอนมากัดชิมดู เนื้อนิ่ม รสชาติหวานดีไม่มีฝาดเฝื่อน แต่ถึงจะหวานพอต้องกินพร้อมกลิ่นหอมจัดก็ออกจะกินยากสักหน่อย โดยเฉพาะฉันที่ชอบดมกลิ่นหอมแต่ไม่ถนัดกินอาหารหอมจัดสักเท่าไร

 

 

 

 

กลิ่นเป็นเรื่องของประสบการณ์และสภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมเรามา ฉันเลยเลิกทึกทักเอาเองว่าสิ่งนี้มีกลิ่นเหม็นเท่านั้น หรือหอมเท่านั้น เพราะหอมสำหรับเราอาจเหม็นสำหรับคนอื่นเขาก็ได้ ตามประสบการณ์และยีนในการรับกลิ่นของแต่ละคน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการรับกลิ่นแปะลิงก์ทุเรียนเหม็นหอม) เช่นกรณีของตีนเป็ด รวมถึงลูกจันที่ถ้ารู้จักเลือกเอาผลสุกกำลังดีมาทำกิน ก็ได้ทั้งขนมหวานอร่อยๆ หยิบผลดิบมาทำกินก็ได้เมนูแซ่บนัวอย่างชาวอีสาน

 

 

 

 

 

 

 

ผลจันกินแซ่บเป็นตำ กินหวานเป็นขนม…

 

 

 

 

ผลจันสุกกินเป็นผลไม้ สุกกำลังดีมีรสชาติหวานติดฝาดนิดๆ เวลาจะกินเลยต้องเอามานวดให้ช้ำ ให้ยางที่มีรสเฝื่อนในเนื้อสลาย เรื่องนวดแล้วลดฝาดนี่ไม่รู้จริงไหมนะคะ ส่วนถ้ากินสุกงอมมากเหมือนที่ฉันเคยกินก็ออกหวานไม่ฝาด แต่แน่นอนว่ากลิ่นหอมฉุนกึกขึ้นมาเลย บางคนเอาผลจันสุกมาทำขนม เช่น ‘บัวลอยลูกจัน’ เอาเนื้อจันสุกมายีผสมแป้งปั้นเป็นบัวลอยต้มในน้ำกะทิได้ทั้งรสหวานและกลิ่นหอมจากลูกจัน ร้าน Little Tree Garden คาเฟ่กึ่งร้านอาหารก็มีเสิร์ฟเป็นขนมหวานประจำฤดูกาลช่วงสั้นๆ แค่ปีละครั้งในหน้าฝน หรือทำ ‘ลูกจันน้ำกะทิ’ ขนมพื้นบ้านของคนจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ที่เอาลูกอิน-ลูกจันสุกมายีเนื้อใส่น้ำกะทิกับน้ำตาลโตนด ราดข้าวเหนียวมูนกิน รสหวานหอมเย็นจากลูกจัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บัวลอยลูกจัน กับลูกจันน้ำกะทิ เห็นภาพแล้วดูน่ากินมากค่ะ หากมีโอกาสฉันก็จะไปลองชิมดูสักครั้ง เผื่อครั้งหน้ากลับบ้านที่เมืองจันท์จะไปเก็บลูกจันมาทำบัวลอย หรือลูกจันน้ำกะทิอย่างเขาดูบ้าง

 

 

 

 

ใช่ว่าเมืองจันทบุรีจะมีต้นจันเยอะนะคะ แต่ได้ชื่อว่าเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด—ดูย้อนแย้ง หรือเมื่อก่อนมีเยอะ หรือฉันแยกต้นไม้ใหญ่ไม่ออกเองว่าต้นไหนเป็นต้นจัน ที่แน่ๆ หากคุณขับรถเข้าตัวเมืองจันท์ จะเห็นจันยืนต้นตระหง่านอยู่ตรงตีนสะพานข้ามแม่น้ำจันท์ แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลตัดผ่านตัวเมือง ก็มีต้นนี้แหละค่ะที่ฉันจำได้แม่น เพราะแม่ขับผ่านแทบทุกวี่วัน และเป็นอีกต้นที่ฉันในวัยเด็กแวะเวียนมาเก็บลูกจัน

 

 

 

 

 

 

 

ลูกอินดิบฝานตำกับมะเขือขื่นสีเหลือง

 

 

 

 

ลูกจันดิบเอาไปต้มกินกับน้ำพริกได้ ทางแถบอีสานก็มีเมนูชวนน้ำลายสออย่างตำลูกจัน หรือตำหมากจัน จันดิบรสฝาด นำมาฝานสับเป็นเส้นแทนมะละกอ เติมรสเปรี้ยวด้วยมะม่วงดิบ เค็มนัวด้วยปลาร้า ใส่มะเขือขื่น มะเขือเปราะ รสเปรี้ยวจากมะม่วงกับเค็มปลาร้าช่วยตัดความฝาดและชูรสให้เด่นขึ้น ตำหมากจันฝาดนิดๆ เค็มเปรี้ยวนัว ส้มตำหาบเร่ในเมืองกรุงก็ยังหากินได้บ้างนะคะ แต่ถ้าไปอีสานช่วงหน้าฝนนี่มีให้กินแน่ๆ

 

 

 

 

ต้นจันเป็นไม้ใหญ่พื้นเมืองของไทย เราเลยเห็นต้นจันได้ในหลายจังหวัด จัดเป็นไม้หายากเพราะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ยาก โตช้า กว่าจะให้ผลก็สิบปีขึ้นไป คนเลยไม่ค่อยปลูกต้นจันเพื่อหวังกินผลจริงจังกันนัก ถึงอย่างนั้นต้นจันที่ขึ้นตามธรรมชาติ แตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาและให้ผู้คนระแวกใกล้ได้เก็บกินทั้งสุกทั้งดิบรุ่นแล้วรุ่นเล่าด้วยเป็นไม้อายุยืน ต้นหนึ่งมีอายุกว่า 170 ปีอยู่ที่วัดปิตุลาธิวาชราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ย่างเข้าฤดูฝนครั้งหน้า ลองสังเกตละแวกบ้านดูนะคะ ต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้านคุณอาจเป็นต้นจันก็ได้ หยิบผลจันมาวางไว้หัวนอนเป็นอโรม่า หรือลองหยิบมาทำขนมกินดูก็เข้าท่าดี

 

 

 

 

ใครสายขนมหวาน แต่ติดที่ไม่ชอบทำหรือยังไม่แน่ใจรสชาติว่าเป็นยังไงก็ตามไปลองกินได้ตามร้านที่กล่าวถึงเลยค่ะ ส่วนฉันอยากกินทั้งขนมหวานและตำหมากจันรสแซ่บ 🙂

 

 

 

 

อ้างอิงและภาพประกอบ

 

 

 

 

Share this content

Contributor

Recommended Articles

Food Storyกินแจ่วฮ้อน กับ “PEAR is hungry” Food blogger ผู้เชื่อว่าสายกินและสายกรีนไปด้วยกันได้
กินแจ่วฮ้อน กับ “PEAR is hungry” Food blogger ผู้เชื่อว่าสายกินและสายกรีนไปด้วยกันได้

คุยกับ แพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ นักกินที่ชวนทุกคนมาจัดการขยะอาหารด้วยการ #กินหมดจาน

 

Recommended Videos