ชา เครื่องดื่มต่างน้ำ รสชาติที่แทรกซึมอยู่ในวิถีตั้งแต่เกิดจนตาย
วิถีการดื่มชาที่เก่าแก่สุดในโลกคงต้องยกให้ดินแดนต้นกำเนิดใบชาอย่างจีน คนจีนดื่มชาต่างน้ำ การดื่มชาของจีนจึงอยู่ในวิถีเกิด แก่ เจ็บ ตาย สำหรับบ้านฉันที่เรียกว่ามีเชื้อจีนชนิดเป็นจีนหางแถวฝั่งแม่ที่มาแต่งงานกับไทยจ๋าฝั่งพ่อ การดื่มชาจึงไม่ได้อยู่ในสายเลือดหรือในวิถีเฉกเช่นชาวไทยเชื้อสายจีนบ้านอื่นๆ จะได้ดื่มชาจีนแต่ละทีก็ตามร้านข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง เป็นชาจีนจางหอม ดื่มเย็นๆ บางที่ใส่น้ำแข็งอีกต่างหาก (บรรพบุรุษยกโทษให้ด้วยค่ะ)
พอได้รับรู้รากเหง้า วัฒนธรรมความเชื่อที่เกี่ยวพันกับการดื่มชาจีนจากคำบอกเล่าของเพื่อน พี่คนไทยเชื้อสายจีน และการรีเสิร์ชจึงรู้สึกอัศจรรย์ใจอยู่ไม่น้อยที่ชาถ้วยเล็กๆ หนึ่งถ้วยเต็มไปด้วยความหมายตั้งแต่เกิดจนตาย หรือนัยยะต้อนรับ-ขับไล่ก็อยู่ในท่าทีของการดื่มชานี่ละ
ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ เช้าตรู่ในทุกๆ วันฉันเห็นแม่สามีตื่นมาต้มใบชาใส่ถ้วยสีแดง 5 ถ้วย แล้วนำมาไหว้ตี่จู่เอี๊ยะ เป็นเจ้าที่จีนที่อยู่ในศาลเจ้าสีแดงตั้งวางไว้บนพื้นบ้าน ทำอย่างนี้มาหลายสิบปีจนกะเกณฑ์ต้มน้ำชาได้พอดิบพอดีกับจำนวนถ้วย แรกเห็นฉันนึกสงสัยว่าทำไมเราไม่ต้มชาคราวละมากๆ ใส่ขวดพร้อมดื่มแล้วตื่นมาเทใส่ถ้วยไหว้เจ้า หม่าม้าตอบสั้นๆ ว่า “ไม่มีใครเขาทำกันหรอก เขาไม่เอาชาเก่าค้างคืนมาไหว้”
น้องสาวเชื้อสายจีนอธิบายว่า บางบ้านตั้งใจต้มเผื่อไว้มากในทุกเช้าเพื่อไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษในกรณีที่เก็บเถ้ากระดูกไว้บ้าน และชาที่เหลือในกาก็ให้คนในครอบครัวดื่มต่างน้ำทุกวัน การดื่มชาเก่าค้างคืนจึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ทำนองเดียวกับการไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษที่ต้องเลือกสิ่งดีที่สุด การตื่นมาต้มชาร้อนสดใหม่ทุกเช้าได้ทั้งรสที่ดีและกลิ่นหอม จึงแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจต้มชาดีเพื่อนำสิ่งดีมาแสดงความเคารพ
เช่นเดียวกับการชงชาต้อนรับแขกเหรื่อ เจ้าบ้านจะตั้งใจต้มชาดีสุดในบ้านซึ่งบางครั้งมีราคาแพงมาต้อนรับแขกเป็นเรื่องปกติตามธรรมเนียม ชาจึงแสดงถึงฐานะของเจ้าบ้านด้วยว่าเป็นเช่นไร เวลาเสิร์ฟชาเลยเหมือนอวดความมั่งมีแบบไม่โจ่งแจ้งหรือร้องตะโกนว่า ‘ฉันมีอันจะกิน’ แต่เจตนาก็อาจไม่ได้อวดหรอกค่ะ เผอิญที่บ้านใช้ชาดีมีราคาแพงสักหน่อย หากแต่ท่าทีในการเสิร์ฟชาของเจ้าบ้านยังบ่งบอกด้วยว่าชาถ้วยนี้ยินดีเสิร์ฟ ต้อนรับหรือขับไล่ ถ้าเจ้าบ้านรินชาล้นถ้วย ให้รับรู้ไว้เลยว่าเขาไม่ใยดีจะต้อนรับเราสักเท่าไร เพราะชาร้อนล้นถ้วยจะถือจะดื่มก็ลำบาก รีบขอตัวลากลับบ้านให้ไว เว้นแต่ว่าเขาไม่ตั้งใจมือไม้สั่นอาจเผลอรินชาล้นถ้วยไปบ้าง
เรื่องการรินชาก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถือปฏิบัติคือ ผู้ที่อาวุโสกว่ามักไม่รินชาให้คนอายุน้อยกว่า เว้นแต่อยู่ในฐานะเจ้าบ้านซึ่งไม่ว่าแขกจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะรินชาให้เป็นการต้อนรับ
ลูกหลานชาวจีนคนหนึ่งบ่นติดตลกกับฉันว่าป๊าคะยั้นคอยอให้เธอดื่มชาร้อนหลังอาหารทุกครั้ง เพื่อดื่มล้างปากล้างท้องเวลากินของมันๆ ทั้งยังช่วยย่อย ถึงเธอจะเลิกงานมาค่ำมืด กินข้าวดึกดื่นและเลือกดื่มน้ำแทนที่จะดื่มชาเพราะกลัวคาเฟอีน สุดท้ายก็ทนรบเร้าไม่ไหวดื่มชาร้อนให้ป๊าสบายใจสักนิดหน่อย คนจีนเชื่อว่าการดื่มชาร้อนหลังมื้ออาหารช่วยย่อยและละลายไขมันในเลือด นอกจากดื่มด่ำรสชาติและกลิ่น การดื่มชาเป็นโอสถ เน้นสรรพคุณบำรุงร่างกายและรักษาอาการเจ็บป่วยทั่วไปก็อยู่คู่กับการดื่มชาจีนมาช้านาน หากเดินเข้าร้านใบชาบางร้าน สามารถให้เขาจัดชาช่วยเพิ่มกำลังวังชาให้ร่างกาย ชาสร้างสมดุลหยิน-หยาง ช่วยย่อย หรือช่วยให้ผ่อนคลายหลับสบายได้
“ลูกสาวบ้านเธอ ไปดื่มชาบ้านไหนแล้วหรือยัง?”
ถ้าเจอคำถามแบบนี้เขาไม่ได้หมายถึงแวะดื่มชาแบบแค่ดื่มชาเฉยๆ นะคะ แต่เป็นคำถามที่หมายความว่า ‘ลูกสาวบ้านเธอน่ะ ตกลงปลงใจมั่นหมายกับใครแล้วหรือยัง/ มีคนจับจองแล้วหรือยัง’ การไปดื่มชาในที่นี้ก็หมายถึงสองครอบครัวคุยเรื่องมั่นหมายกันเป็นเรื่องเป็นราว
ในประเพณีแต่งงานแบบจีน ชาก็เข้ามามีบทบาทอยู่ในประเพณียกน้ำชา ภาษาจีนเรียกว่า‘ขั่งแต๊’ แปลว่าการทำความรู้จัก โดยจะรินชาไหว้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าวก่อนแล้วสลับไปไหว้ฝั่งเจ้าสาว การรับน้ำชามาดื่มเท่ากับ
ยอมรับคนนอกตระกูลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนในตระกูล ยินยอมรับฟังคำสั่งสอน ยินยอมรับฟังคำตักเตือน ถ้าในบ้านมีสักคนไม่รับน้ำชา แสดงว่าเขาไม่ยอมรับเข้าตระกูล
การรินชาก็มีรายละเอียดยิบย่อย เช่นว่าจะรินครั้งละ 2 ถ้วยเสมอ ไม่ว่าญาติผู้ใหญ่ท่านนั้นจะมาคนเดียวหรือมากับคู่ชีวิตของตนก็ตาม ตอนดื่มจะเหลือชาติดไว้ก้นถ้วยเพื่อเป็นการแสดงคำอวยพรกลับไป ถักจากนี้ก็จะเป็นการทำความรู้จักญาติๆ ที่อายุน้อยกว่าคู่บ่าวสาว โดยสลับมาเป็นคนอายุน้อยรินชาให้คู่บ่าวสาวเพื่อแสดงความยินดี พร้อมทั้งทำความรู้จักเกี่ยวดองกันไว้
ในธรรมเนียมจีน ‘ชา’ จึงกลายเป็นสื่อกลางแสดงความรู้สึกทั้งเคารพ แสดงความยินดี รวมไปถึงการกล่าวขอโทษ หากทำอะไรให้ผู้ที่อาวุโสกว่าขุ่นข้องหมองใจ โดยเฉพาะกับคนในบ้านและญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ ผู้น้อยก็มักจะชงชาแล้วนำไปกล่าวขอโทษผู้ใหญ่ท่านนั้น ถ้าเขารับไว้ก็คืออภัยให้ เช่นเดียวกับการฝากตัวเป็นศิษย์ หากจะไปร่ำเรียนวิชากับปราชญ์สักคน ก็มักจะชงชาไปไหว้แสดงความเคารพ ขอวิชาความรู้ ฝากเนื้อฝากตัวเป็นศิษย์
กระทั่งยามล่วงเลยจนวาระสิ้นชีวิต ชาก็เขามามีบทบาทจนวินาทีสุดท้าย ในอดีตการเก็บรักษาศพเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ ไม่ได้มีการฉีดฟอร์มารีนรักษาสภาพศพไม่ให้เน่าเปื่อยเช่นทุกวันนี้ ใบชาแห้งจึงถูกนำมาโรยลงโลงศพเพื่อดับกลิ่น จนปัจจุบันที่มีทั้งโรงเย็นและฟอร์มารีนฉีดรักษาสภาพก็ยังมีการนำใบชาใส่ไปในโลงศพพร้อมกับข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายในสถานะสิ่งอุปโภค บริโภค
พี่สาวชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนเล่าให้ฟังว่าแม้แต่ในงานศพของชาวจีนฮกเกี้ยนก็จะต้องยกเซตกาน้ำชา จอกชา พร้อมธูปตั้งไหว้หน้าโลงศพโดยเปลี่ยนชาต้มใหม่ทุกวัน กระทั่งถึงวันสุดท้ายลูกหลานจะถือจอกน้ำชาเพื่อแสดงความคำนับและส่งผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการถือจอกวนรอบกระถางเผากระดาษเงิน กระดาษทองเป็นการส่งดวงวิญญาณสู่สุคติ
ชาจีนจึงไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มต่างน้ำ เครื่องดื่มประจำชาติ แต่เป็นรสชาติที่แทรกซึมอยู่ในวิถีตั้งแต่เกิดจนตายกลายเป็นวัฒนธรรมที่ผูกติดอยู่กับความเชื่อ
อ้างอิง
- วัฒนธรรมชาจากจีนสู่ไทย และชานมไข่มุก https://www.youtube.com/watch?v=54O0fJ9agXU
- https://www.youtube.com/watch?v=kvSBkjMByyo
- https://www.silpa-mag.com/history/article_5908
- http://www.teaafternoon.com/article/18/พิธียกน้ำชาในประเพณีจีน-รู้หรือไม่ทำไมถึงต้องมีพิธี
- https://erp.mju.ac.th/acticleDetail.aspx?qid=888
- https://www.suriyafuneral.com/ความเชื่อของศพชาวจีน/
- https://www.silpa-mag.com/history/article_5908
- https://plus.thairath.co.th/topic/everydaylife/100758
- http://www.refresherthai.com/article/teaDrink.php
อ่านบทความเพิ่มเติม
‘ชา’ ความบังเอิญที่ก่อเกิดเครื่องดื่มสู่อิสรภาพ
ชาที่ทำให้ตัวหอมตั้งแต่หัวยันหลี มีจริงนะ!
ดื่มชาบรรเทาอาการชวนหงุดหงิดหลังติดเชื้อ (long covid)
4 หนังสือกรุ่นกลิ่นชา ที่เราอยากให้คุณได้อ่าน
Contributor
Recommended Articles
Recommended Videos