ลัดเลาะชุมชนเก่าย่านกุฎีจีน แหล่งรวมวัฒนธรรมอาหารหลากเชื้อชาติ
ใครเคยดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาสหรือผ่านการเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาก็คงจะพอคุ้นเคยกับ ‘ชาวโปรตุเกส’ ชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาทำการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามประเทศ อีกทั้งยังได้เข้าร่วมรบในกองทัพของสยามจนได้รับพระราชทานที่ดินเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยพร้อมทั้งยังให้สร้างโบสถ์ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจอีกด้วย ซึ่งที่ดินตรงนี้ไม่เพียงมีแค่ชาวโปรตุเกสยังมีชนชาติอื่นๆ ทั้งไทย จีน ญวนร่วมอาศัยอยู่ด้วย เกิดการผสมผสานประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมจนกลายมาเป็น ‘ชุมชนกุฎีจีน’
ปัจจุบัน ชุมชนชาวคริสต์อันแสนเก่าแก่ของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามายาวนานกว่า 500 ปี ก็ยังคงเป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกสที่มีความโดดเด่นในเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่รวมทั้งยังคงรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชุมชนไว้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีเอกลักษณ์และรสชาติของอาหารที่แปลกแตกต่างจากที่อื่น ซึ่งหากินไม่ได้จากที่ไหน ว่าแล้วก็ต้องเดินทางไปกิน เพราะมีของอร่อย แปลก เด็ด ที่ไหน เราจะไม่ยอมพลาด!
ตัวเรานั้นอยู่ฝั่งพระนครส่วนชุมชนกุฎีจีนอยู่ฝั่งธนบุรี ทางที่เร็วและสะดวกที่สุดสำหรับเราคือการใช้บริการเรือข้ามฟาก เมื่อเรือจอดเทียบท่าดีแล้วจึงก้าวเท้าเดินฉับๆ ขึ้นอย่างไว ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติจึงทำให้มีทั้งวัดไทย ศาลเจ้า และโบสถ์อยู่ใกล้ๆ กัน ไฮไลต์ของที่นี่คือโบสถ์ซางตาครู้ส (วัดกุฎีจีน) โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่สูงตระหง่านสวยเด่นเป็นสง่าอยู่กลางชุมชน ยอดโดมเป็นสีแดง มีรูปร่างคล้ายกับโดมของมหาวิหารฟลอเรนซ์ ถือเป็นโบสถ์ที่สวยงามอีกที่หนึ่งในกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้
เดินออกมาจากโบสถ์สักหน่อย ก็จะเจอกับบ้านปูนสีขาวหลังเล็กๆ ดูเรียบๆ และร่มรื่น เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จึงทำให้รู้ว่าที่นี่คือร้านอาหารตามสั่ง มองดูนาฬิกาเวลาตอนนั้นก็บ่ายกว่าแล้ว เราจึงตัดสินใจเดินเข้าไปนั่งภายในร้านทันทีหลังจากเปิดดูเมนูก็ต้องสะดุดตาเข้ากับเมนูขนมจีนแกงไก่คั่วสูตรโบราณชุมชนกุฎีจีน ดูแล้วน่าสนใจเลยสั่งมาลองซะหน่อย หน้าตาเป็นเส้นขนมจีนที่ราดด้วยแกงไก่ธรรมดาๆ แต่ความไม่ธรรมดาอยู่ที่รสชาติของแกงไก่ ที่ออกรสหวานนำกลมกล่อมหอมกลิ่นกะทิและพริกแกงคั่วมาก เนื้อไก่สับจนละเอียด ต้มจนเข้ากับน้ำแกงได้อย่างนัว ที่สำคัญไม่มีรสเผ็ดเลย เสิร์ฟเคียงกับต้นหอมซอยและพริกชี้ฟ้าเหลืองปั่นกับกะทิ-เครื่องปรุงตัวสำคัญที่ช่วยเพิ่มความเผ็ดให้กับเมนูนี้ และยังช่วยตัดเลี่ยนได้ดีทีเดียว
มาถึงที่นี่ไม่มาร้านขนมฝรั่งธนูสิงห์ ถือว่าพลาดอย่างแรง! ร้านขายขนมฝรั่งกุฎีจีน ที่อยู่คู่ชุมชนมาหลายชั่วอายุคน ตัวขนมทำจากแป้ง ไข่ และน้ำตาลทรายขาว ไม่มีการใส่ผงฟูและวัตถุกันเสีย แต่งหน้าด้วยลูกเกด ลูกพลับ และฟักเชื่อม โรยน้ำตาลทรายบางๆ บนหน้าขนมแล้วนำเข้าอบในเตาจนสุก
ครั้งแรกที่เห็นก็คิดว่าแอบคล้ายขนมไข่ แต่พอได้ลองชิมทำให้รู้เลยว่าสิ่งที่แตกต่างคือเนื้อขนมมีความกรอบนอกนุ่มใน รสหวาน เนื้อร่วนและแน่นกว่าขนมไข่ กลิ่นหอมหวาน ยิ่งเวลากัดไปโดนฟักเชื่อมนะยิ่งหอมหวานขึ้นจมูกไปอีก เป็นขนมที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติอร่อยไม่เหมือนที่อื่นจริงๆ
เดินต่อไปเรื่อยๆ ระหว่างทางจะมีป้ายบอกทางตลอด เราเดินลัดเลาะตามซอยผ่านบ้านคนหลายหลัง บางบ้านก็จัดตกแต่งหน้าบ้านดูสวยงามน่ามอง บางบ้านก็เป็นบ้านไม้เก่าแก่ที่ชุมชนอนุรักษ์เอาไว้เดินจนเกือบสุดทางก็เจอกับ พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีนด้านบนเป็นพื้นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเก็บสะสมของเก่าแก่ต่างๆ ส่วนด้านล่างเป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่มและที่นี่แหละที่ทำให้เราได้เจอกับ ‘สัพแหยก’ อาหารชื่อแปลกที่เห็นแค่แวบแรกก็ตัดสินใจสั่งทันที
สัพแหยกถือเป็นอาหารประจำบ้านของคนที่นี่ก็ว่าได้ โดยคำว่า “สัพแหยก” (สับ-พะ-แหยก) ชื่อสุดแปลกที่ไม่ค่อยคุ้นหูนี้ บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “สับเช่” (subject) ในภาษาโปรตุเกสที่ใช้เรียกคนที่อยู่ใต้อาณัติของตนเอง ซึ่งเป็นคนที่นำอาหารชนิดนี้เข้ามาในไทย บ้างก็บอกว่าหมายถึงกิริยาการสับเนื้อสัตว์ แต่ก่อนสัพแหยกจะทำมาจากเนื้อวัวสับอย่างเดียว ภายหลังจึงได้เพิ่มมาเป็นเนื้อไก่หรือเนื้อหมูสับแทน เป็นผัดอเนกประสงค์ จะกินเป็นอาหารว่างใส่ในกระทะทอง กินคู่กับขนมปังปิ้ง หรือกินเป็นจานหลักคู่กับข้าวสวยร้อนๆ ก็ได้
มองดูแล้วจะว่าไปก็คล้ายกับไส้กะหรี่ปั๊บอยู่นะ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนและเป็นเอกลักษณ์ของสัพแหยก ก็คือกลิ่นขมิ้นที่หอมเตะจมูกและกลิ่นเครื่องเทศที่ค่อนข้างแรงกว่ากะหรี่ปั๊บอยู่พอสมควร มีรสเปรี้ยวนำ หวานและเค็ม ตัวไส้ไม่แฉะเกินไป ขนมปังที่เสิร์ฟด้วยกันมีความกรอบนอกนุ่มใน หอมกลิ่นเนยอ่อนๆ กินแล้วกลมกล่อม รสชาติเป็นเอกลักษณ์มากๆ
จากความประทับใจนี้เองเราเลยอยากนำเอารสชาติของสัพแหยกมาถ่ายทอดให้กับหลายคนที่อาจจะไม่เคยรู้จัก ให้ได้รู้จักอาหารโบราณเชื้อสายสยาม-โปรตุเกสชนิดนี้ให้มากขึ้น เป็นสัพแหยกที่ใครๆ ก็ทำเองได้ แถมยังช่วยอนุรักษ์ให้คนรุ่นหลังต่อไปอีกด้วย
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos