เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

ปลาไทย ​GI ปลาเฉพาะถิ่น กินอร่อย 

Story by สุริวัสสา กล่อมเดช

7 ปลาไทยที่ได้ขึ้นทะเบียน GI สิ่งบ่งชี้เฉพาะทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ควรพลาดลองกิน

วันนี้เราจะพาทุกคนมาอร่อยกับ ปลาไทย ​GI ปลาพิเศษเฉพาะถิ่น ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI (Geographical Indications) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ บอกว่าสินค้านั้นมาจากแหล่งใด ทั้งยังคุ้มครองให้คนท้องที่เป็นผู้ผลิตและใช้ชื่อสินค้านี้ได้เท่านั้น เปรียบง่ายๆ คือ เดิมเรามีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า แต่ GI ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ควรค่าอนุรักษ์และได้รับการคุ้มครอง

 

 

 

 

โดยปัจจัยหลักๆ ที่สินค้าจะขึ้นทะเบียน GI ได้มาจากแวดล้อมธรรมชาติในพื้นที่ กับอีกปัจจัยคือผู้ผลิตในแง่ของภูมิปัญญา ทักษะความชำนาญ ที่ทำให้สินค้ามีความโดดเด่น ยกตัวอย่างเช่น หมูย่างเมืองตรังที่เราคุ้นชื่อกันดี หมูย่างเมืองตรังไม่ได้มีแค่กระบวนการทำและรสชาติเฉพาะ แต่ยังต้องใช้หมูขี้พร้า หมูสายพันธุ์ท้องถิ่น ตัวเล็ก เติบโตได้ดีในสภาพอากาศชื้นอย่างเมืองตรัง หมูที่ได้จึงคุณภาพดีและมีหนังบาง พอมารวมกับฝีมือการย่าง และการปรุงรสจึงได้หมูย่างเมืองตรังรสอร่อย กลิ่นหอม เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

 

 

 

ปัจจุบันสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยก็เริ่มทยอยขึ้นทะเบียน GI ซึ่งทำให้สินค้าที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่าอยู่แล้วเป็นที่รู้จักกว้างขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

 

 

 

ธีมกินปลาทั้งทีเราเลยรวบรวมปลาไทยที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ปลาพิเศษเฉพาะถิ่นกินอร่อย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด มาแนะนำให้ชาวครัวได้รู้จักและหามาลองกินกันค่ะ หรือเผื่อมีโอกาสเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เหล่านี้ จะได้ไม่พลาดกินปลาอร่อยๆ ถึงที่

 

 

 

 

ปลาแรด ลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี

 

 

 

 

อธิบายก่อนว่าที่ได้ชื่อปลาแรด เพราะที่หัวของปลามีหนอกเล็กๆ ยื่นออกมาจากใบหน้ากลมๆ มองคล้ายนอแรดน้อย เป็นปลาน้ำจืดเกล็ดหนา เติบโตได้ดีที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง แม่น้ำสายสำคัญของจังหวัดที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ มาจากลักษณะเฉพาะของคุ้งน้ำที่มีเกาะมีคุ้งสำเภาคอยซับแรงน้ำ ประจวบกับกระแสน้ำไหลเอื่อยไม่เชี่ยวกรากอย่างแม่น้ำอื่น จึงเอื้อยต่อการกักเก็บแร่ธาตุเอาไว้เต็มที่ พูดง่ายๆ ว่าปลาแรดลุ่มน้ำสะแกรกรังอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์มากๆ ทำให้ปลาเติบโตเต็มที่ เนื้อปลาไม่มีกลิ่นคาวกลิ่นสาบโคน จนได้ฉายาว่า ปลาแรดสะแกกรัง เกล็ดหนา หน้างุ่ม เนื้อนุ่มแน่นหวาน จึงได้ขึ้นทะเบียน GI ระบุว่าปลาแรดมีแหล่งกำเนิดที่แม่น้ำสะแกกรัง ตำบลท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี

 

 

 

 

ฉันเองเพิ่งเคยได้ลองกินก๋วยเตี๋ยวปลาแรดตอนไปเที่ยวอุทัยธานี เนื้อปลานุ่มหวาน ไม่มีกลิ่นสาบคาวใดๆ เลยค่ะ ราคาก็ดีงาม ก๋วยเตี๋ยวใส่เนื้อปลามาเต็มในราคา 40 บาท ปลาแรดจึงเป็นปลาน้ำจืดกินอร่อยประจำอุทัยธานี ไม่ได้เป็นปลาแพงขนาดเอื้อมไม่ถึง ทำได้ทั้งต้ม นึ่ง ทอด ปลาแรดแดดเดียว ปลาร้า ปลาส้ม

 

 

 

 

ปลาดุกร้า ทะเลน้อยพัทลุง

 

 

 

 

ปลาดุกร้าเป็นภูมิปัญญาการถนอมของคนภาคใต้ โดยเฉพาะปลาดุกร้าจากพัทลุงเรียกว่าเป็นสุดยอดวัตถุดิบประจำถิ่น ความพิเศษคือจะใช้ปลาดุกอุยจากทะเลน้อย พัทลุง แหล่งพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เป็นปลาดุกที่เติบโตตามธรรมชาติ นำมาหมักด้วยเกลือกับน้ำตาลทราย แล้วนำมาตากแดดจนแห้ง ได้ปลาดุกร้าหนังปลาเทาดำมันเงา เนื้อแห้งหอม ทอดกินได้รสเค็มปนหวาน อร่อยเป็นเอกลักษณ์

 

 

 

 

ปลากุเลาเค็ม ตากใบ นราธิวาส

 

 

 

 

ปลากุเลาตากใบ เป็นปลาทะเลที่ได้รับแร่ธาตุอาหารสูง เพราะเป็นปลากุเลา 3 น้ำ คือมีแม่น้ำสุไหงโกลก ตากใบ และแม่น้ำมาเลเซียไหลมาบรรจบกันอยู่ที่ปากอ่าว ซึ่งเป็นแหล่งแร่ธาตุอาหารที่สมบูรณ์ของปลา เนื้อปลากุเลาจึงมัน ไม่เค็มจัด เนื้อนุ่มฟูละเอียด เป็นลักษณะเฉพาะของกุเลาที่นี่ และปลากุเลาที่นำมาทำเค็ม ต้องเป็นปลาสดเท่านั้น ไม่ใช้ปลาแช่ฟรีซเด็ดขาดเพราะทำเค็มแล้วเนื้อแข็ง ไม่นุ่ม จึงต้องใช้ปลาที่จับจากประมงเรือเล็ก (ประมงท้องถิ่นที่ออกเรือไม่ไกล ไปกลับวันต่อวัน) แวะเวียนมาส่งปลาทุกเช้า มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่สภาพอากาศ ฤดูกาลและความหนาแน่นของฝูงปลาจะเป็นใจ ทำให้ปลากุเลาตากใบมีราคาสูงสักหน่อย จนเรียกขานกันว่าเป็น ‘ราชาปลาเค็ม’

 

 

 

 

GI, GI ไทย, สินค้า GI, ปลาที่ได้ GI, ปลาไทย, ปลาเม็ง สุราษฎร์ธานี, ปลาสลิดบางบ่อ, ปลากุเลาเค็ม ตากใบ, ปลาแรด ลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี, ปลากะพงสามน้ำ สงขลา

 

 

 

ปลาช่อนแม่ลสิงห์บุรี

 

 

 

 

หมายรวมตั้งแต่ปลาช่อนสด ปลาช่อนตัดแต่ง และปลาช่อนแดดเดียว ที่ต้องมาจากการเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติในลำน้ำแม่ลา ลำการ้อง กินพื้นที่โดยรอบลำน้ำลาในระยะห่างไม่เกิน 4 กิโลเมตรเท่านั้น ด้วยลักษณะเฉพาะของลำน้ำแม่ลาที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ที่ชาวบ้านแถบนั้นมักเลี้ยงเป็ด ไก่ ความ วัว พอฝนตกลงมาก็ชะล้างมูลสัตว์เหล่านี้ไหลลงแม่น้ำ ทำให้แม่น้ำมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการเติบโตของปลาช่อน ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ ปลาช่อนแม่ลามีลำตัวอ้วน หัวหลิม มีหางกลมและครีบเป็นสีชมพู เนื้อแน่นหนึบแต่นุ่มเพราะมีไขมันแทรกมากกว่าปลาทั่วไป รสชาติมัน หวาน

 

 

 

 

ปลากะพงสามน้ำ สงขลา

 

 

 

 

ปลากะพง 3 น้ำ จากจังหวัดสงขลา เป็นปลาที่มีราคาสูงกว่ากะพงทั่วไปอยู่สักหน่อย เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะกะพงมีเนื้อแน่น รสหวานอร่อย จากการเพาะเลี้ยงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีกะแสน้ำไหลตลอดเวลาทำให้ปลาได้ออกแรงว่าย และเป็นปลาที่เลี้ยง 3 น้ำ ทั้งน้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ปลากะพง 3 น้ำ สงขลาจึงได้รับสารอาหารที่ดี

 

 

 

 

ปลาเม็ง สุราษฎร์ธานี

 

 

 

 

ปลาน้ำจืดชื่อแปลกว่าปลาเม็ง เป็นปลาที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายปลาดุกย่อส่วน มีลำตัวเล็กเรียว เดิมเป็นปลาประจำถิ่นที่ใกล้สูญพันธุ์ ชาวบ้านจึงนำมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จนสำเร็จ ปลาเม็งจัดเป็นปลามีราคา ขายสดที่กิโลละ 400-600 บาท ตากแห้งรมควันราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 2,500 บาท เพราะเป็นปลาที่ค่อยๆ เติบโต ใช้เวลาถึงปีครึ่งกว่าจะโตเต็มวัย ระยะเวลาเลี้ยงกับราคาขายก็นับว่าสมเหตุสมผล รสชาติปลาเม็งที่หลายคนติดใจคือเป็นปลาเนื้อแน่นหนียวเป็นเส้นๆ รสหวานหอม มัน ทำอาหารได้ทั้งสดและตากแห้ง

 

 

 

 

ปลาสลิด บางบ่อ สมุทรปราการ

 

 

 

 

ปลาสลิดบางบ่อ เป็นปลาสลิดพันธุ์ลายเสือและพันธุ์ลายแตงไทย ที่เลี้ยงในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสมุทรปราการ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอบางเสาธง และอำเภอบางบ่อ มีลักษณะ ลำตัวมีสีดำเข้ม เรียวยาว โดยเป็นปลาที่ต้องเพาะเลี้ยงให้เติบโตตามธรรมชาติ ใช้เวลากว่าปีกว่าจะโตเต็มวัยนำมากินได้ และปลาสลิดที่นี่ยังกินหญ้าที่ทับถมย่อยสลายเป็นอาหาร พอนำมาผ่านกระบวนการทำปลาแดดเดียว ทำให้ปลาไม่มีกลิ่นคาวหัวอาหาร เนื้อแน่น ไขมันน้อยเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสลิดบางบ่อ

 

 

 

 

อ้างอิง:

 

 

 

 

https://ipthailand.go.th/images/gibook/GI_Book_111.pdf

 

 

 

 

http://dspace.bu.ac.th/bitstream/123456789/1591/1/suphakarn.sris.pdf

 

 

 

 

https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_229152

 

 

 

 

https://www.rakbankerd.com/agriculture/millionaire-view.php?id=33

Share this content

Contributor

Recommended Articles

Food Storyกินแจ่วฮ้อน กับ “PEAR is hungry” Food blogger ผู้เชื่อว่าสายกินและสายกรีนไปด้วยกันได้
กินแจ่วฮ้อน กับ “PEAR is hungry” Food blogger ผู้เชื่อว่าสายกินและสายกรีนไปด้วยกันได้

คุยกับ แพร – พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ นักกินที่ชวนทุกคนมาจัดการขยะอาหารด้วยการ #กินหมดจาน

 

Recommended Videos