เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

น้ำพริกใบธัมมัง ใบไม้ที่ให้กลิ่นเหมือนแมลงดานา

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

น้ำพริกรสจัดจ้านสไตล์ใต้ ตำรับอร่อยจากแมลงดาต้น หอมกลิ่นแมลงดา   

แมลงดานาให้กลิ่นหอมเฉพาะที่บางคนก็ว่าหอม บางคนก็ว่าฉุน เห็นหน้าตาแปลกประหลาด หลายคนบูลลี่ว่าคล้ายแมลงสาปยักษ์ แต่กลับเป็นแมลงกินได้ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ในไทย เพราะกลิ่นเอกลักษณ์ที่มีทั้งคนรักและชังนี่ละค่ะ เอามาทำน้ำพริกได้สารพัด ทั้งน้ำพริกตาแดงแมลงดา ป่นแมลงดา กะปิแมลงดา น้ำพริกปลาทูแมลงดา หรืออย่างง่ายปิ้งร้อนๆ ฉีกใส่น้ำปลาพริกป่นก็อร่อยได้

 

 

 

 

กินกันทุกภาคขนาดที่ว่าแมลงดาไทยไม่พอบริโภค แม้จะมีการเลี้ยงขายเชิงพาณิชย์แล้วก็ตาม ทำให้ไทยต้องนำเข้าแมลงดานาจากประเทศใกล้เคียงอย่างกัมพูชา ปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัว และพม่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัว เพื่อให้พอต่อความต้องการของคนในประเทศเรา

 

 

 

 

แมงดา,แมงดานา,แมลงดานา,น้ำพริกแมงดา,น้ำพริกแมลงดา,แมงดาตัวผู้,ตัวแมงดา

 

 

 

ทว่าที่ภาคใต้ของไทยมีต้นไม้ต้นหนึ่งที่ใบให้กลิ่นเหมือนแมลงดานา ชื่อว่า ‘ต้นธัมมัง’ หรือ ‘ทำมัง’ ภาษาปากเรียกกันว่า แมลงดาต้น แมลงดาไม้ ด้วยเหตุที่ใบและลำต้นให้กลิ่นคล้ายตัวแมลงดานาอย่างน่าอัศจรรย์ตามที่กล่าวไป ตำรับน้ำพริกทางใต้เลยมีน้ำพริกที่ทำจากใบธัมมังให้กลิ่นคล้ายน้ำพริกแมลงดานา ยามแมลงดาหายากหรือมีราคาก็ใช้ใบธัมมังแทนกันได้ หรือใครที่กินมังสวิรัติแต่ยังติดกลิ่นรสของแมลงดา น้ำพริกธัมมังก็แซ่บได้ ชุบชูใจไม่ต่างจากแมลงดานา

 

 

 

 

ต้นธัมมัง ทำมังหรือแมลงดาต้น เป็นต้นไม้สกุล LAURACEAL ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Litsea Petiolata L took.F. Hook.f. โดยมีถิ่นกำเนิดแถบมลายูและภาคใต้ของไทย ไล่ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร สุราษฏร์ธานี เรื่อยไปจนถึงนราธิวาส เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าดิบชื้น ป่าพรุ

 

 

 

 

เนื้อไม้แข็งมีกลิ่นฉุนคล้ายแมลงดานาตัวผู้ บางพื้นที่เลยนิยมเอามาทำ ‘สาก’ เวลาตำก็จะได้กลิ่นของแมลงดาอ่อนๆ ติดมาด้วย ส่วนใบเพสลาด (ใบที่ไม่อ่อน ไม่แก่) นิยมเอามาทำน้ำพริก ใบที่แก่ขึ้นมาหน่อยก็เอามาใส่พวกแกงป่า แกงเผ็ด ดอกอ่อนและใบอ่อนกินเป็นผักเหนาะ (ผักเคียง) รสฝาดมันติดขมเล็กน้อย ส่วนผลไม่นิยมนำมาปรุงอาหาร มีเพียงบางพื้นที่ที่เอาผลแก่มาตำน้ำพริกร่วมกับใบด้วยเช่นที่จังหวัดพังงา

 

 

 

 

 

 

 

น้ำพริกใบธัมมัง หอมกลิ่นแมลงดาชัดอย่างกับแฝด

 

 

 

 

หากไม่บอกว่านี่คือน้ำพริกที่ทำจากใบไม้ ฉันก็นึกว่ากำลังกินน้ำพริกแมลงดานาอยู่แน่ๆ เพราะกลิ่นหอมเหมือนกันอย่างกับแฝด รสเผ็ดแซ่บ นัวกลมกล่อม เป็นน้ำพริกใบธัมมังที่เราลองสั่งออนไลน์ส่งตรงมาจากพัทลุงมาชิมดูด้วยความอยากรู้ล้วนๆ ว่าจะเหมือนขนาดไหน

 

 

 

 

ร้านขายน้ำพริกใบธัมมังใจดีเล่าให้เราฟังว่า ใบธัมมังเอามาทำน้ำพริกอย่างไรได้บ้าง โดยใบธัมมังที่นำมาตำน้ำพริก จะเลือกใช้ใบเพสลาด (ไม่อ่อนไม่แก่) ให้กลิ่นหอมและสัมผัสกำลังดี ใช้ได้ทั้งใบสดซอยละเอียดตำกับพริก กระเทียม ใส่ปลาทูหรือกุ้งแห้งด้วยหรือไม่ก็ได้ ปรุงรสเปรี้ยวเค็มหวานตามชอบ อีกวิธีคือนำใบมาหั่นคั่วให้สุกป่นละเอียดเก็บไว้ได้นาน จะทำกินทีหนึ่งก็ตักแบ่งมาตำ สำหรับของทางร้านเป็นน้ำพริกใบธัมมังที่ตำเสร็จแล้วเอามาผัด รสค่อนข้างจัดจ้าน

 

 

 

 

 

 

 

“น้ำพริกใบธัมมังทำจากใบล้วน เอามาคั่วแล้วตำกับพริกสด กระเทียม ใส่กุ้งหรือปลาทูก็ได้ แล้วเอาไปผัดจนแห้ง ปรุงรสชาติตามชอบ กินกับข้าวสวยร้อนๆ ไข่เจียว ผักสดได้ทุกชนิดเลย ใครที่ไม่กินแมลงดาใช้ใบธัมมังแทนได้ เพราะมีกลิ่นเหมือนแมลงดาเลยค่ะ”

 

 

 

 

จินตนาการง่ายๆ ว่าใช้ใบธัมมังแทนตัวแมลงดาในการตำ น้ำพริกจึงไม่มีสูตรตายตัว บางบ้านอาจตำเป็นน้ำพริกปลาทูแล้วใส่ใบลงไปได้กลิ่นแมลงดา บ้างบ้านตำเป็นน้ำพริกกะปิ บ้างตำเป็นน้ำพริกตาแดง หรือทำเป็นน้ำชุบพรก คือตำน้ำพริกเอาไปใส่ในกะลามะพร้าวแล้วย่างให้สุกหอมเก็บถนอมไว้กินได้นาน

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนน้ำพริกใบธัมมังที่เราซื้อมานั้นเป็นน้ำพริกผัดรสจัดจ้าน ไม่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ได้กลิ่นแมลงดาชัดเจน ทว่าปรุงรสด้วยน้ำปลา คนที่กินมังสวิรัติหรือเจอาจจะกินไม่ได้ เว้นแต่อยากลองเอาใบธัมมังไปทำน้ำพริกดูเองบ้าง ในออนไลน์ก็มีร้านที่ขายใบสดส่งตรงจากภาคใต้ เอามาลองทำกินดูได้ค่ะ

 

 

 

 

ตอนที่ฉันเด็ดใบสดมาดมดู ได้กลิ่นออกเขียว เป็นเขียวทั่วไปของใบไม้นั่นละค่ะ ฉันเลยอดทึ่งไม่ได้ว่าเขารู้กันได้อย่างไรว่าใบนี้เอามาตำแล้วมันจะออกกลิ่นแมลงดาชัด เป็นความชาญฉลาดที่ชวนอร่อยอยู่ไม่น้อย

 

 

 

 

 

 

 

สำหรับใครที่อยากลองชิมน้ำพริกใบธัมมังรสแซ่บ จัดจ้านอย่างใต้ ซื้อได้ที่นี่ :
ใครอยากได้ใบธัมมังสดมาตำน้ำพริก สั่งซื้อได้จากร้านนี้ค่ะ :

 

 

 

 

 

 

 

 

อ้างอิง:

 

 

 

 

– เจ้าของร้านน้ำพริกธัมมังออนไลน์
การบริโภคแมลงดานาในประเทศไทย https://www.matichon.co.th/economy/sme/news_44735
https://www.opsmoac.go.th/phatthalung-article_prov-files-412991791799https://www.navanurak.in.th/THA_DIN_DAENG/index/application/detail_object.php?obj_refcode=PN01-85

Share this content

Contributor

Recommended Articles

Food Storyรีวิวน้ำจิ้มสุกี้ 14 ยี่ห้อ 
รีวิวน้ำจิ้มสุกี้ 14 ยี่ห้อ 

ขวดไหนดี ขวดไหนโดน มาดูกัน

 

Recommended Videos