การกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดเป็นหนึ่งในทฤษฎีทางเลือกสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนักพร้อมสุขภาพดีๆ แม้จะยังมีข้อโต้แย้งอยู่บ้าง แต่อาหารที่เขาแนะนำให้กินก็ดีต่อสุขภาพ จะลองดูก็ไม่น่าเสียหาย
การกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดเป็นหนึ่งในทฤษฎีทางเลือกสำหรับสาวๆ (หนุ่มๆ ด้วย) ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักรวมทั้งต้องการสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ถามว่ามันเวิร์กจริงไหม จากประสบการณ์ที่มีเพื่อนหลายนางเคยกินอาหารด้วยวิธีนี้ก็ต้องบอกว่าได้ผลอยู่นะ น้ำหนักอาจจะไม่ได้ลดฮวบฮาบ แต่พวกเธอล้วนบอกว่าสุขภาพดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องระบบย่อย ระบบขับถ่ายที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งน่าจะเป็นข้อพิสูจน์ว่าทฤษฎีนี้ไม่ใช่เรื่องมโนไปเอง
การกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดเป็นผลจากการค้นคว้าของ Dr. Peter J. D’Adamo ที่ใช้เวลาศึกษานานกว่า 30 ปี จนได้รับรางวัลแพทย์ธรรมชาติบำบัดยอดเยี่ยมจากอเมริกาในปี 1990 และเขียนหนังสือชื่อ Eat Right 4 Your Type ซึ่งเขาอธิบายไว้ว่า “เลือดแต่ละกรุ๊ปมีสารเคมีในเลือดต่างกัน แต่จะมีแอนติเจนเป็นตัวกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ในอาหารทุกชนิดล้วนมีโปรตีนซึ่งเป็นอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติเหนียวและจับเกาะติดเลือด เรียกว่า ‘เลคติน’ โดยจะเกิดขึ้นเมื่อการกินอาหารที่มีเลคตินไม่เหมาะกับเลือดเรา นอกจากนี้ เลคตินยังเข้าไปรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร การสร้างอินซูลิน การเผาผลาญอาหาร และความสมดุลของฮอร์โมนอีกด้วย”
หัวใจของการกินอาหารตามกรุ๊ปเลือดก็คือการรู้ว่ากรุ๊ปเลือดใดมีสารเคมีในเลือดแบบไหน เหมาะกับอาหารประเภทใด จากนั้นก็กินอาหารที่เหมาะกับกรุ๊ปเลือดของเรา เป็นการช่วยผ่อนภาระการทำงานหนักเกินไปของระบบต่างๆ ในร่างกาย ที่เกิดจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ากรุ๊ปเลือดของเรามีกรดในกระเพาะต่ำ แต่ดันกินแต่เนื้อสัตว์ทุกวี่วัน อันดับแรกคือกระเพาะจะทำงานหนักเพราะต้องย่อยเนื้อสัตว์ตลอดเวลาทั้งที่กรดน้อย จากนั้นก็จะส่งผลให้ระบบต่างๆ เรรวนตามกันไป
แม้การกินตามกรุ๊ปเลือดจะมีข้อโต้แย้งจากแพทย์และนักโภชนาการจำนวนหนึ่ง เนื่องจากยังขาดหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน แต่ดูจากอาหารที่แนะนำในแต่ละกรุ๊ปแล้วก็เป็นอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกายแทบทั้งนั้น ถ้าเราเลือกกินให้เหมาะสม กินในปริมาณที่พอเหมาะ และกินให้หลากหลายครบ 5 หมู่ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร… กรุ๊ปไหนเหมาะกับอาหารประเภทใดบ้าง ไปดูกัน
กรุ๊ป A
มังสวิรัติ
น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีความเป็นกรดต่ำ ระบบภูมิคุ้มกันก็ต่ำ เกิดสารท๊อกซินในร่างกายได้ง่าย ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง
อาหารที่เหมาะสม
ผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น ถั่วเหลือง และธัญพืชเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากคนกรุ๊ปนี้ย่อยเนื้อสัตว์ยากจึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์ หรือจะเสริมโปรตีนจากปลาเนื้อแดงสัปดาห์ละ 3-4 ครั้งก็ได้ ส่วนผักให้เน้นไปที่แครอท ฟักทอง กระเทียม เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ผลไม้ก็ให้เลือกที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มโอ มะนาว เพราะมีกรดที่ช่วยย่อยอาหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของลำไส้เล็ก และควรเสริมวิตามินอี วิตามินบี และธาตุเหล็กด้วยถั่วลิสง ผักใบเขียว และธัญพืชขัดสี เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
อาหารที่ควรเลี่ยง
ผลิตภัณฑ์นมวัวและเนย เพราะย่อยยากและทำให้ท้องเสีย แล้วยังไปชะลอระบบเผาผลาญอาหาร อาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็ไม่ควรกิน เนื่องจากความเป็นกรดในกระเพาะอาหารต่ำทำให้ย่อยอาหารเหล่านี้ยาก ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมัน ระบบไหลเวียนเลือดหนืดข้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็ง รวมทั้งอาหารจำพวกของดองและอาหารสำเร็จรูป เช่น เบคอน มีไนเตรทที่จะกระตุ้นให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ง่าย
เซตเมนูแนะนำ
สลัดเต้าหู้ย่างมิโสะเดรสซิ่ง / เชอร์เบทมังคุด / น้ำเต้าหู้งาดำ
ดูสูตรสลัดเต้าหู้ย่างมิโสะเดรสซิ่งที่นี่
กรุ๊ป B
อ้วนง่าย
น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีความสมดุล แต่ระบบภูมิคุ้มกันค่อนข้างบกพร่อง จึงเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ ระบบประสาทก็ไม่ค่อยดี
อาหารที่เหมาะสม
ปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาหิมะ และธัญพืช โดยเฉพาะข้าวกล้อง ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนผักใบเขียวและผักที่จัดอยู่ในประเภทสมุนไพรสามารถกินได้หมด เพราะมีแมกนีเซียมที่ช่วยป้องกันอาการผื่นคันหรืออาการแพ้ได้ เนื่องจากคนกรุ๊ปนี้มีความเสี่ยงต่อไวรัสและระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และควรดื่มชาสมุนไพร เช่น ขิง เปปเปอร์มิ้นต์ โสม ชาเขียว ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่
อาหารที่ควรเลี่ยง
อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยเชลล์ ไม่ควรกินเกินสัปดาห์ละครั้ง เพราะเลคตินในอาหารประเภทนี้ จะไปรบกวนการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่ซึ่งมีสารเลคตินที่รบกวนระบบการเผาผลาญ ทำให้อาหารไม่ย่อย และอาหารจำพวกถั่วเปลือกแข็ง งา เมล็ดทานตะวัน ที่จะไปสร้างไขมัน ส่งผลเสียต่อระบบไหลเวียนเลือด มะเขือเทศก็ควรทานให้น้อย เพราะส่งผลเสียต่อผนังกระเพาะอาหาร
เซตเมนูแนะนำ
แซลมอนย่างกับสลัดแตงกวา / มัฟฟินควีนัว / น้ำสับปะรดซ่า
ดูสูตรแซลมอนย่างกับสลัดแตงกวาที่นี่
กรุ๊ป O
ไฮโปรตีน
น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีความเป็นกรดสูง แต่วิตามินเคในเลือดต่ำ ทำให้เลือดแข็งตัวช้า ระดับไทรอยด์ไม่คงที่ ระบบเผาผลาญอาหารค่อนข้างต่ำ
อาหารที่เหมาะสม
อาหารประเภทโปรตีนที่เป็นเนื้อสัตว์ต่างๆ เนื่องจากกรุ๊ป O มีน้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่มีความเป็นกรดสูง ย่อยเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด แต่ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไขมันต่ำเข้าไว้ อาหารทะเลก็ควรกินเป็นประจำ เพราะอาหารทะเลมีไอโอดีน ช่วยป้องกันโรคไทรอยด์ที่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายกับคนกรุ๊ปนี้ รวมถึงผักที่มีวิตามินเคสูงและผักใบเขียวทุกชนิด เช่น ผักโขม ช่วยทำให้เลือดแข็งตัวไวขึ้นและช่วยระบบการเผาผลาญให้ดียิ่งขึ้น
อาหารที่ควรเลี่ยง
อาหารที่ทำจากแป้งสาลีทุกชนิด เช่น ขนมปัง เพราะเลคตินในแป้งสาลีมีผลเสียต่อเลือดและรบกวนระบบเผาผลาญ ทำให้น้ำหนักเพิ่มและเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้อเสื่อม ควรงดผักจำพวกกะหล่ำปลี เพราะจะส่งผลให้ระบบไทรอยด์ทำงานผิดปกติ รวมถึงเครื่องดื่มประเภทกรดทั้งหลาย เช่น กาแฟ เบียร์ ที่จะไปเพิ่มกรดในกระเพาะอาหารซึ่งมีมากอยู่แล้ว ส่งผลให้กระเพาะอาหารระคายเคืองได้ง่าย
เซตเมนูแนะนำ
แฮมเบิร์ก / พุดดิ้งเชีย / ไอซ์ทีเลมอนเปเปอร์มิ้นต์
ดูสูตรไอซ์ทีเลมอนเปปเปอร์มิ้นต์ที่นี่
กรุ๊ป AB
มังสวิรัติผสมคาร์บ
เป็นการผสมผสานระหว่างกรุ๊ป A และ B น้ำย่อยในกระเพาะอาหารมีความเป็นกรดต่ำ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
อาหารที่เหมาะสม
อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวทุกชนิด มันเทศ เผือก ผลิตภัณฑ์จากนมก็กินได้เหมือนกรุ๊ป B แต่ต้องกินให้เหมาะสม เพราะระบบการย่อยอาหารไม่ดีเท่าชาวกรุ๊ป B เลือกโยเกิร์ตไขมันต่ำและนมไร้ไขมันจะย่อยได้ง่ายกว่า กินเนื้อแดงได้ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะกระเพาะผลิตน้ำย่อยไม่เพียงพอต่อการย่อยโปรตีนปริมาณมากๆ กินผักได้ทุกชนิด โดยเฉพาะผักที่มีไฟเบอร์สูง เน้นผักสดให้มากเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ผลไม้ที่มีความเป็นกลางหรือเป็นด่างอย่าง องุ่น เบอร์รี เชอร์รี จะช่วยรักษาความสมดุลของกรดในเนื้อเยื่อจากการบริโภคแป้งและข้าว ผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูงอย่างสับปะรด ส้มโอ มะนาว เกรปฟรุต ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และยังต้องดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อขับไล่ของเสียในร่างกายที่มีมากกว่ากรุ๊ปอื่น
อาหารที่ควรเลี่ยง
ปลาเนื้อขาวและแซลมอน เพราะย่อยยากและเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร รวมถึงอาหารจำพวกของดองและอาหารสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน เพราะมีไนไตรทที่จะไปกระตุ้นการเกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ง่าย ส่วนธัญพืชไม่ควรรับประทานถั่วแดงหลวง เพราะมีเลคตินที่ทำให้การสร้างอินซูลินช้าลง งา เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน ข้าวโพดก็เช่นกัน จะไปชะลอการทำงานของอินซูลิน ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงเฉียบพลัน
เซตเมนูแนะนำ
สเต๊กปลาดอลลี / ลูกเดือยเปียกแปะก๊วย / น้ำมะเฟืองโยเกิร์ต
ดูสูตรลูกเดือยเปียกแปะก๊วยที่นี่
Contributor
Tags:
Recommended Articles
Recommended Videos